Skip to main content

ความตายของผู้พิพากษาที่ปัตตานี

คอลัมน์/ชุมชน





























































































































และแล้ว ผู้พิพากษา รพินทร์ เรือนแก้ว ก็ต้องเสียชีวิตสังเวย " ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ " ไปอีกราย …

 

ทั้งที่วัยและความรู้ความสามารถ น่าจะอยู่ทำประโยชน์ให้กับสังคม ครอบครัว และญาติมิตร ได้อีกนาน เป็นความ " สูญเสีย " ซึ่งไม่สมควร และไม่อาจประเมินค่าได้ แม้มิต้องกล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่ของท่านผู้นี้เลยก็ตาม …

 

ไม่ว่าใคร ก็ไม่ควรที่จะต้องตายไป ในความขัดแย้งซึ่งตนมิได้เกี่ยวข้องในสงครามซึ่งตนมิได้ก่อ ..

 

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่รายแรก และคงมิใช่รายสุดท้าย
ภายใต้หมอกเมฆมืดครึ้ม และการบาดเจ็บล้มตาย
ในสถานการณ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที

 

ว่ากันว่า ตัวเลขผู้สูญหาย และผู้บาดเจ็บล้มตาย ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ และฝ่ายอื่น ๆ นับแต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธจากค่ายทหารเมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ( ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่ม " วงจรความรุนแรง " รอบใหม่ จากเดิมที่มีการสู้รบมาเป็นระยะ แต่ระดับความรุนแรงยังน้อยกว่า และไม่ต่อเนื่องดังที่เป็นข่าว ) จวบจนปัจจุบัน น่าจะมีจำนวนหลายร้อยคน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังที่ไม่นานมานี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดซื้อที่ดินจำนวน ๖๐๐ ไร่ ให้เป็นที่ทำกินแก่หญิงม่าย จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้

 

ขณะที่หนังสือพิมพ์ตลอดจนสื่ออื่น ๆ ก็มีภาพ มีข่าวให้ผู้สนใจได้เสพได้บริโภคกันแทบทุกวัน ตลอดปี ๒๕๔๗ นับมาแต่ข่าวโจรกระจอก จนยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ก่อการร้าย และโจรแยกดินแดน ในระยะต่อ ๆ มา

 

ผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี เรื่อยมาจนถึงระดับเสนาบดี ขุนทหาร ขีดเส้นตายมาแล้วนับร้อยนับพันเส้น วางแผนปฏิบัติการณ์มาแล้วนับสิบนับร้อยแผน จนเชื่อว่าแม้ผู้อนุมัติหรือผู้ปฏิบัติการณ์เองก็อาจจำแผนงานทั้งหมดไม่ได้

 


 

กระทั่งปัจจุบัน ๓ จังหวัดภาคใต้ หลายพื้นที่ยังตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงอื่น ๆ ทั้งทำงานในทางลับและเปิดเผย เข้ามาในพื้นที่นับพันนับหมื่นนาย ( นาง และนางสาว ?)

 

จะขาดก็แต่นักท่องเที่ยว พ่อค้า และนักลงทุน ที่พากันหลบลี้หนีหน้ากันไปจนกู่ไม่กลับ …

 

พูดกันอย่างไม่เกรงใจก็คือ พื้นที่ดังกล่าวตกอยู่ในภาวะสงครามไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบอย่างน้อยก็ในทางพฤตินัย

 

จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่หลังจากการตายของผู้พิพากษา รัฐมนตรีกลาโหมจะพูดออกมาทำนองว่า เป็นความผิดของผู้พิพากษารพินทร์เอง ที่อยู่ในฐานะบุคคลระดับวีไอพี แต่ยังเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่ขอรับการอารักขาจากเจ้าหน้าที่ จนเกิดเหตุร้ายขึ้นในที่สุด

 

กล่าวคือ ในสายงานความมั่นคง จะมากจะน้อยก็ " รู้ดี " ว่าขณะนี้แถบนั้นอยู่ในภาวะสงคราม เพียงแต่มี " บางอย่าง " ปิดปากเอาไว้ ไม่ให้พูด " ความจริง " โดยไม่ได้คำนึงถึงความสูญเสียที่จะตามมา

