Skip to main content

(ไม่) ฟันธง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เพราะเรื่องข้อขัดข้องทางคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ผู้เขียนไม่สามารถหาเวลาเขียนบทความได้ ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ แต่มัวมายุ่งกับเรื่องเทคโนโลยีจนหมดเวลาไปตลอดสุดสัปดาห์ ทั้งที่ตั้งใจ จะเขียนตามที่ได้เกริ่นว่า "โปรดติดตามตอนต่อไป" ไว้ในท้ายบทความก่อนหน้านี้


 


หลังจาก 11 ก.พ. ผ่านไป การชุมนุมก็ไม่ได้จบลงง่ายๆ และจะมีอีกครั้งในวันที่ 26 ก.พ. อีกหนหนึ่ง และดูเหมือนจะมีต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดคือ ถ้านายกฯ ไม่ลาออก ก็ฝ่ายชุมนุมอาจหมดแรงไปก่อน ในขณะเดียวกันก็มีหลากหลายกลุ่มเข้ามาร่วมขบวนการขับไล่นายกฯ และก็มีหลายกลุ่มที่เริ่มตั้งคำถามว่า "จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และจะทำอะไรต่อไปอย่างไร" อันนี้จึงกลายเป็นว่า มีตัวแปร "เวลา" เข้ามาแสดงบทบาท โดยกำลังบอกว่าเมื่อเวลาผ่านไปความคิดของคนก็เปลี่ยน กระแสแนวคิดก็เปลี่ยน น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง


 


ผู้เขียนเป็นพวกที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านบวกเพื่อสังคมส่วนรวม แต่ทั้งนี้ก็ต้องบอกอย่าง ผู้ไม่รู้ข้อมูลถี่ถ้วนว่า "ไม่สามารถฟันธงอะไรได้" เพราะแหล่งข้อมูลที่ได้มาก็ไม่ชัดเจน ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วดูเหตุการณ์ต่อไป พลางนึกในใจว่าถ้ามีมนต์วิเศษจะขอให้ตนเองรู้ข้อมูลครบทุกด้าน จะได้ "ฟันธง" แล้วบอกออกไปเลย เป็นการทำให้อะไรชัดเจนและจบลงง่ายขึ้น


 


อนาถใจนักที่ไม่มีมนต์วิเศษที่จะทำดังกล่าวได้ หลายครั้งที่เคยพลาดในการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ในบางช่วงสำคัญของชีวิต และบางครั้งแค่ชั่วอึดใจ เช่น เวลาขับรถว่าจะเลี้ยวหรือตรงไปดี เป็นเพราะว่าลังเล ไม่แน่ใจในการตัดสินใจ


 


ตอนนี้หลายคนกำลังหาหนทางที่จะถอดถอนนายกฯ ซึ่งต่างมีความพยายามอย่างที่สุด ต่างพยายามหาวิธี ในทางกฏหมายที่กำหนดไว้ บ้างก็จะใช้เสียงมหาชนที่มาชุมนุมบีบและกดดัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า บางทีการถอดถอนนายกฯ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายหรือถูกต้องที่สุด จึงจำเป็นต้องมองให้เกินออกไป เช่น ถ้าเปลี่ยนนายกฯ แล้วจะมีอะไรตามมาด้วย และในทำนองเดียวกัน หากไม่เปลี่ยนนายกฯ จะเกิดอะไรขึ้น สังคมจะพินาศเสียหายกว่านี้อย่างไร หรือไม่มีอะไรจะเสียไป มากกว่านี้แล้ว  


 


มีผู้รู้หลายท่านออกมาให้ความเห็น และมีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่จุดยืนของแต่ละท่าน เป็นช่วงที่น่าสนใจอย่างที่สุดสำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องการสื่อสารและการเมือง ยิ่งเวลาผ่านออกไป ยิ่งมีประเด็นน่าสนใจ หลายประเด็นก็สามารถไหลเข้ามารวมกันได้ เช่น การประามนายกฯ  การแฉความไม่ดีไม่งามของแต่ละฝ่าย  มีการขดคุ้ยหลายประเด็นก็แตกออกไป เช่น การที่มีบุคคลหลายกลุ่มออกมาตั้งคำถาม ทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล อีกทั้งมีประเด็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก การเซ็นเซอร์ชิพ และการทบทวนบทบาท และอิทธิพลของสื่อที่มีอยู่จริงในสังคมไทย


 


กว่าจะถึงวันที่ 26 ก.พ. ก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมลักษณะ และความหมายของการชุมนุมก็จะมี การเปลี่ยนแปลงต่อไป แต่ทั้งนี้ก็จะนำไปสู่ความชัดเจนของกรณีที่อาจจะมากขึ้นหรือน้อยลงเช่นกัน ผู้ที่เฝ้าศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในไทยหรือต่างประเทศควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน


 


การ"ฟันธง" ของเหตุการณ์นี้คงยังไม่บังเกิด บุคคลที่มองดูอยู่รอบนอกอย่างผู้เขียนจึงใจสั่นระทึก อยากรู้ว่าอะไรจะเกิดต่อไป ยังรู้สึกไม่มั่นใจที่จะด่วนสรุป และเชื่อว่าคงมีหลายคนที่อาจ คิดในทำนองเดียวกันนี้ คงถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าอับอายนักที่จะขอบอกต่อตนเองในขณะนี้ว่า "ยังไม่ฟันธง" 


บทความนี้จึงสั้นๆ เป็นเพียงมุมมองหนึ่งที่นำเสนอเพื่อให้คิดต่อไปเท่านั้นเอง