Skip to main content

เรื่องจริงในความหลอกลวง ตอน OTOP 3

คอลัมน์/ชุมชน





ตอนที่แล้วเขียนค้างไว้เรื่องการตลาดและตัวเลข   ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้  เพราะการแจ้งยอดตัวเลขปลอมไม่ได้มาจากชาวบ้านเท่านั้น  แต่บางส่วนก็มาจากเจ้าหน้าที่เอง เช่น ชาวบ้านบางส่วนที่ขายของไม่ได้  และแจ้งยอดจริง เช่น ขายได้ 300 บาท ก็แจ้ง 300  เจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่า แจ้ง 2,000 บาทแล้วกัน เพาะหากแจ้งยอดจริงอายคนอื่นเขา (เรื่องจริงคือกลัวไม่มีผลงาน) 



 


ดังนั้น ตัวเลขที่ฝ่ายรัฐบาลแสนจะภูมิใจ มันคือตัวเลขที่หลอกลวง  แต่ที่น่าแปลกคือรัฐบาลชุดนี้มีชื่อเสียงว่าแสนฉลาด และหากบอกว่ามาโง่เรื่องง่ายๆ อย่างนี้ มันน่าสงสัยมั้ยล่ะคะ 


 


เรื่องจริงคือ รัฐบาลต้องการผลงาน รัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ "ทำยอด" แค่นั้นข้าราชการก็วิ่งกันหน้าตั้ง เช่น ปีนี้ต้องการทำยอดกี่หมื่นล้าน ก็ปั้นกันเข้าไป (จริงเท็จไม่พูดถึง) เมื่อได้ตัวเลขก็นำตัวเลขนั้นออกมาประกาศศักดา ป่าวประกาศให้ชาวบ้านชาวเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศรับรู้ ความสำเร็จที่แสนจะชื่นใจของนโยบายแห่งรัฐ    OTOP แต่ละปีจึงประสบความสำเร็จเป็นร้อยเท่า เรียกว่าหลอกกันเป็นทีม หรือโกหกระดับชาติ โกหกระดับโลก เอาหน้าเอาตาสร้างชื่อเสียงบนซากศพของประชาชน


 


ที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเดา หรือเขียนเพราะสนุก แต่เรื่องทั้งหมดมีเหตุผลประกอบน่าสนใจ เพราะเบื้องหลังตัวเลขที่รัฐประกาศความสำเร็จนั้นคือการสร้างความล้มเหลวให้กับชุมชนทั่วประเทศ   


 


ยกตัวอย่างง่ายๆ ย้อนไปสัก 2-3  ปี (ท่านผู้อ่านคงพอจำได้) รัฐส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตสุรากลั่น (ที่เรียกภูมิปัญญานั่นแหละ) มีการเปิดงานใหญ่โต ป่าวประกาศให้คนทั่วบ้านทั่วเมืองรับรู้ และให้ชาวบ้านไปจดทะเบียนเป็นกลุ่ม เป็นสหกรณ์ เพื่อจะได้ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนั้น มีกลุ่มไปจดทะเบียนถึง 1,800  กลุ่ม และมีการปั่นกระแสความสุดยอดของกระชายดำว่ามันยอดมากสำหรับสุภาพบุรุษทุกท่าน ดังนั้น นอกจากกลุ่มผู้ผลิตแล้ว ยังมีกลุ่มที่หลงเข้ามาในวังวนแห่งน้ำเมาอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือกลุ่มผู้ปลูก ปีนั้นกระแสธุรกิจน้ำเมาของชาวบ้านเป็นอาชีพที่ถูกมอมเมาให้มองเห็นแต่ความร่ำรวยที่รออยู่ข้างหน้า ชาวบ้านต่างพากันตัดถางพืชที่ตนเองทำอยู่ เพื่อนำพื้นที่มาปลูกกระชายดำ ทุนไม่มีก็กู้ ทั้งกู้ ธกส. กู้นายทุน ดอกเบี้ยเท่าไรไม่ว่า ขอได้เงินมาเท่านั้นพอ เพราะแรกๆ ราคากระชายดำกิโลกรัมละเกือบ 500 บาท หรือบางครั้งมากกว่า   ทำให้ชาวบ้านฝันว่าไม่รวยชาตินี้คงไม่มีชาติไหนแล้วที่จะรวย 


 


แต่ควันแห่งความฝันยังไม่ทันจางหาย ความจริงของชีวิตก็ปรากฏ โรงงานผลิตสุราพื้นบ้านของชาวบ้านที่มีมากกว่า 20  โรงปิดตัวลง  เพราะสินค้าอย่าว่าแต่ส่งออกเลย ในประเทศก็ขายไม่ได้  กลุ่มที่เคยไปจดทะเบียน  ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 100 กลุ่ม  กระชายดำราคากิโลละ 5  บาทยังหาคนซื้อไม่ได้ พืชอย่างอื่นในที่ดินก็ไม่มีเหลือแล้ว  รวยก็ไม่ได้รวย หนี้ก็ไม่มีใช้  กลุ่มผู้ผลิตสุราต่างๆ เหลือแต่ซากโรงงาน อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ที่หน่วยงานรัฐส่งเสริมว่าต้องมี  กองสุมอยู่เต็มโรงงาน และที่เหลืออยู่อย่างชัดเจนคือหนี้สินของคนทั้ง 2 กลุ่ม


 


ยกตัวอย่างแค่นี้คงพอจะเดาออก คงไม่ต้องพูดถึงหัตถกรรมต่างๆ อาหารแปรรูป สมุนไพร ผ้า เสื้อผ้า ฯลฯ ที่มีหลายดาว พร้อมความฝันว่าจะได้ส่งออก ที่แต่ละพื้นที่แข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย(และก็ได้ตายจริงๆ) เพื่อมุ่งไปสู่ความฝันที่รัฐขุดหลุมล่อเอาไว้


 


นโยบายเรื่อง OTOP ของรัฐวันนี้เป็นเรื่องของทุนนิยมเต็มตัว มีการแข่งขันสูง คนที่เห็นแก่ตัวเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ ใครเข้มแข็ง (ทุนหนา พวกมาก) ก็อยู่ได้ ใครอ่อนแอก็พิการหรือที่สุดก็ล้มตายไป ภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเคยภาคภูมิใจและหวังว่าจะช่วยให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ผลตอบแทนสุดท้ายคือความผิดหวัง หลายชุมชนเกลียดภูมิปัญญาของตนเอง โดยถามว่าจะรักษาภูมิปัญญาไปทำไม รักษาไว้ก็ไม่ได้มีผลดีอะไรขึ้นมา และก็มีหลายครั้งที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านถูกภาคอุตสาหกรรมฉกเอาไปจดลิขสิทธิ์ โดยที่ชุมชนเองก็ไม่ลุกขึ้นมาปกป้องแต่อย่างใด 


 


ตอนหน้าเข้มข้นกว่านี้ รอหน่อยนะ สัญญาว่าจะไม่หายไปนานอีกแล้ว