Skip to main content

สะพานมิตรภาพ เชื่อมสายใจ ไทย – เมียนมาร์

คอลัมน์/ชุมชน

จดหมายเชิญสมาชิกวุฒิสภา ไปเป็นเกียรติในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพแม่น้ำสาย แห่งที่ ๒ อย่างเป็นทางการ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่บ้านสันผักฮี้ ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฯพณฯ กันตธีร์ ศุภมงคล ๑ ฉบับ และอธิบดีกรมทางหลวง นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อีก ๑ ฉบับ ทำให้ดิฉันสนใจที่จะไปร่วมงาน เพราะดิฉันให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับเมียนมาร์ ซึ่งดิฉันไม่เคยเข้าไปไกลกว่า ๖ - ๗ กิโลเมตร  จากด่านกั้นอาณาเขตประเทศทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นด่านท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หรือด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้ง ๆ ที่ดิฉันได้ทำงานอยู่เมืองชายแดนไทย – เมียนมาร์ มาแล้วถึง ๓๒ ปี


 


ในจดหมายเชิญระบุให้แต่งกายด้วยชุดผ้าไทย หรือชุดสุภาพ วันงาน ดิฉันจึงนุ่งซิ่นของ ชาวไทลื้อ แห่งอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับผ้าฝ้ายของโครงการศิลปาชีพพิเศษ ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ


 


เมื่อไปถึงสถานที่จัดงาน เห็นเต้นท์พิธีการฝั่งไทยอยู่ ๓ - ๔ เต้นท์ เต้นท์กลางเป็นเต้นท์พิธีการ มีชุดรับแขกสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของ ๒ ประเทศ กลางสะพาน มีป้ายใหญ่อักษรไทย – เมียนมาร์ ระบุชื่องานและชื่อรัฐมนตรีของ ๒ ประเทศ ที่จะร่วมกัน ทำพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาร์ และแท่นสำหรับประธานร่วมในพิธีกล่าวเปิดงาน


 


ที่นั่งที่จัดไว้ให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ เก้าอี้ในต้นท์ ข้างเต้นท์ พิธีการ สส.เขตพื้นที่อำเภอแม่สาย คือ สส.อิทธิเดช แก้วหลวง อยู่เคียงข้างดูแล รมว.ต่างประเทศ ของไทยตลอดเวลา ส่วน สส.สามารถ แก้วมีชัย กับดิฉัน และท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  นายวรชัย  อุตตมชัย ก็มีโอกาสได้ทักทายปรึกษางานกัน


 


ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ สนใจมามุงทำข่าวกันมากมาย จนมองไม่เห็นประธานในพิธีทั้ง ๒ ประเทศ จนกระทั่งพิธีตัดริบบิ้นเปิดงานแล้ว ผู้มาร่วมพิธีทั้งหมดเดินข้ามเขตแดนกลางสะพานเข้าไปในฝั่งพม่า  จึงได้เห็นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้ง ๒ ท่าน


รมว.ต่างประเทศของเมียนมาร์แต่งชุดประจำชาติ คือ โสร่งกับเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม แขนกระบอก ส่วน ดร.กันตธีร์ของไทยใส่เสื้อสูทแขนสั้นผ้าไทยสีเหลือง


 


                           


 


เมื่อข้ามสะพานไปฝั่งเมียนมาร์ ภาพที่เห็นคือชนชาติพันธุ์ต่างๆ มายืนเข้าแถวรอรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม กลุ่มที่เหมือนกับเมืองไทยเราคือชาวอาข่ากลุ่มต่างๆ ทั้ง โลเมอาข่า จุงก่ออาข่า อู่โล้อาข่า ชาวไทยใหญ่ ซึ่งนำการแสดงดนตรี และการเต้นระบำสัตว์มาให้ชมด้วย


 


                            


 


กลุ่มชนชาติจากรัฐอื่นๆ ในชุดแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น กลุ่มที่มาจากรัฐเหนือสุด (ซึ่งดิฉันไม่รู้จักชื่อ) เล่าว่ารัฐของเขาอากาศเย็นมาก มีหิมะตกด้วย จึงใส่ชุดหนาๆ ทอจากขนสัตว์ หมวกของผู้ชายประดับด้วยเขี้ยวหมูป่าโค้งยาว กับกลุ่มอื่นๆ ที่ใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส แสดงถึงความภูมิใจในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมตน โดยไม่ต้องวิ่งตามฝรั่งอย่างที่ประเทศส่วนใหญ่เป็นอยู่


 


                            


 


