Skip to main content

ปรากฏการณ์ "คนเลวที่รักเธอ"

คอลัมน์/ชุมชน

ผมอยากเขียนถึงปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ถ้าหากติดตามข่าวสารคงได้ยินการพูดถึง เนื้อหาของเพลง "คนเลวที่รักเธอ" ของพี่ปนัดดา เรืองวุฒิ เพลงนี้เป็นเพลงใหม่ ผมได้ดูมิวสิก สองครั้ง ก็คิดว่าอีกไม่นานคงติดหูเพราะเพลงฟังเพราะดี ปกติที่ผ่านมาเวลาผมฟังเพลง ผมก็ชื่นชอบเพลงอยู่ในตัวเพราะเพลงฟังแล้วผ่อนคลาย โดยส่วนตัวแล้วเนื้อหาของเพลงที่ฟังไม่ค่อยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนตัวใดๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าอาจจะมีทั้งคนที่เป็นแบบผม หรือไม่เป็นแบบผม ทั้งสองอย่าง


 


กลับมาเรื่องความหวังดีที่มีการติติงว่าไม่อยากให้มีการเผยแพร่เพลง "คนเลวที่รักเธอ" ออกไปสู่สาธารณะ สำหรับผมอย่างแรกกลัวว่า บ้านเราที่เรียกว่าเป็นประเทศเสรีนั้น ต้องควบคุมสื่อขนาดนั้นเลยหรือ คือเป็นแนวคิดที่น่ากลัวตรงที่ว่ามีการคิดแทนกัน อยากควบคุมกัน และเป็นแนวคิดที่เริ่มไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของบุคคล ว่าผู้บริโภคหรือผู้ฟังเพลงจะไม่สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยการควบคุมจากอำนาจส่วนกลาง กล่าวคือ ถ้าเริ่มมีแนวคิดเช่นนี้อาจเชื่อมโยงกับวิธีคิดแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อคือ วิธีการแก้ปัญหาจะเป็นแบบ "แก้ที่ปลายเหตุ" แก้ปัญหาหรือตื่นตัวเฉพาะกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น (ผมใช้คำว่าปรากฏการณ์เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นและคนมองเห็นเหตุการณ์ได้  ซึ่งอาจจะมีปรากฏการณ์อีกหลายปรากฏการณ์เกิดขึ้น แต่รากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ เป็นเรื่องเดียวกัน หรือคล้ายๆ กัน) 


 


เพื่อนคนหนึ่งมองว่ารากปัญหาของปรากฏการณ์คือเรื่องความเป็นหญิงชาย (Gender) ในสังคมไทย เป็นเพราะความเชื่อแบบฝังหัวเรื่องความเป็นหญิงเป็นชาย คือถ้าสมมติว่า ถ้าเพลงนี้ผู้ร้องเป็นผู้ชาย  มันอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่กลับพบว่าผู้ร้องเป็นหญิง และมองต่อไปว่าผู้หญิงที่มีแฟนหลายคนเป็นคนไม่ดี ไปแย่งคู่คนอื่น เป็นคนเลว แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ชายถ้ามีแฟนหลายคนกลับถูกมองว่าไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดา ผลที่ตามมาก็คือ อำนาจในเชิงต่อรองก็จะขึ้นอยู่กับเพศเป็นตัวกำหนด ไม่ใช่เพราะความสามารถหรือศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจริงๆ แล้วแต่ละเพศต้องมีความเท่าเทียมกัน


 


หากเข้าใจว่าการที่ทำให้ความคิดฝังหัวเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทยลดลงไปนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้แต่ท้าทายมาก เราต้องเริ่มพูดกัน ศึกษากันให้รู้ลึก เพราะมันจะเป็นรากอันหนึ่งของปรากฏการณ์อีกหลายๆ อย่าง ซึ่งรวมทั้งปรากฏการณ์ "คนเลวที่รักเธอ" ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น


 


สำหรับผมแล้ว ในมุมของความเป็นเยาวชน ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญและต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยที่ถูกกำหนดด้วยคำว่า "เยาวชน" เพราะทำให้เราพลาดสิ่งที่ดีๆ ไปมากมายในชีวิตนี้ มีคนเป็นห่วงเราเยอะแต่ไม่ค่อยมีใครเชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชน เชื่อมั่นในศักยภาพในที่นี้คือ เชื่อว่าเยาวชนตัดสินใจได้ถ้ามีข้อมูลอย่างรอบด้าน พอเพียง ไม่ปิดหูปิดตา  ลองค่อยๆ กลับไปคิดถึงตอนที่คุณผู้ใหญ่ยังเป็นวัยรุ่นและตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีเหตุการณ์ใด เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายกับชีวิตคุณ และคิดต่ออีกนิดว่าที่ผ่านช่วงนั้นมาได้คุณผ่านมาได้อย่างไร


 


ถ้าถามต่อว่า ตอนนั้นเราได้ใช้ความสามารถอะไรที่เรามีอยู่ในการผ่านช่วงชีวิตนั้นมา คำตอบที่ได้คงบรรยายไม่หมดในที่นี้  แม้หลายคนจะผ่านมาด้วยความสามารถของตัวเอง หรือมีตัวช่วยใดๆ   สุดท้ายการตัดสินใจทั้งหมดที่จะผ่านมานั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณคนเดียว การตัดสินใจที่ว่านั้นคือ "ศักยภาพ" ที่ทุกคนมี  เชื่อว่าศักยภาพของคนนั้นมีความแตกต่างกัน นั่นเพราะการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละคนนั้นแตกต่าง


 


ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนได้มีข้อมูลอย่างรอบด้านและเป็นทางเลือกที่แต่ละคนสามารถเข้าถึงได้จริง ได้ประยุกต์ใช้ได้จริง โดยที่ใครจะเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลนั้นก็สุดแล้ววิจารณญาณของแต่ละคน เพราะคนมีความแตกต่าง มีความหลากหลาย จะบังคับ ฝืนใจใครก็คงไม่ได้


 


สำหรับเพลง "คนเลวที่รักเธอ" นั้น เข้าใจในความห่วงใยที่เกิดขึ้น และผมยังมีข้อเสนอว่า ขอให้ยกเลิกการระงับการเผยแพร่เพลงนี้หรือเพลงไหนๆ หรือข้อมูลใดๆ รวมทั้งสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เราได้เข้าถึงข้อมูลได้จริง ที่สามารถทำให้เราคิด เราคุย ได้ลองผิด ลองถูก โดยวิธีการที่หลากหลายบนความแตกต่างของวิถีปุถุชน