Skip to main content

คบเด็กสร้างบ้าน สานฝันกับลูกหลานไทย

คอลัมน์/ชุมชน


 


เด็กน้อยหน้าตาแป๋วแหววไร้เดียงสาในชุดประจำเผ่าของตน  ทั้งหญิงและชายมาแสดงดนตรี และเต้นรำพื้นเมืองให้ผู้ใหญ่ได้ชื่นชม ก่อนการเริ่มอบรมโครงการส่งเสริมประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วม ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่    กุมภาพันธ์  ๒๕๔๙  โดยเชิญสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงรายไปเป็นวิทยากร


 


พลตำรวจเอกวิรุฬห์  พื้นแสน กับดิฉันไปถึงโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จันสักเก้าโมงเช้า ขึ้นไปที่หอประชุมใหญ่  ซึ่งชั้นล่างเป็นโรงอาหารเปิดโล่ง  หอประชุมใหญ่ก็เป็นอาคารเปิด ไม่ใช้ เครื่องปรับอากาศ  ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานมากเกินไป


 



 


นั่งคุยกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบจัดงานได้สักครู่ นักเรียนชั้นมัธยมปลายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ของการอบรมวันนี้ ก็ทยอยเข้ามาในห้องประชุมกันครบ อาจารย์ผู้ดำเนินรายการเชิญอาจารย์ วิไลวรรณ พิรยะกฤต ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดอบรม  แล้วเชิญ สว.พลตำรวจเอกวิรุฬห์   พื้นแสน กล่าวเปิดงาน 


 


จากนั้นนักเรียนซึ่งมีทั้งหมด  ๑๑  ชาติพันธุ์ คือ อาข่า  ม้ง  เย้า มูเซอ  ลีซอ  ไทยใหญ่  ไทยลื้อ กะเหรี่ยง จีนฮ่อ ขมุ ลั๊วะ ก็ได้มาแสดงดนตรีและการเต้นรำประจำเผ่า พร้อมทั้งแนะนำตัวว่า ตนเองเป็นเผ่าอะไร


 


จุดเด่นของงาน คือ โฆษกคู่หญิงชายซึ่งแต่งชุดประจำเผ่า  ฝ่ายชายร่างสูงโปร่งแต่งชุดม้ง ถือแคนน้ำเต้า กับฝ่ายหญิงแต่งชุดมูเซอดำ เด็กผู้ชายตัวน้อยสัก ๔ – ๕ คน เป็นกลุ่ม โชว์การ เป่าแคนน้ำเต้า  ส่วนเด็กผู้หญิงโชว์การเต้นรำแบบอาข่า  ม้ง  ลาหู่  ลีซู เป็นแบบสหประชาชาติ  ทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส  ดูมีความสุข  ความเบิกบาน


 


การแสดงชุดสุดท้ายที่ดิฉันทึ่งที่สุด คือ การเป่าแคนของม้ง  ซึ่งเป็นแคนน้ำเต้าที่มีลำไม้ไผ่ เรียวยาวโค้ง เป็นแถว เป็นการแสดงเดี่ยวของนักเรียนชายคนที่เป็นโฆษก ท่วงท่างดงาม  ทั้งการโยกตัว นั่งสลับเท้าไขว้กัน แต่ที่ดิฉันเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก คือ การตีลังกา หกคะเมน ในท่วงท่าต่างๆ โดยที่ยังเป่าแคนอยู่ด้วยตลอดเวลา แสดงถึงสภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความยืดหยุ่น มีสติ มีสมาธิมั่นคง ผ่านการฝึกฝนด้วยความรัก ความศรัทธาในศิลปวัฒนธรรม อย่างต่อเนื่อง


 


          


 


ดูการแสดงของนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จันแล้ว ดิฉันคิดถึงการสืบสานศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น  ทั้งของชาติพันธุ์บนดอยและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั่วโลก  ซึ่งอยู่ในภาวะ ที่น่าเป็นห่วง เพราะกระแสโลกาภิวัฒน์กับบริโภคนิยมได้แผ่ขยายไปถึงชุมชนต่าง ๆ  ประดุจ กระแสน้ำที่เชี่ยวกราก  พัดพาวัฒนธรรมอันหลากหลายออกไปสู่ทะเล มหาสมุทร ต้องสร้าง ปราการธรรมชาติ ให้บ้าน ชุมชน วัด โรงเรียน ร่วมเป็นแหล่งพัฒนาและสืบทอดภูมิปัญญา ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง


