Skip to main content

ไข้หวัดนก

คอลัมน์/ชุมชน














































































































































 

ในที่สุดไข้หวัดนกก็กลับมา แม้ไม่ฮือฮาครึกโครมเหมือนครั้งก่อน แต่คล้ายจะรุนแรงและน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า เพราะมีรายงานบ่งชี้ ว่าอาจติดต่อได้จากคนโดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านการแพร่ระบาดจากสัตว์ปีกหรือสัตว์อื่นอีกต่อไป

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระบุว่า การติดต่อ " จากคนสู่คน" นั้น เป็นมหันตภัย เพราะมี " โอกาส" ในการติดต่อกันได้ง่าย และมี " กลุ่มเสี่ยง" เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน กระบวนการในการเฝ้าระวังและป้องกัน ตลอดจนดูแลรักษา ก็ยุ่งยาก ซับซ้อน และสิ้นเปลืองยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ในการระบาดครั้งที่แล้ว " ไข้หวัดนก" ส่งผลสะเทือนอย่าสูง และกว้างขวาง แต่ในสายตาของรัฐ กลับถือว่าปรากฏการณ์ของโรคส่งผลทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ยิ่งกว่าด้าน " สาธารณสุข" หรือ " สุขอนามัย" ของผู้คน เพราะปรากฏในรายงานข่าวหลายครั้ง ที่ " คนของรัฐ" กล่าวว่าเทียบโดยสัดส่วนประชากร ( ซึ่งคำนวณอย่างไม่คำนึงถึงคุณค่าของ ‘ ชีวิต’ เท่าใดนัก) แล้ว ตัวเลขการตายของผู้ติดเชื้อ ( ในสายตาของรัฐ) ก็ยังนับว่าน้อยมาก

 

ยิ่งเทียบกับพื้นที่ระบาดด้วยแล้ว " นักการเมือง" หรือ " นักวิชาการ" ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง คล้ายจะยังถือว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับ " คนป่วย" อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้

 

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลในระยะที่โรคระบาดรุนแรง ( จนปิดข่าวไม่ได้อีกต่อไป!!) จึงเป็นการรณรงค์ทางจิตวิทยา เพื่อให้คนเลิกกลัว และชักจูงให้หันมาบริโภค " ไก่ไทย" ตามปกติ โดยแทบไม่มีการให้ " ความรู้" เกี่ยวกับอันตรายของโรค และการระวังป้องกัน หรือการเยียวยาผู้ป่วยระยะต่าง ๆ อย่างจริงจังและเอาการเอางาน ที่เหมาะสมกับความรุนแรง หรือความเสี่ยงของโรคแต่อย่างใด

 

ไทยจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของไม่กี่ประเทศในโลก ( หรืออาจเป็นเพียงประเทศเดียว?) ที่รัฐแก้ปัญหา " ไข้หวัดนก" ด้วยการจัดงานมหกรรม " แจกฟรี- กินฟรี" ขึ้นใจกลางเมืองหลวง

 

พร้อม ๆ ไปกับการ " ระงับนำเข้าไก่ไทย" ของต่างชาติ ซึ่งพร้อมที่จะปกป้องและรักษาสิทธิผู้บริโภคของเขาเป็นอันดับแรก

 

หลังจากนั้นไม่นานนักเราก็ไชโยโห่ร้องกันว่า " ไข้หวัดนก" หมดไปจากประเทศไทยแล้ว เช่นเดียวกับที่เราเคยจัดงานปักธง ว่าชนะสงครามยาเสพติดแล้วอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ นับเป็นการ " จบง่าย ๆ" ราวละครน้ำเน่า ที่ท้ายสุด พระเอกหรือนางเอก ก็ผ่านอุปสรรคของชีวิต แถมเอาชนะผู้ร้ายได้อย่างปาฏิหาริย์ หรือมีโชคช่วย กระทั่งได้ครองรักกันชั่วฟ้าดินสลาย…

 


 

น้อยคนนักที่จะตั้งคำถามกับรัฐและผู้คุมกลไกอำนาจรัฐ ว่า …
ไข้หวัดนก ยาเสพติด การคอร์รัปชั่น ผู้มีอิทธิพล หรือปัญหาของจังหวัดชายแดนภายใต้ และ ฯลฯ แก้ไขง่ายดาย หรือจัดการได้ เพียงด้วยความสามารถของนักธุรกิจ ผู้ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนทางการเมืองเพียงเงื่อนไขเดียวจริงหรือ ?

