Skip to main content

"พลังคนหนุ่มสาว" ไม่ได้หายไปไหน

คอลัมน์/ชุมชน


 


(หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.manager.co.th)


 


 "การชุมนุมกู้ชาติ 4 กุมภา" โดยการนำของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเมื่อวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ความคาดหวังให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษาแสดงพลังโดยการเข้าร่วมชุมนุมในขบวนด้วยย่อมมีแน่


 


ย้อนกลับไปเมื่อขบวนการคนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษาเบ่งบานเมื่อครั้งเหตุการณ์ตุลา 16 และตุลา 19  นั้น ถือว่าขบวนการนักศึกษาได้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการออกมาแสดงพลังโค่นเผด็จการทหาร  ซึ่งทำได้สำเร็จและได้สร้างความตื่นตัวในการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษาในเวลาต่อมา


 


ในยุคนี้ มีคำถามมากมายว่า คนหนุ่มสาวจะทำอย่างไร คนหนุ่มสาวหายไปไหน ไม่ค่อยเห็นความตื่นตัวซักเท่าไหร่ ถ้าจะตอบคำถามเหล่านี้แบบคำตอบเดียว เห็นทีผมต้องโดนตราหน้าว่าเป็นคนคิดแทนคนวัยหนุ่ม วัยสาวทั้งประเทศแน่ๆ เพราะคำตอบที่ได้นั้นมีมากมาย ตั้งแต่เห็นด้วยต่อการชุมนุมที่สุด จนถึงไม่เห็นด้วยต่อการชุมนุมที่สุด หรือบางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างนี้ก็มี


 


ประเด็นเรื่องการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญรองลงมา ที่สำคัญที่สุด คือพวกเขาเหล่านั้นได้เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้วหรือไม่ และเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกปกครองในระบบนี้จะมีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รู้ว่าการแสดงบทบาทนั้นมันจะส่งผลต่ออะไร


 


ดังนั้น ถ้าพวกเราจับ "เป้าหมาย" ให้ชัดไม่ว่าคนที่เห็นด้วยน้อยที่สุด จนถึงคนที่เห็นด้วยมากที่สุด ก็จะมี "แนวทาง" และแน่นอนว่าแนวทางของแต่ละปัจเจกบุคคลย่อมมีความแตกต่าง และหลากหลายบนพื้นฐานการเข้าใจว่าเป้าหมายของการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน สำคัญมากที่สุดอีกเรื่องคือ คนที่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นล่ะ เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างถ้วนหน้า


 


บางทีอาจมีการตีความเกิดขึ้นได้ว่า การที่คนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา ไม่ได้เข้าร่วมขบวนชุมนุมกู้ชาติ 4 กุมภา หมายความว่าขบวนการคนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษาได้ตายไปจากสังคมไทยแล้ว ถ้าจะสรุปตีความเช่นนั้นผมก็ยอมรับได้ในฐานะที่เป็นความคิดเห็นหนึ่ง แต่ไม่ควรคิดสรุปแบบเหมารวม เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายย่อมมีประวัติศาสตร์ในตัวของมันเอง


 


ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือที่นำคนไปสู่ความสนใจในเรื่องของตัวเองอย่างเดียว คือไม่ได้มีการปลูกจิตสำนึกทางสังคม (เรื่องนี้เป็นนามธรรมมาก เพราะมักจะชี้วัดไม่ได้ว่าการที่คนจะมีจิตสำนึกต่อสังคมนั้นแท้จริงแล้วควรแสดงออกมาอย่างไร)  การทำให้คนเข้าสู่วิถีแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น บางครั้งทำให้คนหนุ่มสาวในวัยเรียนออกห่างจากสังคมไป


 


เพราะฉะนั้นขบวนคนหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษาในปัจจุบันจึงมีความเป็น "ปัจเจก" มากขึ้น มีการร่วมกลุ่มแสดงพลังที่มาจากความสนใจของแต่ละคนมากกว่าการรวมแบบเป็นขบวนเหมือนอดีต แต่ก็เกิดการรวมตัวในรูปแบบต่างๆ ที่อาจมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การรวมกลุ่มเพื่อรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ รณรงค์เมาไม่ขับ รณรงค์ให้คนไม่ติดเอดส์ จัดค่ายพัฒนาทักษะ จัดอบรมสัมมนา จัดทำสื่อเผยแพร่ในชุมชน แต่ละกิจกรรมที่คนหนุ่มสาวทำนั้นเป็นการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมที่ตนเผชิญ ซึ่งมีความต่างจากขบวนการหนุ่มสาวเมื่ออดีตที่มีเป้าหมายเพื่อการล้มเผด็จการสู่ประชาธิปไตยอย่างชัดเจน


