Skip to main content

โอกาสของผู้หญิงในการเข้าถึงบริการทำแท้ง

คอลัมน์/ชุมชน





เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เกี่ยวกับโครงการจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันจัดทำขึ้น



 


รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม กรรมการโครงการสุขภาพคนไทย กล่าวว่า ในปีนี้พบว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำแท้ง และทิ้งทารก เป็นปัญหาลำดับที่ 8 ที่คุกคามสุขภาพคนไทย จากข้อมูลของโครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) พบว่าตลอดทั้งปี 2548  มีทารกถูกทิ้ง 700-800  คน หรือเฉลี่ยถูกทิ้งวันละ 2 คน และจากรายงานของโครงการรณรงค์เพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่าปัญหาการทำแท้งยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม โดยกลุ่มอายุระหว่าง 20-29 ปี เป็นกลุ่มคนที่มาทำแท้งมากที่สุด


 


ภาวะคุกคามสุขภาพนี้ส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และสภาพชีวิตของเด็กที่ถูกทิ้ง ตลอดจนสังคมที่ต้องร่วมกันดูแลประชากรเหล่านี้ การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีความรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันการตั้งครรภ์  การไม่รู้ข้อมูล วิธีการ และเข้าถึงแหล่งบริการคุมกำเนิด การถูกบีบบังคับทางสังคมให้ต้องมีลูกเพราะเครือญาติ เพราะครอบครัวต้องการลูก และเพราะสังคมบอกว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ การมีลูกอยู่แล้วและไม่พร้อมจะมีคนต่อไปและผิดพลาดในการป้องกันการตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ ไม่มีการเตรียมการ ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ หรืออาจมีบางคนต้องการท้องเล่นๆ อยากมีเพศสัมพันธ์เล่น ๆ โดยไม่คิดจะดูแลป้องกันตนเองของคู่รัก แฟน กิ๊ก ทั้งหลายที่มีอยู่ทั่วๆ ไปในสังคม


 


ไม่มีใครมีข้อมูลแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดคนจึงตั้งครรภ์ในสภาวะที่ไม่พร้อมจะตั้งครรภ์  หรือการคลอดแล้วไม่อาจเลี้ยงดูได้ด้วยตนเอง มีเพียงข้อมูลว่ากรณีคนที่ตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดแล้วไม่สามารถเลี้ยงดูได้ต้องทิ้งไว้เฉลี่ยวันละ 2 คนดังที่ปรากฏในรายงาน ซึ่งเป็นเพียงจำนวนตัวเลขบางส่วนของการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมแต่เลือกตั้งครรภ์ต่อจนคลอด หรือสถานการณ์ไม่เอื้อให้เข้าถึงบริการทำแท้งได้ทั้งบริการที่ถูกกฎหมายหรือบริการนอกเหนือกฎหมายที่มักได้ยินข้อมูลถึงแหล่งให้บริการเหล่านี้  ซึ่งต้องเสี่ยงทั้งทางกฎหมาย และความปลอดภัย รวมถึงต้องมีเงินมากพอใช้บริการ หลายคนไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้จึงต้องตั้งครรภ์ต่อไป บางรายก็พร้อมไปรับบริการที่โรงพยาบาลในการคลอด แต่บางรายต้องปกปิดซ่อนเร้น ทนกล้ำกลืนเก็บไว้เป็นความลับคนเดียวตลอด 9 เดือนและคลอดคนเดียวในห้องหรือห้องน้ำแล้วทำลายทิ้ง ดังเห็นเป็นข่าว เหล่านี้เป็นสภาวะที่คุกคามจิตใจผู้ตั้งครรภ์มิใช่น้อย


 


เมื่อได้ยินนายแพทย์สมศักดิ์  โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาให้ข้อมูลว่า ได้มีการออกระเบียบใหม่เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ให้แพทย์สามารถทำแท้งให้กับแม่ที่เป็นโรคจิตขั้นรุนแรง หรือแม่ที่ตั้งครรภ์และลูกมีพันธุกรรมผิดปกติอย่างรุนแรง หรือพิการแต่กำเนิด ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของเด็ก โดยต้องมีคำวินิจฉัยทางการแพทย์จากแพทย์คนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ที่ทำแท้งให้กับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือแม่ในด้านสภาพจิตใจ ก็ยังคงต้องตีความว่าโรคจิตขั้นรุนแรงนั้น เป็นก่อนตั้งครรภ์หรือเป็นผลจากการตั้งครรภ์ และจะมีบริการให้กับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมดังกล่าวให้ได้มารับบริการคำปรึกษาจากแพทย์ทางจิตด้วยได้หรือไม่


 


โดยบริการที่จัดให้นั้นสามารถรักษาความลับได้อย่างดี และสามารถส่งต่อรับบริการอื่นๆ ได้ เช่น หากต้องการตั้งครรภ์ต่อแต่ไม่อาจเลี้ยงดูได้ก็สามารถฝากให้สถานเลี้ยงดูของรัฐได้ การยินยอมมอบให้ดำเนินการหาพ่อแม่อุปถัมภ์ต่อไป หรือการฝากรัฐเลี้ยงดูสักระยะหนึ่งเมื่อพร้อมก็กลับมารับไป ตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้กับรัฐ การไม่ตั้งกฎระเบียบจนทำให้ผู้ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยๆ ถูกกีดกันออกไปจากบริการเหล่านี้  ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ยิ่งมีความต้องการบริการเหล่านี้มากกว่าใครๆ


 


โอกาสที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะเข้าถึงบริการทำแท้งยังไม่เป็นจริง นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นโรคจิตขั้นร้ายแรง ดังนั้น หากต้องการลดภาวะคุกคามด้านสุขภาพจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการทำแท้งนอกกฎหมายที่มักเสี่ยงอันตราย จึงควรต้องมีการพูดคุยกันเพื่อสร้างมาตรการป้องกันให้ลดลงอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจริงไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร อยู่ในสถานะใด ก็ต้องมีบริการดูแลการตั้งครรภ์ต่อที่เป็นมิตร การรับเลี้ยงดูเด็กโดยรัฐ การเปิดโอกาสให้กลับมารับไปเลี้ยงดูด้วยตนเองเมื่อพร้อมในระยะเวลาที่กำหนดอย่างเหมาะสม การรณรงค์รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของครอบครัวที่มีความพร้อม


 


แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีบริการคุมกำเนิดที่ทั่วถึง เข้าถึงง่าย สะดวก ปลอดภัย เป็นมิตร รักษาความลับ และไม่กีดกันผู้ใช้บริการที่อายุน้อย ไม่ใช่คนแต่งงานแล้ว รวมถึงเป็นบริการสำหรับหญิงและชายเพื่อก่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม