Skip to main content

แด่ ส.ว.ที่น่าชัง


สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเรื่องที่มีการประท้วงประธานวุฒิสภา สุชน ชาลีเครือ จนกระทั่งมีการนำบันไดไปล่อประธานลงจากเก้าอี้ประธาน


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากประธานได้อ้างว่า มีส.ว.จำนวน ๖๔ ท่านยื่นคำร้องให้ประชุมลับ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติเป็นอย่างยิ่งที่อยู่ดีๆ พอวาระเรื่องพิจารณาสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเข้ามากลับบอกว่าให้ประชุมลับทันที


 


ก็เลยมีการประท้วงถึงขนาดประธานสุชน ให้ รปภ.เชิญตัว ส.ว.การุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์ ให้ออกจากห้องประชุม ซึ่งสมาชิกหลายท่านคิดว่าประธานทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ใช้อำนาจ ส.ว.เสียงส่วนใหญ่รังแกเสียงส่วนน้อย


 


ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งประท้วงการทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภาในวันนั้น ก็ขอเรียนว่าการที่ ส.ว. ๖๔ คนอ้างว่าต้องประชุมลับเนื่องจากเกรงว่าจะมีการกล่าวพาดพิงถึงสถาบันสูงสุดนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอ


 


เพราะไม่ว่าจะเป็นการประชุมเปิดเผยหรือลับ วุฒิสภาไม่มีสิทธิที่จะพาดพิงสถาบันอื่นให้เกิดความเสียหาย ใครพูดพาดพิงก็ต้องรับการฟ้องร้องกล่าวโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นมากกว่ากฎหมาย ซึ่งคนไทยทุกคนทราบเป็นอย่างดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


 


คงจำกันได้ว่าสำนักราชเลขาธิการได้ขอให้วุฒิสภาทบทวนการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ ๙ ปปช.ใหม่ เพราะขั้นตอนการสรรหามีผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


 


ประเด็นที่สำคัญคือก่อนลงมติเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหาจำนวน ๑๘ คน ปรากฎว่าก่อนลงมติของวุฒิสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ได้ถอนตัวออกไป ทำให้เหลือผู้ได้รับการเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาเพียง ๑๗ คน ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ


 


ต้องพิจารณาว่า คนระดับ ผบ.ทบ. มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ตั้งแต่ตอนกระบวนการตรวจสอบประวัติ มาอ้างในจดหมายก่อนการลงคะแนนว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ 


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่วุฒิสภานั้นเอง เพราะมีข่าวก่อนหน้านั้นว่ามีการล็อกโผ ปปช.    เพราะฉะนั้นคนที่จะต้องตอบคำถามประชาชน คือวุฒิสภา ส.ว.ที่น่าชังทั้งหลายว่าจะทำตัวอย่างไรให้ประชาชนเขาไว้ใจ วางใจ และเชื่อใจ


 


เพราะวุฒิสภาชุดนี้มีข่าวมาโดยตลอดว่า มีการรับเงินเดือนจากพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายรัฐบาล  ส่วนคนที่เป็นซีกของฝ่ายค้านก็เป็นของญาติพี่น้องที่ลง ส.ส.ในนามของฝ่ายค้าน บังเอิญในขณะนี้ซีกของรัฐบาลมีการล็อบบี้จนกระทั่งเป็นเสียงข้างมากในวุฒิสภาเสียแล้ว   องค์กรอิสระที่จะเลือกโดยวุฒิสภา ประชาชนก็เลยไม่มีความเชื่อมั่นได้เลยว่าจะทำตามใบสั่งของรัฐบาลหรือไม่


 


หลายๆ ครั้งก็เป็นที่ครหา หรือคาดหมายไว้ได้ก่อนที่จะมีการลงมติขององค์กรอิสระต่างๆ เกือบทุกองค์กรว่า คำตอบที่จะได้คืออะไร ส่วนใหญ่ตัดสินให้รัฐบาลเป็นฝ่ายถูกต้องทั้งสิ้น ยกเว้นศาลปกครองซึ่งมีความเป็นอิสระสูงยิ่ง เป็นที่ยอมรับ


 


จนเป็นที่มาของ นายสนธิ ลิ้มทองกุลที่เปิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์หลายแห่งทั่วประเทศกล่าวหาว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายก ทักษิณ ชินวัตร ได้ครอบงำทุกองค์กรอิสระไว้เรียบร้อยแล้ว


 


ผมมิอาจจะกล่าวถึงองค์กรอิสระอื่นได้เพราะไม่ได้อยู่ในองค์กรนั้นๆ แต่ในวุฒิสภากล่าวได้เลยว่า เรียบร้อยโรงเรียนแม้วแล้วครับ มีการสารภาพในที่ประชุมวุฒิสภาว่ามีการรับเงินจากรัฐบาลจริงๆ


 


สัปดาห์ที่แล้ว ส.ว.ภิญญา ช่วยปลอด จากสุราษฎร์ธานี ก็เลยเสนอให้บรรดา ส.ว.ทั้งหลายไปสาบานที่วัดพระแก้วว่าใครรับเงินเดือนจากพรรคการเมืองขอให้มีอันเป็นไป ผมก็ได้ท้าแล้วว่าอย่าว่าแต่ไปวัดพระแก้วเลย เอาแค่ลงชื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ จะหา ส.ว.แค่ ๑๒๐ ชื่อจะหาได้หรือเปล่า  เพราะเห็นแต่คนเอาใจท่านนายกรัฐมนตรี กลัวว่าท่านจะเคือง เกรงว่าท่านจะโกรธ  ไม่รู้จะเอาใจไปถึงไหน เสียชื่อที่ประชาชนเขาเลือก ส.ว.ให้ไปตรวจสอบการทำงาน  แค่ลงชื่ออภิปรายนายกรัฐมนตรี ขอถามคำถามที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุลถามรัฐบาลแต่ยังไม่ตอบ  ประชาชนเขาอยากฟังรัฐบาลตอบในสภา ไม่อยากให้คุณสนธิกล่าวโทษฝ่ายเดียว โดยไม่ให้โอกาสรัฐบาลตอบ


 


แล้วอย่างนี้ผมไม่เรียกว่า ส.ว.ที่น่าชังได้อย่างไร


 


ถึงเวลานั้นจะได้รู้ว่าใครบ้างที่เป็นคนจริง ใครบ้างที่รับเงินหรือไม่รับเงิน   เพราะแค่ลงชื่ออภิปรายทั่วไปให้นายกรัฐมนตรีมาตอบในวุฒิสภาไม่ได้ วุฒิสภาชุดนี้ก็มีตราบาปไปตลอด