Skip to main content

เผด็จการ …?

คอลัมน์/ชุมชน




























































































































































































































 

หลังสงครามเย็น …
หลังความล่มสลายของมหาอาณาจักรโซเวียต - รัสเซีย …
หลังจีนหันไป " คบ - ค้า / สมาคม " หรือ " สมาทาน " ทุนนิยมบริโภค …
หลังจากสหรัฐอเมริกากลายเป็น " เบอร์ ๑ " ของโลก " สมอยาก " หรือ " สมใจ " ที่เคยใฝ่ฝัน …
ฯลฯ และ ฯลฯ
กระทั่ง หลังประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ " ฉบับประชาชน "
และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาล " เสียงข้างมาก " ในสภาฯ ( เสียที !)

 
จะมีใครสักกี่คน "จินตนาการได้ "หรือ "จินตนาการไว้ "ว่าจะ
ต้องกลับมาพูดเรื่อง "เผด็จการ "กันอีก !
เชยเหลือเกิน … เชยสิ้นดีเลย … จริงไหม ?
 
จริงอยู่ บางประเทศ ประเภท "หัวไร่ปลายนา" ของสังคมโลก อาจยังมีสงครามกลางเมือง หรือปฏิวัติ-รัฐประหาร กันอยู่บ้าง ตามเงื่อนไข - เหตุปัจจัย "จำเพาะ-เจาะจง" ทั้งส่วนตัว (ในประเทศ) และที่มหาอำนาจ หรือชาติอื่นๆ เข้าไปแทรกแซง
 
แต่กับประเทศที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว ๗๒ ปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่าน การฉีก-การเปลี่ยน รัฐธรรมนูญ มาแล้วเป็นสิบ ๆ ฉบับ ผ่านวิกฤติต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ มานับไม่ถ้วนครั้ง
 
ทั้งด้วยฝีมือของคณะบุคคล และ/หรือ "อัศวินม้าขาว-อัศวินควายดำ-อัศวินคลื่นลูกที่สาม" ก็ตาม
 
กระทั่งเจริญรุ่งเรือง ลืมตาอ้าปาก มีบริษัทไทยๆ เป็นเจ้าของดาวเทียม มีนายกรัฐมนตรีเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลก ตลอดจนมีหนี้สาธารณะมากมายมหาศาล ตาม "เทรนด์" ของระบบ "เสรีการค้า-เสรีการเงิน" เรียบร้อยไปแล้ว
 
ใครจะคิด ว่าวันหนึ่ง นอกวงวิชาการ-วิชาเกิน นอกวิชาประวัติศาสตร์
 
"เรา" ยังต้องมาพูดถึง "เผด็จการ" กันอีก
 
มิหนำซ้ำ ยังไปกล่าวหาว่า "มหาเศรษฐี CEO" เป็นเผด็จการเข้าให้เสียด้วย!!
 
ก็ไหนเชื่อกันมาโดยตลอดไม่ใช่หรือ ว่า…
 
เราปฏิรูปการเมืองแล้ว เป็นประชาธิปไตยแล้ว พัฒนาเศรษฐกิจแล้ว
พัฒนาอะไรต่อมิอะไรแล้ว เจริญแล้ว
…
 

หลายคนเชื่อนักเชื่อหนามิใช่หรือ ว่า …

รวยแล้วดี รวยแล้วน่ารัก รวยแล้วไม่โกง รวยแล้วไม่บ้าอำนาจ !!!
 


 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ . ศ . ๒๕๔๒ ให้ความหมายของเผด็จการไว้ว่า

เผด็จการ น . การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด , เรียกลัทธิหรือแบบการปกครองที่ผู้นำคนเดียว หรือบุคคลกลุ่มเดียวใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการบริหารประเทศว่า ลัทธิเผด็จการ , เรียกผู้ใช้อำนาจเช่นนั้นว่า ผู้เผด็จการ .
 

