Skip to main content

กองทุน "บำเหน็จบำนาญแห่งชาติ" หลักประกันยามแก่ชรา

คอลัมน์/ชุมชน

ได้ยินกระทรวงการคลังออกมาบอกเรื่องการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ก็รู้สึกดีใจว่านี่คือการเตรียมการสร้างสุขภาวะสำหรับอนาคตอย่างแท้จริงสำหรับคนไทย เห็นรายละเอียดว่าเป็นกองทุนสำหรับผู้มีรายได้ หรือมีงานประจำทำ แล้วจ่ายเข้ากองทุนเป็นการออมเพื่อมีเงินใช้จ่ายยามชราภาพ โดยออมในเวลาที่ยังทำงานได้อยู่  นับเป็นการพยายามดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตอนาคตของประชาชนที่มีรายได้แน่นอน รายได้ประจำ หรือรายได้ค่อนข้างประจำในปัจจุบัน เพื่อสะสมเงินออมส่วนของตนเองบวกกับส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบ เพื่อเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเกษียณอายุการทำงาน เมื่ออายุ 55 ปีหรือ 60 ปี


 


แต่ก็ยังมีความกังวลใจว่า คนที่มีรายได้ประจำเท่านั้นหรือที่จะมีโอกาสสะสมทุนเพื่อการใช้จ่ายยามชราภาพ  สำหรับคนที่ยากจน ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ต่ำที่ไม่พอแม้แต่ที่จะดำรงชีวิตในปัจจุบันอย่างมีคุณภาพ ย่อมไม่อาจได้รับประโยชน์จากกองทุนสะสมเพื่อ "บำเหน็จบำนาญแห่งชาติ" (บำนาญหมายความว่า เงินตอบแทนที่ได้ทำงานมาเป็นเวลานาน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนจนตลอดชีวิตเมื่อออกจากงาน, โบราณใช้ว่าเบี้ยบำนาญ คำอธิบายจากพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน)


 


ลักษณะเช่นนี้มีปรากฏการดำเนินการอยู่บ้างแล้วแบบบังคับต้องทำในองค์กรภาครัฐคือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และการออมแบบสมัครใจในรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มีกฎหมายรับรองให้องค์กร หน่วยงาน บริษัท ที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐดำเนินการบนความสมัครใจร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 


 


สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติจะเป็นการเปิดการออมภาคบังคับเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากของภาครัฐกองทุน กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคเอกชน  เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานทั้งประเทศให้มีเงินใช้จ่ายยามชราภาพอย่างพอเพียง อย่างน้อยต้องมากกว่าร้อยละห้าสิบของเงินเดือนๆ สุดท้าย


 


ส่วนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีรายได้ มีรายได้ไม่แน่นอน ในส่วนนี้เป็นกลุ่มที่นอกเหนือจากการเข้าร่วมในกองทุนแบบการออมได้ ดังนั้นรัฐต้องมีนโยบายสาธารณะที่จะดูแลคนเหล่านี้ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีในยามชราภาพเช่นเดียวกันด้วย ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นในรูปของการสงเคราะห์อย่างในปัจจุบันที่ใช้รูปแบบ "เบี้ยยังชีพ"  สำหรับคนชรา คนพิการ เดือนละ 300 บาทและมีจำนวนจำกัด ที่ทำให้ต้องมีการคัดกรองว่าใครคือคนจนจริงๆ ใครคือผู้ด้อยโอกาสจริง ซึ่งมักจะมีปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะคัดเลือกกันอย่างไร ในหมู่คนจนด้วยกันว่าควรเป็นใคร และใครควรทำหน้าที่คัดเลือกที่เป็นกลาง ไม่เอาเครือญาติหรือคนใกล้ชิดตนเองดังที่เห็นกันอยู่ในหมู่บ้านที่เครือญาติของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือสมาชิก อบต. (องค์กรบริหารส่วนตำบล) มักได้รับการคัดเลือก


 


ประเด็นที่สำคัญคือ ทุกคนที่ชราภาพควรได้มีโอกาสมีเงินบำเหน็จบำนาญในจำนวนที่เหมาะสม โดยรัฐรับประกันจำนวนที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำต่อเดือน ไม่ใช่แค่ 300 บาทต่อเดือนที่ไม่เพียงพอในการนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย


 


คำถามว่า รัฐจะนำเงินจากไหนมา ก็ต้องเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้จากภาษีของทุกคน ที่รัฐต้องนำมาดำเนินการเป็นนโยบายสาธารณะทางสังคม ควบคู่ไปกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพราะรายได้จำนวนมากของประเทศมาจากการกดขี่ค่าแรงคนจน การใช้ทรัพยากรที่เป็นของชาติแต่เอาไปให้ประโยชน์กับบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งหรือผู้เล่นหุ้นในตลาดหุ้น ดังนั้น รัฐต้องสร้างสมดุลให้กับคนที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ด้วย โดยมิอาจปฏิเสธได้ว่าไม่มีเงิน