Skip to main content

"แก่แล้ว แก่เลย" กับ"สมองหมา ปัญญาควาย"

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วันนี้รุ่นพี่ที่เคยคบกันมาตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่แล้วสมัยอยู่รัฐแคนซัสโทฯมา  คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ตามประสาเหมือนเมื่อก่อน พอบอกว่าผู้เขียนจะกลับเมืองไทย พี่ท่านนี้บอกว่า "ใจหายนะเป๋อ (ชื่อเล่นผู้เขียน) นี่กลับมาสอนที่นี่ได้ห้าปีกว่า จะกลับไทยไปอีกแล้ว"  แล้วเราก็เริ่มนับกันว่าคบมาแต่ปีไหน ผ่านอะไรมากันบ้าง  จริงๆ แล้วผู้เขียนมีเพื่อนรุ่นเดอะแบบนี้ที่คบกันมากว่า 20 ปีหลายคน ภาพสมัยก่อนตอนเด็กๆ ผุดขึ้นมาในสมอง ไม่น่าเชื่อว่าแป๊บๆ 20 ปีผ่านไป  ไวเหมือนโกหก


 


เพราะผู้เขียนต้องทำงานกับนักศึกษาที่อายุราว 18 ปีขึ้นไป จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของตนเองและวัยรุ่นในแต่ละยุค นับแต่ปี 1988 เป็นต้นมา  เห็นด้วยว่าความเร็วและความแรงของเด็กวัยนี้ไม่ได้ต่างกัน แต่ที่ต่างกันคือวิถีทางในการแสดงออก เด็กรุ่นใหม่โชคดีกว่ารุ่นเก่าๆ มาก หรืออย่างน้อยก็รุ่นผู้เขียนเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เด็กรุ่นใหม่คงไม่เข้าใจและยังคงเรียกร้องว่าตนเองยังไม่เสรีภาพเท่าที่ควร หลายครั้งก็ขำแต่ไม่แสดงออก พลางนึกในใจว่าสมัยก่อนของเราถ้ามาโวยวายแบบนี้ คงไม่เหลือและโดนจัดการไปแล้ว


 


ที่พูดในจุดนี้ว่า "แก่" โดยเฉพาะเมื่อมองเด็กรุ่นใหม่และคุยกับรุ่นใกล้กัน แต่หากได้คุยกับท่านผู้ใหญ่ที่อายุ 70 ขึ้นไป ท่านจะบอกว่าเป็นวัยที่กำลังสุกงอม มีพลังสมองที่ล้ำลึกและยังพอมีแรงที่จะดึงมันออกมาใช้ได้ เพราะหากเลย 50 ปีไปแล้ว มันจะไม่ได้แบบนี้


 


ดังนั้น เรื่องของวัยก็เหมือนกับกระแสน้ำที่ไม่มีวันไหลกลับ เรียกแบบภาษากวนอารมณ์ว่า "แก่แล้ว แก่เลย" ซึ่งบางครั้งก็รู้สึกทำใจไม่ได้ที่สังขารมันไม่เอื้อ บทบาททางสังคมไม่ยินยอมให้ทำ แต่หลายครั้งก็ดีใจที่ผ่านมาหลายๆ อย่าง แล้วไม่ได้เสียผู้เสียคน หลายครั้งนึกปลงกับสิ่งแวดล้อมและคนรอบตัวๆ ที่ก็หมุนอยู่แถวๆ นี้แหละ  สมัยก่อนเห็นคนในวัย 40 เป็นอย่างไร ตอนนี้เรามาเป็นคนเล่นเองแล้ว ทำให้เข้าใจว่าที่เค้าเรียกว่า "ผู้ใหญ่กะโหลกกะลา" เป็นอย่างไร และ "ลายคราม" เป็นอย่างไร เพราะบางคนมาจนจุดนี้ ไม่ได้เปลี่ยนนิสัยให้ดีขึ้น หลายคนยังมีนิสัยเป็นเด็ก ไม่มีความรับผิดชอบ แล้วก็กลายเป็นภาระให้คนรอบข้าง เหมือนเด็กอายุ 20 ในร่างคนวัยเลข 4  ในขณะที่บางคนก็พัฒนาจนไม่หยุดยั้ง อันนี้ไม่ได้พูดถึงความสำเร็จด้านเงินทอง แต่พูดถึงระดับความคิด ผู้เขียนนึกนิยมหลายคนในใจเช่นกัน


