Skip to main content

‘ศาสนธรรม’ กับยุคข่าวสารและปรากฏการณ์ ‘ผู้บ่าวกินเมือง’

คอลัมน์/ชุมชน

 



 


ในระยะรอยต่อระหว่างศักราชที่ผ่านมานั้น ดูจะมี ‘เรื่องราว’ และ ‘กิจกรรม’ ตาม ‘เทศกาล’ ให้ผู้คนตื่นตาตื่นใจหลากหลายรูปแบบ ตามประสายุคข้อมูลข่าวสาร ที่เทคโนโลยีมักตอบสนองและเติมเต็มตัณหาของนักบริโภค ตลอดจนโลภจริตของนักค้ากำไร ได้อย่างสอดคล้องและกลมกลืน ชนิดที่ศาสนธรรมชั้นสามัญยากจะสอดแทรก หรือเสนอหน้าเข้าไปเตือนสติ ให้ใครต่อใครตั้งข้อสังเกต และ/หรือ ใคร่ครวญ-ไตร่ตรอง ต่อปรากฏการณ์ตลอดจนแก่นสาระที่จำเป็นหรือบังเอิญต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเหล่านั้น


 


ว่ากันว่า ในเทศกาล (ซึ่งนับวันจะมีแปลกๆ ใหม่ๆ มากขึ้นทุกที) หากใครสักคนมีเครื่องไม้เครื่องมือในการ ‘รับข่าวสาร’ เพียงพอ  เขา(หรือเธอ)คนนั้นจะสามารถพร่าผลาญเวลาทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ของแต่ละวัน ไปกับเรื่องราวทั้งยิบย่อยและใหญ่โต ของ ‘ใครต่อใคร’ หรือ ‘อะไรต่อมิอะไร’ ได้อย่างสับสนอลหม่าน  ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงอาจไม่เกี่ยวข้อง หรือส่งผลกระทบใดๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต่อตัวตนและวิถีชีวิต ของ ‘ผู้รับสาร’ คนนั้น ในชั่วชีวิตนี้เลย


 


นี่ออกจะเป็นเรื่องซับซ้อนและซ่อนเงื่อนอยู่ไม่น้อย เพราะบางคนบางท่านอาจอ้างอิงไปถึง ‘อิทัปปัจจยตา’ อันว่าด้วยความเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบระหว่างกันของสรรพสิ่ง หรือแนวคิด ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ และทฤษฎี ‘ผีเสื้อขยับปีก’ ของบางคน ซึ่งหากนำมาเทียบเคียงแล้วก็สามารถยกประโยชน์ให้กับการบริโภคชนิด ‘เกินขนาด’ ได้ ว่า..ทุกสิ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันเสมอ ดังนั้น ฉันจึงต้องรู้ทุกเรื่อง หรือต้องรู้ให้มากเข้าไว้ ไม่เว้นแม้เรื่องไกลตัวสุดกู่ หรือเรื่องราวไร้สาระ ที่มีฐานะเป็นเพียงพาหะของการโฆษณาสินค้าบ้าๆ บอๆ ก็ตาม


 


วันดีคืนดี (หรือวันร้ายคืนร้าย?) เรื่องราวของ ‘คนกินแมว’ หรือ ‘ผู้บ่าวกินแมว’ จึงกลายเป็นเรื่องราวสาธารณะขึ้น และขยายผลไปสู่ความรู้สึกร่วมอื่นๆ จนได้ในที่สุด ชนิดไม่นำพาปรารมณ์ ว่า ‘แก่นสาระ’ ที่แท้จริงของเรื่องนี้จะอยู่ที่ไหน และมีรายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร


 


กล่าวคือ เมื่อ ‘เพลงผู้บ่าวกินแมว’ ถูกยกขึ้นเป็นประเด็นและขยายผลไปสู่กระแสแห่งความสนใจใคร่รู้ ‘ผู้บ่าว’ ที่ ‘กินแมว’ ก็คล้ายจะ(ถูกทำให้)หายไป(ชั่วขณะ) เหลือเพียง ‘การกินแมว’ และลดทอนไปสู่ ‘การกิน’ ที่มีนัยมาจาก ‘การฆ่า’ ขณะที่ ‘แมว’ ซึ่งเดิมเป็นสิ่งที่ ‘ถูกกิน’ ก็ถูกตีความขึ้นมาให้อยู่ในฐานะ ‘สัญลักษณ์’ ของ ‘สัตว์เลี้ยงผู้น่ารักน่าเอ็นดู’  และ/หรือ น่าสงสาร – สมเพท – เวทนา ไปในที่สุด


 


กระทั่งบั้นปลายของกระบวนการทำซ้ำ ‘ผู้บ่าวกินแมว’ จึงมีโอกาสได้โผล่หน้าออกมา และ(ถูกทำให้)กลายเป็น ‘คนโหดร้ายป่าเถื่อน’ ไปเสีย ฐานบังอาจ ‘กินสัตว์เลี้ยงผู้น่ารัก’ และแสนจะอ่อนแออ่อนโยน...  