 

เรียกว่ารู้กัน " ภายใน " แต่ไม่ยอมบอกกล่าวประชาชน หรือแม้แต่เพื่อนข้าราชการต่างสายงาน ว่าระดับของความรุนแรงพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับใดแล้ว และทุกฝ่ายควรวางท่าที หรือปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะสม

 

และแม้ว่าสื่อมวลชนจะเสนอข่าวออกมาเป็นจำนวนมาก แต่สื่อของทางการ หรือการแถลงข่าวของรัฐกลับไม่มีข้อสรุปใด ๆ ให้ชัดเจน ทั้งด้านความเป็นมา สภาพปัญหา และทางออกที่เหมาะสม อย่างที่ควรจะเป็น

 

เอาเข้าจริง สถานการณ์ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดอ่อน และซับซ้อน ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายความมั่นคงไม่กี่หน่วยงาน ทั้งที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับรัฐชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก

 

เรียกว่างานนี้ยังใช้กรอบคิดเก่า ๆ ว่า " ความมั่นคง " เป็น " ของรัฐ " และขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ " เฉพาะด้าน - เฉพาะทาง " โดยมิได้เหลียวแลหรือให้โอกาส ประชาคม - ประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมรับผิดชอบบ้านเมือง หรือแผ่นดินที่พวกเขา ( และเธอ ) เป็นเจ้าของ

 

อันส่อสะท้อนถึงความล้มเหลวของการบริหารงานระบบ " เจ้าภาพ " หรือระบบ "CEO" ว่าเอาเข้าจริง ทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ ก็ไปไม่ถึงไหน และทำให้เกิดความเสียหายได้หลายระดับ

 

ความเสียหายทางวัตถุ หรือความป่วยไข้ ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีของรัฐและเอกชนอาจพอจะเยียวยา แต่ความเสียหายถึงชีวิต รัฐบาลจะใช้อะไรมาชดเชย ?

 


 

ความตายของคุณรพินทร์ เรือนแก้ว นั้น ในที่สุด แม้จะถือว่าเป็นข้าราชการระดับสูง ก็อาจแค่เป็นเหตุให้ " มีข่าว " หรือ " เป็นข่าว " และสร้างความ " ตื่นตัว " ให้กับผู้คนในบ้านเมือง ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับเมื่อครั้งมีการฆ่าและทำร้ายพระภิกษุสามเณรในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ ซึ่งขณะนั้นรัฐถึงกับจัดกองกำลังติดอาวุธติดตามพระเณรออกบิณฑบาต แต่ปัจจุบัน อาการ " ล้อมคอก " ก็ได้ปลาสนาการไปแล้วแทบหมดสิ้น

 

ไม่นานความตายของผู้พิพากษาหนุ่มท่านนี้ ก็คงจะถูกลืม เช่นเดียวกับความตายของผู้คนอีกจำนวนมาก ที่ถูกกลืนกลบลบเลือนไปเสีย ด้วยข้อมูลข่าวสารที่มี " ความเสียหาย " มากกว่า หรือ " รุนแรง " ยิ่งกว่า

 

ใครจะรู้ ว่าหากท่าทีและแนวทางในการแก้ปัญหายังอยู่ในรูปแบบและวิธีการเช่นนี้ ในอนาคตจะไม่มี " ระเบิดพลีชีพ ", " คาร์บอมบ์ " หรือ " การจับตัวประกันไปตัดคอ " ให้ต้องบาดเจ็บล้มตายกันอีกเท่าใด

 