 

ใช่หรือไม่ว่า นอกเหนือจากเพลิดเพลินไปกับ " เทคนิคการตลาดในการเมือง" แล้ว เราก็พากันหลงลืม หรือหลงระเริงไปกับมายาคติแห่งการ " เสพ" และ " บริโภค" ตลอดจน " บ้างาน" เพื่อหาเงินมาจับจ่ายอย่างหามรุ่งหามค่ำ กระทั่งละทิ้งสารัตถะของ " ชีวิตและธรรมชาติ" ไปเสียมากมายนัก

 

ปล่อยให้ความ " สะดวกและง่าย" บงการและครอบงำความเป็นอยู่ หรือกระทั่งจิตวิญญาณเสียแทบหมดสิ้น

 

บ่อยครั้งที่เราอิ่มเอมกับ " ผล" จนละเลย " เหตุ" ไปอย่างไม่ดูดำดูดี

 

มิพักจะต้องกล่าวถึงองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมอีกจำนวนมาก ที่ถูกลดทอน หรือกำจัดออกไป
มิพักจะต้องกล่าวถึงมนุษย์คนอื่น ๆ นอกเหนือจากคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง ที่ถูกลดทอน หรือกำจัดการมีส่วนร่วมออกไป

 

กระทั่งว่า เหลือเพียง " ตัวเรา" และ " ของเรา" ในฐานะนักเสพหรือนักสุข
ที่งมงายกับการบริโภคอย่างไม่ลืมหูลืมตา …

 


 

มีรายงานทางวิชาการหลายชิ้นกล่าวว่าไข้หวัดนกแฝงตัวอยู่กับนกป่า หรือสัตว์ปีกในธรรมชาติหลายชนิด แม้กระทั่งไก่บ้าน ไก่ชน หรือฝูงเป็ดปล่อยเลี้ยงในทุ่ง โดยสัตว์เหล่านั้นแทบมิได้แสดงอาการป่วยไข้ กระทั่งกลายเป็นพาหะ และเป็นอุปสรรคของการ ควบคุม - กำจัด " โรค" ในที่สุด

 

ขณะเดียวกันใจความระหว่างบรรทัด ก็ถูกละเลยไปเสีย ว่า …
สัตว์ปีกกลุ่มเสี่ยง ซึ่งอ่อนไหว และเป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญที่จะ " ติดต่อมาสู่คน" ได้อย่างแท้จริง ก็คือ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ นกกระทา และเป็ด ฯลฯ ที่ถูกเลี้ยงเชิงเดี่ยว โดยระบบเกษตรอุตสาหกรรม หรือการเกษตรเชิงพาณิชย์ ที่กักขังสัตว์ไว้ในพื้นที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มระบบเปิด หรือระบบปิด ตลอดจนสัตว์ปีกประเภทที่ต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด เช่น ไก่ชน หรือนกเลี้ยงในบ้าน เท่านั้น มิใช่สัตว์ปีกในธรรมชาติประเภทใดๆ เลย…

 

กล่าวคือ เนื้อที่อันจำกัด ความแออัดยัดเยียดด้วยปริมาณ และการกระตุ้นเร้าให้เติบโตด้วยสารเคมี ตลอดจนวิถีชีวิตที่ผิดธรรมชาติ เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดทางธุรกิจของการเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยว สร้างความเครียด และความอ่อนแอให้กับสัตว์ที่ถูกขุนเลี้ยงจนแทบไม่เหลือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติใดๆ เอาไว้

 

หรืออาจกล่าวได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่ถูกเพาะพันธุ์และอยู่รอดได้โดยอาศัยมนุษย์ให้อาหารและสารเคมีเหล่านั้น แทบไม่เหลือความเป็นธรรมชาติใด ๆ อีกต่อไปแล้ว

 

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผลของการละเมิดธรรมชาติ และบีบคั้นต่อชีวิต ก็สะท้อนออกมาเป็นโรคภัย หรือการไร้ภูมิต้านทานอย่างที่ควรจะมี

 

