Skip to main content

เด็กแก๊ง (๒) : การรวมกลุ่มและทำกิจกรรม

คอลัมน์/ชุมชน



 


ปรากฏการณ์เด็กแก๊งที่สะท้อนสู่สังคมนั้น ผู้คนมักมีคำถามตามมาว่า ทำไมเด็กวัยรุ่นเป็นถึงขนาดนี้ ทำไมเด็กต้องมารวมกลุ่มกันเป็นก๊ก เป็นแก๊ง ซึ่งคำตอบที่มักได้ยินกันเป็นส่วนใหญ่ก็คือ เพราะครอบครัวไม่อบอุ่นบ้าง เพราะมีปัญหาบ้าง เพราะอยากรู้ อยากลองบ้าง ..เหมารวมกันไป


 


คำตอบเหล่านี้อาจเป็นเพียงเหตุผลที่นิยมนำมาสบถให้กับวัยรุ่น เพราะไม่ว่าจะเป็นการดูแลเอาใจใส่ของครอบครัว หรือการอยากลองตามบุคคลอื่นก็เป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เด็กแก๊งเท่านั้น แต่การรวมกลุ่มของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่มากกว่าเรื่องของครอบครัวและการอยากรู้อยากลอง


 


การรวมกลุ่มของวัยรุ่นมีมานานตั้งแต่ในสมัยอดีต นับแต่การรวมกลุ่มของกลุ่มหนุ่มสาวในหมู่บ้านตามคณะศรัทธาวัดต่างๆ ในสมัยนั้นกลุ่มหนุ่มสาวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมตามงานประเพณี งานบุญ งานศพ และงานสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน


 


แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการรวมกลุ่มของหนุ่มสาวเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนกลับมีน้อยลงทุกที แต่กระนั้นก็ยังเกิดการรวมตัวของหนุ่มสาวในลักษณะใหม่ๆ คือ การรวมกลุ่มทำกิจกรรม ทำค่าย จัดอบรม ผลิตสื่อ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ในชุมชนตามประเด็นต่างๆ อาทิ ประเด็นการป้องกันเอดส์ ยาเสพติด พิทักษ์สิทธิเด็ก ต้านการค้ามนุษย์ สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญา ฯลฯ


 


กลุ่มแก๊ง อาจมีความแตกต่างจากการรวมกลุ่มแบบกลุ่มหนุ่มสาวไม่มากนัก เพราะกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ของกลุ่มแก๊งล้วนเป็นพฤติกรรมโดยทั่วไปของคนทุกคนที่จะต้องดำเนินตามวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างกันออกไป


 


เงื่อนไขและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของวัยรุ่นที่สะท้อนออกมาเป็นปรากฎการณ์เด็กแก๊ง ที่มีหลายส่วนด้วยกัน ซึ่งได้แก่


 


1. การรวมกลุ่มเพื่อป้องกันตัว      ในการรวมกลุ่มบ้างครั้งอาจมีการทะเลาะกันได้ การมีเพื่อนได้ช่วยให้เกิดการช่วยเหลือกันและกัน แม้บางครั้งต้องมีการโต้ตอบเพื่อช่วยเพื่อน หรือการเข้าไปจัดการยุติกรณีการชกต่อย ทะเลาะวิวาท การเที่ยวกลางคืนตามผับ เธคต่างๆ ทำให้ต้องร่วมดื่มเหล้ากับเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ การเต้นรำกับเสียงดนตรีที่ดังสนั่น อาจทำให้มีการกระทบกับคนอื่นๆ จนเป็นผลให้เกิดการระแคะระคายกัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการทะเลาะชกต่อยกัน  การมีเพื่อนในกลุ่มได้สร้างความมั่นใจว่า จะมีคนคอยช่วยเหลือ คอยร่วมโต้ตอบเมื่อมีการเคลียร์หรือเอาคืนให้กันและกัน ดังนั้น การรวมกลุ่มจึงทำให้มีคนที่คอยดูแลช่วยเหลือกันและกันได้ในกรณีต่างๆ และทำให้เกิดความไว้ใจและรักกันมาก


