Skip to main content

อยากแก้จน ต้องให้ชาวบ้านผลิตพลังงาน

คอลัมน์/ชุมชน


๑. คำนำ           


 


บทความนี้เขียนขึ้นหลังจากงานวันเด็กปี ๒๕๔๙ เพียงเล็กน้อย แต่เป็นช่วงที่ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยการลงไปกินอยู่หลับนอนในหมู่บ้านของอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด นัยว่าเพื่อให้ข้าราชการได้ดูเป็นแบบอย่างถึงวิธีการทำงานของท่าน พร้อมกันนี้ได้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์บางช่องตลอดเวลา ๕ วันที่ท่านลงพื้นที่


 


ในฐานะนายกรัฐมนตรี ท่านได้มอบคำขวัญวันเด็กประจำปีนี้ด้วยความห่วงใยในอนาคตของชาติว่า "อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด"   เช่นเดียวกัน ในฐานะที่ได้ติดตามเรื่องพลังงานมาพอสมควร ผมจึงขอตั้งชื่อบทความนี้ว่า "อยากแก้จน ต้องให้ชาวบ้านผลิตพลังงาน" เพื่อล้อกับคำขวัญวันเด็กของท่าน แต่เนื้อหาที่ผมจะกล่าวถึงในที่นี้เป็นเรื่องจริงจัง   จนนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักของโลกได้ข้อสรุปตรงกันว่า


 


"ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของชาวชนบทได้เลย หากรัฐบาลไม่มีนโยบายให้ชาวบ้านสามารถเป็นผู้ผลิตพลังงานเองได้"


 


ผมไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ท่านนายกฯ ต้องเสียกำลังใจ  ผมไม่ได้ติเรือทั้งโกรนเพราะท่านยังทำไม่เสร็จโครงการ แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล มีตัวเลขประกอบ และมีเจตนาที่ห่วงใยในอนาคตของบ้านเมืองไม่แพ้ท่านนายกฯ เช่นกัน


 


๒. ข้อมูลเบื้องต้นของหมู่บ้าน


 


สื่อทุกประเภทรายงานตรงกันว่า เจ้าของที่ดินที่ท่านนายกฯทักษิณและบริวารไปกางเต๊นท์นอนอยู่นั้น ได้อพยพไปประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครหลายปีแล้ว  ดูจากภาพถ่ายก็พอจะคาดได้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีขนาดพอประมาณ คือน่าจะพอสำหรับทำการเพาะปลูกเพื่อกินอยู่ในครอบครัว เมื่อนักข่าวถามด้วยความสงสัยว่า ทำไมต้องไปขับรถแท็กซี่  เจ้าของที่ดินตอบว่า เคยทำนาข้าวแล้ว แต่น้ำท่วมไม่ได้ผล


 


โทรทัศน์อีกช่องหนึ่งขึ้นหัวข้อเป็นตัวหนังสือว่า "สินค้าโอท๊อป:มีดาวแต่ไม่มีตลาด" ซึ่งข้อความสั้นๆ นี้ได้สะท้อนปัญหาอย่างชัดเจนว่า แม้ชาวบ้านจะได้พัฒนาฝีมือของตนเองจนได้รับแจกดาว แจกรางวัลแล้ว แต่ก็ไม่มีตลาดจำหน่าย  เพราะสินค้าที่ผลิตไม่ได้เป็นสินค้าพื้นฐานสำคัญสำหรับชีวิตของคนส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เป็นสินค้าที่ไม่มีอำนาจต่อรอง


 


ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทำโครงการปลูกต้นยูคาลิปตัส เพื่อนำไปไปทำเยื่อกระดาษ (ซึ่งก็ไม่น่าจะจัดอยู่ในจำพวกสินค้าพื้นฐานสำคัญสำหรับชีวิตของคนส่วนใหญ่) ปรากฏว่าเจ้า "ต้นไม้ต่างดาว" นี้มีความสามารถในการแย่งน้ำไปใช้ได้ดีเหลือเชื่อ จนทำให้พืชอื่นๆ ขาดแคลนไปตามๆ กัน รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า รากของต้นยูคาลิปตัสนี้ สามารถลงไปถึงก้นบ่อน้ำที่ทำด้วยปูนซีเมนต์ลึกถึง ๑๐ ปล้อง (ประมาณ ๖ เมตร)


 


ผมเข้าใจว่า ข่าวสารเพียง ๓ ชิ้นนี้ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงความล้มเหลวของ "การพัฒนา" ที่ภาครัฐได้พยายามโหมกระพือในช่วงเวลากว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี คือ สินค้าการเกษตรถูกกดราคา การพัฒนาไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ความจำเป็นพื้นฐานชีวิตของคนในชนบท แต่เพื่อตอบสนองกำไรของทุนต่างถิ่นรวมทั้งต่างชาติเป็นหลัก และไม่มีความรับผิดชอบหรือเคารพต่อระบบนิเวศที่มีความบอบบางแต่อย่างใด


 


๓. แนวคิดของนายกฯ


 


ผมฟังการสัมภาษณ์สดจากทีวีช่องหนึ่ง ท่านนายกฯบอกหลักการเป็นคาถาแบบกำปั้นทุบดินว่า "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส" พร้อมกับพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง  และการปรับโครงสร้างหนี้


 


ผมฟังรายการจนจบ แต่พบว่า ท่านไม่ได้พูดถึงประเด็นที่ผมจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไปเลย คือประเด็นพลังงานซึ่งเป็นรายจ่ายหลักของชาวบ้าน และ "อาจสามารถ" เป็นสินค้าหลักของชาวบ้านได้ โดยไม่มีปัญหาสินค้าล้นตลาดเลย หากนโยบายพลังงานของรัฐไม่ปิดกั้นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


