Skip to main content

ชะตากรรมของคนโกง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


1


คนส่วนใหญ่ก่อนที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมืองนั้น ปากก็มักจะบอกเสมอว่าจะเข้ามารับใช้ชาติ รับใช้ประชาชน หลายคนถึงกับลงมือปฏิวัติเอาคนอื่นออกโดยอ้างว่าเพื่อปราบคนโกง แล้วตัวเองจะเข้ามาแทนเพื่อช่วยชาติ หลายคนก็เข้ามาด้วยการเลือกตั้ง (นัยว่า) อย่างชอบธรรมโดยอาจทำทุกวิธีการเพื่อให้ชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อเข้ามาได้แล้ว ไม่ว่าจะโดยรูปแบบใดก็พบเสมอว่า ล้วนแต่เข้ามาทำทุกอย่างเพื่อแสวงประโยชน์ให้กับตนเองกันทั้งนั้น


 


ทว่า ไม่อาจตอบได้แน่ชัดว่า เป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมยังมีอยู่จริง หรือเป็นเพราะกฎแห่งกรรมกันแน่ เพราะที่สุดแล้วเราจะเห็นว่า ไม่มีผู้คนที่ฉ้อฉล โกงกิน คนใดที่พบจุดจบในทางที่ดีเลย


 


นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ก็เนื่องจากว่า เมื่อไม่นานนี้มีข่าวว่า เบนาซีร์ บุตโต อดีตประธานาธิบดีของปากีสถานซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศได้ถูกหมายเรียกจากตำรวจสากลให้กลับมาขึ้นศาลที่ปากีสถาน โดยบอกว่าหากเธอไม่กลับมาจะถือว่าเป็นผู้หลบหนีต่อศาล ซึ่งจะทำให้สามารถตามไปจับกุมตัวได้


 


เธอและสามีถูกกล่าวหาในเรื่องของคอรัปชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามีนั้นมีคดีมากมายตั้งแต่เรื่องการฉ้อโกงจนกระทั่งเรื่องการฆาตกรรม แม้เธอจะบอกว่า การที่เธอถูกเล่นงานนั้นเป็นเรื่องทางการเมืองและเธอจะยังไม่ยอมรับทั้งหมดว่าในช่วงที่เรืองอำนาจอยู่นั้นเธอกระทำการอันเป็นทุจริตหรือประพฤติมิชอบในเรื่องใดบ้าง ศาลยังไม่ได้ตัดสินลงโทษเธอ แต่สามีของเธอนั้นติดคุกอยู่ถึง 8 ปี ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมา


 


ส่วนเธอนั้น จนถึงบัดนี้ก็ยังคงต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศหลังจากที่ต้องหลบไปๆ มาๆ ระหว่างลอนดอนกับดูไบ ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ภายหลังจากที่ถูกเปอร์เวส มูชาราฟ (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) ยึดอำนาจ


 


แม้เรื่องราว เบนาซีร์ บุตโต ยังไม่สิ้นสุดและอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ชัดเจนนักว่าสุดท้ายแล้วจะอวสานอย่างไร แต่เราก็ได้เห็นว่าคนเราพอสูญเสียอำนาจแล้วต้องอยู่ในสภาพเช่นไร


 


มีบทเรียนอื่นๆ อีกหลายตัวอย่างที่สามารถนำมาเป็นอุทาหรณ์ได้ว่า แม้จะมีอำนาจล้นฟ้าแต่หากไม่ซื่อตรงและคดโกง ฉ้อฉลเอาแต่ได้โดยไม่เห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนแล้ว สุดท้ายตอนจบก็ไม่สวยแม้แต่รายเดียว มีตั้งแต่ถูกประหารชีวิต ถูกอัปเปหิออกนอกประเทศ หรือ แม้ยังอยู่ในประเทศก็อยู่แบบถูกกักบริเวณ หรืออย่างไร้ศักดิ์ศรี


 