 


"ถ้าอยู่กันเป็นกลุ่มส่วนใหญ่จะนั่งดื่มเหล้า เล่นหมากรุก คุยกันเรื่องเที่ยว ส่วนเรื่องตีกันก็มีบ้างแต่ก็ไม่บ่อยเพราะว่าไม่ชอบหาเรื่องใครถ้าตีกันบางทีมีคนมาหาเรื่องก่อน บ้างก็เป็นคู่อริกันมาก่อน บ้างก็ไปช่วยเพื่อน"


 


2. การรวมกลุ่มเพื่อมีเพื่อนที่จริงใจหรือเพื่อนแท้ การมีเพื่อนช่วยเหลือกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการชกตีโต้ตอบ การช่วยด้านการเงิน การเรียน ให้คำปรึกษา การพูดคุยแลกเปลี่ยนในทุกเรื่อง อาจเป็นความสัมพันธ์ของคนที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหนมากกว่าเพื่อน  เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ทุกครั้งที่เขาถูกชกตี มีเพื่อนเป็นคนลำดับต้นๆ ที่คอยช่วยเหลือ ไม่ว่าเป็นการเอาคืน หรือนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ครั้งหนึ่งเมื่อเพื่อนถูกชกต่อยเขาจึงต้องช่วยเพื่อนเช่นกัน เพื่อนจึงเป็นคนที่มีความจริงใจ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ในบางเรื่องที่ใครคนอื่นอาจเข้าไม่ถึง


 


การได้รู้จักหรือสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีความจริงใจ เป็นการสร้างพื้นที่ของคนนั้นๆ ที่สามารถแสดงความเป็นตัวเองได้มาก และได้เรียนรู้ ช่วยเหลือเพื่อนคนอื่นๆ จนเกิดเป็นความผูกพันและเป็นเพื่อนแท้กันในที่สุด


 


3. การรวมกลุ่มเพื่อได้รับการยอมรับ ธรรมชาติของวัยรุ่นซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการการยอมรับ การดูแล ความเข้าใจมากกว่าช่วงวัยอื่น อาจเป็นเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ได้รับการยอมรับ เช่น การแข่งขันรถเพื่อได้รับชัยชนะ การแสดงออกผ่านการแต่งตัวอย่างเด็กพังก์ เป็นอิสระในการแสดงออกและได้รับการชื่นชมและชมเชยจากผองเพื่อน 


 


การได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน ถือว่าเกิดจากความเข้าใจและมีความจริงใจในการสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน การยอมรับเกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจ เคารพกันและกัน เช่น การที่รุ่นพี่จัดการเรื่องการชกต่อยทะเลาะวิวาทให้กับรุ่นน้อง (เคลียร์)


 


การเคลียร์อาจทำได้หลายวิธี คือ การเจรจาพูดคุย การตีตัวต่อตัว (บางกลุ่มใช้นวมชก) เป็นต้น  การเคลียร์นำไปสู่ข้อยุติในเรื่องที่เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ ดังนั้นการเคลียร์ที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นที่อาจต้องยกระดับจากที่อยู่ใต้ดิน มาอยู่บนดิน คือทำให้คนเห็น โปร่งใส และไม่มีการไปหาเรื่องกันต่อ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง


 


4. การรวมกลุ่มทำให้มีกิจกรรมให้ทำ  การดำเนินกิจกรรมของแต่ละกลุ่มย่อมมีความแตกต่างตามสภาพวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของแต่ละคน เช่น เมื่ออดีตหลายปีที่ผ่านมา มีกลุ่มหนุ่มสาวซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเยาวชนชายหญิงในชุมชน มีการทำกิจกรรมโดยการรวมกลุ่มตามงานสำคัญๆ ในชุมชน มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำอาหารในงานศพ การตกแต่งองค์ผ้าป่างานวัด เป็นต้น


 