นั่นหมายถึง มีคำถามแทรกอยู่ด้วยว่า " โรคไข้หวัดนก" ที่เกิดความรุนแรงและแพร่ระบาดขึ้นนี้ กำลัง " กลายพันธุ์" ด้วยตัวของมันเอง หรือเป็นเพียงแค่ความประจวบเหมาะ ของเหตุและปัจจัย ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์อุตริดัดแปลงขึ้น ร่วมกับสภาพการณ์ดั้งเดิมของธรรมชาติ ซึ่งมีสมดุลของมันเอง และพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยมี " โรคไข้หวัดนก" เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

 

เพราะจะว่าไปแล้ว ก่อนหน้า " ไข้หวัดนก" หรือ " โรควัวบ้า" หรือกระทั่ง " โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง" มนุษย์ก็ได้แปรเปลี่ยนและปรับปรุงอะไรต่อมิอะไรในวงจรธรรมชาติ เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ( หรือผิดเพี้ยน?) ด้านชีวิตและจิตวิญญาณของตนมาแล้วอย่างต่อเนื่อง

 

โรคาพยาธิและความวิบัติรุนแรงต่าง ๆ ด้านหนึ่งจึงคล้ายจะเป็นเทวทูตที่ปรากฏกายขึ้นเตือนมนุษยชาติทั้งหลายเสียมากกว่า …

 

ปัญหาคงอยู่ที่ว่า มนุษย์ยังจะมี " ดวงตา" หรือมี " หัวใจ" และ " สติ- ปัญญา" ที่จะไตร่ตรอง " ปรากฏการณ์" เบื้องหน้าตนเองได้สักเพียงใดเท่านั้น

 


 

ถึงวันนี้ แม้โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ( เอดส์) ได้แพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง จนมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาลอยู่ทั่วโลก แต่กามสุข อันเป็นรากเหง้าสำคัญของทุนนิยมบริโภค ก็ยังได้รับการส่งเสริมและโฆษณา ทั้งทางตรงและทางอ้อม อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

ถึงวันนี้ แม้โรควัวบ้า และโรคไข้หวัดนก จะเป็น " โรคระบาดร่วมสมัย" ที่เราคุ้นเคยกันดี และรับรู้โทษภัยของมันอย่างกว้างขวางและนับวันจะรอบด้านยิ่งขึ้น แต่การเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวในปริมาณมาก และในพื้นที่อันจำกัด จนต้องใช้สารเคมี หรือเทคนิควิธี " ควบคุม- ดัดแปลง- จัดการ ธรรมชาติ" ก็แทบมิได้มีการทบทวนหรือหาแนวทางแก้ไข

 

นับประสาอะไรกับโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต หรือโรคเบาหวาน และ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เกิดจากวิธีคิดและวิถีชีวิตอัน " ขาด ๆ เกิน ๆ" ของผู้คน ซึ่งนอกจากจะเกิดในชั่วชีวิตของตนเองแล้ว เมื่อสืบย้อนขึ้นไปยังบรรพบุรุษก็ยังพบได้ว่า ไม่มากก็น้อย ที่เคยละเลยบกพร่องต่อธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในตน

 

ดูเหมือนกับว่า " เรา" พร้อมที่จะกำจัด หรือทำลายล้าง อย่าง ตาต่อตา- ฟันต่อฟัน ทั้งกับเชื้อโรคและความป่วยไข้ หรือกระทั่งกับสัตว์และเพื่อนมนุษย์ อย่างมิได้ยับยั้งหรือออมมือ ดังที่เราเข่นฆ่าวัว และสัตว์ปีกจำนวนมหาศาล เข่นฆ่าผู้คนที่เชื่อหรือศรัทธาต่างจากเราในสงครามต่าง ๆ อย่างเกินจะนับถึงความสูญเสีย

 
แต่กับใจเราเองแล้ว แม้เพียงความปรารถนาเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ยากจะเอาชนะ หรือยากจะฝ่าข้ามไป …
 

กล่าวในส่วนของ " ไข้หวัดนก" แม้วันนี้หรือวันพรุ่ง เราจะ " ควบคุม" หรือ " เข่นฆ่า" โรคร้ายไปเสียได้ ด้วยองค์ความรู้ หรือเทคนิควิธีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา

 

แต่ใครจะรับรองได้ว่า " ไข้" อื่น ๆ จะไม่เกิดขึ้นอีก ด้วย " ความป่วยไข้" ที่แฝงฝังอยู่ในใจของเราเอง

 

" ใจ" หรือ " จิตวิญญาณ" ซึ่งเราไม่เคยแม้แต่จะทะนุถนอมหรือพยายามเยียวยามันเลย