Skip to main content

อ่านประวัติศาสตร์ในสายตานักบริหาร

สัปดาห์นี้ผมได้อ่านหนังสือดีซึ่งเขียนโดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้บริหารใหญ่ค่ายเซเว่น อีเลฟเว่น  ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ ชื่อ รัฐศาสตร์ถังไท่จง


 


เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถัง ในประเทศจีนเมื่อประมาณพันกว่าปีที่แล้ว ซึ่งราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์ซึ่งรุ่งโรจน์ที่สุดยุคหนึ่งของจีนไม่แพ้สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งราชวงศ์ถัง คือ หลี่ซื่อหมิง หรือถังไท่จงฮ่องเต้ ซึ่งสร้างราชวงศ์ถังให้ก้าวสู่ความเกรียงไกร


 


สิ่งที่ทำให้ถังไท่จง ฮ่องเต้เป็นจอมคนแห่งแผ่นดิน  เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้จักใช้คน ไม่ลืมตัว รู้จักกระจายอำนาจ นอบน้อมถ่อมตน และตระหนักในอำนาจของราษฎร


 


ถังไท่จงฮ่องเต้ทรงมีพระจริยวัตรเป็นที่ศรัทธาของข้าราชบริพาร และปวงประชาทั่วแผ่นดิน  สายพินแม้ขึงจนตึง แต่เมื่อผ่านกาลเวลาไปช่วงหนึ่ง สายก็เริ่มหย่อนยาน  จักรพรรดิถังไท่จงก็เช่นเดียวกับสายพิน ที่ทรงหย่อนในปฏิภาณและไม่ดำรงพระองค์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย


 


เว่ยเจิง  ขุนนางคนสำคัญที่เป็นคนซึ่งกล้าคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ฮ่องเต้ทรงทำไม่ถูกต้อง ได้เสี่ยงตายเขียนฎีกา ๑๐ ข้อเพื่อให้ฮ่องเต้ทรงกลับมามีสติเช่นเดิมดังนี้


 


๑. ฝ่าบาทในช่วงต้นเถลิงศก ทรงควบคุมความทะยานอยากใช้ชีวิตอย่างสมถะ ราษฎรทั้งแผ่นดินถือเป็นแบบอย่างอันดีงาม มาบัดนี้ความดีนี้ค่อยๆ ลดลง  ฝ่าบาทได้ส่งคนไปซื้ออาชาพันธุ์ดียังดินแดนไกลนับหมื่นลี้ ไปซื้อเพชรนิลจินดาต่างประเทศ ให้เป็นที่เย้ยหยันไยไพของคนเดินถนน นี่คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายหนึ่ง


 


๒. อดีตฝ่าบาทปฏิบัติต่อราษฎรเหมือนคนไข้ พระองค์ทรงเวทนาสงสารผู้ตกทุกข์ ถนอมรักราษฎรดุจราชโอรส จะทำสิ่งใดก็คำนึงถึงความประหยัดมัธยัสถ์ แต่หลายปีมานี้ฝ่าบาททรงฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เอาใจตัวเอง  นี่คือความไม่เสมอตันเสมอปลายประการที่สอง


 


๓. ในอดีตฝ่าบาททรงสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อราษฎร แต่ทุกวันนี้ฝ่าบาททรงมัวเมาสุรานารี ทำให้ราษฎรเดือดร้อน นิสัยถ่อมตัวประหยัดมัธยัสถ์ลดน้อยลง ความคิดยโสโอหังฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยนับวันมากขึ้น


          


แม้ฝ่าบาทจะตรัสว่าห่วงใยความทุกข์ร้อนของราษฎรไม่ขาดปาก แต่ในพระทัยนั้นดำริแต่เรื่องหาความสำราญ บางครั้งดำริสร้างปราสาทราชมณเฑียร แต่เกรงว่าคนจะทัดทาน ก็จะตรัสว่า "จำเป็นต้องสร้างเพราะข้าไม่สบายอิริยาบถเลย"  ขุนนางผู้ใดจะกล้าทูลทัดทานอีก? นี่เป็นการปิดปากขุนนางทางอ้อมและเป็นความไม่เสมอตันเสมอปลายประการที่สาม


 


๔. ในอดีตฝ่าบาททรงใกล้ชิดกับบัณฑิต หลีกห่างคนพาล มาบัดนี้ฝ่าบาททรงเปลี่ยนไปทรงดูหลีกห่างบัณฑิต และคลุกคลีกับคนพาล คบคนพาลย่อมมิใช่มรรควิธีแห่งการปกครอง   หรือว่าการหลีกห่างจากบัณฑิตคือวิถีแห่งความรุ่งเรือง? นี่คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายประการที่สี่


 


๕. ในอดีตฝ่าบาททรงเอาเยี่ยงอย่างเมธีปราชญ์  ทิ้งเพชรนิลจินดา ใช้ชีวิตสมถะ แต่หลายปีมานี้ฝ่าบาทชอบสะสมของมีค่าหายาก ถ้าได้ยินว่าที่ใดมีของวิเศษ แม้ว่าจะอยู่ไกลเพียงใดฝ่าบาทก็จะต้องหามาครอบครอง ถ้าเบื้องบนฟุ้งเฟ้อ เบื้องล่างจะประหยัดมัธยัสถ์ได้อย่างไร นี่คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายประการที่ห้า