 


ปีใหม่ชาวดอยปีนี้  ดิฉันได้ไปร่วมงานที่หมู่บ้านชาวลีซู  ลาหู่  จีนฮ่อ  แห่งลุ่มน้ำแม่จัน  แม่สลองหลายแห่ง คุยกับผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กหนุ่มสาว  มีความห่วงใยว่า ผู้ที่เป่าแคน เล่นซึง และร้องเพลงแบบดั้งเดิมได้ (ซึ่งจะช่วยให้วงเต้นรำคึกคัก มีชีวิตชีวา) มีจำนวนน้อยลง  เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจจะเรียนดนตรีท้องถิ่น  ทั้งยังไม่ค่อยอยากแต่งชุดประจำเผ่า วงเต้นรำ บางหมู่บ้าน จึงไม่สวยงามด้วยชุดประจำเผ่าสีสันสดใส ซึ่งต้องเย็บ ปัก ทอ ด้วยฝีมืออันปราณีต  ด้วยใจรัก และต้องใช้เวลา  แต่ก็ยังดีที่วัยรุ่นมาร่วมเต้นรำเป็นหมู่ในวงใหญ่ แม้จะใส่เสื้อผ้า แบบชาวพื้นราบทั่วไป  ซึ่งหาซื้อง่ายและราคาถูกก็ตาม


 


ชมการแสดงทางวัฒนธรรมแล้ว นักเรียนแสดงละครการเมืองบนเวทีรณรงค์ให้เพื่อนๆ เข้าใจความสำคัญของวุฒิสภา และเชิญชวนไปเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งนักเรียนแสดงได้ดี มีทั้งมุกขำขัน ทำให้เพื่อนหัวเราะกันลั่นห้อง พร้อมทั้งข้อมูลทางวิชาการ ที่ไม่ผิดพลาด


 


ช่วงการอภิปราย เรื่องระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตย รัฐสภา สิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ ของประชาชนชาวไทย รวมทั้งการซักถามของนักเรียน ซึ่งท่าน สว.พลตำรวจเอกวิรุฬห์   พื้นแสน และดิฉันร่วมกันคุยกับนักเรียนด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง


 


คำถามส่วนใหญ่ของนักเรียน คือ ปัหาสิทธิและสถานะบุคคล นักเรียนชาวไทยใหญ่ จากบ้านเทอดไทยและบ้านหินแตกถามว่า "ตนเองเป็นชาวไทยใหญ่ ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ อำเภอว่าไม่อยู่ข่าย ๙ เผ่า ที่จะให้สัญชาติได้ จะแก้ปัญหาอย่างไร"


 


บางคนถามว่า "ตนยังไม่ได้สัญชาติไทย เมื่อเดินทางผ่านด่านตรวจ ถูกตำรวจเรียก เมื่อพบว่า ไม่มีบัตรประชาชนก็ไล่ลงจากรถ"  เช่น ที่ด่าน อ.แม่จัน ด่านกิ่วสะไต ที่เป็นเขตแดน ระหว่างอ.แม่จัน จ.เชียงราย และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ทั้งครูและนักเรียนเสียใจกับการ จำกัดสิทธิในการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง


 


นักเรียนที่มีมอเตอร์ไซค์ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ เพราะไม่มีสัญชาติ เมื่อเดินทางผ่าน  ด่านตรวจ ก็ต้องถูกปรับ ถูกสกัดไม่ให้เดินทาง เป็นความอึดอัดใจที่ยังหาทางออกไม่ได้


 


