Skip to main content

ตรุษจีนปีนี้กับสีสันปีใหม่ที่บนดอย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ตรุษจีนของทุกปี คือช่วงเวลาแห่งความสุขของชาวลีซู (ลีซอ) ลาหู่ (มูเซอ) อิ้วเมี่ยน (เย้า) และจีนฮ่อ (เย้า) หลังจากทำงานหนักมาตลอดปี เกี่ยวข้าว ตีข้าว เก็บข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์เข้ายุ้งฉางแล้ว มีอาหารจากไร่เก็บสะสมไว้กิน ได้แก่ ฟักทอง ฟักหม่น (ฟักเขียวลูกโต เปลือกแข็ง มีขนเคลือบเป็นสีขาวหม่นๆ) เผือก ถั่วลิสง ถั่วแดง งา รวมทั้งอาหารแห้งที่เก็บถนอมไว้กินตลอดฤดูแล้ง ช่วงปีใหม่เกือบสองสัปดาห์จึงไม่ต้องทำงานหนัก ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในรอบปี ทำพิธีไหว้เทพเทวดา บรรพบุรุษ เยี่ยมญาติ เยี่ยมเพื่อน เกี้ยวสาว บางคนก็ได้คู่ในช่วงเวลานี้


 


สมัยที่หมู่บ้านยังพึ่งตัวเองได้มาก ไม่มีทางถนน ไฟฟ้า โทรศัพท์ หลังเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว ทุกบ้านจะเตรียมตัวรับปีใหม่ โดยเย็บเสื้อผ้าชุดใหม่ ทอถุงย่าม ทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ซักผ้าห่ม ตากเครื่องนอน เพื่อให้ทุกอย่างในบ้านสะอาดเอี่ยม


 


การเตรียมอาหารเป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับทุกคนในครอบครัว หมูที่เลี้ยงไว้ทั้งปี ตัวโตพอที่จะกินได้แล้ว เป็นหมูพันธุ์พื้นเมืองสีดำ ท้องห้อยย้อย มีมันมาก มีเนื้อแดงน้อย (เหมาะกับพื้นที่หนาวที่ต้องการไขมันเพื่อความอบอุ่น) ทนทานต่อดินฟ้าอากาศ ไม่ต้องกินหัวอาหารของบริษัทยักษ์ใหญ่  กินแต่ข้าวโพด รำข้าว หยวกกล้วย พืชต่างๆ ที่หาได้บนดอย วันที่ทำหมูจะมีเพื่อนบ้านมาช่วยกันหลายคน ชาวจีนฮ่อกับชาวลีซูที่คุ้นเคยกับชาวจีนฮ่อจะถนอมเนื้อหมูโดยเอาพริกกับเกลือคลุกเนื้อหมูที่หั่นเป็นชิ้นโตๆ หมักไว้สัก ๑ - ๒ วัน แล้วก็แขวนผึ่งลม ผึ่งแดดไว้ จะเก็บได้นานหลายเดือน ส่วนไส้หมู ก็เอาเนื้อหมู มันหมู สับผสมเกลือ ขิง พริก เครื่องเทศ ยัดใส่ผึ่งแดดจนแห้งเป็นไส้กรอกดอย เอามาทอดกินเค็มๆ มันๆ กินกับข้าวดอย นึ่งสุกๆ ร้อนๆ อร่อยอย่าบอกใคร  ทุกตรุษจีนดิฉันต้องหามากินให้ได้ เป็นเมนูเด็ดของดอยแม่สลอง ซึ่งใช้ชื่อเก๋ว่า


"ไส้กรอกยูนนาน"


 


น้องผ่องพรรณ ตันกุละ ผู้ช่วยของ สว.เตือนใจ ดีเทศน์ ได้ขึ้นไปบันทึกความสุข ความงดงามของปีใหม่บนดอยหลายวัน จึงขอเชิญชวนอ่านบันทึกความประทับใจของคนรุ่นใหม่ดังนี้ค่ะ


 


