Skip to main content

พวกชอบก่อความวุ่นวาย

คอลัมน์/ชุมชน


มีวาทะที่ผลิตซ้ำๆ จากผู้ที่มีโอกาสสื่อสารถึงประชาชนมากที่สุดบ่อยๆ นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์เป็นต้นมาว่า "พวกที่มาชุมนุมกันนั้นเป็นพวกชอบก่อความวุ่นวายบ้าง ชอบสร้างแตกแยกบ้าง และเลยเถิดไปถึงขั้นเป็นพวกที่ไม่เคารพกติกาทางการเมือง"


 


ประชาชนครั้นได้ฟังความแบบนี้บ่อยๆ เข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงในเชิงกฎหมายที่มักนำมาใช้อ้างกัน ก็ชักจะเห็นคล้อยตามไป จึงพาลรังเกียจพวกชุมนุม บางคนรู้ทั้งรู้ว่าการชุมนุมย่อมทำได้ แต่ก็ยังมองว่าจะเป็นผลเสียหายแก่ประเทศชาติถ้ายังมีการชุมนุมอยู่เรื่อยๆ จึงออกมาเรียกร้องว่า "อย่าทะเลาะกัน"


 


ได้ยินคำพูดเหล่านี้ ไม่ว่าจะออกมาจากทางผู้มีอำนาจหรือจากประชาชน ก็ล้วนแล้วแต่ชวนให้รู้สึกต้องคิดต่ออีกหน่อยว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วคนไทยนั้นยอมรับและลึกซึ้งกับความเป็นประเทศประชาธิปไตยมาแค่ไหน นอกจากนั้นก็คิดเลยเถิดไปอีกนิดหน่อยว่า เวลาเราพูดกันว่ารักชาตินั้นเราควรรักชาติกันอย่างไร


 


ก่อนอื่นต้องขออนุญาตทบทวนความจำกันสักเล็กน้อยว่า "การชุมนุมกันทางการเมืองเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนสามารถจะกระทำได้ในสังคมประชาธิปไตย" ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้นั้นย่อมจะต้องยอมรับเรื่องนี้ได้ แม้แต่ในประเทศไทยเองในรัฐธรรมนูญก็ระบุเอาไว้แล้วว่า การชุมนุมอย่างสงบย่อมกระทำได้


 


นอกจากนั้นโดยธรรมชาติของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิจะพูด ในกรณีที่พูดผ่านตัวแทนไม่ได้ก็ต้องออกมาชุมนุมกันเองเพื่อให้รัฐบาล เพื่อให้ผู้นำได้ยินได้เห็นปัญหาย่อมเป็นเรื่องที่กระทำได้  อย่าลืมว่า เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า การเมืองระบอบตัวแทนนั้นไม่สามารถซึมซับปัญหาของประชาชนได้ทั้งหมด  หลายๆ ปัญหาอาจจะไม่ถูกมองเห็น หรือได้ยิน ดังนั้น การส่งเสียงของประชาชนที่เป็นเจ้าของหรืออยู่กับปัญหานั้นจริงๆ ยังคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องฟังอยู่


 


เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การอ้างเรื่อง 19 ล้านเสียงเพื่ออวดอ้างความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศเยี่ยงใดก็ได้ โดยไม่ฟังเสียงข้างน้อย หรือการประกาศให้ priority กับจังหวัดที่เลือกเข้ามาว่าจะได้สิทธิหรือให้การดูแลที่มากกว่าจังหวัดที่ไม่มีผู้แทนจากพรรคที่กำลังเป็นรัฐบาล จึงไม่น่าจะใช่แนวทางการบริหารตามระบอบประชาธิปไตย


 


เอาเข้าจริงๆ แล้ว การชุมนุมประท้วงหรือส่งเสียงแสดงพลังของประชาชนเพื่อให้ทางรัฐบาลได้เห็นว่า เรากำลังไม่เห็นด้วยกับแนวทางบริหารประเทศของท่าน หรือเรารู้สึกว่าท่านไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากพอนั้น โดยธรรมชาติของการชุมนุมแบบนี้ก็ไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้มากหรอก หากรัฐบาลไม่เข้ามาทำให้ความวุ่นวายเกิดเพิ่มมากขึ้นหรือมาใช้ความรุนแรงเสียเอง แต่หลายครั้งรัฐบาลก็ต้องล้มเพราะล้วนแล้วแต่เลือกที่จะให้เกิดความรุนแรง การชุมนุมหลายต่อหลายครั้งจึงยุติเมื่อรัฐบาลหรือผู้นำยอมสละตำแหน่ง


 


ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะกระทำได้ แต่ว่าคนไทยค่อนข้างจะกลัวเรื่องการชุมนุม เพราะเห็นบทเรียนว่าในแต่ละครั้งล้วนแล้วแต่จบด้วยความรุนแรงและการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต แต่การชุมนุม 2 ครั้งล่าสุดนี้แตกต่างออกไป (ก็อย่างที่บอกว่าถ้ารัฐจะไม่ให้เกิดก็ไม่เกิดหรอก) เพราะถึงตอนนี้รัฐเลือกจะใช้วิธีอื่นมากกว่า นั่นคือการทำให้คนเห็นด้วยกับวิธีการชุมนุมให้น้อยที่สุด รวมทั้งสกัดการเข้ามาจากต่างจังหวัด ซึ่งที่จริงโอกาสรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ก็มีน้อยอยู่แล้ว เนื่องจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์แบบดูฟรีที่เป็นช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลมากที่สุดกลับไม่กล้าที่จะออกอากาศในเรื่องนี้มากนัก


 


เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา บังเอิญต้องไปทำธุระที่จังหวัดอุบลฯ ซึ่งได้ชื่อว่าเมืองนักปราชญ์ เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย มีคนมีความรู้อยู่มาก รวมทั้งมีมหาวิทยาลัย ผู้คนดูเหมือนจะเงียบมากกับไม่ค่อยได้รับรู้มากนักว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ  มีบางคนที่ระแคะระคายอยู่บ้าง อยากติดตามข่าวสาร ทว่า ไม่สามารถหาคำตอบที่แท้จริงจากข่าวโทรทัศน์ได้เลย ที่มีการเสนอก็สั้นมากๆ จนแทบจะไม่เป็นสาระ เห็นแต่ผู้คนแค่ร้องตะโกนขับไล่นายกฯ คนที่มีความรู้ก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าพวกนั้นจะเอาอะไรกันแน่  ประสาอะไรกับชาวบ้านแท้ๆ ที่ฟังเฉพาะสารจากวิทยุช่วงเวลา 8 โมงเช้าวันเสาร์ ย่อมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า นี่แหละคือ "พวกป่วนเมือง" ดังที่ท่านว่าจริงๆ แล้วก็พาลโกรธว่าพวกนี้แหละจะทำประเทศเสียหาย


 


แต่อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย ขนาดองค์การนักศึกษาที่ในอดีตเคยมีบทบาทนำ ชูธงในเรื่องการตรวจสอบ และเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาตลอด  ถึงตอนนี้ยังเข้าใจสับสนเลยว่า การชุมนุมเป็นเรื่องการกระทำที่ข้ามขั้นตอน ขอรับอาสาที่จะมาตั้งโต๊ะล่า 50,000 ชื่อแทน จะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมก็ได้แต่อย่ามาหาว่าคนที่เขามาชุมนุมทำผิดหลักการ เข้าใจผิดไปหรือเปล่า  "ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย" หรือว่าการชุมนุมแสดงพลังย่อมกระทำได้ จะผิดอะไรหากเราต้องการแสดงพลังให้เห็นกันชัดๆ ที่นั่นก็มีอาจารย์ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้นำนักศึกษามาทั้ง 2 ยุค ขอความเห็นและใช้บทเรียนจากคนเหล่านั้นได้บ้างหรือไม่ หรือว่าเขาเองก็ลืมไปแล้ว


 


ย้อนกลับมาอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง "ทะเลาะกัน"  ได้ยินคำพูดนี้แล้วขัดหูเป็นอย่างยิ่งว่า การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปเรียกว่าทะเลาะกันหรือ? การออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนที่อยู่ในฐานะตัวแทนที่อาสาเข้ามาทำงานให้กับประชาชน (จะเป็นคนที่เราเลือกหรือไม่ก็ตามแต่มาทำหน้าที่แทนเรา) นั้นเป็นเรื่องทะเลาะกันหรือ? ก็เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์มิใช่ที่จะนำไปสู่พัฒนาการในทางประชาธิปไตย แต่ทำไมถึงได้รังเกียจการวิพากษ์วิจารณ์  หรือว่าเราควรจะยินดีอยู่แค่การได้มีโอกาสไปเลือกตั้งแล้วเรียกมันว่าเรามีประชาธิปไตย แต่กลับมองข้ามสิ่งอื่นๆ ไป มิหนำซ้ำยังมองข้ามเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิ่งที่อยู่ใน "แพ็คเกจ" เดียวกันกับประชาธิปไตย


 


หลายคนที่ออกมาบอกว่าให้รักชาติมากๆ อย่าทะเลาะกันนั้น ก็ทำให้สงสัยเพิ่มอีกว่า การออกมาตั้งคำถาม แสดงความกังวลว่าชาติเรากำลังจะล่มจมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่รักชาติกระนั้นหรือ ก็ในเมื่อกระบวนการตรวจสอบตามระบบนั้นไม่สามารถขับเคลื่อนได้ไม่ว่าจะโดยประการใดก็ตาม ภาคประชาชน (เชื่อว่าในการชุมนุมครั้งนั้นมีจำนวนมากที่ไปด้วยการตัดสินใจด้วยตัวเองและไม่ได้เชียร์ใคร เพียงแต่อยากจะส่งเสียงของตัวเอง) ก็ย่อมมีสิทธิที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงไม่ใช่หรือ? แล้วคนเหล่านี้คือ "พวกชอบก่อความวุ่นวาย" กระนั้นหรือ?