พลตำรวจเอกวิรุฬห์เสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงมหาดไทย ควรร่วมกัน แก้ไขปัญหา โดยออกบัตรนักเรียน นักศึกษา ใช้แสดงตนอย่างเป็นทางการ เพื่อแก้ไขปัญหา การจำกัดสิทธิในการเดินทาง และการทำใบขับขี่ยานยนต์ ซึ่งดิฉันเห็นด้วย เพราะรัฐบาล ประกาศยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสิทธิ สถานะบุคคล โดยมีมติ ครม.รองรับถึง ๒ ครั้ง เมื่อ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ และ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ เมื่อพบปัญหา ทางปฏิบัติก็ควรเร่งแก้ไข


 


นอกจากนี้ ลูกของผู้ที่ได้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย ซึ่งต้องขอมีสัญชาติไทย ตามมาตรา ๗ ทวิ ของ พ..บ.สัญชาติ คำร้องกองรอพิจารณาอยู่ที่จังหวัด และกระทรวง มหาดไทยไม่น้อยกว่า ๓๐,๐๐๐ ราย เมื่อไรท่าน มท. ๑ (พลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา) ซึ่งทำดีแล้ว ด้วยการอนุมัติให้สัญชาติถึง ๑๓,๐๐๐  ราย จึงจะมอบอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทำการแทน เพราะเด็กเหล่านี้เกิดในประเทศไทย เป็นลูกหลานของผู้ใหญ่ ทุกคนในแผ่นดิน ควรให้เขาได้สิทธิความเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์ จะได้ทำหน้าที่ในอนาคต ที่เป็นความหวังของสังคมได้โดยไม่มีอุปสรรคขวางกั้น


 


ขอให้ความฝันของลูกหลานไทยจากชาติพันธุ์ต่างๆ ได้บรรลุผลโดยเร็ว สมดังเจตนารมณ์ ของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสิทธิ  สถานะบุคคล


 


ปิดท้ายด้วยบทสัมภาษณ์น้องเม่ง มือแคน ม้งคนเก่ง โดยคุณผ่องพรรณ  ตันกุละ ดังนี้ค่ะ


 "นายเม่ง แซ่เฮ้อ อายุ ๒๐ ปี หนุ่มนักเรียนม้งชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ของโรงเรียนศึกษา สงเคราะห์แม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นบุตรของนายหวังเน้ง แซ่เฮ้อ กับนางต่ง แซ่เฮ้อ  มีพี่น้องทั้งหมด ๒ คน พี่ชายคนโตชื่อนายลีตัว แซ่เฮ้อ อายุ ๒๒ ปี กำลังศึกษาอยู่ระดับ ปริญญาตรี ปีที่ ๑ โปรแกรมวิชา ภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงราย น้องชายคนเล็กชื่อ เมธาสิทธิ์ แซ่เฮ้อ บ้านของเม่งอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๐๑ หมู่ ๑๒ หมู่บ้านแผ่นดินทอง ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย


 


เม่งได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเป่าแคน และรำแคนให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ เม่งได้ตาม พ่อไปงานศพ ได้เห็นพ่อเป่าแคน ตนเองนั่งฟัง และนั่งดูพ่อ พอบ่อยครั้งเข้าเริ่มที่จะจำ เนื้อเพลงได้ วันหนึ่งจึงหยิบแคนที่พ่อวางไว้มาลองเป่า พ่อได้ยินเสียงแคนเห็นว่าลูก มีแววจะเป่าได้จึงถามลูกชายว่า สนใจที่จะเรียนเป่าแคนและรำแคนไหม เม่งและพี่ชาย จึงตอบพ่อไปว่าสนใจเรียน พ่อจึงไปซื้อแคนมาให้คนละตัว


 


นับตั้งแต่นั้นมาก็ได้ฝึกฝนมาโดยตลอด โดยเริ่มฝึกจากการเต้นท่าต่าง ๆ ก่อน แล้วตามด้วยการ เป่าแคน ซึ่งเนื้อเพลงเป็นภาษาม้งทั้งหมด เม่งบอกว่าในหมู่บ้าน มีเพียงตนและพี่ชาย เท่านั้นที่รำแคนได้ รุ่นน้องๆ ไม่มีใครเล่นได้ มีเพียงผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกันกับพ่อ อีกไม่กี่คน ซึ่งผู้ใหญ่จะเป่าแคนเฉพาะเวลามีพิธีกรรม เช่น งานศพ ส่วนเด็กหนุ่ม จะเป่าและรำแคนในงานรื่นเริง เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ของชนเผ่าม้ง ซึ่งจะอยู่ระหว่าง ปลายเดือนธันวาคม ถึง มกราคม ของทุกปี