ถัดจากแถวต้อนรับของชนชาติพันธุ์ต่างๆ ก็มาถึงการแสดงออกกำลังกายประกอบเพลงของนักเรียน กับวงโยธวาทิตแบบสมัยใหม่  เป็นอันจบการต้อนรับของฝั่งเมียนมาร์


 


คณะเดินกลับมาสู่ฝั่งไทย เวทีตรงกลางสะพานมีการแสดงของเมียนมาร์  เป็นการฟ้อนคู่ของผู้ใหญ่กับเด็กชาย ซึ่งมีลีลาอ่อนช้อย ประกอบดนตรีพม่า ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่มีเวลาได้ชื่นชมอย่างเต็มที่ ได้แต่มองแล้วเดินผ่านด้วยความประทับใจ


 


มองผ่านไปดูริมฝั่งแม่น้ำของทั้ง ประเทศ เห็นทหารถือปืนลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยอยู่ ดิฉันรู้สึกสลดใจที่ด้านหนึ่งของความสัมพันธ์ คือ การเปิดสะพานเชื่อมใจ เชื่อมสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังระแวงระวังด้านความปลอดภัยทางทหาร


 


พิธีการต้อนรับฝั่งไทยมีเพียงวงดนตรีโยธวาทิต ของนักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อย่างเดียว ต่างกับฝั่งเมียนมาร์ที่จัดขบวนต้อนรับอย่างเต็มที่   โดยทุกคนแต่งกายแสดงจุดแข็งแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของตน


 


คำกล่าวเปิดสะพานมิตรภาพของ อูหย่านวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ มีประเด็นน่าสนใจดังนี้


 


            "ในปัจจุบันนี้โลกได้มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และความรู้ที่ก้าวล้ำไปข้างหน้า และเศรษฐกิจก็ได้ขยายตัวเจริญเติบโตขึ้น ความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็ต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ เห็นได้ชัดว่าประเทศต่างๆในโลกจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน


สถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องมีการพัฒนาประเทศเพื่อที่จะได้ไม่ให้ล้าหลัง ประเทศแต่ละประเทศ ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น จะต้องไปมาหาสู่กันมากยิ่งขึ้น


            การคมนาคม ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนในประเทศ และต่างประเทศได้ทำการค้าขายติดต่อกันได้โดยสะดวกทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจหรือการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมและการไปมาหาสู่กันของประชาคมโลก ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความสะดวกในการคมนาคมของคนและสินค้า การติดต่อไปมาหาสู่ของประชาชนในท้องถิ่นและการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญมากต่อประเทศและภูมิภาค


            ประเทศสหภาพเมียนมาร์และประเทศไทย เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกันยาวประมาณ ๑,๓๐๐ กิโลเมตร ตามสภาพื้นที่แล้วการคมนาคมทางบกของทั้งสองประเทศมีอุปสรรคและปัญหามาก การเดินทางที่สะดวกมีเพียงจุดผ่านแดนระหว่างประเทศเพียง ๓ แห่งเท่านั้น


            อำเภอท่าขี้เหล็ก และอำเภอแม่สาย เป็นจุดผ่านแดนแห่งหนึ่งในจำนวน ๓ แห่งที่ใช้ผ่านแดน และมีสะพานข้ามเพียงจุดเดียว ซึ่งไม่เพียงพอต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่กำลังเจริญเติบโตขึ้น จึงต้องสร้างสะพานอีกแห่งหนึ่งเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติที่มีความต้องการ


            เพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นการส่งเสริมการค้าชาแดนและการท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลของทั้งสองประเทศมีความเห็นพร้อมกัน ให้มีการสร้างสะพานแห่งใหม่แห่งนี้ขึ้นมา


            สะพานแห่งใหม่นี้ จะทำให้การลงทุนด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของสองประเทศมีความราบรื่นและมีการพัฒนา ประชาชนของทั้งสองฝ่ายก็จะมีความสะดวกในการไปมาหาสู่กัน ขณะเดียวกันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ก็จะมีความเข้าใจซึ่งกันละกัน ทำให้เกิดความ    รักใคร่กลมเกลียว ดังนั้นจึงเป็นการยกระดับการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างสองประเทศ


            ผมขอกล่าวขอบคุณแทนรัฐบาลและประชาชนเมียนมาร์ ในการที่รัฐบาลไทยได้ให้การช่วยเหลือสร้างสะพานแห่งใหม่นี้ขึ้นมา


