Skip to main content

ทุทรรศนะทางการเมืองของม็อบ

คอลัมน์/ชุมชน


 


1.ทุทรรศนะของคำว่าประชาชน


 


ผมออกจะไม่เห็นด้วยที่ม็อบชอบอ้างคำว่า "ประชาชน" อย่าง "เลื่อนลอย" ไม่ว่าม็อบนั้นจะเป็นกลุ่มของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หรือเป็นม็อบของเอ็นจีโอที่เล็งเห็นความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ผมคิดว่าทุกวันนี้การอ้างคำว่าประชาชนควรจะมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเพราะการอ้างประชาชนมันเป็นการพูดแทนประชาชนคนอื่นๆ ทั้งประเทศ ซึ่งเอ็นจีโอที่รอบคอบหรือนักข่าวที่รอบคอบหรือนักการเมืองที่รอบคอบหรือนักประท้วงที่รอบคอบ "ไม่ควรทำ"


 


ผมรับไม่ค่อยได้นักที่พวกม็อบใช้คำว่า "ประชาชน" เป็น "เครื่องมือ" ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องกดดันนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้


 


การเผชิญหน้าและการประท้วงที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ผมอยากจะเสนอว่าไม่ใช่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับรัฐบาลของคุณทักษิณ  ชินวัตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ "ตื้น" เกินไป  แต่มันเป็นการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันเองที่มีจุดยืนหรือรสนิยมทางการเมืองแตกต่างกัน  ดังนั้นก็หมายความต่อไปว่าเราไม่ควรด่วนตัดสินทางจริยธรรมว่าม็อบเป็นพวกที่คิดเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาธิปไตย (ดังที่อมธ.และนักศึกษาบางส่วนอ้างอย่างเต็มปาก) ในขณะที่คนอื่นถูกรัฐบาลครอบงำและคิดเพื่อตนเอง


 


คำว่า "ประชาชน" ไม่ได้แปลว่า สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลหรือกับนายกรัฐมนตรี  เอ็นจีโอและคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ควรจะเอ่ยคำนี้อย่างระมัดระวังเพราะจะว่าไป ทักษิณ ชินวัตรก็คือประชาชนคนหนึ่ง เราท่านไม่ว่าจะชอบม็อบหรือไม่ก็ตามก็ล้วนเป็นประชาชนคนหนึ่ง


 


วันก่อน ผมเห็นป้ายผ้าใกล้ๆ ท่าพระจันทร์ ที่ไม่ระบุกลุ่มผู้เขียน มีข้อความปรากฏว่า "น่าสงสารทักษิณ โดนคนถ่อยกลั่นแกล้ง" นี่เป็นข้อความที่ชี้ให้เห็นว่ามี "ประชาชน" จำนวนหนึ่งที่สนับสนุนและไม่คิดว่านายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ (สมาชิกวุฒิสภาบางท่านที่ไม่ชอบนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร อย่างหน้ามืดตามัวอาจแย้งแบบสูตรสำเร็จอย่างที่พูดอยู่บ่อยๆ ว่า "ข้อความนี้ถูกเขียนโดยคนของรัฐบาล" ช่างน่าเห็นใจในความมืดบอดของสมาชิกวุฒิสภาท่านนี้จริงๆ)


 


คำว่า "ประชาชน" เปลี่ยนความหมายไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย และไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันในปัจจุบัน ดังนั้น จึงมี "ประชาชน" คนขับแท็กซี่แจ้งความคุณสนธิ  และมี "ประชาชน" ที่เป็นข้าราชครูบางส่วนสนับสนุนคุณสนธิและม็อบ


 


2. ทุทรรศนะของความเข้าใจเกี่ยวกับการเมือง


           


ลำพังเรื่องจริยธรรมตลอดจนศีลธรรมไม่เพียงพอแน่ๆ ที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องคนดีหรือคนชั่ว  ไม่ใช่เรื่องควรทำ ไม่ควรทำ  เพราะถ้าการเมืองเป็นเรื่องดีชั่วแล้วก็สมควรอย่างยิ่งที่จะให้พระภิกษุสงฆ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีปกครองประเทศ ส่วนประชาชนก็ไปลงคะแนนเสียงเลือกพระภิกษุสงฆ์รูปที่คิดว่าดีที่สุด แล้วพวกองค์กรกลางก็ไม่จำเป็นต้องมี  ความดีหรือศีลธรรมของพระสงฆ์จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ นานาได้