 


ตราบใดที่กระบวนการมีส่วนร่วมยังถูกตีตราว่าเป็นเรื่องของคนไม่ดี คนที่ไม่รักชาติ เป็นเรื่องของคนที่คิดขบถต่อชาติ  และความคิดฝังหัวของบางคน (ส่วนมาก) ว่า การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ถ้าเป็นเช่นนี้ การที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานในคนหนุ่มสาวคงจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะมันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งที่พวกเราจะก้าวข้ามความกลัว การถูกตีตราเหล่านั้น แน่นอนว่าหลายๆ คนไม่อยากถูกมองเป็นคนไม่ดี  ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับและชื่นชมความพยายามของผู้ใหญ่ที่พยายามผลักดันคนหนุ่มสาวให้มีบทบาททางการเมืองมากกว่าเดิม  ซึ่งเป็นไปได้แน่หากมีกระบวนการที่ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย


 


ในมุมของคนรุ่นเดียวกัน ผมคิดได้อย่างหนึ่งว่า ความคาดหวังของสังคมต่อพลังคนหนุ่มสาวอาจจะต้องคิดและกลับมาสำรวจ สภาพขบวนคนหนุ่มสาวกันเสียใหม่ด้วยเช่นกัน


 


ผมว่า การเดินไปสู่ "เป้าหมาย" เดียวกันภายใต้ "แนวทาง" ที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ และต้องให้คนหนุ่มสาวมีทางเลือกด้วยว่าจะเดินไปในแนวทางใด โดยไม่ได้ทิ้งเป้าหมายเดียวกัน อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนแรก


 


การชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อาจไม่ใช่เป็นเพียงคำตอบเดียวที่คนหนุ่มสาวจะสามารถมี "ที่ทาง" ในการแสดงออกทางการเมือง


 


แต่ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่สามารถจะร่วมทำได้ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลอีกด้านที่รัฐบาลไม่เปิดเผยให้แก่ชาวบ้านในชนบท การจัดเวทีรณรงค์ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น



 


สุดท้ายแล้วสังคมก็ต้องเปิดทางให้คนหนุ่มสาวได้มีทางเลือกในการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างหลากหลาย และเป็นไปตามขอบเขตศักยภาพและข้อมูลที่แต่ละคนมี และพร้อมที่จะเลือกทางเดินว่าจะเดินอย่างไร ดังภาพที่ปรากฏสู่สาธารณะที่อาจไม่เห็นภาพขบวนการคนหนุ่มสาวในวงใหญ่ แต่ยังมีคนหนุ่มสาวหลายคนที่เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้เหมือนกัน นั่นเพราะแต่ละคนมีทางเลือกที่จะเดินต่างกัน ตราบเท่าที่ศักยภาพของตนที่มี


 


ขณะเดียวกันเรื่องที่ขบวนคนหนุ่มสาวอาจจะต้องมีการถกคุย สรุปบทเรียนกันต่อและขยับถอยหลังออกมาอีกหนึ่งก้าวและมองสิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็นไปในปัจจุบันว่ามันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง มองว่าสภาพของขบวนเป็นอย่างไร และควรจะกำหนด "แนวทาง" ในการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เพื่อเป็นขบวนที่มีพลังมากกว่าเดิม


 


เรื่องนี้ผมและเพื่อนพันธมิตร Y We Do ขอเป็นเจ้าภาพสำหรับงานนี้ เราอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ศักยภาพของเราที่ทำได้ในเวลานี้คือการมีพื้นที่ทางสื่อ ที่จะสื่อสารความคิดของเรา 


 


อยากทราบต่อครับว่า จะมีใครมาเป็นเจ้าภาพร่วมกับเราบ้าง ขอให้แสดงตัวโดยพลันครับ!!