 


ผู้เขียนจึงตั้งคำถามต่อว่า จะทำอย่างไรที่จะพัฒนามนุษย์ให้เป็นประเภทหลังให้ได้มากที่สุด และจะทำอย่างไรให้มีคนประเภทแรกให้น้อยที่สุด คำตอบก็คือ ต้องสอนให้คิดเป็น ทำเป็น  ตั้งแต่เด็กๆ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เรียนจบแล้วจบกัน หรือ แค่ให้คนมีอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้แล้วจบกัน เราขาดการพัฒนาด้าน "ปัญญา" ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดี แต่ที่ผ่านมาเราเน้นแค่ว่า "ต้องมีเงิน มีงาน" ซึ่งต้องต่ออีกว่า "มีปัญญา" ด้วย


 


คำว่า "ปัญญา" ในที่นี้บางท่านบอกว่าน่าเทียบได้กับคำว่า "cognition" ซึ่งแปลว่า ระบบทางจิตใจในการรู้ได้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การรับรู้ การตีความ ความเข้าใจ การให้เหตุผล และสรุปตัดสิน  ดังนั้น คนจึงแตกต่างกันตรงนี้ วัยเด็กอาจเสียเปรียบเพราะผ่านโลกมาน้อย ปัญญาในด้านนี้จึงไม่ค่อยเกิด  ส่วนคนมีประสบการณ์มาก วัยมาก กลับไม่ค่อยมีเสียด้วยไอ้ปัญญานี่ อันนี้แหละคือปัญหา


 


เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานวิจัยอันหนึ่งบอกว่า เด็กไทยมีไอคิวต่ำลง แล้วไปโทษว่าเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลา เลยต้องให้เด็กอยู่กับคนเลี้ยงซึ่งด้อยคุณภาพ  แน่นอนต้องด้อยกว่าพ่อแม่เด็กแน่ เพราะต้องมาทำงานค่าแรงน้อยๆ เนื่องจากไม่มีต้นทุนทางสังคม ทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจ แต่ผู้เขียนมองกว้างออกไปนิด และไม่โทษพี่เลี้ยงเด็กแต่น้อย หากมุ่งไปที่ตัวพ่อแม่เด็กเองนั่นแหละที่ลืมคิดก่อนมีลูกว่าจะทำอย่างไรกับลูก ถ้าไม่พร้อมก็อย่าไปมีมันเลย


 


นอกจากนี้ให้ดูที่ระบบโรงเรียนที่มีอยู่ จุดที่อยากพูดที่สุดคือเรื่องการผลิตครูที่มีคุณภาพ เรามีสถาบันผลิตครูมากมาย แต่ที่ได้เรื่องจริงๆ มีกี่แห่ง  แต่การที่เราผลิตครูได้ไม่มีคุณภาพมีรากฐานมาจากสังคมมหภาคที่เน้นการผลิตอื่นๆ เป็นหลัก เช่น เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือ ตลาดเงินตรา ตลาดหุ้น ดังนั้นเลยเป็นที่รู้กันว่า เรียนอะไรไม่ได้ก็ไปเรียนครู  หากฉลาดมากขึ้นหน่อยค่อยเรียนอย่างอื่น


 


