Skip to main content

เด็กแก๊ง (๓) : ชีวิตสัมพันธ์ที่สัมพันธ์กับชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

กล่าวได้ว่า เงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้เด็กแก๊งมารวมกลุ่มนั้นมีที่มามากกว่าเรื่องของครอบครัวและการอยากรู้อยากลอง ส่วนสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มซึ่งเป็น "ชุมชน" ของคนที่มีที่มาแตกต่างกัน และอยู่รวมกันจนก่อให้เกิดชุมชนลักษณะใหม่และทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อยขึ้นมาหลายรูปแบบ


 


กระบวนการดำเนินกลุ่มแก๊ง แม้จะไม่มีโครงสร้างการทำงานที่แน่ชัด แต่วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ โครงสร้างและกระบวนการโดยธรรมชาติของกลุ่มอาจเป็นบทเรียนสำคัญที่นำไปสู่การลดช่องว่างทางอคติที่คนมีต่อเด็กแก๊งและสร้างความเข้าใจถึงระบบความสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กแก๊งที่ปรากฏอยู่ในสังคมได้อย่างน่าสนใจ


 


ความเป็นกลุ่มที่มีความหมายมากกว่า "มั่วสุม"


 


การรวมกลุ่มในลักษณะแก๊ง หรือกลุ่มเพื่อนฝูง เป็นการรวมตามธรรมชาติ กล่าวคือไม่มีโครงสร้างประธาน รองประธาน เหมือนดังสมาชิกองค์กรทั่วไป การรวมกลุ่มแบบแก๊ง เป็นการรวมที่เกิดโดยกลไกของวิถีชีวิตของคนโดยทั่วไปที่ต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม และหากเป็นคนที่เข้าใจกัน คุยด้วยกันรู้เรื่องย่อมเป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้เข้าใจกันเร็วขึ้น


 


ความสัมพันธ์แบบเปิดทำให้เกิดความเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตร่วมกัน มีความเคารพในการตัดสินใจและพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ไม่เป็นการปกปิดหรือความลับต่อกัน ความสัมพันธ์นี้จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่อบอุ่นของสมาชิกกลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เที่ยวกลางคืน กลุ่มเด็กพังก์ เป็นต้น


 


ความสัมพันธ์แบบเครือญาติของกลุ่มวัยรุ่นในชุมชนที่เป็นพี่น้องกัน มีความรู้จักสนิทสนมกัน เป็นส่วนสำคัญที่เป็นแรงขับให้เกิดกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและสามัคคีกัน มากกว่านั้นการกำหนดความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มที่มีต่อกันตามที่กล่าวมาข้างต้น


 


"ถ้าพูดถึงกลุ่มแก๊ง หากรวมตัวกันเฉยๆ ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้ารวมตัวกันแล้วไปหาเรื่องตีคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยก็คงไม่ดี ปัญหาในกลุ่มของเราก็มีบ้าง เช่น พูดหยอกล้อเล่นกันแต่อีกคนคิดจริง เลยเกิดการโกรธกัน แต่ไม่ถึงขั้นต่อยกัน เพราะสัก 2-3 วันมาเจอกันคุยกันได้ และหายโกรธ เดี๋ยวดื่มเหล้าด้วยกันก็ดีกันเองเพราะเวลาดื่มเหล้าพวกเราก็พูดกันแบบเปิดอกกันตลอด มันมีความจริงใจต่อกันดี" สมาชิกกลุ่มกล่าว


 


กิจกรรมที่กลุ่มทำร่วมกันได้แก่ การเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว เที่ยวตามผับเธค การจัดแข่งรถ จัดคอนเสิร์ต เล่นกีฬา ดูหนัง ฟังเพลง ร่วมกัน กิจกรรมที่กลุ่มทำเพื่อผู้อื่น ได้แก่ การจัดค่ายให้ความรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษา การรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย การสร้างแกนนำนอกพื้นที่ เป็นต้น


 


กิจกรรมข้างต้นนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้คนที่เป็นสมาชิกกลุ่มได้มีประสบการณ์การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเคารพในการตัดสินใจ และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม แต่โดยมากผู้คนมักไม่ได้มีโอกาสรับรู้ว่ามีกิจกรรมสร้างสรรค์อีกมากมายที่เยาวชน ที่คนเรียกว่า "แก๊ง" ทำงานกันอย่างตั้งใจ เพียงเพราะภาพที่แสดงออกมาของกลุ่มแก๊ง คือ การชกต่อยทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ


 


สานสายใยรุ่นพี่และรุ่นน้อง


 


การเข้ามาในกลุ่มแก๊งของคนใหม่ๆ หรือการพยายามสร้างตัวแทนของกลุ่มไม่ได้เป็นไปตามกรอบเกณฑ์ เพราะการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในกลุ่มแก๊งเกิดขึ้นโดยระบบความสัมพันธ์แบบเพื่อนกับเพื่อน การเคารพผู้ที่อายุมากกว่าว่าคือรุ่นพี่ การเคารพผู้ที่อายุน้อยกว่าว่าเป็นรุ่นน้อง เป็นการสร้างความสัมพันธ์แนวราบ คือ การส่งต่อเพื่อนสู่เพื่อน พี่สู่น้อง


 


การที่คนจะเข้ามาในกลุ่มใหม่นั้นเหมือนดังเป็นการสร้างฐานความยั่งยืนของกลุ่มเพื่อให้กลุ่มมีคนสืบทอดกิจกรรมเจตนารมย์ที่กำหนดไว้ คนที่เข้ามาในกลุ่มใหม่อาจมาได้หลายรูปแบบ บางคนเพื่อนชวนมา บางคนอยากเข้ามา บางคนพี่ชวนมา ตัวอย่างเช่น เพื่อนที่รู้จักชวนเล็กจากที่เป็นเด็กไบรท์ ไปชมคอนเสิร์ตพังก์จนเกิดความชอบและเข้าสู่กลุ่ม จนเป็นเด็กพังก์คนหนึ่ง หรือ การที่เด็กคนหนึ่งชวนน้องๆ ในชุมชนมาตั้งกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น


 


บางกลุ่มมีการรับน้องที่แตกต่างกันไป เช่น การรับน้องโดยการให้ดื่มเหล้าเปล่าๆ หนึ่งแก้ว การรับน้องโดยการพาไปเที่ยว สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่กระชับแก่รุ่นน้องที่เข้ามากับรุ่นพี่ที่รู้จัก รุ่นน้องจะเคารพในการตัดสินใจของรุ่นพี่ แต่โดยส่วนมากการตัดสินใจภายในกลุ่มอาจมีได้หลายลักษณะ บางกลุ่มปรึกษาหารือร่วมกัน บางกลุ่มเกิดผู้นำที่ตัดสินใจโดยธรรมชาติ บางกลุ่มมีพี่ใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจ แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าที่มาของการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็ยอมรับการตัดสินใจนั้น


 


การเปลี่ยนถ่ายรุ่นต่อรุ่น


 


แม้ว่าการเข้าสู่กลุ่มนั้นจะไม่ใช่เรื่องยากแต่เรื่องที่สำคัญคือการเปลี่ยนถ่ายรุ่นของคนภายในกลุ่ม การเปลี่ยนถ่ายรุ่นต่อรุ่นนั้นอาจทำได้โดยไม่ยากมากนัก การรวมกลุ่มของเยาวชนเกิดขึ้นโดยกระบวนการทางสังคม มีการรวมกลุ่มโดยธรรมชาติ การสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นการสร้างผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันภายในกลุ่ม เช่น การเต้น การแข่งรถ โดยอาจมีการชวนคนอื่นๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมของกลุ่ม บางคนที่ไม่รู้จักอาจเข้ามาโดยความสนใจหรือคนอื่นชวน เช่น กรณีของเล็กที่เข้ามาในกลุ่มพังก์โดยการเชิญชวนของรุ่นพี่


 


การทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องของกลุ่มแก๊ง ถือเป็นการผลิตซ้ำทางความคิด เป็นการแสดงออกที่บอกถึงความเป็นตัวเอง บางกลุ่มสะสมการเที่ยว สะสมการแสดงพลังผ่านการแข่งรถ สะสมการเต้น ฯลฯ หรือแม้แต่การจัดการกับกรณีที่มีการชกต่อยทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งเรียกว่า "เคลียร์" ซึ่งเป็นการจัดระบบกับความรู้สึกของคน ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในสิ่งที่กระทำ


 


