Skip to main content

เรื่องสั้นๆ ของฉันกับลุงแต๋ง

คอลัมน์/ชุมชน




"ลุงขายผักยังไงคะ"


"ก็ปั่นจักรยานมาไงหนู"


 


ชายชราตอบเสียงเบา พลางอมยิ้มน้อยๆ ฉันนึกขำกับอาการตอบไม่ตรงคำถามของลุง พลางก็คิดว่า ถ้าฉันไม่เสียงเบาเกินไป เขาก็ได้ยินไม่ถนัด


แต่ไม่เป็นไร  ฉันเปลี่ยนมาใช้สายตาแทนการสนทนา  มองไปยังถุงผักที่วางเรียงอยู่บนแผงรถเข็น


ตั้งโอ๋ต้นน้อยๆ เล็กกระจิดริด และยังโตไม่เต็มที่ เหมือนเด็กน้อยที่ยังเดินไม่เป็น


ก่อนหน้านี้มันอยู่ในกะละมังใบหนึ่ง ซึ่งลุงคนขายวางไว้ใต้ชั้นของจักรยานพ่วงสามล้อ


จากนั้นแกค่อยๆ แบ่งเป็นกอง คลี่ถุงพลาสติกใช้แล้วที่ล้างอย่างสะอาดและแห้งดีแล้ว


หยิบใส่อย่างช้าๆ เมื่อเห็นฉันยืนจ้องอยู่ตรงหน้า แกก็หันมายิ้ม ถามอีกว่า


"มีหลายอย่างนะหนู ลุงปลูกเอง"


 


ฉันไล่สายตามองไปยังแผงของลุง


บนนั้น มีกล้วย 1 หวี มีกระเทียมอยู่เพียง 1 ถุง หอมแดง 2 ถุง


ผักตั้งโอ๋ประมาณ 4 ถุงได้ พร้อมด้วยลูกมะพร้าวทั้งแบบแกะเปลือกแล้วและไม่แกะเปลือก รวมกัน 3 ลูก


นอกเหนือจากนั้น มีดอกแคสำหรับทำแกงส้ม 2 ถุง และชมพู่มะเหมี่ยวลูกเล็กๆ อีก 2 ถุง ซึ่งมีทั้งรอยช้ำและแมลง


"ลุงเก็บมาจากบ้านเหรอคะ"


คราวนี้ฉันพูดดังกว่าเดิมนิดหน่อย ได้ผล ลุงหันมายิ้ม และตอบคำถาม


"ชมพู่เหรอ บนต้นมันเยอะ แต่ลุงรอให้มันหล่นก่อน"


ลุงตอบซื่อๆ ง่ายๆ แถมยังช่วยอธิบายถึงกล้วยจากหลังบ้าน มะพร้าวที่เก็บได้แต่ต้นเตี้ยๆ เพราะปีนไม่ค่อยไหว


ฉันยืนนิ่งๆ ฟังการอธิบายอย่างแผ่วเบา ช้าๆ พูดผิดพูดถูกนั้นอย่างลืมตัว


 


ชายชราที่มีผมหงอกแซมไปทั่ว แต่ปิดไว้ภายใต้หมวกแก๊ปสีน้ำเงิน


มืออันสั่นเทาคอยจัดของนั่นนี่อยู่เสมอ แม้จะยังไม่มีคนเดินแวะมาซื้อ


ฉันเดาอายุลุงไม่ถูก ความแข็งแรงเท่าที่มองเห็น เขาน่าจะอายุเจ็ดสิบกว่าปีเท่ากับพ่อของฉัน


ต่างกันแต่ว่า ดวงตานั้นปะปนทั้งความหวังและความเศร้าในคราวเดียวกัน


ตะวันยามเย็นสะท้อนแสงสีส้มลงบนน้ำแม่ปิง ที่ยืนหันหลังให้จากตลาดแห่งนี้


ลุงหันมองตาม ถอนหายใจ และมองไปยังแผงขายของอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ


ข้าวสารยังคงขายดี แผงเนื้อหมูมีเสียงสับเขียงตลอดเวลา ลูกชิ้นทอดกับไก่ไร้กระดูกเต็มไปด้วยเด็กๆ ยืนรอซื้อ


อาหารสำเร็จที่ทำเสร็จแล้วดูเหมือนจะขายดีกว่า กับข้าวถุงละ 20 ที่วางไม่นานก็บางลงเหลือไม่กี่อย่าง


ฉันนึกไปถึงคำพูดของเพื่อนผู้มาเยี่ยมบ้านวันก่อนว่า


"ทำไมเธอชอบทำกับข้าว เสียดายเวลากว่าจะได้กิน"