ดังนั้น ปัญหาจึงขยายวงออกมาว่า ถ้ากระแสหลักยังมองเรื่องของการผลิตทางวัตถุเป็นเรื่องใหญ่ การผลิตมนุษย์มองเป็นเรื่องไม่สำคัญเท่า อีกทั้งการสร้างมนุษย์คุณภาพนั้นเป็นกระบวนการระยะยาวและวัดผลไม่ได้ชัดเจน ที่ทำกันทั่วกันคือวัดว่าใครทำเงินรายได้ต่อปีได้มากกว่า นั่นแหละมนุษย์มีคุณภาพ ดังนั้น การสร้างมนุษย์ที่แท้จริงมันจึงไม่ไปไหน สุดท้ายก็มาบ่นกันว่าเด็กไทยโดยรวมไอคิวต่ำลงๆ (แต่ก็ไม่วายที่อุตส่าห์มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รางวัลแข่งขันทางวิชาการที่โน่นที่นี่ตลอด  ซึ่งสงสัยเหมือนกันว่ามีเด็กพวกนี้กี่คนที่จะมองเกินกว่าการที่ตนต้องเรียนเก่งๆ เพื่อชิงพื้นที่ทางสังคมกับคนที่ด้อยกว่า แล้วอ้างว่าฉันเรียนเก่งฉันต้องได้)


 


ผู้เขียนมองย้อนว่าตนเองเป็นผลการสร้างจากใคร ก็คงพูดได้ว่าทั้งไทยทั้งฝรั่ง แต่ขอให้เครดิตฝรั่งก่อนที่ว่าเค้าสอนได้ดีกว่า ทำให้เข้าใจเรื่องบางเรื่องที่พื้นๆ แต่ต้องมองลึกๆ  ซึ่งหากอยู่เมืองไทยก็คงไม่ได้รับรู้เรื่องเหล่านี้  ชอบที่สอนให้ช่วยตัวเอง ไม่ให้ไปลอกชาวบ้านหรือขโมยไอเดียใคร และสุดท้ายให้เข้าใจว่าในตัวสังคมสหรัฐฯ เองก็มีทั้งดีและไม่ดี ทำให้กล้าที่จะผิดและกล้าต่อไปที่จะแก้ไข  ส่วนของไทยนั้นให้ความรู้สึกอบอุ่น ความเป็นครูที่ทุ่มเทให้กับลูกศิษย์ในเรื่องความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ส่วนเสียย่อมมีซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องแก้ไขกันไป


 


เพราะเคยสอนทั้งไทยทั้งฝรั่ง เพราะเคยเรียนทั้งชั้นตรีโทเอกของฝรั่ง ทำให้เห็นภาพว่าทุกวันนี้ ไม่เหมือนก่อน เด็กไทยและฝรั่งวันนี้ไม่มีวันเหมือนกับผู้เขียนเมื่อวันวาน ไม่มีใครดีกว่าใคร เพราะทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา กรอบในการวัดคุณภาพเด็กวันวานมาใช้วัดเด็กในวันนี้คงไม่ได้ และไม่ยุติธรรมกับเด็กวันนี้นัก เฉกเช่นเดียวกับที่จะบอกว่าคนวัยเลข 4 แบบผู้เขียนวันนี้จะดีกว่าหรือเลวกว่าคนวัยเลข 4 เมื่อวันวานคงเป็นไปไม่ได้


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แน่แท้คือตัวเลขที่หมุนเปลี่ยนไปในแต่ละปี ซึ่งหมุนย้อนกลับไม่ได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้เกิดเหมือนตัวเลขที่มากขึ้น คือ "ปัญญา" ที่ทวีเพิ่มขึ้นตามวัยของคนในสังคมไทย มันอาจจะไม่ชัดเจนในปีสองปีนี้ แต่มันน่าจะเกิดขึ้นได้ในสี่ห้าปี


 


ประเด็นอยู่ที่ว่า จะมีสักกี่คนที่จะมองเรื่องวัยกับ "ปัญญา" อย่างแท้จริง เพราะเดี๋ยวนี้มีแต่คนที่กลัวแก่ กลัวเหี่ยว กลัวโดนด่าว่า "อี/ไอ้แก่หนังเหี่ยว" แต่ไม่มีใครกลัวโดนด่าว่า "อี/ไอ้แก่สมองหมาปัญญาควาย" ทั้งที่ในความเป็นจริงในสังคมที่หลายหนดูเหมือนว่า "ปัญญา" กับ "วัยที่มากขึ้น" กลายเป็น "ปฏิภาคผกผัน"ต่อกันเสียแล้ว