Skip to main content

ความห่วงใยของ "คุณพินิจ" กลัวว่าไฮโซจะติดเอดส์

คอลัมน์/ชุมชน


เอาอีกแล้วครับ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา พาดหัวไทยรัฐเป็นของเจ้ากระทรวงสาธารณสุข คุณพินิจ จารุสมบัติ โดยรวมแล้วพูดถึงเรื่องเอดส์ แต่มุมของท่านเจ้ากระทรวงสำหรับเรื่องนี้ก็คงต้องบอกตามตรงว่า "เชยมากๆ เลยครับ" ผมเข้าใจว่าท่านเพิ่งเข้ามาดูแลกระทรวงนี้ได้ไม่นานเท่าไหร่  แล้วงานที่ท่านต้องดูแลก็มีหลายภาคส่วน สำหรับในเรื่องเอดส์


 


ที่ผมว่าเชยนั้น มีอยู่สามเรื่องครับ เรื่องแรก คือ คนที่ควรจะระวังการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์นั้น คือทุกคน ขอย้ำนะครับว่าทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ไม่ใช่แค่บุคคลระดับบิ๊กๆ ที่แอบมีกิ๊กกับเลขาฯ เพราะถ้าเค้ามีกิ๊กกันหรือมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับใคร แต่ถ้าเค้าป้องกัน เค้าก็จะไม่ได้รับเชื้อแน่ๆ


 


สอง การติดเชื้อไม่ใช่เรื่องส่ำส่อน เพราะถ้าลองวิเคราะห์กันดูดีๆแล้ว เอดส์เป็นเรื่องของวิถีชีวิตเพราะพบว่าคนที่ไม่ส่ำส่อนแต่ได้รับเชื้อแล้วก็มีเป็นจำนวนมาก การมองว่าผู้ติดเชื้อเป็นคนส่ำส่อนนอกจากเป็นการเหมารวมแล้ว ยังส่งผลให้คนในสังคมเข้าใจผิด มองว่าผู้ติดเชื้อคือคนไม่ดี และทำให้คนในสังคมประเมินความเสี่ยงของตัวเองผิดพลาดได้ง่ายๆ อีกด้วย


 


อย่างที่สามที่บอกว่า โรคนี้ใครเป็นจะทำให้ล้มละลายทั้งในครอบครัวและสังคม เป็นการพยายามเสนอภาพให้คนกลัวการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แต่ไม่ใช่วิธีการที่ได้ผลแน่ เพราะถ้าจะทำให้คนไม่ติดเชื้อ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง รวมทั้งทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อที่หลากหลาย และไม่ควรเป็นข้อมูลที่ใส่ทัศนคติของผู้ให้ เพราะการให้ข้อมูลแบบนี้นอกจากจะทำลายขวัญกำลังใจของผู้ติดเชื้อแล้ว ยังไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ในเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงการรักษา ซึ่งเจ้ากระทรวงไม่ควรมองว่าเป็นภาระของสังคม แต่เป็นสิทธิในการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งคนทุกคนควรได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียม เพราะหากผู้ติดเชื้อได้รับยาก็จะแข็งแรงและกลับไปทำงานได้ตามปกติ


 


ในส่วนพฤติกรรมเรื่องเพศของวัยรุ่น ซึ่งเป็นรุ่นๆ เดียวกับผมนั้น ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ด้วยกันในขณะที่เรียนอยู่ (ไม่ใช่เฉพาะในอาชีวะด้วยครับ เพราะเดี๋ยวสังคมจะเหมารวมอีกว่าอาชีวะเป็นเด็กไม่ดี เพราะมีในทุกๆ กลุ่มครับ) หรือจำนวนการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นปรี๊ด หรือการที่ท่านเข้าใจว่าเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ดีแล้วครับที่ท่านทราบว่าได้มีปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น อ่านจากในหนังสือพิมพ์บอกว่า ท่านตะลึงและอยากแก้ไขปัญหา  แต่ท่านทราบไหมครับว่าถ้าท่านยังแก้ไขปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ท่านคาดหวังว่าในปี 2551 จะต้องมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 7,500  คนนั้น ไม่มีทางสำเร็จได้แน่ครับ