มาดูกันใกล้ๆ ตัว เช่น ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มากอส แห่งฟิลิปปินส์ บุคคลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International - TI) ได้จัดอันดับให้เป็นผู้ที่โกงกินมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย  จากที่เคยเป็นคนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชนแต่สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงอย่างเดียวดายในต่างประเทศ


 


อดีตประธานาธิบดีมากอส แห่งฟิลิปปินส์ ที่เริ่มต้นทางการเมืองโดยการฆาตกรรม Julio Nalundasan ส.ส. ฝ่ายตรงข้ามของพ่อของเขา และใช้ความเฉลียวฉลาดในการใช้ชีวิตทางการเมืองมาโดยตลอด  และเขาเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับโอกาสอย่างมากจากประชาชน โดยที่เขาเป็นคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัยซ้อน


 


แต่แล้วจากการโกงกิน การคอรัปชั่นของเขา และบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภรรยาผู้ทรงอิทธิพล อีเมลดา ในที่สุดสิ่งที่เหลืออยู่ในความทรงจำของผู้คนก็คือ มากอสได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีที่อื้อฉาวอย่างมากในเรื่องของการฉ้อฉล รับสินบน และหลอกลวง 


 


สิ่งสุดท้ายที่เขากระทำก่อนที่จะถูกประชาชนขับไล่ออกจากตำแหน่งก็คือการสังหารคู่แข่งทางการเมือง เบนิโญ อาควิโน  บั้นปลายของชีวิตก็คือต้องลี้ภัยออกนอกประเทศและไม่ได้กลับมาเห็นแผ่นดินเกิดอีกเลยจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต  เขาเสียชีวิตอยู่ที่ฮาวาย


 


2


อีกตัวอย่างหนึ่งคือ อดีตประธานาธิบดีของเกาหลี 2 คน แม้ไม่ได้ถูกระบุในกลุ่ม 10 อันดับแรกของผู้นำที่โกงกินมากที่สุด แต่ทั้งสองก็ถูกลงโทษหลังจากที่ลงจากอำนาจไป นั่นคือ ชุน ดู วาน กับโรห์  แต  วู โดยที่โรห์ แต วูนั้นเป็นคนที่ได้รับเลือกจากชุน ดู วาน ให้รับตำแหน่งต่อจากเขา  โดยเป็นประธานาธิบดีช่วงปี 1988 -1993


 


ผู้ที่เข้ามาปกครองประเทศต่อคือ คิม ยอง ซัม (1993)  คิม ยอง ซัม  รณรงค์เรื่องการปราบปรามคอรัปชั่น ซึ่ง ชุน ดู วาน และ โรห์ แต วู  ถูกนำขึ้นศาลในข้อหารับสินบน และต่อมาก็มีการตั้งข้อกล่าวหาแก่ทั้งคู่ว่าขายชาติและก่อการกบฏ เนื่องจากบทบาทของทั้งสองคนในเหตุการณ์รัฐประหารปี 1979 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กวงจู ในปี 1980


 


ในที่สุดในปี 1996 ทั้งสองก็ถูกตัดสินว่าผิดจริงในกรณีการทรยศต่อชาติ ก่อการกบฏและคอรัปชั่น ชุน ดู วาน ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาลดโทษให้เหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนโรห์ แต วู นั้นถูกตัดสินให้จำคุก 22 ปีครึ่ง และลดเหลือ 17 ปีในชั้นศาลอุทธรณ์  ในปี 1998 ทั้งคู่ได้รับการอภัยโทษโดยประธานาธิบดี คิม แด จุง  ซึ่งการออกมานั้นไม่ได้หมายความว่าจะลบความรู้สึกออกจากใจผู้คนได้ว่านี่คือคนโกง


 


ยังมีตัวอย่างของผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศแต่ได้ใช้สายสัมพันธ์ทางการเมืองและอำนาจรัฐเพื่อแสวงประโยชน์ จนทำให้ตัวเองเป็นผู้ทรงอิทธิพลและอำนาจล้นฟ้าแต่สุดท้ายหนีไม่พ้นถูกประหารชีวิต กรณีนี้เกิดขึ้นใกล้บ้านเราอีกเช่นกัน คือ เวียดนาม


