Skip to main content

นักศึกษาขาขึ้น?

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


ในยามที่นักวิชาการ ครู อาจารย์ ตลอดจนเครือข่ายประชาชนส่วนต่างๆ ได้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการขาดจริยธรรมการปกครอง การหลบเลี่ยงกฎกติกาสังคม และขาดความถูกต้องชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร โดยมีการขับไล่ให้  "ท๊ากก….ษิน ออกไป"


 


"นักศึกษา" ถือเป็นอีกแนวร่วมหนึ่งที่ออกมาร่วมขบวนการไม่เอา…ทักษิณ โดยมีความเคลื่อนไหวของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, เครือข่ายนิสิตนักศึกษาผู้ห่วงใยประเทศไทย, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  นักศึกษาจาก 3 สถาบันใน จ.สงขลา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, "พรรคสัจธรรม" มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเครือข่ายแกนนำนักศึกษา ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกลุ่ม ชมรมนักศึกษาอิสระอีกมาก ที่ได้ออกมาร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในครั้งนี้


 


จะเห็นได้ว่า การรวมตัวออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนักศึกษานั้น มี "แนวทาง" มีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การออกแถลงการณ์ จัดเวทีสาธารณะให้ข้อมูล รณรงค์ให้นักศึกษาตื่นตัว สนใจปัญหาบ้านเมือง หรือแม้แต่จะเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 26 .. กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมี "เป้าหมาย" เดียวกันคือให้นายกทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งและให้เกิดการปฏิรูปการเมืองรอบสอง


 


การออกมาร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่ "หน้าที่" โดยตรงของนักศึกษาที่คนส่วนหนึ่งมักมองว่านักศึกษามีหน้าที่เรียน มีหน้าที่สอบ ไม่เหมาะที่จะมาทำอะไรในแบบที่ผู้ใหญ่เค้าทำกัน แต่ผมมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็น "สิทธิ" ของนักศึกษาในฐานะพลเมืองที่มีเสรีภาพในการร่วมท่าที จุดยืนของตนต่อปรากฏการณ์ไม่เอา..ทักษิณนี้


 


การบอกว่านักศึกษามีหน้าที่แบบนั้นแบบนี้ดูจะเป็นมุมมองที่แคบเกินไป บางทีก็อดคิดไม่ได้ ที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่เคารพผู้นำประเทศ ผมอยากชวนให้ผู้ที่คิดเช่นนั้น ลองนิ่งคิดให้ดี และมองนักศึกษาด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งเอา "ความเป็นวัย" และ "สถานภาพ" มาตัดสิน และอยากถามว่าการที่นักศึกษาจะออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมตามสิทธิเสรีภาพของตนตามระบอบประชาธิปไตยในฐานะพลเมืองนั้นจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง? และไม่ถูกไม่ควรอย่างไร?  


 


บ่อยครั้งที่ข่าวเกี่ยวกับนักศึกษาออกมาในทำนองว่า นักศึกษาไปเที่ยวห้าง แต่งตัวรัดรูป อยู่ตามหอพัก ฯลฯ มักถูกคนมองว่า "ไม่เหมาะสม" ส่วนคราวนี้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวไม่เอา..ทักษิณ ก็ถูกมองว่าก้าวร้าว ไม่ทำตามหน้าที่ (เฮ้อ...เป็นนักศึกษาทำไมมันลำบากอย่างนี้หนอ จะทำอะไรมีแต่คนบ่นๆ ด่าๆ ) ดังนั้น ผมจึงอยากชวนให้มองภาพนักศึกษาในมุมที่หลากหลายมากขึ้นและเข้าใจว่า สิ่งที่นักศึกษาทำนั้นแม้จะไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรงของนักศึกษาแต่ก็เป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่สามารถกระทำได้ตามสิทธิเสรีภาพของตนไม่ใช่หรือครับ


 


อีกเรื่องที่เห็นว่าสำคัญคือการที่นักศึกษาออกมาทำอะไรบ้างในยามนี้ มันก็ช่วยทำให้ผู้คนมองภาพนักศึกษาในมุมที่กว้างขึ้น อย่าลืมว่านักศึกษาเมื่อปี 2516 ต่างจากนักศึกษาปี 2549 ต่างทั้งกระแสสังคม ต่างทั้งปัญหาที่เผชิญ ต่างทั้งโอกาส แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนคือ นักศึกษาก็ยังเป็นความหวัง เป็นพลังอันบริสุทธิ์ในการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองมาโดยตลอด


 


สำหรับผมเอง แม้จะเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่ได้ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้ แต่ก็ได้ติดตามสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ อย่างต่อเนื่อง ก็มีข้อสังเกตต่างๆ เกิดขึ้นในความคิดอันน้อยนิดของตัวเองมากมาย จึงอยากร่วมแบ่งปันต่อๆ กัน


 


อย่างแรกผมเห็นว่า การเคลื่อนไหวในช่วงนี้น่าจะถือได้ว่า เป็นช่วงขาขึ้นของขบวนการนักศึกษา แต่ผมเองก็เป็นห่วงว่าหากกระแสไม่เอา..ทักษิณนี้ "ตกไป" ตัวของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวจะลดแรงตกลงไปด้วยไหม เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่นักศึกษาจะเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นไม่ใช่มีเพียงเรื่องไม่เอา..ทักษิณอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายกิจกรรม หลายปัญหา หลายเรื่อง ที่นักศึกษาต้องออกมาร่วมเคลื่อนไหว เช่น การคัดค้าน FTA การลงชุมชนทำงานร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ การรณรงค์เรื่องสิทธิ การจัดเวทีสาธารณะเรื่องต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งจะทำให้ได้สัมผัสห้องเรียนที่ไม่มีรั้ว ได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเองมากยิ่งขึ้นกว่าในห้องเรียนหรือรั้วสถาบัน


 


อย่างต่อมาการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในยุคต่อไป แม้จะไม่ได้เคลื่อนขบวนร่วมกันภายใต้ "ร่ม" การนำของ สนนท. เหมือนอดีต แต่ที่เห็นในปัจจุบันคือการปรากฏตัวของ ขบวนการนักศึกษาตามสถาบันต่างๆ เกิดเครือข่ายมากมาย เกิดกลุ่มอิสระหลายที่ ผมมองว่า ขบวนการนักศึกษาทั้งหลาย น่าจะใช้โอกาสในการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งนี้ ได้มาทำงานร่วมกันอย่างเป็นขบวนมากยิ่งขึ้นต่อไปในระยะยาว


 


และสุดท้ายก็คือ หากคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งหมดจากสถานะความเป็นนักศึกษา พวกเขาเหล่านั้นจะยังคงร่วมขบวนการทางสังคมเช่นนี้อีกหรือไม่? เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิด "พื้นที่ทางอุดมการณ์" แก่คนหนุ่มสาวในสถานภาพต่างๆ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เมื่อนักศึกษาคนนั้นโตขึ้น เขาก็จะเป็นเพียงแค่ผู้ใหญ่ธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีอุดมการณ์อะไรเลย