 


๖. ในอดีต ฝ่าบาทแสวงหาปราชญ์อย่างกระหาย แต่หลายปีมานี้ฝ่าบาทเอาแต่อารมณ์ บางครั้งจะเลือกส่งเสริมผู้ใด ถ้ามีคนใส่ร้ายป้ายสี ฝ่าบาทก็หลงเชื่อ บางครั้งฝ่าบาทระแวงผู้ใด ก็จะห่างเหิน ไม่ยกเว้นแม้ขุนนางที่ซื่อสัตย์มานาน คนพาลมักจะประจบประแจงเอาผลประโยชน์ส่วนตน  หากฝ่าบาทไม่ใคร่ครวญให้รอบคอบ วินิจฉัยผิดโดยพิจารณาจากเปลือกนอก บัณฑิตก็จะเอาใจออกห่าง คนพาลนับวันจะลิงโลด เสนาอำมาตย์จะเอาตัวรอดไม่ภักดีอย่างสุดใน นี่คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายประการที่หก


 


๗. ครั้งขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ฝ่าบาททรงเล็งการณ์ไกล แสวงหาวิเวกธรรม จิตใจไร้มลภาวะ ในวังไร้อุปกรณ์ล่าสัตว์ นอกวังไร้อุปกรณ์ล่าสัตว์ แต่หลายปีมานี้ ฝ่าบาททรงหย่อนคลายปณิธาน หัวเมืองรอบนอกต่างนำเหยี่ยวและสุนัขมาถวายเป็นบรรณาการ  ฝ่าบาททรงเกษมสำราญกับการควบคุมพาหนะ ประมาทอุบัติภัย นี่คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายประการที่เจ็ด


 


๘. ครั้งขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ฝ่าบาทสุภาพอ่อนน้อมต่อข้าราชบริพารอย่างยิ่ง พระมหากรุณาธิคุณจึงปกแผ่ข้าราชบริพารโดยถ้วนทั่ว ข้าราชบริพารก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กษัตริย์และขุนนางจึงมีสัมพันธภาพแนบแน่น ร่วมแรงร่วมใจรับใช้บ้านเมือง แต่หลายปีมานี้ฝ่าบาททรงละเลยปัญหานี้ บางครั้งข้าหลวงหัวเมืองห่างไกลเข้าวังถวายหนังสือสำคัญ กราบทูลสิ่งที่พบเห็น แต่ฝ่าบาทกลับนิ่งเฉย ข้าหลวงทูลขอร้องฝ่าบาทก็ไม่แผ่พระคุณอนุมัติ ซ้ำร้ายยังจับผิด สอบสวนเรื่องปลีกย่อย หากเป็นเช่นนี้กษัตริย์กับขุนนางจะมีสัมพันธภาพแนบแน่นได้หรือ นี้คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายประการที่แปด


 


๙. ในอดีตฝ่าบาทบากบั่น หมั่นเพียร นอบน้อมถ่อมใจ แต่หลายปีมานี้ ฝ่าบาทเริ่มยะโสทะนงตน ทำตามอารมณ์ หลงระเริงตนเองคิดว่าฉลาดปราดเปรื่อง มองใครไม่ขึ้น บริพารใกล้ชิดเอาแต่สนองคำบัญชา ไม่ออกความเห็น  บริพารห่างเหินก็เกรงพระอาญา ไม่กล้าทูลทัดทาน นี่คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายประการที่เก้า


 


๑๐. กษัตริย์ในอดีตแม้เกิดทุพภิกขภัย แต่ราษฎรก็ยกย่องคุณธรรมปราชญ์ของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์ปฏิบัติราชธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ปกครองแผ่นดินโดยไร้กิเลสตัณหา เมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็เอาใจใส่ความทุกข์ยากของราษฎร หมั่นดูแลราชกิจการบ้านเมือง  แต่หลายปีมานี้ราษฎรถูกเกณฑ์แรงงานไม่เคยขาด โดยเฉพาะราษฎรในด่านทุกข์ยากเดือดร้อนยิ่ง คนงานนายช่างที่ครบเกณฑ์แล้วต้องอยู่รับจ้างขุนนางราชสำนัก เมื่อนโยบายผิดพลาดราษฎรก็เดือดร้อน หากประสบภัยธรรมชาติ เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ราษฎรก็จะไม่จงรักภักดีอย่างเก่าก่อน นี่คือความไม่เสมอต้นเสมอปลายประการที่สิบ


 


หลังจากอ่านฎีกา ๑๐ ข้อจบ ถังไท่จงเสมือนถูกไม้หน้าสามตีแสกพระพักตร์ แม้จะเจ็บปวด แต่ก็ทำให้ได้สติ ไม่เพียงแต่ไม่ลงโทษเว่ยเจิง แต่ยังรับปรับปรุงพระองค์เป็นการใหญ่


 


ผมอยากเชิญชวนท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้อ่านด้วยเพราะคนใกล้ชิดที่กล้าหาญอย่างเว่ยเจิงไม่ได้หาได้ง่ายนักในปัจจุบัน