 


ตามความเห็นของผม ผมคิดว่าถ้ายังมีการผลิตซ้ำในเรื่องที่ผมว่าเชยดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นอยู่เรื่อยๆ ผู้คนในสังคมก็จะประเมินความเสี่ยงของตัวเองผิดพลาดกัน เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านั้น ผลที่ตามมาก็คือคนก็จะไม่ป้องกัน ทัศนคติต่อการมองผู้ติดเชื้อก็ยังเชื่อว่าผู้ติดเชื้อคือคนไม่ดี คือคนที่สิ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนี้ผู้ติดเชื้อที่มีชีวิต มีตัวตนอยู่ในสังคมนี้ จะมีที่มีทางยืนหยัดในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างไร


 


ผมว่าการที่คนจะป้องกันตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะความคิดความเชื่อของคนในสังคมที่ไม่พูดเรื่องเพศ ไม่สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา โดยฐานของการเข้าถึงสุขภาพที่ดี  ทำให้เรื่องการป้องกันไม่ง่าย เช่น เรื่องถุงยางอนามัย คนคิดกันไปได้ร้อยแปดพันเก้า ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุดในเวลานี้  การที่จะเข้าไปตั้งตู้ถุงยางอนามัยหยอดเหรียญอีก  ผมรับรองได้เลยว่าต้องมีคนคัดค้านแน่ๆ


 


ต้องบอกว่า เอดส์ไม่ใช่โรคที่จะศึกษาวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในเชิงสังคม  ความคิด ความเชื่อ และทัศนคติ ต่อเรื่องเอดส์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำงานควบคู่ไปด้วย


 


ขณะเดียวกันในมุมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น เยาวชนนั้นยังมีความพยายามของกลุ่มเยาวชนหรือคนที่ทำงานกับเยาวชนที่พยายามนำเสนอทิศทาง ทางออกในการแก้รากเหง้าปัญหากันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลกระเทือนได้ในระดับนโยบาย


 


เครือข่ายเยาวชนที่ทำงานด้านเอดส์ได้เสนอทางออกไว้อยู่แล้ว  ผมขออนุญาตหยิบยกมากล่าวย้ำในที่นี้อีกรอบคือ ถ้าจะทำให้คนป้องกันเอดส์ได้จริงขอให้มีการส่งเสริมให้คนได้เข้าถึงข้อมูลที่รอบด้าน คือเยาวชนจะตัดสินใจเองว่าจะเลือกใช้วิธีไหนในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงยางอนามัย การรักนวลสงวนตัว การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน การรักษาศีล การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่ หรืออื่นๆ แต่ขอความเป็นธรรมกับพวกเราในการบอกกล่าวข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่ใช่โน้มน้าวให้เราต้องยึดถือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง  เราขอเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับเราด้วยตัวของเราเอง เพื่อความปลอดภัยของเรา เพราะเรารักชีวิตของเรา  เราเชื่อว่าเราสามารถตัดสินใจได้ถ้าเรามีข้อมูล ข้อเท็จจริงเหล่านั้นอย่างพอเพียง 


 


นอกจากนี้ในปัจจุบันมีแหล่งบริการเพียงน้อยนิดที่เชื่อในศักยภาพของเรา เราอยากได้แหล่งบริการที่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์มาควบคุมเรา  มีความดึงดูดตามความต้องการของวัยเรา มีถุงยางอนามัยแจกให้เราด้วยอย่างเพียงพอ เพราะบางที เพื่อนบางคนยังอายที่จะไปซื้อ และขอให้เข้าใจในความหลากหลายของพวกเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสนิยมทางเพศ สถานะ หรือ ความสามารถทางสติปัญญาของเรา  และขอให้สร้างกระบวนการให้เราได้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่อบรมเราเพียงครั้งเดียวแล้วก็จบ


 


ดังนั้น นโยบายในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐจึงต้องนำมาพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อให้เกิดการนำไปใช้กับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สูงที่สุด ตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น


 


เริ่มกันแบบไปให้ถูกทางโดยไม่ผลิตซ้ำความเชื่อผิดๆ กันเถอะครับ