 


ถ้าคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่ฝักฝ่ายและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่รุมเข้ามากดดันเรียกร้องให้รัฐบาลแบ่งทรัพยากรและงบประมาณให้แก่กลุ่มตนเองดังที่เรียกร้อง ก็อาจเข้าใจม็อบที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมาและพาให้ม็อบลดความน่าสนใจลงมาก


เพราะมันกลายเป็นว่าม็อบคือการต่อรองเท่านั้นเอง โดยอาจมีกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มกดดัน นักล็อบบี้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวด้วย และแน่นอนว่าไม่เกี่ยวอะไรกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการเห็นอกเห็นใจคนเล็กคนน้อย  ดังนั้น ความคิดที่ว่าการเข้าร่วมม็อบหรือการลงชื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีเป็นการทำเพื่อส่วนรวม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามทำเพื่อตัวเองเป็นความคิดที่คงจะไม่ถูกต้อง


 


3. ทุทรรศนะเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักการเมืองและพ่อค้า


 


การที่รัฐบาลกีดขวางทางร่ำรวยของพ่อค้า กระฎุมพี หรือไม่เอื้ออำนวยให้พ่อค้า กระฎุมพีได้ร่ำรวยเต็มที่ดังที่ต้องการ ก็เป็นสาเหตุของม็อบได้ไม่แพ้ม็อบที่เกิดขึ้นเพราะความอดอยากยากแค้นของคนชั้นล่าง และคุณสนธิ  ลิ้มทองกุลก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้


 


เมื่อผมได้ฟังนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งพูดถึง "กลโกง" ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนักวิชาการท่านนั้นพูดได้ดีมากและผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านพูดนั้นจริง อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้รู้สึกตกอกตกใจอะไรเลยแม้แต่น้อยกับกลยุทธ์การโกงอันซับซ้อนเหนือชั้นของนักการเมืองและ/หรือของพ่อค้าซึ่งในกรณีนี้คือนายกรัฐมนตรี ยิ่งเรื่องการซุกหุ้นเลี่ยงภาษีนั้นกระจอกเล็กน้อยมากสำหรับผม  


 


ที่ไม่ได้รู้สึกแปลกประหลาดใจต่อการโกงของพ่อค้า และ/หรือนักการเมืองก็เพราะว่านี่มันเป็น "จารีตปฏิบัติ" ที่เข้าใจว่าเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีหรืออาจยาวนานกว่านั้น การขูดรีดเอาเปรียบลูกค้า การดูดซับส่วนเกิน การหาทางทำกำไรสูงสุดของพ่อค้าเป็นเรื่องทำกันมานานแล้ว การเลี่ยงภาษีไม่ใช่สิ่งผิดปกติหรือน่าแปลกใจแต่อย่างใดเลย ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมาตกอกตกใจกระโตกกระตากราวกับว่าไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย (ผมไม่ได้แปลว่าการกระทำเหล่านี้ควรจะดำเนินต่อไปเพราะว่ามันเคยดำเนินมา)


 


หากมองไปในประวัติศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาก็ล้วนแล้วแต่ทำการโกงกันอย่างมโหฬารทั้งนั้น หรือลองไปตรวจสอบดูบริษัทห้างร้านที่ร่ำรวยของพ่อค้าก็จะพบกลวิธีการโกงที่ทั้งแยบยลและไม่แยบยลด้วยกันทั้งนั้น การโกงของนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะจริงหรือไม่ แสนจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดคิดอะไร จะขับไล่หรือไม่ขับไล่ จะม็อบหรือไม่ม็อบ ผมเฉย ๆ มาก


 


4. ทุทรรศนะเกี่ยวกับความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย


 