ขณะที่ ส . ศิวรักษ์ กล่าวถึง " เผด็จการ " ไว้ใน " อธิบายแนวคิดปรัชญาการเมืองฝรั่ง " ( จัดพิมพ์ครั้งที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม หน้า ๕๓ – ๕๕ ) มีความส่วนหนึ่ง ว่า

 

" คำนี้เราแปลมาจากคำอังกฤษ Dictatorship ซึ่งสมัยนี้มีความหมายไปในทางเลวร้าย บ่งถึงการปกครองโดยคนๆ เดียว หรือคณะบุคคล โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาราษฎร

 

ความจริงก่อนหน้านี้ คำๆ นี้ไม่ได้เป็นคำเสีย แม้ รุสโซ ซึ่งเป็นคนที่รักอิสรภาพเป็นอย่างยิ่ง ยังเสนอแนะว่า ในยามฉุกเฉิน รัฐควรปกครองโดยระบอบเผด็จการ ยิ่งโรมสมัยโบราณด้วยแล้ว ใช้ระบอบ dictatura ดังกล่าวอย่างได้ผล เพราะตามปกติแล้ว โรมมีกงสุลสองคนร่วมกันปกครองโดยได้รับเลือกตั้งขึ้นมา ในชั่วระยะเวลาอันจำกัด ในการบริหารงานของรัฐ ต้องตกลงร่วมกันอยู่เสมอ เมื่อเกิดความคับขันขึ้น มักตกลงให้มีดิกเตเตอร์ โดยมอบอาญาสิทธิ์ให้อย่างเด็ดขาด แม้จะขัดขืนกฎหมายก็ยังได้ ตราบใดที่ยังดำรงตำแหน่งดังกล่าว

 

แต่สภาก็มักอนุญาตให้ดิกเตเตอร์อยู่ในอำนาจคราวละ ๖ เดือนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะชาวโรมันเชื่อว่าถ้ามีอำนาจอาญาสิทธิ์โดยสมบูรณ์ยาวนานว่านี้ ย่อมมีทางที่จะคิดใช้อำนาจไปในทางฉ้อฉลได้ง่ายขึ้น

 

เพราะสถานการณ์อันวิกฤติเป็นเหตุให้ต้องมีดิกเตเตอร์ ก็ควรที่ดิกเตเตอร์จะแก้สถานการณ์ให้คืนสู่สภาพปกติได้ภายในครึ่งปี โดยที่มีอำนาจอาชญาสิทธิ์อย่างเต็มที่ในระยะเวลาดังกล่าว

 

ดิกเตเตอร์หรือเผด็จการ ในสมัยปัจจุบัน กลายเป็นตัวเลวร้ายก็เพราะพากันหวังอยู่ในอำนาจนานกว่าครึ่งปี ในบางประเทศ เช่น สเปนและโปรตุเกสนั้น บางคนได้ครองอำนาจจนตลอดชีวิตเอาเลย …"

 

( เน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียนบทความนี้ )

 

ท่านพุทธทาสภิกขุเองก็เคยพูดและเขียนไว้หลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ ทำนองว่า หากเป็น " เผด็จการโดยธรรม " เพื่อที่จะจัดการหรือแก้ไขปัญหาหนึ่งปัญหาใด ให้เด็ดขาด เรียบร้อย และรวดเร็ว ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ดีเสียอีก ที่ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรอื่น ๆ ด้วยการใช้ " ธรรมะในฐานะ เครื่องมือ "

 

ปัญหาสำคัญคงอยู่ที่ว่า " เผด็จการในเวลาจำกัด " หรือ " เผด็จการโดยธรรม " หรือทั้งสองประการประกอบกัน เพื่อใช้อำนาจอย่าง " เผด็จการที่ เป็นธรรม " นั้น ส่วนมาก ยากจะมี , ยากที่จะเกิดขึ้น หรือยากที่จะรักษาไว้ได้ ในความเป็น " ปุถุชน " ของ " ผู้ปกครอง " หรือ " ชนชั้นปกครอง " ผู้ได้รับหรือยึดกุมอำนาจไว้ในมือของตน ( และคณะ )

