Skip to main content

ฝันเพื่อสิทธิแรงงานพม่า ของหญิงชาวอังกฤษ แจ็คกี้ พอลล็อก

คอลัมน์/ชุมชน


 


เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน หญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกในฐานะอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษ  เธออยู่เมืองไทยเป็นเวลาสองปีก่อนจะกลับไปยังบ้านเกิด และกลับมาเมืองไทยอีกครั้งในอีกห้าปีต่อมา เธอเริ่มสนใจปัญหาแรงงานจากประเทศพม่าและก่อตั้งองค์กรเพื่อทำงานช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันเติบโตเป็นมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ MAP ที่มีบทบาทสำคัญให้ความช่วยเหลือแรงงานพม่าในเมืองไทย วันนี้ หญิงชาวอังกฤษคนเดิมยังคงก้าวเดิน บนเส้นทางฝันสายเดิมอย่างมีความสุข เธอมีชื่อว่า แจ็คกี้ พอลล็อก


 


แจ็คกี้เริ่มต้นเล่าเรื่องราวความฝันข้ามทวีปให้ฟังว่า "สมัยฉันเป็นเด็ก ฉันได้ยินเรื่องราวของผู้ลี้ภัยสงครามจากไนจีเรียซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก ทำให้ฉันฝันว่า ถ้าโตขึ้น ฉันอยากทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนและอยากเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเพราะอยากเห็นโลกกว้างขึ้น ฉันจึงสมัครเป็นอาสาสมัครในโครงการของ Voluntary Service Overseas (VSO) ซึ่งจะส่งอาสาสมัครไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในตอนนั้น ฉันไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะไปประเทศไหน แล้วฉันก็ ‘ถูก’ เลือกให้มาเมืองไทย"


 


เธอเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกปี ค.ศ. 1978 เพื่อเป็นอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจึงกลับไปยังบ้านเกิดและกลับมาเมืองไทยอีกครั้งในปี 1985 เพื่อทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในสถาบันสอนภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ และใช้เวลาว่างเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ ช่วยสอนภาษาอังกฤษให้หญิงขายบริการย่านพัฒน์พงศ์ สถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนชื่อดังของกรุงเทพฯ


 


ในเวลาต่อมา เธอสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิอย่างเต็มตัว ทำให้เธอได้รับรู้ถึงปัญหาของหญิงขายบริการมากยิ่งขึ้น เมื่อทางมูลนิธิขยายสำนักงานมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ เธอจึงเริ่มต้นรับรู้เรื่องราวของแรงงานจากประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น


 


"ฉันเริ่มสนใจปัญหาของแรงงานพม่าหลังจากมาทำงานกับหญิงขายบริการในเชียงใหม่ เริ่มสนใจว่าทำไมเขาต้องมาทำงานเมืองไทย ประกอบกับมีเพื่อนที่ทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยอยู่บ้าง จึงทำให้รับรู้เรื่องราวของปัญหาในประเทศพม่าซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้แรงงานพม่าหลั่งไหลมายังเมืองไทยมากยิ่งขึ้น"


 


ช่วงเวลานั้นตรงกับปี ค.ศ.1996 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน ประเทศพม่ารุนแรงมากที่สุด ทำให้เกิดการหลั่งไหลของแรงงานเชื้อสายไทยใหญ่จากรัฐฉานเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่นับแสนคน ทำงานอยู่ตามสถานที่ก่อสร้าง โรงงาน ร้านอาหาร และเป็นแม่บ้าน แรงงานเหล่านี้ประสบปัญหาหลายอย่างในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพและสิทธิต่างๆ ที่แรงงานควรได้รับ แต่ขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดให้ความช่วยเหลือ แรงงานกลุ่มนี้ แจ็คกี้และเพื่อนเอ็นจีโอในจังหวัดเชียงใหม่จึงเริ่มปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหานี้


 


"เราคุยกันว่าน่าจะมีโครงการเล็กๆ ที่เข้าไปทำงานกับคนกลุ่มนี้ โดยเข้าไปดูว่าเค้ามีปัญหาอะไรและพอจะช่วยเหลืออะไรได้ เราพบว่าบางคนป่วยหนักมากจนต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือจัดหาที่พักใกล้โรงพยาบาลเพื่อส่งไปรักษาได้ทันเวลา เราจำเป็นต้องมีโปรแกรมช่วยเหลือฉุกเฉิน มีคนประสานงานกับชุมชนแรงงานและเจ้าหน้าที่ รพ. เพราะแรงงานส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ตอนแรกเรายังไม่มีเงินทุน ฉันและเพื่อนๆ จึงตกลงกันว่า เราจะทำงานครึ่งวันให้กับองค์กรของตนเอง และครึ่งวันสำหรับงานนี้ โดยช่วงแรกมีอาสาสมัครรวมทั้งหมด 6 คน"


 


หลังจากเริ่มต้นโครงการไปได้ระยะหนึ่ง อาสาสมัครทุกคน ต่างเห็นร่วมกันว่า การทำงานแบบอาสาสมัครครึ่งวันและเอาเงินองค์กรตนเองมาลงขันกันจะทำได้ในระยะสั้นเท่านั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการก่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาทำงานนี้โดยตรง ด้วยเหตุนี้ องค์กรชื่อว่า Migrants Assistance Programme หรือ MAP จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 1996 โดยมีแจ็คกี้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน เธอบอกถึงความฝันเมื่อเริ่มก่อตั้งองค์กรว่า