 


นึกถึงว่า กองบิน 23 ที่อุดรฯ กลายเป็นของสิงคโปร์ไป 15 ปี ตอนนี้วงโคจรดาวเทียมก็กำลังกลายไปเป็นของสิงคโปร์ไป สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดสินค้าเกษตรไทยจนเกษตรกรรายย่อยแทบหากินไม่ได้ การเตรียมเปิดการค้าเสรีกับสหรัฐฯ แบบเร่งๆ ที่ประชาชนไทยจะต้องสูญเสียสุดๆ  เปิดสายการบินร่วมกับต่างชาติเพื่อแข่งกับสายการบินของชาติตัวเองในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศ ความเงื่อนงำในเรื่องของหุ้น  การไม่ต้องจ่ายภาษีจากการขายหุ้นเนื่องจากมีทางเลี่ยงกฎหมาย  ตลอดไปจนถึงเรื่องคนที่ภาคใต้ที่ล้มตายกันไปจำนวนนับพัน ที่เหลืออยู่ก็อยู่กันด้วยความเครียด และหวาดกลัวอีกล่ะ และอีกมากมายดังที่เห็นๆ กันอยู่ เรื่องเหล่านี้คนในชาติเห็นมันเป็นปัญหาของชาติหรือไม่ และควรที่ตั้งคำถามหรือไม่ว่า ทำไมถึงมีเรื่องเหล่านี้ขึ้น และทำไมปัญหาหลายๆ ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ในเมื่อเราไม่สามารถพึ่งพิงฝ่ายค้านที่มีคะแนนเสียงน้อยเกินกว่าจะออกมาอภิปรายในสภาได้ ประชาชนที่รักชาติทั้งหลายควรจะทำตัวกันอย่างไร ก้มหน้าก้มตายอมรับสภาพ เพราะ "คนไทยนั้นรักสงบ" กระนั้นหรือ


 


และหากคำตอบเหล่านี้กระจ่างชัด และโปร่งใสจริง ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นหรือไม่ การประท้วงย่อมไม่เกิด  แต่คำตอบที่ประชาชนได้จากน้ำเสียงที่สุดแสนจะหงุดหงิดก็คือ "ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย" หรือ ไม่ก็ "ผมรับผิดชอบเอง"


 


แน่นอนใครมีอำนาจคนนั้นก็สามารถทำถูกต้องตามกฎหมายได้ทั้งนั้นแหละ แต่ทว่า น่าเสียดายที่คนที่จะเป็นสัญลักษณ์ในการนำด้านคุณธรรมและจริยธรรม อันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นผู้นำกลับไม่ได้นำจุดนี้มาใช้เลย แต่ในทางตรงข้ามกลับเป็นตัวอย่างในการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายทำประโยชน์ส่วนตนเสียนี่ และยังมีนักกฎหมายที่เก่งที่สุด ที่สุดแสนจะภาคภูมิใจว่าสามารถทำให้รายได้ให้นายมากกว่า 73,000 ล้านโดยไม่ต้องแบ่งเข้ารัฐแม้แต่สตางค์แดงเดียวออกมาปกป้องสุดตัว


 


ซึ่งก็อยากฝากคำถามไปถึงนักกฎหมายทั้งหลายไม่ว่าจะจบจากสำนักไหนก็ตามว่า จริงๆ แล้วการตีความกฎหมายไม่ได้อิงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยดอกหรือ ถึงตีความเอาแต่เฉพาะลายลักษณ์เช่นนั้น และเรื่องการเรียกเก็บภาษีนั้นก็เพราะต้องการให้คนที่มีมากกว่าได้เฉลี่ยให้คนน้อยกว่าใช่หรือ ถ้ากฎหมายมีไว้เพื่อเลี่ยงเท่านั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีกฎหมายเอาไว้ทำไม เพราะแม้กระทั่งการออกมาชุมนุมของประชาชนที่ว่าถูกต้องแล้วตามกฎหมายก็กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นเล่นพวกนอกกติกา แต่ที่เห็นชัดๆว่าไม่ชอบมาพากลกลับถูกต้อง


 


สุดท้ายแล้วอยากให้ทบทวนดีๆว่า ใครกันหนอคือ "ตัวก่อความวุ่นวาย"