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่อำนาจเบ็ดเสร็จ มักเป็นที่มาของ " ผลประโยชน์ " อันยิ่งใหญ่และมากมายเสียยิ่งกว่าจำนวนที่ดิน วัตถุมีค่า หรือโภคทรัพย์อื่น ๆ เช่น ที่ผู้เผด็จการในอดีตเคยได้ หรือเคยมีมาแล้ว

 

คงยากที่จะง้างอ้อยจากปากช้าง หรือแย่งหมูออกจากปากหมา หากว่าเผลอเปิดโอกาสให้มัน " งาบ " เข้าไปจนถึงขนาดขย้ำกลืน …

 

นี่กระมัง ที่เป็นสาเหตุให้หลายต่อหลายคนไม่เชื่อ ไม่ไว้ใจ หรือรับไม่ได้ ที่จะให้มี หรือให้เกิด ระบอบเผด็จการ หรือ ผู้เผด็จการ ขึ้นมาในบ้านในเมือง ( หรือในโลก ) ยุคนี้

 

กล่าวให้ง่ายเข้าก็คือ ในโลกยุคใหม่ที่ทรัพยากรนับวันจะจำกัด แถมยังเป็นทุนนิยมบริโภค ที่ผลิตมาก - บริโภคมาก ตลอดจนซื้อง่ายขายคล่อง และใช้ระบบการค้าเสรีอยู่ค่อนโลก เมื่อประกอบเข้ากับเทคโนโลยีการผลิต และระบบข้อมูลข่าวสารความเร็วสูงด้วยแล้ว ผู้ที่พอจะรู้ หรือพอมีปัญญาอยู่บ้างย่อม " รับไม่ได้ " ที่จะให้ " ใครสักคน " หรือ " หลายคน " เข้ามา ครอบงำ - ครอบครอง แล้ว " กินรวบ " ไปอย่างหน้าด้านๆ

 

เพราะนั่นเท่ากับละเมิดสิทธิในการ " กินแบ่ง " ไปพร้อมๆ กับทำลายโอกาสที่จะ " กินนานๆ " ของคนส่วนใหญ่ไปเสีย มิหนำซ้ำ นอกจากลิดรอนเสรีภาพในการกินการใช้เสียแล้ว ยังเอาเปรียบและแทรกแซงคนธรรมดาสามัญคนอื่นๆ เขาด้วย

 

นี่เป็นข้อใหญ่ใจความที่คนชั้นกลางยุคหลังทันสมัย " ลุ้น " ไม่ให้มี และ " ยอมไม่ได้ " ที่จะให้มี " ระบอบเผด็จการทุนนิยมใหม่ " ขึ้นมา

 

น่าช้ำใจก็ตรงที่ว่า "บางคน" เอง ก็เห็นและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพราะตนเคยประสบมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นละอ่อนในวงการธุรกิจ แต่พอลืมตาอ้าปากได้ กลับใช้ทักษะและปฏิภาณไหวพริบ เล่นบทศรีธนญชัย หาช่องทางเป็น " เผด็จการทุนนิยมใหม่ " เสียเอง เพื่อแสวงหา " ช่องว่าง " ที่ตนเคยรังเกียจ แล้ว " กินรวบ " ทั้งทางตรงทางอ้อม แทนที่จะช่วยกันส่งเสริมและสร้างสรรค์ ช่วยกันหาวิธีปิด " ช่องทางมาร " หรือช่วยกันสร้างความเข้มแข็งของการแข่งขันในระบบการค้าเสรีที่คนชั้นกลางเชื่อถือว่าดีที่สุด

 

นี่กระมัง เมื่อผ่านมานานเข้า และเห็นอะไรได้ชัดขึ้น คนเคยเชียร์ และคนเคยชื่นชม " อัศวินคลื่นลูกที่สาม " ก็เริ่มผิดสังเกต เริ่มตั้งข้อสงสัย เริ่มโวยวาย และเริ่มให้บทเรียนแก่ " เผด็จการใหม่ " มากขึ้นและมากขึ้น