 



 


นอกเหนือจากประเด็นการอนุรักษ์ทุกอย่าง (ยกเว้นที่ฉันนิยมบริโภค เช่น ไก่ โคขุน หรือสุกร) แล้ว ประเด็นที่ว่าผู้บ่าว ‘เป็นใคร’ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกันกับการละไว้ โดยไม่สนใจ หรือไม่คิดจะสนใจ ต่อความเป็นมาเป็นไปและรายละเอียดอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ว่าเอาเข้าจริง ทั้ง ‘ผู้สื่อ’ และ ’ผู้เสพ’ ปฏิบัติเช่นไรต่อ ’ข่าว’, ’สิ่งที่เป็นข่าว’ และ "แหล่งข่าว" ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นๆ


 


ติดตามเรื่องราวของ ‘ผู้บ่าวกินแมว’ ได้ระยะหนึ่ง ก็ทำให้อดคิดถึงนวนิยายแนวเสียดเย้ยที่ เทศภักดิ์ นิยมเหตุ แปลจาก A Feast of Freedom ของ Leonard Wibberley เสียไม่ได้ ที่กล่าวถึงการที่ชาวเกาะ "มนุษย์กินคน" ตอบโต้คำประณามและการกล่าวโทษ เกี่ยวกับการกินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน ทำนองว่า "การฆ่าโดยไม่กิน" และ "เกินความจำเป็น" ของคนที่เรียกตัวเองว่าเจริญแล้ว ในสงครามหรืออาชญากรรมทั้งหลายแหล่ต่างหากมิใช่หรือ ที่ควรได้รับการลงโทษหรือติเตียน


 


ยังดีที่กรณี ‘ผู้บ่าวกินแมว’ มีนักวิชาการหลายท่านออกมาตั้งข้อสังเกตเสริมประเด็น ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งนอกเหนือไปจากการอนุรักษ์หรือสิทธิของสัตว์ (ชนิดหลับหูหลับตา) อยู่บ้าง จึงทำให้หลายฝ่ายได้มีแง่มุมอันควรแก่การพิจารณาเพิ่มขึ้น แทนที่จะแบ่งส่วนแยกซอยแล้ว "ตัดสิน" อะไรต่อมิอะไรลงไปแบบมักง่าย ชนิดแบ่งขาวแยกดำ จนทำให้ผู้คนบางกลุ่มในบางท้องถิ่นต้องตกเป็นจำเลยของสังคมข่าวสารข้อมูลไปโดยปราศจากหนทางตอบโต้


 



 


อย่างไรก็ตาม สัจจะทางสังคมมักเปิดเผยตัวมันเองอยู่เสมอ หลังจาก ‘เป็นข่าว’ มาระยะหนึ่ง เมื่อ ‘ผู้บ่าวกินแมว’ เผชิญหน้าเข้ากับ ‘ผู้แม้วเรียลิตี้’ ที่มีกระบวนการสร้างภาพ สร้างเงื่อนไข สร้างความน่าสนใจ รองรับอย่างขนานใหญ่, ชนิดเข้มข้น เข้มแข็ง และครบเครื่องยิ่งกว่า ก็ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ข่าวนายกรัฐมนตรีออกไป กิน-นอน-ทำงาน ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ประชุมคณะรัฐมนตรีในท้องถิ่นบ้านนอกคอกนา ออกพบปะเยี่ยมเยียนผู้คนถึงบ้านถึงช่อง นั่งรถอีแต๊ก ขับรถมอเตอร์ไซค์ (ไร้หมวกกันน๊อค) ฯลฯ อย่างชนิด ‘ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’ ก็จะต้อง "น่าตื่นตาตื่นใจ" และ "ควรได้รับความสนใจ" จากสังคมการเมืองแบบไทยๆ ยิ่งกว่าเรื่อง "คนกินแมว" อยู่ดี


 