 


ตอนที่เม่งเรียนอยู่ชั้น ป.๕ ผู้ใหญ่บ้านแผ่นดินทอง คือ นายสุรเดช จรูลสกุลวงศ์ ได้พาเม่ง พี่ชาย และอา ชื่อนายไทย แซ่ซ้ง ไปแสดงรำแคนที่สนามเทศบาลนครเชียงใหม่ งานเทอด พระเกียรติในหลวงพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา โดยบอกว่าเป็นตัวแทนพี่น้องม้งจากจังหวัด เชียงราย พอไปถึงเชียงใหม่ก็ได้ไปพบกับพี่น้องม้งจาก จ.ตาก จ.เพชรบูรณ์ จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.สระบุรี รวมทั้งหมด ๗๒ คน ชาวม้งทั้ง ๗๒ คน ได้แสดงรำแคนม้งถวาย ในหลวง มีการถวายแคนม้ง(เต้ง) ซึ่งทำจากเงินทั้งหมด มีผู้แทนพระองค์มารับมอบ


 


บรรยากาศงานตอนกลางคืน มีการประกวดร้องเพลงม้ง แข่งขันตีลูกข่าง แข่งขันตีหน้าไม้ เป่าแคน  ในการแข่งเป่าและรำแคนนั้นมีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ๓๐ กว่าคน จากจำนวนทั้งหมด ๗๒ คน โดยเริ่มแสดงท่าเต้นประกอบกับการเป่าแคน ทีละคน จนครบทั้ง ๓๐ กว่าคน จึงประกาศผล เม่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ของรางวัลที่เม่งได้รับ คือ ถ้วยรางวัลและสร้อยคอทองคำอีกหนึ่งเส้น


 


เม่งได้มอบของรางวัลทั้งหมดให้พ่อเมื่อกลับมาถึงที่บ้าน เม่งได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียน ศึกษาสงเคราะห์แม่จัน ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  ภาคเรียนที่ ๒ จนกระทั่งปัจจจุบัน รวม ๒ ปีแล้ว เม่งบอกว่าเป็นโอกาสดีมากที่ได้มาใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์อื่นๆ ในรั้วของ โรงเรียน ได้มีการเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชนเผ่า ปรับตัวให้เข้ากับคนทุกกลุ่ม มีความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน


 


เม่งมีโอกาสไปแสดงความสามารถในการรำแคนหลายครั้ง ในนามตัวแทนของโรงเรียน ในฐานะหนุ่มนักเรียนม้ง ซึ่งทุกครั้งที่แสดง เม่งจะแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ภูมิใจที่ได้ให้คนในสังคมมีโอกาสเห็น วัฒนธรรมของชนเผ่าของตน ซึ่งเม่งมีความภาคภูมิใจมาก ที่ตนเองเป็นหนึ่งในเยาวชนชาติพันธุ์ ที่มีส่วนอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำเผ่าของตนไว้ให้ดำรงอยู่ สืบต่อไป


 


เม่งได้ถ่ายทอดความรู้ในการเป่าแคนและรำแคนให้กับรุ่นน้องเผ่าเดียวกันอีกหลายคน แม้ว่าการฝึกฝนจะยาก แต่น้องๆ ก็ให้ความสนใจและตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่ จนสามารถ ไปแสดงในงานต่างๆ พร้อมกับเม่งได้


 


เม่งทิ้งท้ายไว้กับเราว่า เม่งจะสืบทอดการรำแคนและเป่าแคน ให้กับรุ่นน้องทุกคนที่สนใจจะ เรียนรู้ จะเป็นตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะร่วมใจกันอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรม อันมีคุณค่า ไม่ให้จางหายไปจากชาติพันธุ์และดำรงอยู่ในแผ่นดินไทยสืบไป"


 


* ขอขอบคุณมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