Skip to main content

ประกันสังคม สิ่งดี ๆ ที่ลูกจ้างได้รับ แต่…...

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


การมีกฎหมายประกันสังคมสำหรับลูกจ้างเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมากของสังคมไทย เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาได้ด้วยการรวมพลังกันของมวลหมู่ลูกจ้างในโรงงานร่วมกับนักวิชาการเพื่อสร้างหลักประกันในชีวิตให้กับลูกจ้างทุกคนที่มีนายจ้างชัดเจน ทำงานในสถานประกอบการชัดเจน เช่น เป็นโรงงานที่มีนายจ้างลูกจ้าง เป็นบริษัทห้างร้านที่มีพนักงานประจำ ให้ได้รับการคุ้มครองคุณภาพชีวิต ได้รับการรักษาพยาบาล


 


สมัยนั้นเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ในสังคมไทยอีกกว่าห้าสิบล้านคน ประชาชนคนไทยทั่วไปยังต้องจ่ายเงินเองเมื่อไปรับการรักษาพยาบาล จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกจ้างมีความก้าวหน้ามากกว่าคนอื่นๆ อีกทั้งลูกจ้างยังได้รับเงินชดเชยค่าจ้าง กรณีป่วยต้องนอนโรงพยาบาลหรือพักงาน ได้รับเงินสงเคราะห์เมื่อทุพพลภาพที่ไม่ได้มาจากสาเหตุการปฏิบัติงาน (เนื่องจากหากทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ จะได้รับการชดเชยจากเงินกองทุนทดแทน ซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเข้ากองทุนนี้ไว้สำหรับดูแลลูกจ้าง) ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเป็นรายเดือน ได้รับเงินบำนาญเมื่อชราภาพ ได้รับเงินสงเคราะห์เมื่อเสียชีวิต 


 


สวัสดิการเหล่านี้ได้รับมาจากการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นรายเดือน เป็นการบังคับจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะนายจ้างต้องดำเนินการหักเงินสมทบของลูกจ้างทุกเดือนเพื่อนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคม ในแต่ละเดือนลูกจ้างถูกหักเงินค่าประกันสังคมราวๆ สิบเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน นายจ้างและรัฐบาลร่วมสมทบอีกในสัดส่วนที่เท่ากับของลูกจ้าง เพื่อนำเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อให้ดำเนินการจัดสวัสดิการดังกล่าวให้กับลูกจ้าง


 


แต่สวัสดิการที่ลูกจ้างได้รับเป็นเอกสิทธิเฉพาะตัวเอง ไม่สามารถเผื่อแผ่ให้กับครอบครัวสามี ภรรยา ลูก และพ่อแม่ได้  ไม่เหมือนกับสวัสดิการของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่คุ้มครองไปถึงญาติสายตรงคือพ่อแม่และลูกได้  ทั้งนี้ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ในระยะแรกเริ่ม ก็มุ่งหวังให้มีการขยายระบบประกันสังคมออกไปให้กว้างขึ้น เพราะเป็นประกันสังคมจึงควรเป็นของทุกคนไม่เฉพาะลูกจ้างเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลแต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกระทั่งมีนโยบายเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา ทำให้พ่อแม่และลูกของลูกจ้างได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลไปโดยปริยายแล้ว


 


ดังนั้น ระบบประกันสังคมยังจำเป็นต้องขยายสวัสดิการใดให้กับครอบครัวอีกหรือไม่ หรือประกันสังคมจะคุ้มครองดูแลไปถึงแรงงานรับจ้างอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงานแบบนายจ้างลูกจ้างตรงๆ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน พนักงานบริการในสถานบริการ ลูกจ้างภาคเกษตรกรรม พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย พนักงานขับรถรับจ้าง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น คนเหล่านี้ก็ทำงานมีรายได้มากบ้างน้อยบ้างตามลักษณะงาน ส่วนใหญ่ไม่มีการรับประกันว่ามีงานทำตลอดเวลา บางคนรับจ้างตามฤดูกาล รายได้ไม่สม่ำเสมอ


 


คนเหล่านี้สมควรได้รับการคุ้มครองทางสังคมหรือไม่ ในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งของตลาดแรงงานราคาถูกที่ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าราคาถูกไปขายในตลาดต่างประเทศได้ และทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนได้ในทุกระดับ คนเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการ เมื่อทุพพลภาพทำงานไม่ได้ ไม่มีสวัสดิการเมื่อว่างงาน ไม่มีสวัสดิการสำหรับลูก ไม่มีสวัสดิการบำนาญเมื่อชราภาพ ไม่มีสวัสดิการเมื่อเสียชีวิต เพียงเพราะเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างประจำ หรือมีนายจ้างแต่หาตัวไม่เจอเพราะงานถูกรับเหมาช่วงแล้วส่งต่อๆ กันมาจนไม่รู้ว่ากำลังผลิตให้ใคร เช่น กลุ่มเย็บผ้าในหมู่บ้านที่ไม่รู้ว่างานเย็บของตนเอง ที่สุดถูกส่งกลับไปขายโดยใคร


 


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ระบบประกันสังคมจะขยับขยายไปสู่ประชาชนอื่นๆ นอกระบบการจ้างงานประจำ เพื่อสร้างสวัสดิการทางสังคมให้คนอีกจำนวนมาก ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของสังคมที่มีแรงงานนอกระบบจำนวนมากกว่าในระบบหลายเท่าตัว เหมือนกับที่รัฐบาลได้รับภาระการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ประชาชนทั้งหมดของประเทศไปแล้วภายใต้โครงการ 30 บาท


 


ประกันสังคมจะเริ่มดำเนินการจัดสวัสดิการด้านการรับประกันการว่างงาน ทุพพลภาพ และชราภาพ  ให้กับประชาชนได้ไหม ทั้งนี้ ต้องมีการปรับปรุงแนวคิดและระบบการจัดการที่เอื้อต่อการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการเหล่านี้ ทั้งในรูปการจ่ายสมทบ การบริหารระบบ การบริหารกองทุน  นี่นับเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของระบบประกันสังคมในปัจจุบันนี้แน่นอนและคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเริ่มต้น แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นแรงหนุนให้สามารถดำเนินการได้ 


 


ทั้งนี้ ต้องอาศัยความใจกว้างของลูกจ้างในระบบและรัฐบาลโดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคม ที่จะคิดริเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้  เพราะผู้คนที่ไม่มีสวัสดิการก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือครอบครัวเครือญาติของลูกจ้างนั่นเอง การสร้างสวัสดิการให้ทุกคนคือการสร้างโอกาสให้ทุกคนได้มีแต้มต่อในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพและลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยได้อย่างเป็นจริง