ผมเชื่อว่ามีคนบางส่วนซึ่งรักจะเห็นความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย อยากเห็นการมีพัฒนาการทางการเมืองเข้าร่วมการม็อบหรือลงชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีด้วย และคนเหล่านี้ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง ซึ่งโดยมากแล้วอาจเป็นนักวิชาการ ปัญญาชน รวมทั้งเอ็นจีโอบางส่วน คนเหล่านี้อาจเรียกได้ว่ามีทัศนะที่มองการณ์ไกล


 


คนเหล่านี้มักจะรู้ดีกว่าคนอื่น และก็คงจะรู้ด้วยว่ารูปแบบและเนื้อหาของประชาธิปไตยที่ก้าวหน้านั้นเป็นอย่างไร แต่ผมอยากจะตั้งคำถามตรงนี้เพียงนิดเดียวว่า


 


คนอื่น ๆ เช่นคนที่อยู่ในจังหวัดชายแดนทั้งอีสาน เหนือ ใต้ และชาวเขาเผ่าอาข่า ต้องการความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยแบบที่นักวิชาการต้องการด้วยหรือไม่?


แน่ใจได้อย่างไรว่าพัฒนาทางประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีต่อคนทุกกลุ่ม เป็นสิ่งที่ดีต่อคนเล็กคนน้อย?


หรือว่านี่เป็นแค่ความต้องการแบบนักวิชาการหรือปัญญาชนหรือเอ็นจีโอ คนชั้นกลางเท่านั้นเอง แล้วพาลคิดไปว่า "คนอื่น" คงจะเออออเอาด้วย?


 


ผมมีข้อมูลมากมายที่จะบอกว่า มีคนบ้านนอกจำนวนมากชอบนายกทักษิณ  ชินวัตร เพราะโครงการเอื้ออาทรและโครงการอื่นๆ (นักวิชาการบางท่านก็จะบอกอย่างเป็นสูตรสำเร็จอีกครั้งหนึ่งว่าโครงการเหล่านี้เป็นโครงการประชานิยมหาเสียง และลวงให้ชาวบ้านเป็นหนี้อย่างไม่รู้ตัว)


 


เจ้าหน้าที่ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งพูดในสิ่งที่ "จริง" อย่างมากว่า "จะไปต่อต้านทักษิณทำไม พี่ทำงานห้องสมุดมาเกือบ 20 ปีแล้ว แทบไม่ได้ขึ้นเงินเดือนเลย แต่พอทักษิณ มาเป็นนายกฯ เงินเดือนก็ขึ้นพรวด"


 


5. ทุทรรศนะของนักวิชาการ


 


ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาด่านักวิชาการที่สถาปนาระบอบทักษิณขึ้นมา (ถ้าคุณไม่ชอบระบอบนี้) นักวิชาการที่ร่างรัฐธรรมนูญ นักวิชาการที่มองเห็นการณ์ไกล (ช่างเป็นการณ์ที่ไกลมาก) นักวิชาการที่รู้ดีชี้นำคนอื่น ผมอยากแนะนำว่านักวิชาการที่เสพสุขจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และจากระบอบทักษิณ  ให้ออกมาจากตำแหน่งที่ตนเองได้รับอยู่  ทั้งนี้เพื่อแสดงความมีสปิริตในการต่อต้านระบอบนี้ (และที่จริงก็น่าจะปฏิเสธเงินเดือนที่ทักษิณขึ้นให้ด้วย) แต่คงมีนักวิชาการไม่มากที่ "จริงใจ" ต่อตัวเองอย่างที่ผมเรียกร้อง


 


ยังมีทรรศนะที่ผิด ๆ พลาด ๆ ที่ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับม็อบอยู่อีกมาก เช่น การพุ่งเป้าไปที่ทักษิณ ชินวัตร มากเกินไป แทนที่จะพุ่งไปที่สถาบันต่าง ๆ ที่ปล่อยให้พฤติกรรมของทักษิณ  ชินวัตรเป็นไปได้ ซึ่งผมจะค่อยคิด ค่อยเขียนในโอกาสต่อไป บทความชิ้นนี้ผมเขียนด้วยความเร่งร้อนเพื่อให้ทันกับบรรยากาศทางการเมืองที่คึกคัก และก็คิดว่าคงจะได้รับการ "แลกเปลี่ยน" อย่างอุ่นหนาฝาคั่งเหมือนเคย.