ทั้งที่หากไม่คำนึงถึงเนื้อหาสาระและที่มาที่ไป จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าประเด็นการ ‘ทารุณสัตว์’ หรือการ ‘ก้าวล่วงทางวัฒนธรรม’ ก็มิใช่เรื่อง "เล็กๆ น้อย" แต่อย่างใด และน่าจะยิ่งใหญ่โดยตัวมันเองยิ่งกว่าการถ่ายทอดสดชีวิตหาเสียงในวันหนึ่งๆ ของนักการเมืองสั่วๆ เอาด้วยซ้ำ


 


นี่ออกจะเป็นเรื่องตลกร้ายไปสักนิด ที่เอาเข้าจริง สังคมข่าวสารไทยๆ ที่ดูจะแตกตื่นกระแสรักสัตว์เป็นห่วงสัตว์อย่างชนิดไร้เดียงสา(ซึ่งก็ยังดูดี) กลับแตกตื่น(อย่างไร้เดียงสายิ่งกว่า)กับวิธีการของนักการเมืองการตลาดผู้สร้างเรื่องปั่นกระแสกระตุ้นเร้าให้ ‘ลูกค้า’ ตื่นตาตื่นใจไปวันๆ


 


พูดอย่างนี้เจ้าของเสียง ๑ ใน ๑๙ ล้านเศษอาจเขม่นเอาได้ง่ายๆ ค่าที่ไปกระทบกับอัตตา และ/หรือ อดีตอัตลักษณ์ร่วมของตน ที่เคยหลงภาคภูมิใจ ว่าได้ ‘มีส่วน’ หรือได้ ‘ร่วม’ อยู่ใน "อัครพรรคการเมือง" หรือเคยหลงละเมอเพ้อพกไปว่า จะมีโอกาสได้ร่วมเขียนประวัติศาสตร์ทางการเมืองชนิดสำคัญขึ้นอีกหน้าหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงก็เป็นได้เพียง ‘สาวก’ ของบุคคลชนิด "อัคร-ยำ-บุรุษ" เท่านั้น


 



 


อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานั้นทั้งหมดดูจะกลายเป็นเรื่องยิบย่อยไปทันทีทันใด เมื่อข่าวการขายหุ้นบริษัทชินฯ ของ ‘อภิชาติบุตร’ ผู้หวังให้ ‘คุณพ่อ’ ได้ทำงานการเมืองได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องถูกโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หรืออะไรทำนองนั้น ดังที่เป็นข่าวคราวจากถ้อยคำของ ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอง ครั้งที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแขนงต่างๆ เมื่อไม่กี่วันมานี้


 


ข่าวการขายหุ้นบริษัทชินฯ ที่ถืออยู่ในมือของคนในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์เป็นเงินกว่า ๗๓,๓๐๐ ล้านบาท ให้กับกองทุนจากสิงคโปร์นั้นเป็น ‘อภิมหาข่าว’ โดยแท้ และเป็น ‘อภิมหาข่าว’ ในหลายแง่มุม ชนิดที่สามารถพาดหัวตัวไม้ ได้ทั้งหนังสือพิมพ์ตลาดล่างและหนังสือพิมพ์ระดับคุณภาพ ตลอดจนหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และหนังสือพิมพ์วิชาการ ฯลฯ เลยทีเดียว


 


และด้วยความเป็นข่าวใหญ่ในหลากมิตินี่เอง ที่ทำให้ปรากฏการณ์ "ผู้บ่าวกินแมว" กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อฝุ่นของข่าวฟุ้งตลบขึ้น และแผ่กระจายกว้างขวางออกไป "ข้อเท็จจริง" และ "แก่นสาระ" ก็ถูกสีสันและบรรยากาศกลืนกลบไปเสียเป็นส่วนใหญ่


 


ประเด็นสำคัญของข่าวนี้ ที่ว่า...


 


ใครเป็นคนขาย ใครเป็นคนซื้อ ขายทำไม ซื้อทำไม ขายอย่างไร ซื้ออย่างไร ขายเมื่อใด ซื้อเมื่อใด กระบวนการขาย – กระบวนการซื้อ มีความถูกต้องและบริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งต่อผู้ซื้อขาย และต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือไม่และอย่างไร กระบวนการตรวจสอบและพิสูจน์ทราบ ว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและคนในรัฐ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าที่ซื้อขาย หรือมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกิจการที่ซื้อขาย ได้รับความเป็นธรรมสักเพียงใด รัฐในฐานะตัวแทนปวงชน ได้กำกับดูแลและรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินตลอดถึงผู้คน ซึ่งกิจการเหล่านั้นอาศัยก่อตั้ง และทำมาค้าขายหาผลกำไรมาโดยตลอดอย่างไร ฯลฯ


