Skip to main content

อคติ 4

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วันนี้ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะขึ้นเทศน์แต่อย่างใด หากแต่ว่านึกถึงคำว่า "อคติ" ขึ้นมาได้ เพราะหมู่นี้มีคนใช้ขึ้นมาแยะ ตามที่มีเหตุการณ์ "ร้อน"  อีกทั้งเพราะต้องสอนหนังสือเรื่องของทฤษฎีสื่อสารและวิจัยเลยไม่สามารถห่างไกลจากคำเหล่านี้ไปได้  จึงขอเอาประเด็นนี้มาคุยกันสนุกๆ


 


เริ่มด้วย คำอธิบายทั่วไป อคติ มีความหมายว่า "ความลำเอียง" มี 4 อย่าง คือ (1) ฉันทาคติ เป็นความลำเอียงที่มาจากความรักใคร่ชอบพอ  (2) โทสาคติ เป็นความลำเอียงที่มาจากความเกลียดชัง ความโกรธ  (3) โมหาคติ เป็นความลำเลียงที่มาจากความหลง เขลา เบาปัญญา และ (4) ภยาคติ เป็นความลำเอียงที่มาจากความเกรงกลัวขลาด  ดังนั้น อคติ อาจมาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหรือมากกว่า


 


ในเรื่องวิชาการแล้วนั้น ตามหลักดั้งเดิมทางสังคมศาสตร์ เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะให้เกิดอคติ ในงานทางวิชาการเพราะถือว่า งานที่มีอคติไม่ว่ามากหรือน้อยถือเป็นงานที่มีการปนเปื้อน ทำให้เสื่อมถอยคุณภาพ เช่น รายงานที่บอกว่าพรรคเดโมแครตเป็นเสรีนิยมมากเกินไป แต่ผู้รายงานสรุปมาจากการที่เอามุมมองของอนุรักษ์นิยมสุดโต่งเป็นกรอบ หรือการสรุปโพลว่าคนอิสานเห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วง โดยการนำเอาคนอิสานที่มาประท้วงเป็นกลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้ไปสำรวจที่อิสานจริงๆ หรือไม่ได้ใช้จำนวนกลุ่มตัวอย่างมากพอที่จะเป็นตัวแทนคนอิสานๆ ได้จริง


 


ดังนั้น งานวิชาการแบบนี้จึงไม่ถือว่ามีคุณภาพที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม นักสังคมศาสตร์สมัยใหม่ก็ยอมรับกันว่างานวิจัยทุกอย่างหนี "อคติ" ไปไม่พ้น  โดยเริ่มมาตั้งแต่การเลือกหัวข้อวิจัย การตั้งคำถามนำวิจัย และกระบวนการหาคำตอบ จะมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับผู้วิจัยเอง ดังนั้น การนำเสนองานวิจัยท้ายสุดจึงต้องชี้แจงว่ามีข้อจำกัดอย่างไร


 


งานวิจัยทุกชิ้นไม่มีความสมบูรณ์แบบ งานวิจัยที่ดีคืองานที่ทำให้เกิดคำถามวิจัยต่อไป ไม่ใช่จบตรงนั้น ได้ผลสมบูรณ์  อันนี้คงทำให้คนหลายๆ คนที่ชอบอะไรฟันธง  เกิดปัญหาในการเรียนรู้เพราะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ไม่มั่นคง ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


 


เพราะอคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้คนเราคิดอะไรเข้าข้างตนเองได้เรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่าอนาถคือการที่ไม่สามารถยอมรับว่าตนเองมีความลำเอียง และมักใส่ร้ายคนอื่นตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงมักได้ยินการกล่าวร้ายต่อกันในสังคมบ่อยๆ


 


การชุมนุมที่ผ่านมาในสังคมไทย เป็นตัวอย่างของการเสนอความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่มีต่อรัฐบาล และได้นำเรื่องราวต่างๆ มาแฉ  ทั้งนี้หลายเรื่องได้มีผลต่อบางกลุ่มโดยเฉพาะ อีกทั้งได้ยกเอาเรื่อง "อุดมคติ" ในระบบการปกครองไทยมาอ้างเพื่อจะได้มาซึ่งความชอบธรรม ทั้งที่ "อุดมคติ" ตรงนั้นไม่ได้ต้องมายุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด แต่ก็ทำให้คนทั่วไปหลายคนยอมรับและไหลไปตามคำบอกเล่าชี้นำนั้น