            ขอขอบคุณอย่างสูง ในการช่วยเหลืออันทรงคุณค่า ที่จะประทับอยู่ในจิตใจของชาวเมียนมาร์ต่อ พันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, รัฐบาล และประชาชนชาวไทย ที่มีความเข้าใจต่อปรเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยการให้กำลังใจ คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดตลอดมา อีกประการหนึ่ง ต้องขอขอบคุณต่อดอกเตอร์สุรเกียรติ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนเดิม ที่เป็นผู้ผลักดันเรื่อยมา และขอขอบคุณต่อดอกเตอร์กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบัน ที่ได้ให้ความร่วมมือให้พิธีเปิดสะพานในวันนี้ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี


            สะพานมิตรภาพเมียนมาร์ – ไทย ที่ทำการเปิดในวันนี้ จะเป็นแบบอย่างต่อความสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศอันยาวนานและมั่นคง แล้วยังเป็นประโยชน์กับประชาชนของทั้งสองประเทศตลอดไป เชื่อว่าประชาชนทั้งสองฝ่ายจะให้ความร่วมมือ ช่วยกันดูแลรักษาสะพานแห่งนี้ต่อไป สุดท้ายนี้ขอให้ร่วมกันสร้างความสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศของเรา ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นตลอดไป "


           


ส่วนรมว.ต่างประเทศของไทยกล่าวย้ำว่า "สะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งนี้ นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ อันจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน ยังเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อกระชับความร่วมมือในการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน และการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ และจัดระบบตลาดรองรับผลผลิตต่าง ๆ" และปิดท้ายว่า "หวังว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากสะพานแห่งนี้โดยเร็ว เพื่อให้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ที่จะให้เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างประเทศไทยกับพม่า และอำนวยประโยชน์ให้แก่พี่น้องชาวไทยและพม่า"


 


ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า ไทยมุ่งเน้นความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้านดังยุทธศาสตร์ (ACMECS) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี เจ้าพระยา แม่โขง รวมทั้งการทำข้อตกลงที่จะ สร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินเขตพม่า เพื่อขายพลังงานไฟฟ้าให้ไทย โดยที่คนไทยไม่เคยรู้ข้อมูล ผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ต่อประชาชนลุ่มน้ำสาละวินทั้งฝั่งพม่าและไทย


 


ในขณะที่อูหย่านวิน เน้นว่า "เราสองประเทศมีความคล้ายกันในด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี" แต่ข้อมูลข่าวสารที่คนไทยได้รับรู้เกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนใน ๗ รัฐ และ เขต คือ รัฐคะฉิ่น  รัฐชิน  รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา  รัฐมอญ  รัฐยะไข่ และ รัฐฉาน หรือ ไทยใหญ่ กับเขตอิรวดี เขตพะโค เขตมาเกว เขตมัณฑะเลย์ เขตสะกาย  เขตย่างกุ้ง กลับมีน้อยมาก


 


ดิฉันจึงอยากเห็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาที่อยู่ติดชายแดนไทย - เมียนมาร์ มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ที่เป็นหลักสูตรสองภาษาทั้ง ไทยและเมียนมาร์ เพื่อสร้างให้ต่างฝ่ายต่างมีความเข้าใจอันดีต่อกัน


 


หากประชาชนของไทย - เมียนมาร์ โดยคณะสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา นักเขียน ศิลปิน กลุ่มสตรี กลุ่มวัฒนธรรม ได้ติดต่อสัมพันธ์กันในแนวนอนมากขึ้น มิใช่เพียงความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐบาล นักธุรกิจ ข้าราชการและทหาร ช่องว่างทางสังคม เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ของไทยกับเมียนมาร์คงแคบลง กลายเป็นสายสัมพันธ์ทางใจที่แนบแน่น ลืมอดีตที่เคยขัดแย้ง สร้างปัจจุบัน และอนาคต ที่มีความหวังร่วมกันอย่างเสมอภาค


 


ปัญหาแรงงานจากพม่า ปัญหาผู้ลี้ภัยสงคราม ปัญหาผู้อพยพ การแสวงประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ คงหมดไป ถ้าเราเริ่มความสัมพันธ์ทางใจต่อกัน  ด้วยหลักคุณธรรม ด้วยแรงบันดาลใจ จากการร่วมงานเปิดสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ ๒ 


 


ดิฉัน ขอร่วมเป็นผู้สานสายสัมพันธ์มิตรภาพไทย – เมียนมาร์ เพื่อประชาธิปไตย ที่แท้จริงในเมียนมาร์ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ทุกคนร่วมกันสานฝันให้เป็นจริงนะคะ


 


ขอขอบคุณมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