 


จึงกลายเป็นเรื่องรองๆ ลงไป ในบรรยากาศของสื่อฯ ที่ต่างคนต่างทำ และบรรยากาศของผู้เสพข่าว ที่เลือกซื้อหาหยิบจับชนิด "เลือกเสพ-บริโภค" ตามรสนิยม เช่นเดียวกับการช้อปปิ้งสินค้าอื่นๆ


 


ยิ่งเมื่อข่าวกลายเป็นกระแส กลายเป็นเรื่อง ‘พูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง’ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่หลงเหลือเอกภาพ หรือแทบจะไม่สามารถจับประเด็นสำคัญได้อีกต่อไป หากหลงเหลือไว้เพียงเรื่องราวและแง่มุมปลีกย่อย ประเภทนักวิเคราะห์ข่าวเส้นตื้น ผู้ตื่นตาตื่นใจกับจำนวนเม็ดเงิน หรือคอลัมน์กอสซิป ที่กรี๊ดกร๊าดหรือแค่กระแอมกระไอออกมาตามองศาจริต ว่าใครจะได้ร่วมใช้เงินกับทายาทของท่านนายกรัฐมนตรี อะไรทำนองนี้เสียมากกว่า นี่ยังไม่นับรายการวิทยุ-โทรทัศน์ หรือคอลัมนิสต์สมุนรับใช้ "ผู้บ่าวกินเมือง" ที่พยายามเปลี่ยนดำเป็นขาว เปลี่ยนร้ายเป็นดี จนมีสภาพไม่ต่างอะไรกับพนักงานในบริษัทสาขาฯ ที่ต้องพิทักษ์รักษาเจ้านาย และกิจการของเจ้านาย ไปพร้อมๆ กับหม้อข้าวของตนเอง ด้วยการเอ่ยอ้าง ‘หลักกู’ แทนหลักการที่ควรจะเป็น


 


ในเมื่อสาระสำคัญของข่าวในเรื่องโลกย์ๆ ยังหลุดไปจากตะแกรงร่อน ทั้งจากผู้เผยแพร่ข่าวและผู้เสพข่าว ประเด็นในทางธรรม อันหมายถึง คุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้องและดีงาม ทั้งของปรากฏการณ์ และของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมากไปกว่า "ธรรมาภิบาล" ของ ‘ธุรกรรม-ธุรกิจ’ จึงดูจะมิพักต้องพูดถึงอีกต่อไป ด้วยเหตุว่าด้านหนึ่ง โดยตัวของศาสนธรรมเอง ก็มิได้ "อยู่ในสายตา" หรืออยู่ใน "ความสนใจ-ใส่ใจ" ของผู้เป็นข่าว ของผู้สื่อข่าว และของผู้เสพข่าวอยู่แล้ว เมื่อประกอบเข้ากับอาการนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น ชนิดไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ของบุคลากรทางศาสนาของศาสนาต่างๆ ในบ้านนี้เมืองนี้(หรือในโลกนี้ก็ตาม)เข้าไปด้วย ทุกอย่างจึงจบลงด้วยกาลเวลา ชนิด ‘หายเห่อ’ ก็ ‘จบเห่’ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมานั่นเอง เพราะเอาเข้าจริงธรรมะกับ "การบ้านการเมือง" นั้น คนส่วนใหญ่อาจจะสนใจน้อยเสียยิ่งกว่า "การหมา-การแมว" เสียด้วยซ้ำไป


 



 


ด้วยอะไรต่อมิอะไรอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้เองกระมัง ที่ทำให้ "เราทั้งหลาย" ต้องตกอยู่ในกระแสวัฒนธรรม ‘บ่น’ และ ‘นินทา’ ต่อๆ กันมา โดยปราศจาก "กระบวนการเรียนรู้", "การสรุปบทเรียน" และ "ปฏิบัติการทางสังคม" ใดๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ชนิดพากันดำเนินชีวิตและสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อๆ กันไป ในฐานะ "เหยื่อ" หรือ "ผู้ถูกกระทำ" เสียยิ่งกว่าการยกระดับตนเอง ให้เป็น "ศาสนิกชน" หรือแม้แต่การที่จะเป็น ‘ประชาชนที่ดี’ ซึ่งต้องมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนเป็นสมาชิก


 


