Skip to main content

The Review: สุข (กับสกา) กันเถอะเรา

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ผมเริ่มต้นนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ ในช่วงบ่ายของวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙...วันที่ใครหลายคนพร้อมใจไปไหว้พระรูปทรงม้ากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง J


 


ผมนั่งเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ที่บ้าน พร้อมๆ กับฟังวิทยุคลื่น ๙๗.๗๕ ของเครือผู้จัดการไปด้วย


 


ในขณะที่ผมฟังรายการอยู่ดีๆ รายการก็หยิบเพลง "หนักแผ่นดิน" มาเปิดประกอบรายการซะอย่างนั้น ซึ่งเมื่อคิดว่าเพลงนี้เคยเป็นเพลงที่ใช้ในปฏิบัติการ "ขวาพิฆาตซ้าย" เมื่อสมัยเหตุการณ์ทางการเมืองปี ๒๕๑๙ ก็ชวนให้เกิดความรู้สึกขำๆขึ้นมาว่า  เพลงๆ หนึ่งที่เคยเป็นสัญลักษณ์ในการกวาดล้างพลังทางการเมือง เมื่อเวลาผ่านไป เพลงๆ เดียวกันกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องทางการเมืองไปซะได้


 


เพลงหนึ่งเพลงที่อยู่ของมันดีๆ ก็เปลี่ยนเจตนาในเพลงได้ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป...มันแปลกดีนะ J


 


(หมายเหตุ : ข้อความข้างบนนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาใน "บ้านบรรทัดห้าเส้น" ตอนนี้แต่ประการใดครับ...ว่าแล้วก็เข้าเรื่องกันดีกว่า)


 


@#@#@#@#@


 


เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสชมการแสดงสดของทีโบน-วงดนตรีเรกเก้-สกามือวางอันดับหนึ่งของประเทศไทย ที่งาน Gift Festival ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี


 


ภาพที่ผมได้เห็นในวันนั้นคือภาพของฝูงชนขนาดความจุเต็มลานกว้างของศิลปากร (ลานที่ว่านั้นเขาเรียกว่าอะไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน...วานพี่ธง-นักข่าวชาวศิลปากรแห่ง "ประชาไท" ช่วยบอกด้วยครับ) ...คนเต็มถึงขนาดลามขึ้นไปบนรายล้อมเวทีคอนเสิร์ต (จะพูดว่าเป็นเวทีคอนเสิร์ตก็ไม่ถูกนัก เพราะจริงๆ แล้วมันคือพื้นเล่นระดับที่ถูกแปรสภาพเป็นเวทีคอนเสิร์ตเสียมากกว่า)


 


สำหรับผม...มันเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะทีโบนก็ไม่ใช่วงดนตรีระดับ "ขวัญใจวัยรุ่น" ไม่มีสื่อประโคมข่าวเขาแบบวันต่อวัน ไม่มีรายการในฟรีทีวีเปิดเพลงของเขาออกอากาศ และถึงแม้จะออกไปสร้างชื่อที่เมืองฝรั่งมังค่า [วงนี้เป็นหนึ่งในสองศิลปินไทยที่ได้เข้าร่วมเทศกาลดนตรีแกลสตันบิวรี่ (Glastonbury Festival) ที่ประเทศอังกฤษ] แต่ก็ดันถูกนักดนตรีไทยอีกคนหนึ่งขโมยซีนไปเสียฉิบ...


 


หลังจากนั้นผมก็พบกับอัลบั้ม "Enjoy Yourself"  ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดล่าสุดหลังจากที่ร้างลาการออกอัลบั้มเต็มๆ ไปเสียนาน...ผมไม่รีรอที่จะ "สอย" อัลบั้มนี้มานั่งฟังที่บ้านในทันที


 



 


งานชิ้นนี้ก็ยังคงเป็นงานในแบบเร็กเก้-สกาตามรอยของอัลบั้ม "กอด" หากแต่ว่าอัลบั้มนี้กลมกล่อมขึ้นตามเวลาและประสบการณ์ที่มากขึ้นของวงดนตรี ที่ยังคงนำด้วยสองพี่น้อง เจษฎา (แก๊ป) – นครินทร์ (กอล์ฟ) ธีระภินันท์ อยู่เช่นเดิม


 


สำหรับฝีมือทางดนตรีนั้น  เชื่อขนมกินได้เลยว่าเหนียวแน่นตามประสาวงที่อยู่ในวงการมานาน  แต่ก็ไม่ใช่ความเหนียวแน่นที่จะพาให้แน่นหน้าอกแต่ประการใด เพราะพวกเขาผสมดนตรีของเขาให้กลมกล่อม แม้กระทั่งในเพลงบรรเลง ที่เป็นของที่ไม่ถูกกับคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร พวกเขาก็ยังทำดนตรีให้สนุก ทั้งด้วยจังหวะดนตรี และรายละเอียดต่างๆ ในเพลง (เช่นเสียงโซโล่กีตาร์สไตล์จิ๊กโก๋ร็อกแอนด์โรลในเพลง "King of Trombone" หรืออย่างเสียงโห่แห่นาคในเพลง "Bongoman ออกบวช")  แถมยังมีบรรยากาศแบบทีเล่นทีจริงให้ได้เห็นในเพลง T-bone comes to Glastonburyซึ่งเดาว่าน่าจะเป็นการบันทึกเสียงเล่นๆ ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมเทศกาลดนตรีที่ว่านั่นแหละ


 


ในส่วนของเนื้อเพลงที่รับผิดชอบโดยแก๊ปทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพลงที่แม้จะฟังดูสบายพอๆ กับดนตรี แต่ในความสบายก็มีความคิดคมๆ อยู่ในนั้น


 


"จะแดง จะเหลือง จะขาว จะดำ


ก็ต่างกันเพียงผิวพรรณ


จะพูดภาษาอะไรยังไง


ก็ต่างกันเพียงถ้อยคำ


จะเขต จะแคว้น จะดิน จะแดน


ที่แบ่งแยกกันและกัน


ทั้งหมดนั้น...ก็โลกเดียว"


(เพลง "One Love วันรัก")


 


"เคยมีบางครั้ง ที่สับสนใจ


ก็ใครจะทนไหว กับสิ่งล่อใจ


จนมีบางครั้ง เสพเข้าไป...


แต่ว่าความสุดท้าย...หาความพอใจ ไม่เจอ..."


(เพลง "ปรารถนา")


 


แต่บทพี่แกจะน่ารัก ก็น่ารักได้อย่างน่าหยิกเชียว...เพราะหลังจากที่อัลบั้มที่แล้วมีเพลงอย่าง "กอด" อัลบั้มนี้ก็มีเพลงอย่างเพลงนี้ด้วย


 


"ถ้าเธอเจ็บช้ำที่ใด...ขอให้เธอบอกฉัน


ถ้าเธอปวดร้าวหัวใจ...ฉันจะคอยนวดหลัง


ให้เธอได้สบาย ผ่อนคลายในทุกลีลา


แค่เพียงต้องใช้เวลา ทำใจให้ว่างเปล่า..."


(เพลง "นวด")


 


สรุปกันง่ายๆ ว่าอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ฟังเพราะ ฟังสนุก หรือจะฟังแล้วคิดอะไรไปด้วยก็เยี่ยม และเหมาะที่สุดที่จะฟังระหว่างอ่านข่าวสนธิ-ทักษิณไปด้วย (เพราะจะทำให้จิตใจของคุณเย็นสบายขึ้นโขทีเดียว)


 


๑๐/๑๐ ครับ