 


ไม่รู้สิ อาจเพราะฉันชอบกิน หรือไม่ก็เพราะฉันช่างเลือก


อาหารส่วนใหญ่ใส่ผงชูรส ฉันมีเหตุผลอย่างนั้น แม้บางครั้งจะตอบไม่ได้ว่า สุดท้ายเราได้กลายเป็นผู้เลือกจริงๆ หรือไม่ เพราะผักสดส่วนใหญ่ก็ยังมีแต่ยาฆ่าแมลง หมูเนื้อแดงที่มีสารเร่งเนื้อ ปลาอยู่ในแม่น้ำสารปนเปื้อน


สิ่งรอบตัวอาจเป็นเหตุผลให้การทำอาหารเองฟังดูดีขึ้น


 


แต่ฉันคิดว่าฉันมีอีกเหตุผลหนึ่ง นั่นคือฉันหลงรักเสน่ห์ของตลาด


โดยเฉพาะที่เป็นตลาดชาวบ้าน มีคนเอาผัก เอาปลามาขาย อย่างละนิดละหน่อย ไม่ต้องมาก


อาจมีบ้างที่แม่ค้าคนกลางรับของแล้วมาขายต่อเพื่อกำไรนิดๆ หน่อยๆ ทำให้ตลาดดูคึกคักและมีชีวิต


เสียงคนตะโกนคุยกัน เสียงการต่อรองสินค้า บางคนแถมของให้ฟรีๆ ไม่ซื้อก็มายืนดู ยืนเลือกได้


และสำหรับวันนี้ อาจจะเป็นเพราะลุง กับของราคา 5 บาททุกอย่างบนแผง


แม้จะน้อยนิดจนคิดว่าถ้าเราซื้อทุกอย่างจนหมด เราก็อาจจะกินหมดได้ในมื้อเดียว


 


"บ้านลุงอยู่ไกลไหมคะ"


"อายุเหรอ 85 แล้ว"


ลุงตอบอีกครั้ง ฉันอมยิ้มอีก เสียงมอเตอร์ไซค์อาจจะดังไปหน่อย จึงขยับตัวเข้าไปใกล้


"เอาตั้งโอ๋ถุงหนึ่งค่ะลุง แล้วก็กล้วยน้ำว้านี่"


ลุงยิ้มกว้างเหมือนดีใจ ก้มหยิบถุงพลาสติกแต่ฉันยกมือบอกว่าไม่ เพราะมีตะกร้าหน้าจักรยานอยู่แล้ว


"ลุงมีลูกไหมคะ"


"อยู่ไกลเหมือนกันหนู อยู่บ้านโป่ง เข้าไปข้างในโน้น ลุงปั่นมา"


"เอ่อ ถามว่าลุงมีลูกหรือเปล่าน่ะค่ะ"


"อ๋อ ลุงชื่อแต๋ง ฮ่าๆๆ โธ่ หูไม่ค่อยดี"


"เอ่อ..ค่ะ"


 


ฉันพยักหน้าหงึกๆ เลยนึกถึงคำถามอื่นอีก


"แสดงว่าลุงแก่แล้วแต่แข็งแรงอยู่เนอะ"


"ฮ่าๆๆๆ ลูกไม่มี เมียตายแล้ว"


ลุงตอบอย่างอารมณ์ดี คราวนี้ฉันไม่มีคำถามอีก


เริ่มงงว่าคนหูไม่ดีนี่ก็ดูกวนไปอีกแบบ แต่สุดท้ายถามวนไปเราก็ได้คำตอบมาครบอยู่ดี


 


"ขอบคุณมากค่ะลุง ขอบคุณที่ให้ถ่ายรูปด้วยนะ นี่ค่ะตังค์ค่าผัก"


 "ไม่เป็นไร อ่ะ ไม่เป็นไร วันหลังมาอุดหนุนใหม่นะ"


คราวนี้ลุงตอบเสียงชัด และตรงคำถาม แถมโบกมือให้ด้วยก่อนเราจะจากกัน


ฉันโบกมือตอบ ท่ามกลางสายตาคนแปลกๆ ของคนในตลาด


แล้วก็รีบปั่นจักรยานกลับบ้าน พร้อมของในตะกร้าที่ไม่เหมือนไปซื้อกลับมา


แต่รู้สึกเหมือนเพิ่งกลับจากเที่ยวสวนครัวบ้านใครสักคน และเจ้าของบ้านแบ่งมาให้กิน


ฉันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ.


 


 0 0 0


 


 



 


 



 


 



 


 



 


  



 


  



 


 


      


    


 


 


 


 


            


 


 


 


   


 


 


************************