 


ในขณะเดียวกันก็มีหลายกลุ่มที่เข้ามาเป็น "ผู้โดยสาร" ในการประท้วงครั้งนี้ และมีผู้คนที่สังกัดกลุ่มเหล่านี้อยู่เดิมเข้ามาสมทบโดยไม่ได้ตั้งคำถามอย่างถี่ถ้วนว่าอะไรเป็นอะไร รู้อยู่อย่างเดียวว่า จะต้องโค่นรัฐบาลให้ได้ รัฐบาลไม่ชอบธรรม นายกรัฐมนตรีเลว ต้องลาออก


 


ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มบุคคลที่ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเชื่อฝ่ายรัฐบาล หรือไม่งั้นก็ต้องเชื่อฝ่ายที่ออกมาประท้วง จะมีทางเลือกอื่นมั้ย ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน สิ่งที่น่าเสียดายคือในโลกใบนี้ ความจริงมักมีสองมุมคือใช่กับไม่ใช่ เพราะสะดวกกับการคิดแบบมนุษย์ เป็นวิธีที่มนุษย์ทั่วไปใช้ในการเรียนรู้ เช่น ถ้าเราคิดว่าไม่ตรงกับข้อมูลชุดความจริงที่เรามีอยู่  ความรู้นั้นๆ จะถูกกำจัดออกไป กลายเป็นว่า ความจริงนั่นก็คือ การที่เราจะเก็บหรือไม่เก็บไว้ในความคิดความรู้ของเรา


 


ที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งตามประสาคนเรียนวาทวิทยามาคือ เรื่องของ "ติ๊กผิด" ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลนำมาใช้ เพื่อเป็นการทำให้เกิดสร้างแนวร่วมมากขึ้น เพราะคนที่เคยเลือกพรรครัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ จะมีการแปรสภาพ (transform) มาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้โดยง่าย โดยผ่านกระบวนการ "ล้างบาป" (purification) โดยผ่านสองวิธีการ (1) การลงโทษตนเองหรือยอมรับผิด หรือ (2) การโยนบาปให้คนอื่น (victimization/scapegoating) ในกรณีนี้ผู้ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลก็จะกลายสภาพมาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ โดยบอกว่าตอนนั้นพลาดไปด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ เช่น (1) ตอนนั้นตนเองหลงผิดไป  หรือ (2) รัฐบาลหลอกลวง จึงติ๊กผิด (รัฐบาลจึงกลายเป็นแพะรับบาปไปในงานนี้)  ในที่สุดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ได้พวกเพิ่มอย่างง่ายๆ


 


การประท้วงยังไม่จบสิ้นและจะยังมีต่อในสุดสัปดาห์ต่อไป จนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกตามคำเรียกร้อง บทสรุปจึงยังไม่มี แต่ผู้ที่สนใจน่าจะต้องศึกษาให้ละเอียด และพยายามมองอย่างมีอคติน้อยที่สุด อย่าวู่วามไปตามอารมณ์ ตามวาทะของแต่ละฝ่าย


 


กระบวนการถอดถอนนายกฯ ในคราวนี้ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาวาทวิทยานอกเหนือเรื่อง "ติ๊กผิด" เช่น เรื่องการใช้สถาบันทางอุดมคติ (ideology argument) การใช้เรื่องเล่า (narrative reasoning/story telling) การใช้วาทะหักหาญกัน (dialectics) ผ่านสื่อ  และวาทะที่มาจากสถานการณ์ (situational rhetoric) ถือเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้สนใจการวิเคราะห์วาทะ ที่นานๆ จะมีเหตุการณ์แบบนี้ให้วิเคราะห์


 


กว่าจะถึงเสาร์ที่ 11 กุมภาฯ 2549 อาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยหวังว่าสังคมไทยอาจมีการรู้คิด รู้ทำ ต่อตนเองในเรื่องความเป็นมาเป็นไปในการเมืองของไทย "สติ" อาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมไทยในตอนนี้ จนกว่าจะถึงบทสรุปที่ชัดเจน


 


โปรดติดตามชมตอนต่อไป