 


เมื่อ 2 ปี ก่อนเวียดนามตัดสินประหารชีวิตมาเฟียใหญ่ชื่อ  เจื่อง วัน เกิม หรือ รู้จักกันในนามของ นัม เกิม


 


แก๊งนัม เกิม (Nam Cam) ตั้งตามนามสกุลของเขาเอง ผสมกับการที่เขาเป็นบุตรคนที่ 5 ของครอบครัว หรือแปลตามภาษานักเลงจะได้ว่า "พี่ห้าแห่งตระกูลเกิม"


 


"นัม เกิม" มีฐานปฏิบัติการอยู่ในนครโฮจิมินห์ ซิตี้ และมีเครือข่ายอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศโดยจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทุกชนิด ตั้งแต่การค้าของเถื่อน ยาเสพติด โสเภณี ขู่กรรโชกทรัพย์ ไปจนถึงการฆาตกรรม โดยมีเจื่อง วัน เกิม วัย 55 ปี อดีตทหารเวียดนามใต้ เป็นหัวหน้าแก๊ง


 


เส้นทางของเจื่อง วัน เกิม นั้นเริ่มต้นหลังจากที่พวกเวียดกงปลดปล่อยเวียดนามใต้ในปี 1975 เขาได้เข้าไปทำตัวสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ในเขตที่เขาหากินอยู่ ด้วยการหาข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านให้กับฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลจนเขาสามารถสร้างเครือข่ายในหมู่เจ้าหน้าที่ได้อย่างกว้างขวาง


 


จนกระทั่งในช่วงปี 1980 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ฯ ถึงกับยกย่องให้เขาเป็นพลเมืองตัวอย่าง เพราะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์และจงรักภักดีต่อพรรคฯ อย่างสุดซึ้ง หลังจากนั้น เจื่อง วัน เกิม ก็ใช้เส้นสายของเขากระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถทำเงินให้เขาได้จนแก๊งนัม เกิม ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนตัวเขาเองก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเจ้าพ่อที่อยู่เหนือกว่าเจ้าพ่อทั้งปวงในเวียดนาม และฐานะนี้ก็ทำให้เขาสามารถทำเงินได้หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว


 


แต่แล้วสุดท้ายด้วยนโยบายการปราบปรามคอรัปชั่นของเวียดนาม นัม เกิม ถูกพิพากษาว่า เป็นองค์กรที่อันตรายยิ่งต่อสังคม เป็นผู้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐให้คุ้มครองเครือข่ายธุรกิจของเขาที่ประกอบด้วยการพนัน หญิงบริการ ยาเสพติด และเรียกค่าคุ้มครอง  และตัดสินให้ประหารชีวิต ทั้งนี้ นอกจากนัม เกิม แล้ว ยังมีจำเลยอีก 5 คนที่ร่วมแก๊งเดียวกันก็ถูกประหารชีวิตด้วยเช่นกัน


 


ยังมีบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่มีส่วนในการรับสินบนจากนัม เกิม ต่างก็ถูกดำเนินคดีกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค เช่น เจิ่น ไม แฮงห์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งชาติ และกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี และปรับกว่า 3.2 แสนบาท แถมห้ามกลับเข้ามารับราชการอีก 5 ปีหลังจากออกจากคุกมาแล้ว เนื่องจากใช้วิทยุในการออกอากาศที่เอื้อประโยชน์ให้กับนัม เกิม  และ บุ่ย เกวื๊อก ฮุย  อธิบดีกรมตำรวจถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


 


3


เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างชะตากรรมของพวกที่ประพฤติมิชอบและโกงกินชาติทั้งสิ้น และในโลกนี้ก็มีให้เห็นกันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะใกล้ตัวหรือไกลตัว ผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศคงได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ก็คงแต่หวังว่าจะไม่เกิดกับตัวเรา