และด้วยความที่เป็นกันเสียอย่างนี้ วันดีคืนดี(หรือวันร้ายคืนร้าย) ก็เลยมีใครสักคนที่ อาศัยความจำดี-เรียนเก่ง ปราดเปรื่องเรื่องทำมาหากิน ร้อยเล่ห์กระลาวนในความฉ้อฉลผูกขาดสัมปทานโครงการรัฐ กล้าทำธุรกิจขูดเลือดผู้บริโภคอย่างไร้ยางอาย กล้าทำงานการเมืองเพื่อเป้าหมายทางการค้า และมุ่งแสวงหาลาภยศ-อำนาจ ฯลฯ โดยในเบื้องต้นก็อาศัยเงินทุนของรัฐไปร่ำเรียนถึงระดับสูงสุด แล้วรับราชการไต่บันไดดารา-เข้าหานักการเมืองจนใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจ เพื่อใช้ช่องทางนั้น กอบโกยโกงกินทั้งทางตรงและทางอ้อม จนมีเงินและทรัพย์สินมากเพียงพอ ที่จะยึดอำนาจรัฐ ด้วยทุนและกลไกอันบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเข้ามาเสวยสุข ตลอดจนเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้รับใช้ และ/หรือ รองรับการค้าผูกขาดและการคอรัปชั่นเชิงนโยบายของตนและวงศ์วานว่านเครือ โดยไม่ยำเกรงต่อบาปบุญคุณโทษ และมิได้ไยดีว่าสิ่งที่ตนกับพวกพ้องกระทำนั้น อาจเป็นตัวอย่างและสาเหตุใหญ่ในการเหยียบย่ำทำลายโครงสร้างทางศีลธรรมและจริยธรรมของสังคม ที่ตนอาศัยเกาะกินเป็นกาฝากมาชั่วชีวิต ทั้งในปัจจุบัน และสืบเนื่องต่อกันไปสู่อนาคต


 


นี่ออกจะใหญ่โตเกินกว่าการ "กินแมว" ของใครหรือของกลุ่มใดไปมาก ค่าที่ว่าเป็นการ "กินบ้านกินเมือง" หรือ "กินประเทศชาติ" อันเป็นสัญญะของอารยธรรมยุคปัจจุบันเอาเลยทีเดียว...


 



 


อย่างไรก็ตาม คงต้องออกตัวไว้เสียก่อนว่าบทความนี้ไม่ได้เกิดจากความอิจฉาตาร้อนต่อปริมาณเงินสด หรือโภคทรัพย์ของผู้ใด ทั้งยังมิได้ริษยาต่ออำนาจหรือยศถาบรรดาศักดิ์ที่บางคนบางท่านได้มาโดยมิชอบ มิหนำซ้ำผู้เขียนออกจะสมเพชและเกิดทุกขเวทนาต่อความไม่รู้และการคลาดเคลื่อนไปจากทำนองคลองธรรมของ "ผู้บ่าวกินเมือง" บางคนเอาเสียด้วย ค่าที่คนเหล่านั้น (และสมุนบริวาร) กำลังเสวยผลกรรมโดยมิได้รู้ผิดรู้ชอบ จนอวดกล้าในทางที่ผิด และออกนอกลู่นอกทางสายกุศล หลงเข้ารกเข้าพงแห่งอวิชชามิจฉาทิฎฐิ อย่างปราศจากสติสัมปชัญญะ ยิ่งขึ้นทุกขณะ


 


ในฐานะเพื่อนผู้ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย และในฐานะสรรพชีวิตร่วมยุคสมัย เราทั้งหลายคงจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากัน แล้วหาวิธีผ่อนเบาวิบากกรรมที่เกิดขึ้น กำลังเกิด หรือเคยเกิดแล้ว จากการกระทำของคนๆ นี้ หรือกลุ่มนี้ ร่วมกันเสียที


 


ในฐานะชาวพุทธ นอกเหนือจากการยังกุศลให้เกิดขึ้นและงอกงามไพบูลย์ เราทั้งหลายย่อมจำเป็นที่จะใช้น้ำใสไล่น้ำครำและชำระล้างความโสโครกเสียในเบื้องต้น ก่อนที่จะสถาปนาความงอกงามไพบูลย์แห่งธรรมให้บังเกิดขึ้น และคงอยู่สืบต่อไป เท่าที่จะมีเหตุปัจจัยอันเหมาะควร


 


หากเข้าใจจุดนี้แล้ว คงพอที่จะจินตนาการได้ ว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่ใครคนใดคนหนึ่งจะกระทำ จะนำพา หรือจะอาสาขี่ม้าขาวเข้ามาแบกภาระเพียง "บางคน" หรือ "บางกลุ่ม" อีกต่อไป...