ดังนั้น จึงเป็นจุดแข็งที่สมาชิกกลุ่มมีความรู้สึกร่วมในการเป็นตัวของตัวเองในกลุ่มนั้นๆ และมีความรัก ศรัทธาในการกระทำของตน ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญในการสร้างรุ่นใหม่ และการเปลี่ยนถ่ายรุ่นที่มีความต่อเนื่องและมีจุดหมายร่วมเหมือนกัน


 


ว่าด้วยความเป็นหัวหน้ากลุ่ม


 


หัวหน้ากลุ่มหลายคนที่เรารู้จักมักจะบอกเสมอว่า ไม่ได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม เป็นเพียงแค่ต้นคิดสำคัญ หรือภาษาเหนือเรียก "เก๊า" ในการตัดสินใจบางอย่างบุคคลคนนั้นจะเป็นเหมือนคนที่ชี้บอกว่า จะทำอย่างไร จะไปทางไหน แบบไหน และทุกคนในกลุ่มก็จะทำตามนั้น


 


ทว่า การเป็นหัวหน้ากลุ่มอาจมาได้หลายๆ ทาง เช่นสายเครือญาติ การเคารพผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือคนที่มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ มีความกล้าในการตัดสินใจ เป็นที่นับถือของคนในกลุ่ม และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของเพื่อนๆ ในกลุ่ม เช่น การช่วยเหลือโดยการตีคืน การช่วยเรื่องเงิน เป็นต้น หรือแม้แต่การทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มเพื่อตัดสินใจร่วมกัน


 


แต่… บางกลุ่มจะมีลูกพี่ใหญ่ และลูกพี่จะทำตัวให้เป็นที่เคารพเกรงขาม ไม่ทำตัวเหมือนเด็ก เพราะจะต้องดูแลควบคุมสมาชิกในกลุ่มให้ได้ ซึ่งถ้าแกงไหนที่เป็นแก๊งใหญ่หน่อย แล้วบอกว่า "นี่เด็กผม" หรือ "ละอ่อนผม" ก็จะดูมีอำนาจและน่าเกรงขาม


 


การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มแก๊งตามสมัย


 


ก่อนปี 2542 ยังไม่มีการรวมกันเป็นแก๊งอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเที่ยว เช่น กลุ่มช้างคลาน สันป่าข่อย สันกำแพง เชียงมั่น กาดก้อม ซึ่งชื่อเหล่านี้ตั้งตามตำบลหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นชื่อเฉพาะกลุ่มหรือภาษาอังกฤษ เช่น SPK KK เป็นต้น


 


สมัยก่อน การตั้งชื่อกลุ่มจะตั้งตามแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ บางชื่อที่ตั้งก็เพื่อแสดงถึงการมีอำนาจ บ้างก็ตั้งชื่อตามแหล่งที่มักจะไปเที่ยวกัน หรือตั้งชื่อตามสถาบันที่เรียน หรือตามลักษณะการแต่งกาย เช่น พังก์ แซป


 


การเปลี่ยนแปลงของสังคมท่ามกลางกระแสโลกในปัจจุบันย่อมทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมีความแตกต่างกันออกไป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใต้ปรากฏการณ์ "เด็กแก๊ง" ก็ย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม แต่ท้ายที่สุดแล้วคนเราก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเด็กแก๊ง หากแต่สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ได้สัมผัสห้วงชีวิตที่คนมองว่าเป็นปัญหา แต่ท้ายที่สุดแล้วคนผู้นั้นก็มีบทเรียนและประสบการณ์  ทักษะที่มากกว่าคนที่ไม่เคยออกนอกกรอบของสังคมเลย


 


เรื่องชีวิตและความสัมพันธ์ของเด็กแก๊งยังมีอีกหลายแง่มุมให้ศึกษา เพียงแต่ว่าคุณได้เปิดประตูหัวใจที่จะเรียนรู้อย่างเข้าใจและยอมรับในความเป็นคนที่ปราศจากอคติแล้วหรือยัง


 


เพราะท้ายที่สุดคำถามที่ว่า "คุณรู้จักเด็กแก๊งดีพอหรือยัง" อาจลดน้อยลงในตัวของมันเอง ด้วยชีวิตที่สัมพันธ์ระหว่างกันและกันมากขึ้น