เมื่อฝ่ายรัฐทำได้กระทั่งการล้อมฆ่าในมัสยิด นับประสาอะไรกับชีวิตข้าราชการตุลาการหนุ่ม ในศาลจังหวัดปลายอ้อปลายแขม ที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือกลายเป็นมาตรวัดดีกรีความร้อนแรงของสถานการณ์ไปในที่สุด ในยุคสมัยที่เรามีผู้บริหารปากไวใจเร็ว และใช้ปากสนองอารมณ์ส่วนตัวโดยไม่ยั้งคิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พร้อม ๆ กับที่มีแม่ทัพนายกองบางคนเป็นปีศาจสงครามหลงยุค ซึ่งชิงฆ่าผู้อื่น เพียงเพราะความขลาดเขลาเกรงว่าตนจะถูกฆ่าด้วยวิบากกรรมในอดีต

 

ท้ายที่สุด ความตายของ คุณรพินทร์ เรือนแก้ว จึงอาจหลงเหลืออยู่เพียงแค่การเป็น " หมุดหมายเหตุการณ์ " ประกอบบรรทัดสั้น ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ที่จะมาถึง ว่าเป็น " ตุลาการคนแรก " ที่ต้องจบชีวิตลง เพื่อสังเวยความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ชื่อ พ . ต . ท . ทักษิณ ชินวัตร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗

 

ด้วยความซับซ้อนของปัญหา และเงื่อนไขอันจำกัดจำเพาะของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และสภาวการณ์ในปัจจุบัน คงมีแต่การยอมรับความเป็นจริง ซึ่งหมายรวมเอาความพลาดผิดในอดีต และข้อบกพร่องของปัจจุบันมาวางลงตรงหน้า แล้วเชิญชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาร่วมกันแก้ไขอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ อย่างเคารพในศักดิ์ศรี และยอมรับในความแตกต่างอย่างหลากหลายในทุก ๆ ด้านดอกกระมัง ที่จะทำให้ " สัจจะแห่งปรากฏการณ์ " ได้บังเกิดขึ้น จนสามารถสืบย้อนไปสู่สาเหตุ และเห็นเป้าหมาย ตลอดจนค้นพบทางออกอันสงบเย็นได้ในบั้นปลาย

 


 

รัฐบาลในฐานะของ " ผู้อาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชน " คงต้องตั้งอยู่ในความระวังสังวรถึงขอบเขตอำนาจที่ตนมี และที่ตนสามารถใช้เพื่อ " บำบัดทุกข์บำรุงสุข " ให้กับทั้ง " ผู้ที่ลงคะแนนเลือก " และ " ไม่เลือก " พรรคหรือผู้สมัครจากพรรคของตน เพื่อการทำหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท และอ่อนน้อมถ่อมตน ตามสมควรแก่ศักดิ์ฐานะ " ผู้รับใช้ " ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยไม่หลงละเมอเพ้อพกไปว่า ตน " ยึดครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว " ย่อมจะทำอะไร หรือไม่ต้องทำอะไรได้ตามอำเภอใจ

 

หากผู้กุมบังเหียนของรัฐ ประพฤติธรรม และอยู่ในทำนองคลองธรรม ยิ่งกว่าการมุ่งสนองความอยากหรือ สนองอัตตาตนเอง ด้วยความยึดมั่นถือมั่น และความประมาทของตนแล้ว อย่างน้อยขุนพลอยพยัก และลิ่วล้อบริวารในระบบ CEO ก็คงจะตระหนักและสำเหนียก ถึงบทบาทตามศักดิ์ฐานะของตนให้มากขึ้น

 

ทำได้เช่นนั้น ก็อาจช่วยไถ่บาปความพลาดผิด และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ต้องล่วงลับไปแล้วได้ตามสมควร เพราะอย่างน้อย คุณรพินทร์ เรือนแก้ว ก็จะได้อานิสงส์จากการประพฤติดีประพฤติชอบของผู้บริหารบ้านเมืองระดับสูงอยู่บ้าง

 

แทนที่จะต้องตกเป็นผู้ " รับเคราะห์ " แต่เพียงฝ่ายเดียว ในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และมีผู้บริหารประเทศระดับสูง ซึ่ง " บกพร่องโดยสุจริต " เป็นนิตย์ .. ตลอดมา จนจวนจะครบ ๔ ปีเข้านี่แล้ว