 


๔. ต้องให้ชาวบ้านผลิตพลังงานเพื่อขาย


 


หลายท่านอาจจะรู้สึกค้านอยู่ในใจกับหัวข้อที่ผมตั้งมา แต่โปรดตามผมมาครับ


 


ในปี ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา คนไทยเราทั้งประเทศ ได้ใช้จ่ายไปกับเรื่องพลังงานถึงประมาณ ๑.๓ ล้านล้านบาท หรือประมาณ ๒๐% ของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี)  ประมาณร้อยละ ๘๘ ของรายจ่ายหมวดพลังงานนี้มาจากค่าน้ำมัน (๕๖%) และค่าไฟฟ้า (๓๒%)


 


เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในบทความสั้นๆนี้ ผมจะกล่าวถึงเฉพาะรายจ่ายเรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าทั้งประเทศปีละประมาณ ๓ แสนล้านบาทต่อปีเพียงอย่างเดียว


 


เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในปัจจุบันมากกว่า ๙๙% มาจาก ๓ ชนิด คือ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ชาวบ้านไม่สามารถร่วมเป็นผู้ผลิตหรือขายเชื้อเพลิงได้เลย


 


เราลองมาจินตนาการหรือ "ขยันคิด" ตามคำขวัญวันเด็กว่า ถ้ารัฐเปลี่ยนนโยบายว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องใช้พลังงานหมุนเวียน (ซึ่งได้แก่ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังน้ำขนาดเล็ก และพลังงานแสงแดด) สัก ๑๐%  ของเชื้อเพลิงทั้งหมด  แล้วจะช่วยลดความยากจนให้ชาวบ้านได้บ้างหรือไม่


 


กล่าวเฉพาะพลังงานชีวมวล (ซึ่งได้แก่ ไม้ แกลบ ขี้หมู ขี้วัว และของเสียจากชุมชนในเขตเทศบาล)  สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ทั้งนั้นครับ


 


ข้อมูลจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป บอกว่า เศษไม้ (wood chip) หนึ่งกิโลกรัมสามารถให้ความร้อนเท่ากับน้ำมันเตาครึ่งลิตร (ปัจจุบันราคาน้ำมันเตาประมาณลิตรละ ๒๐ บาท)


 


ถ้าชาวบ้านสามารถขายเศษไม้ให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งตั้งอยู่ในระดับตำบลของตนเองในราคากิโลกรัมละ ๔-๕ บาทได้แล้ว ลองจินตนาการดูซิครับว่า  ปัญหาความยากจนจะลดลงไปได้สักขนาดไหน


 


ที่ดินซึ่งเคยรกร้างว่างเปล่า เคยปลูกข้าวแล้วน้ำท่วม ก็จะแปลงเป็นเงินให้ชาวบ้านได้พอสมควร พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่ชาวบ้านเป็นผู้ปลูก หากมีเหลือ (ซึ่งจะต้องเหลือใช้อยู่แล้ว เพราะชาวชนบทใช้ไฟฟ้าน้อยเมื่อเทียบกับคนในเมือง) ก็สามารถส่งไปตามสายส่งรวมไปขายให้กับคนในเมืองได้ หากรัฐบาลออกกฎหมายมารองรับ คือให้สิทธิใครก็ตามที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้


 


ในเยอรมนีประเทศเดียว มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศในปัจจุบันประมาณ ๕๐๐ โรง และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก ๗ เท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


 


ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน พบว่าชานอ้อย ๑ ตันสามารถป้อนโรงไฟฟ้าขนาด ๑๐๐ กิโลวัตต์ได้ ปัจจุบันชาวไร่อ้อยในบราซิลได้กลายเป็น "ชาวไร่พลังงาน" ไปแล้ว เพราะในแต่ละปีมีชานอ้อยเกิดขึ้นเกือบ ๒๐๐ ล้านตัน


 


ปัจจุบันราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอาจจะสูงกว่าไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติอยู่บ้าง แต่เราสามารถเฉลี่ยราคามาชดเชยพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก) บ้างจะเป็นไรไป


 


เพราะนี่เป็นสิ่งที่เอื้ออาทรที่แท้จริง คือผู้ที่แข็งแรงกว่าช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่าให้ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กลับสังคมส่วนรวม เพราะช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อชาวโลกทั้งมวลด้วย


 


การลด แจก แถม หรือการขายบ้านราคาถูกอย่างที่รัฐบาลทักษิณทำอยู่ ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่การเอื้ออาทรในความหมายที่แท้จริง


 


๔. สรุป


 


ถ้าเรามีนโยบายให้ชาวบ้านสามารถผลิตเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าได้สัก ๑๐%  เม็ดเงินประมาณปีละ ๒ หมื่นล้านบาทก็จะกระจายอยู่ในหมู่บ้านที่ยากจน


 


ที่กล่าวมานี้ยังไม่ได้พูดถึง หมวดน้ำมันซึ่งเป็นก้อนโตมหาศาล  ถ้าขยันคิดอีกนิดว่า เมื่อชาวบ้านผลิตไบโอดีเซล โดยที่รัฐชดเชยเรื่องราคาอย่างในประเทศยุโรป เงินจำนวนปีละหลายหมื่นล้านบาทก็จะกระจายอยู่ในชนบท ถ้ารวมทั้งน้ำมันกับไฟฟ้าเข้าด้วยกันก็น่าจะถึงหนึ่งแสนล้านบาท


 


ผมคิดว่าการกระจายธุรกิจพลังงานออกไปจากกลุ่มผูกขาดหยิบมือเดียว ไปให้ชาวชนบทที่ยากจนทั่วประเทศ คือหัวใจของการแก้ปัญหาความยากจนที่แท้จริงครับท่าน