"ช่วงวันที่ ๒๗ - ๓๑ มกราคม ๒๕๔๙  เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวลีซอ (ลีซู) มูเซอ (ลาหู่) จีนฮ่อ และเย้า ปีนี้เป็นปีแรกที่ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมงานปีใหม่ของพี่น้องชาวลีซอที่บ้านปางสา บ้านเฮโก พี่น้องอิ้วเมี่ยน หรือเย้า ที่บ้านโป่งป่าแขม ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน และบ้านพี่น้องมูเซอที่บ้านจะบูสี ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง หมู่บ้านดังกล่าวล้วนเป็นพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา


 


วันที่ ๒๗ ตอนเย็นชาวลีซอทุกบ้านจะต้องแช่ข้าวเหนียวไว้ สำหรับทำข้าวปุ๊ก (ข้าวเหนียวนึ่งตำคลุกกับงา) ในเช้าของวันที่ ๒๘ ซึ่งทุกบ้านจะต้องตื่นแต่เช้า วิธีทำข้าวปุ๊กก็คือ เอาข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้หนึ่งคืนมานึ่งให้สุก จากนั้นนำไปตำจนนุ่มระหว่างที่ตำก็โรยงาผสมลงไปด้วย นำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนพอประมาณ วางลงไปในใบตอง ทบใบตองไปมาให้ข้าวเหนียวแบนพองาม วิธีง่าย ๆ เพียงเท่านี้ก็ได้ข้าวปุ๊กไว้เป็นเครื่องเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษและเทพเทวดาประจำบ้านแล้ว


 


วันที่ ๒๘ ชาวลีซอจะเริ่มเต้นรำเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทุกคนจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า ซึ่งมีสีสันที่งดงาม สดใส มีลวดลายที่ต่างกันออกไปตามความชอบของผู้ที่สวมใส่  บ้านทุกหลังจะต้องมีต้นปีใหม่ ซึ่งต้องเป็นไม้ที่ให้ผล ปักไว้ตรงกลางลานบ้าน เพื่อที่วงเต้นรำจะได้เต้นรอบต้นปีใหม่ และต้นปีใหม่ทุกต้นจะมีเนื้อหมูกับข้าวปุ๊กแขวนอยู่ วันนี้ทุกคนจะเต้นรำจนถึงเช้าตรู่ของอีกวัน (๒๙ มกราคม ๒๕๔๙) หากใครเมื่อยล้าก็จะผลัดเปลี่ยนกันไป ทุกคนที่เต้นรำจะจับมือกันเป็นวงกลม มีเสียงแคนและซึงเป็นตัวกำกับจังหวะที่เต้น โดยคนเป่าแคนจะเต้นอยู่วงใน คนที่เป่าแคนได้ของบ้านปางสามีหลายคนจึงสลับกันไปมา


 



 


วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๙ ดิฉันได้ไปเต้นรำกับชาวบ้านที่บ้านปางสา วันนี้ชาวบ้านจะเต้นรำที่บ้านหมอผีทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ วันต่อๆ ไป จึงจะเวียนไปเต้นรำตามบ้านต่างๆ ทีแรกก็นั่งดูชาวบ้านเต้นรำก่อน เพราะว่าตนเองเต้นไม่เป็น สังเกตการยกเท้าตามจังหวะได้พักใหญ่ จึงลุกขึ้นไปลองเต้นรำกับชาวบ้าน แรกๆ ก็ขยับเท้าไม่ค่อยถูก ได้คนที่จับมือกับดิฉันคอยแนะนำให้ จึงเต้นได้เร็วขึ้นและถูกต้องตามจังหวะ


 


หลังจากที่ได้ร่วมเต้นรำกับชาวบ้านปางสาแล้ว ดิฉันได้ไปร่วมงานอิ้วเมี่ยน เจี่ย เหียง แซ่ง เยียด ฮอย (ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวอิ้วเมี่ยน) ที่บ้านโป่งป่าแขม ซึ่งมีชนเผ่าเมี่ยนหรือเย้าอาศัยอยู่ เป็นการจัดงานปีใหม่ขึ้นครั้งแรกของหมู่บ้าน โดยความริเริ่มของผู้นำหมู่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน


 


บ้านโป่งป่าแขมจัดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจแวะมาเยี่ยมเยียน คนในหมู่บ้านได้จัดตั้งร้านสำหรับขายงานฝีมือของชาวบ้านขึ้นมาหลายร้าน ได้ทราบข้อมูลจากผู้นำหมู่บ้านว่า ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชมหมู่บ้านและซื้อสินค้า วันหนึ่งไม่น้อยกว่าสองร้อยคน  ปัจจุบันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีรายได้หลักมาจากการขายของให้นักท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ลานหมู่บ้านก็มีความสะอาด มีถังขยะที่สานด้วยไม้ไผ่ วางอยู่ตามจุดต่างๆ หากนักท่องเที่ยวทุกคนมีวินัยในตนเอง ช่วยรักษาความสะอาด ทิ้งขยะตามจุดที่จัดให้ ไม่ทิ้งตามใจตนเอง หมู่บ้านที่เป็นบ้านแห่งการท่องเที่ยว ทุกที่ ทุกแห่ง ในประเทศไทย คงมีความสะอาดสามารถเดินชมหมู่บ้านด้วยความสบายตา สบายใจ


 



 


 


พิธีเปิดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของพี่น้องบ้านโป่งป่าแขม แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกแต่ก็มีผู้คนให้ความสนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งระดับ สส. สจ.อำเภอแม่จัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้านใกล้เคียง


 


งานเริ่มต้นด้วยการแจกน้ำชาให้แขกผู้มีเกียรติ ตามด้วยการคารวะบรรพบุรุษด้วยกระดาษเงินกระดาษทองของชาวอิ้วเมี่ยน ร่วมด้วยการจุดประทัดเสียงดังสนั่น ระหว่างที่คารวะบรรพบุรุษก็มีเสียงปี่ เสียงกลอง เสียงฉาบ ซึ่งเป็นดนตรีประจำเผ่าของชาวอิ้วเมี่ยน ถ้าไม่มีงานสำคัญก็จะไม่มีโอกาสได้ยิน หาฟังได้ยาก จากนั้นก็เป็นการร่วมรับประทานอาหารเย็น ระหว่างที่รับประทานอาหารเย็นก็มีการแสดงทางวัฒนธรรมของชนเผ่า ทั้งของคนในหมู่บ้านซึ่งเป็นชนเผ่าเมี่ยนหรือเย้า และของเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเผ่าอาข่า


 



 


 


การจัดงานครั้งนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่หมู่บ้านอื่น ที่คนในหมู่บ้านมีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยให้งานครั้งนี้สำเร็จไปด้วยดี ทุกคนในหมู่บ้านต่างทำหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นคนทำอาหาร ซึ่งต้องเตรียมอาหารหลายอย่างไว้สำหรับเลี้ยงแขกหลายคน บรรยากาศในงานมีผู้ให้ความสนใจเก็บภาพถ่ายไว้หลายคน ไม่ว่าจะเป็นแขกที่มาร่วมงานหรือนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาในหมู่บ้านโดยไม่ทราบมาก่อนว่ามีการจัดงานในวันนี้


 


ในพื้นที่ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีทั้งคนพื้นเมือง ชาวลีซอ อาข่า เย้า มูเซอ ตั้งถิ่นฐานอยู่  บางหมู่บ้านมีสองถึงสามชนเผ่าอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ทุกหมู่บ้านก็อยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุขแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม       


 


บ้านลีซออีกบ้านหนึ่งที่ดิฉันได้แวะเข้าไปร่วมงานปีใหม่ คือ บ้านเฮโก ซึ่งหมู่บ้านอยู่ห่างจากถนนสายกิ่วสะไต – แม่สลอง เข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ขณะที่ไปถึง ๑๗.๐๐ น.เป็นเวลาที่ชาวบ้านเริ่มแยกย้ายกันไปอาบน้ำ จึงมีคนเต้นรำเป็นวงเล็ก ๆ อยู่ที่ลานหน้าบ้านหมอผี บ้านเฮโก สภาพบ้านเรือนยังเป็นบ้านลีซอดั้งเดิม คือบ้านทำด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยหญ้าคา แม้ว่าจะมีคนออกไปทำงานนอกหมู่บ้านบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้นำวัฒนธรรม ประเพณีที่อื่นมาสู่หมู่บ้านของตน ยังคงดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ


 


บ่ายของวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙ ดิฉันไปบ้านมูเซอ หรือ ลาหู่ ที่บ้านจะบูสี  ตำบลแม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง น่าเสียดายที่ต้นซากุระสองข้างทางไปหมู่บ้าน เริ่มร่วงโรย ถ้าได้ไปช่วงปลายเดือนธันวาคมหรือต้นเดือนมกราคม คงมีโอกาสได้เห็นดอกซากุระบานเต็มต้น สองข้างทางคงเต็มไปด้วยสีชมพู  พอเข้าไปถึงในหมู่บ้าน เห็นปลัมปีใหม่ทำด้วยไม้ไผ่ เป็นเสาสูงประดับด้วยกระดาษสีต่าง ๆ อยู่กลางหมู่บ้าน มีเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษและเทพเทวดาคือหัวหมู ข้าวปุ๊ก วางอยู่บนชั้นที่สร้างไว้สูงพอประมาณ ได้ยินเสียงกลอง เสียงแคนแว่วมา แต่ไม่รู้ว่าชาวบ้านกำลังเต้นรำอยู่ที่บ้านหลังไหน เพราะบ้านจะบูสีมีทั้งหมด ๓๐ หลังคาเรือน


 



 


 


วันนี้เป็นวันที่จะต้องเต้นรำเวียนไปให้ครบทุกบ้าน การเต้นรำของลาหู่กับลีซูต่างกันตรงที่ลีซูจะเต้นรำที่ลานบ้านจับมือกันเป็นวงกลมล้อมรอบต้นปีใหม่ แต่ลาหู่ไม่จับมือกัน และเต้นในบ้าน จังหวะของดนตรีและการยกเท้าก็ต่างกัน


 


การเต้นของลาหู่จะมีเสียงกลองให้จังหวะที่หนักแน่น แรงกระทบระหว่างเท้ากับพื้นบ้านซึ่งเป็นฟากจึงเกิดเสียงที่ฟังเพราะหู ได้ยินแล้วชวนให้ใจอยากลองเต้นดู แต่น่าเสียดายที่บ้านแต่ละหลังมีคนไปเต้นเยอะ จึงทำให้พื้นที่บ้านดูแคบลง ก่อนที่จะเริ่มเต้นรำในแต่ละบ้าน ดิฉันสังเกตเห็นทุกบ้านจะมีขันใส่ข้าวสารแล้วมีเงินเสียบอยู่ข้างๆ ขันเข้าสารก็จะมีจานใส่อาหารและขนม จึงถามชาวบ้าน ชาวบ้านอธิบายว่า เป็นเครื่องไหว้เทวดาประจำบ้าน ก่อนและหลังหยุดเต้นในแต่ละบ้านผู้นำศาสนาของหมู่บ้านจะทำพิธีก่อน ส่วนเงินที่เจ้าของบ้านเสียบไว้ที่ขันใส่ข้าวสารก็จะมีคนเก็บและรวบรวมเอาไว้เป็นเงินของหมู่บ้าน


 


น่าเสียดายที่ดิฉันไม่สามารถไปร่วมเทศกาลปีใหม่ของพี่น้องชนเผ่าได้ครบทุกหมู่บ้าน ยังมีอีกหลายหมู่บ้านในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาที่มีเทศกาลปีใหม่  แค่เพียงสองสามหมู่บ้านที่ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมงานปีใหม่ ดิฉันก็ได้รับความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ได้รับความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมชนชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง


 


ปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปหากมีโอกาส ดิฉันจะขอร่วมความสุขในเทศกาลปีใหม่ของพี่น้องชนชาติพันธุ์อีกครั้งค่ะ


 


ขอขอบคุณมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