 


มีรายงานของ TI ในปี 2004 ซึ่งจัด 10 อันดับแรกผู้นำที่โกงกินชาติ ตามมูลค่าการคอรัปชั่นมาฝาก ดังนี้


 
















































ผู้นำ


มูลค่าคอรัปชั่น


(ล้านเหรียญสหรัฐ)


รายได้ต่อหัวประชากร/ปี


ซูฮาร์โต  ประเทศอินโดนีเซีย


(1967-1989)


15,000 -35,000


(6 แสนล้าน-1.4 ล้านล้านบาท)


965  เหรียญสหรัฐฯ (27,800 บาท)


เฟอร์ดินานด์  มาร์กอส  


ประเทศฟิลิปปินส์  (1972-1986)


5,000 – 10,000 (2-4 แสนล้านบาท)


912 เหรียญสหรัฐฯ  (36,480 บาท)


โมบูตู  เซเซ เซโก  ประเทศซาอีร์  (1965-1997) 


5,000   (2 แสนล้านบาท) 


99 เหรียญสหรัฐฯ (3,960  บาท)


ซานี อาบาชา ประเทศไนจีเรีย 


(1993-1998)


2,000 – 5,000


(8 หมื่น -2 แสนล้านบาท)


319 เหรียญสหรัฐฯ (12,760 บาท)


 


สโลโบดาน มิโลเซวิค  ประเทศเซอร์เบียร์/ยูโกสลาเวีย  (1989 – 2000)


1,000 (4 หมื่นล้านบาท)


ไม่มีข้อมูล


ฌอง- คล้อด ดูวาลิเย่  ประเทศไฮติ (1971-1986)


300-800


(12,000- 32,000 ล้านบาท) 


460 เหรียญสหรัฐฯ (18,400 บาท)


ฟูจิโมริ ประเทศเปรู (1990-2000)


600  (24,000 บาท)


2,051 เหรียญสหรัฐฯ (82,040 บาท)


 


ปาฟโล ลาซาเรนโค ประเทศยูเครน (1996-1997) 


114 -200


(4,560 – 16,000 ล้านบาท)


766 เหรียญสหรัฐฯ (30,640 บาท)


 


อาโนลโด อเลมัง ประเทศนิคารากัว (1997-2002)


100 (4 พันล้านบาท)


490 เหรียญสหรัฐฯ (19,600 บาท)


โจเซฟ เอสตราดา ประเทศฟิลิปปินส์ (1996-2001)


78-80  (3,120 – 3,200 ล้านบาท)


912 เหรียญสหรัฐฯ (36,480 บาท)


 


 


ขณะนี้แต่ละคนก็หลุดจากตำแหน่งไปแล้ว ชะตากรรมของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ได้เห็นเป็นข่าวกันไปแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจคงสามารถค้นหารายชื่อเหล่านี้เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ไม่ยาก


 


 


สำหรับประเทศไทยแล้ว เข้าใจว่าตอนนี้สังคมบ้านเรา ผู้คนกำลังสับสนอย่างยิ่งระหว่างเราควรจะเลือกอะไรดีระหว่างคุณธรรม จริยธรรม และกฎหมาย ทั้งๆ ที่ ทั้งหมดนี้ควรจะไปด้วยกัน หลักจริยธรรมและหลักกฎหมายนั้นควรจะสอดรับกันอย่างดียิ่ง แต่ก็ได้เกิดกรณีขึ้นมาแล้วในเรื่องของคนที่มีคนอ้างความชอบธรรมทางกฎหมายแต่ขัดหลักจริยธรรมอย่างเห็นได้ชัด  เป็นความสามารถพิเศษที่ทำให้เป็นการโกงกินชอบด้วยกฎหมาย (แต่ไร้คุณธรรมและจริยธรรมอย่างยิ่ง)


 


ก็น่าสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าชะตากรรมของคนโกงที่เห็นๆ กันอยู่นี้  สุดท้ายแล้วจะลงเอยเยี่ยงไร???