 


 

พุทธศาสนา ให้การยอมรับและเคารพต่อ " ความเป็นผู้นำ " ในหลายบริบท แม้ด้านหนึ่งพระพุทธเจ้าในฐานะพระบรมศาสดาจะทรงสถาปนา " สังฆะ " หรือ " ชุมชน " อันเท่าเทียม ทั้งในส่วนของการร่วมบริหาร และการร่วมใช้ทรัพยากร แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้ความเคารพใน " ภูมิรู้ " และ " ภูมิธรรม " อันเป็นสภาวะด้านใน หรือด้านนามธรรมไปพร้อมๆ กัน

 

กล่าวคือ ในส่วนของการจัดตั้งและระบบการบริหารจัดการ สมาชิกในสังฆะต่างมีเสียงเป็น " หนึ่ง " ในการแสดงออกหรือรับรองมติใดๆ ก็ตามของชุมชน แต่ก็ยังมีข้อยกเว้น หรือมอบสิทธิพิเศษต่อผู้มี " คุณธรรมอันยิ่ง " อยู่ด้วยเสมอ ผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติพิเศษเหล่านั้นหลากหลายวิธี ทั้งโดยการรับรองของผู้มีประสบการณ์มาก่อน การประกาศรับรองโดยองค์คณะ หรือโดยการตราไว้ในวินัย หลังมีเหตุให้ต้องกำหนดวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ขึ้น

 

กล่าวในส่วนของความเป็นผู้นำ พุทธศาสนาถือว่า " ผู้นำที่แท้ " เป็น " สื่อ " ในการแสดงธรรม กล่าวคือ หากผู้นำถือธรรมเป็นใหญ่ เป็น " ธรรมาธิปไตย " ยึดธรรมเป็นสำคัญ เชิดชูหลักการ ปฏิบัติการ ตาม และ เพื่อ เห็นแก่ความเป็นจริง ความถูกต้อง และความดีงาม ไม่เป็นอัตตาธิปไตย ( ถือตัวเองเป็นใหญ่ ) ไม่เป็นโลกาธิปไตย หรือมุ่งแสวงหาความนิยม แสวงหาการยอมรับเป็นที่ตั้ง

 

หากวินิจฉัย หรือตัดสินทุกอย่างด้วย " หลักการ " นับแต่หลักการที่เกิดขึ้นโดยการจัดตั้งของมนุษย์ ไปถึงหลักการที่เป็นนามธรรม ( ที่รองรับหลักการของมนุษย์นั้น )

 

เมื่อทำได้เช่นนั้น การเป็น " ผู้นำ " และ การ " นำ " ดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นกระบอกเสียงของธรรม หรือ " ทำหน้าที่ผู้นำเยี่ยงการปฏิบัติธรรม " นั่นเอง

 

พระพุทธเจ้าโดยพระองค์เองก็อยู่ในฐานะผู้นำโลก และเป็นที่พึ่งของโลก จึงมีพระนามหนึ่งว่า " โลกนาถ " ( นาถะในฐานะบุคคล คือ " ผู้นำ ", ในทางธรรมถือว่าเป็น " ที่พึ่ง ") ด้วยพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระวิสุทธิคุณ ที่พระองค์ทรงมีต่อสรรพสัตว์

 

บางคัมภีร์กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น " นายโก " หรือ " นายก " ที่แปลว่า " ผู้นำ " ไว้อย่างชัดเจน

 

ขณะที่พระองค์เองทรงวางพระองค์ไว้ในฐานะผู้นำ ประเภท " เพื่อนที่ดี " อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังพุทธพจน์ที่ว่า
" เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ทั้งหลายก็พ้นไปได้จากทุกข์ทั้งปวง "

 

ซึ่งในบางที่ขยายความไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นกัลยาณมิตร ที่ค้นพบทาง ( มรรค ) รู้ทาง และช่วยให้คนทั้งหลายได้ฝึกตนเอง เพื่อก้าวเดินไปบนทาง ( มรรค ) สายนั้น

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ พุทธศาสนาเน้นการสร้างชุมชนแห่งความเท่าเทียม


ขณะเดียวกันก็ให้โอกาสแก่ผู้มีคุณสมบัติพิเศษ และยอมรับหรือยกย่องผู้นำซึ่งเป็นเพื่อนที่ดีนั่นเอง

 

นี่ฟังดูอาจคล้ายอุดมคตินิยมไปสักนิด โดยเฉพาะผู้ไม่เชื่อว่าสังฆะดังกล่าวเคยมีอยู่จริง แต่จะว่าไปแล้ว เป้าหมายสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย หรือระบบการค้าเสรีที่หลายคนเชื่อและยอมรับ ก็ล้วนแล้วแต่ยังเป็นอุดมคติ หรือยังมิมีใครหรือกลุ่มใดเคยก้าวไปถึงอย่างแท้จริงมิใช่หรือ

 


 

ถึงวันนี้ จะมากจะน้อย หลายคนก็เชื่อว่าเราฝ่าข้ามอะไรต่อมิอะไรมาแล้วอย่างมากมาย ทั้งระดับปัจเจก ชุมชน สังคม กระทั่งความเป็นรัฐชาติ หรือประชาคมโลก น่าเสียดายที่บางเรื่องราวเสมือนวัฏฏะ หรือ วัฏจักร ที่พร้อมเสมอที่จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก

 

บ้างก็ในรูปแบบเดิมๆ บ้างก็ " เปลี่ยนรูป - แปลงร่าง " มาใหม่ จนแรกพบก็จำไม่ได้ หากต่อมาก็ค่อยๆ เผยโฉมแท้จริงออกมา

 

น่าเสียดายก็ที่ถึงขนาดนี้แล้วบางคนกลับยังไม่สำเหนียก กลับยังไม่หลาบจำ กลับปล่อยกายปล่อยใจ ให้ขาดสติ กระทั่งที่สุดก็ย่ำเท้าลงบนรอยเดิม บนเส้นทางที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มาแล้วแต่เดิม ซ้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งท้ายสุด ทั้งความเป็นผู้กระทำและถูกกระทำ ก็สร้างความเสียหายและบาดแผลเอาไว้เบื้องหลังจนยากที่ตนจะรับผิดชอบได้

 
พูดไปแล้วใครจะเชื่อ ว่าวันหนึ่งผู้นำที่เคยมีคะแนนเสียงล้นหลาม เคยได้รับความนิยมสูงสุด และมีฐานะส่วนตัวดีที่สุด กว่าที่ผู้นำใดๆ เคยมีมา ของแผ่นดินที่พระพุทธศาสนาเป็นหลักชัยมานานกว่าสองพันปี จะถูกตั้งข้อสังเกต และถูกตราหน้าว่าเป็น " เผด็จการทุนนิยมใหม่ " ซึ่งใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเอื้อประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นผู้สร้างอาณาจักรแห่งความกลัว ด้วยวิธีและกโลบายอันเนื่องด้วยระบบอำนาจนิยมและการใช้ความรุนแรงหลากรูปแบบ เป็นสาเหตุให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาตินับจำนวนไม่ถ้วน หรือกระทั่งนำพาประเทศชาติไปสู่ภาวะสูญเสียอธิปไตย และ โอกาสทางการค้า - โอกาสทางเศรษฐกิจ อย่างเหลือคณานับ
 

ฯลฯ และ ฯลฯ

 

จำเลยและผู้ควรรับผิดชอบคงมีอยู่จำนวนไม่น้อย


แต่ " ทางออก " เล่า … จะมีอยู่สักแค่ไหนและเพียงใด ?

และ …
เมื่อใดเล่า ?
ที่เราจะไม่ต้องมาพูดมาคุยประเด็นเชย ๆ เช่นนี้กันอีก