ขณะที่ปัจจุบันถือได้ว่าความก้าวหน้าของสื่อเทคโนโลยี การพัฒนาสังคมภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจตลอดจนการเติบโตของทุนนิยมได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมาก ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งต่างต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลาย เช่น ความยากจน การประกอบอาชีพ อาชญากรรม การติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ และรวมถึงเยาวชนที่ต้องตกเป็นผลพวงของปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้การรวมกลุ่มหนุ่มสาวที่มีมาแต่อดีต ต้องแปรสภาพการทำกิจกรรมที่แตกต่างออกไป บางกลุ่มรวมตัวรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ ยาเสพติด ทำสื่อละครในชุมชน จัดค่ายพัฒนาแกนนำ จัดเวทีสาธารณะ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนปรากฏว่า เยาวชนนั้นมีการรวมกลุ่มมาแต่อดีต


 


วัยรุ่นคนหนึ่งเล่าว่า "ผมไม่เคยอยู่กลุ่มไหนมาก่อน แต่ได้รู้จักกับเพื่อนและได้ชวนมาอยู่ในกลุ่ม อยู่กับเพื่อนแล้วสนุกดี ได้เพื่อนกินและเที่ยวร่วมกัน กลุ่มของผมเป็นกลุ่มหนึ่งที่วัยรุ่นมารวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เล่นเกม ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เช่น น้ำตก มีสมาชิกประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่อายุประมาณ ม.4 - .5 สมาชิกทุกคนรู้จักกันหมด มีหญิง ชาย คละกัน เพื่อนในกลุ่มไม่เคยติดคุก ไม่ใช้ยาเสพติด บางคนเคยใช้แต่เลิกแล้ว การเข้ามาอยู่ในกลุ่มไม่ต้องมีคุณสมบัติอะไร ขอแค่เป็นเพื่อนกันก็พอ กลุ่มของผมจะรวมตัวกันที่ร้านเกม คนส่วนใหญ่จะมองว่า รวมกันซ่องสุมใช้ยา ทั้งที่พวกเราไม่เคยสักครั้ง"


 


5. การรวมกลุ่มเพื่อแสดงตัวตน และพื้นที่ทางสังคม การรวมกลุ่มและมีกิจกรรมให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การเล่นเกม การเที่ยว การแต่งตัว ฟังเพลง เต้นรำ งานเลี้ยง การจัดค่าย การประกอบอาชีพ ล้วนเป็นการแสดงตัวตนในสังคม และมีพื้นที่ของตนเอง พื้นที่ที่มีความเข้าใจ จริงใจ รักและเคารพกัน และรองรับความเป็นธรรมชาติ ความสร้างสรรค์ของวัยรุ่น


 


แต่ทว่าพื้นที่ที่กลุ่มวัยรุ่นจะแสดงตัวตนออกมา มีไม่มากในเมืองเชียงใหม่ ไม่มีสวนสาธารณะพอเพียง ไม่มีพื้นที่เล่นดนตรี สเกตบอร์ด ศูนย์ทำกิจกรรมต่างๆ แต่กลับมีพื้นที่เช่น ผับ เธค มากขึ้น ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นจะเข้าไปใช้บริการเพื่อแสดงตัวตน และแสวงหาสังคมของคนที่เข้าใจและยอมรับกัน


 


การบ่งบอกหรือแสดงทางสัญลักษณ์ถึงการมีตัวตนในสังคมนั้น เป็นการบอกถึงความคิด ความเชื่อ และความคิดที่สร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ หากแต่เรื่องราวต่างๆ นี้กลับถูกปิดกั้นไม่สนใจหรือยอมรับ ดังนั้น การแสดงตัวตนจึงเป็นการบอกว่า เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและอยู่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่มีสิทธิ ต้องการพื้นที่และโอกาสในการแสดงออก


 


ท้ายแล้วการรวมกลุ่มของวัยรุ่นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการรวมแบบกลุ่มแก๊งนั้น มีมาตั้งแต่อดีต และเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ สร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้น การรวมกลุ่มต้องมีกิจกรรมมารองรับความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการของวัยรุ่น ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "เด็กแก๊ง" ด้วย