 


"เราคุยกันว่า เราจะทำงานเพื่ออะไรบ้าง เราต้องการให้แรงงานอพยพได้รับสิทธิของแรงงาน คือ สถานที่ทำงานปลอดภัย มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน และไม่ถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายไปทำงานในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย อยากให้เขามีทางเลือกในการตัดสินใจ หรือถ้าสถานการณ์ในพม่ายังไม่ดี เขาก็ควรมีสิทธิ์เลือกว่ายังไม่พร้อมจะกลับไป"


 


ปัจจุบัน องค์กร MAP กำลังจะก้าวย่างสู่ปีที่สิบ แจ็คกี้พบว่าปัญหาที่เคยพบหลายอย่างได้รับการคลี่คลาย อาทิ การอนุญาต ให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานที่จดทะเบียนได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและสิทธิอื่น ๆ ในการอาศัยอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น ทว่า เมื่อหันกลับไปดูปัญหาประเทศต้นทาง และจำนวนการหลั่งไหลของแรงงานจากพม่าในแต่ละปีเธอพบว่าสถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ


 


"ฉันคิดว่าสถานการณ์ในพม่าตอนนี้แย่ลงมาก เพราะเมื่อก่อน เราพบกลุ่มเชื้อชาติของแรงงานเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย เช่น ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ แต่ปัจจุบัน เราได้พบกับแรงงานที่มาจากทุก ๆ ภาคของพม่า แม้กระทั่งประชาชนจากรัฐชิน คะฉิ่น และอาระกัน ซึ่งเป็นชายแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ จีน และอินเดีย สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจและปัญหาสังคมทั่วประเทศพม่ากำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ"


จากประสบการณ์ทำงานในประเด็นแรงงานมานานกว่าสิบปี แจ็คกี้เปรียบเทียบปัญหาของแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศกับแรงงานจากพม่าที่มาทำงานในเมืองไทยว่า


 


"ฉันคิดว่าเมื่อแรงงานไทยประสบปัญหาในต่างประเทศก็สามารถขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยที่นั่นได้ หรือมีเครื่องบินของรัฐบาลส่งไปรับกลับประเทศทันที แต่สำหรับแรงงานพม่า ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์สึนามิ มีแรงงานพม่าหลายพันคนที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตพม่าสักคนลงไปสอบถามหรือให้ความช่วยเหลืออะไรเลย หรือถ้าแรงงานไทยที่ไปต่างประเทศต้องการกลับมาหางานเมืองไทย รัฐบาลไทยก็ยังมีกระทรวงแรงงานคอยให้คำปรึกษาหางานทำให้ แต่สำหรับแรงงานพม่า หากเดินทางกลับประเทศ นอกจากไม่มีคนหางานให้แล้ว บางครั้งยังถูกจับเข้าคุกอีกต่างหาก"


 


ปัจจุบัน MAP มีเจ้าหน้าที่เพิ่มจากครั้งแรก 6 คน เป็น 30 คน มีสำนักงานใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานย่อยที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดพังงา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ รวมทั้งมีโครงการที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานพม่าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มแรงงานพม่า อาทิ รายการวิทยุภาษาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งให้ความรู้กับกลุ่มแรงงานเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยรวมไปถึงกิจกรรมให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพหลายโครงการ


 


หญิงชาวอังกฤษคนนี้บอกถึงเหตุผลที่ยังก้าวเดินบนเส้นทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลงว่า  "ฉันยังทำงานนี้อยู่เพราะทุกๆ วันมีเรื่องอะไรใหม่ ๆ ผ่านเข้ามาเสมอ มันเป็นงานที่ท้าทายและได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่ดี ฉันไม่เคยเบื่อ และคิดว่าโชคดีที่ได้ทำงานที่ฉันมีความสุข เพราะคนจำนวนมากทำงานที่ตนไม่มีความสุข แม้ว่างานจะหนัก แต่ฉัน ก็มีความสุข"


 


ทุกวันนี้ เธอยังฝันต่อไปว่า อยากเห็นระบบการช่วยเหลือด้านสุขภาพจากภาครัฐที่ไม่ต้องพึ่งพาเอ็นจีโอในการประสานงาน รวมทั้งแรงงานสามารถพัฒนาศักยภาพในการช่วยเหลือแรงงานด้วยกันเองมากขึ้น


หญิงชาวอังกฤษกล่าวทิ้งท้ายถึงแนวคิดการแก้ปัญหาแรงงานอพยพในอนาคตว่า "ฉันคิดว่า ตอนนี้ปัญหาการอพยพเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ยังไม่มีการพูดถึงการแก้ปัญหานี้อย่างเหมาะสม เราควรจะสร้างเครือข่ายคนทำงานเรื่องนี้ในทั่วโลกมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้มองปัญหานี้แบบไร้เชื้อชาติหรือไร้เส้นพรมแดน"


 


เผยแพร่ครั้งแรกใน สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 27 (16 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2548)