Skip to main content

ม็อบกับรวมเรื่องสั้นชุด "หน้ากาก"

คอลัมน์/ชุมชน

เรื่องสั้นชุด "หน้ากาก" เขียนโดยนักเขียนเกาหลี  "หวาง ซุน  วอน"  และแปลอย่างประณีตโดย "ไกรวรรณ  สีดาฟอง" นักแปลที่มีรสนิยมทางวรรณกรรมอย่างสูง เขาเคยแปลงานของ "ไรเนอร์ มารีอา ริลเค" มหากวีแห่งศตวรรษที่ 20  เขาเคยแปลงานของ "อนาโตล ฟรองซ์" นักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส เขาเคยแปลงานของ "โนดาร์  ดุมบัดเซ่" นักเขียนชาวจอร์เจีย ผู้ซึ่งรักในการเขียนเกี่ยวกับความดีงาม เขาเคยแปลงานของ "ม็อคตา ลูบิส" นักเขียนและนักต่อสู้ชาวอินโดนีเซีย  และเขาเคยแปลอะไรต่อมิอะไรไว้อีกมาก


 


ทางสำนักพิมพ์  "คบไฟ" ซึ่งพิมพ์งานแปลเล่มนี้ขึ้นมาได้เคยจัดให้มีการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องสั้นชุดนี้ไปครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าจำไม่ผิด เมื่อประมาณ 2  ปีก่อน


 


ผมอ่านเรื่องสั้นชุดนี้จบนานมาก คือตั้งแต่พิมพ์ออกมาใหม่ ๆ มีบางประโยค บางตอนที่จับใจ จนผมต้องจดมันไว้ในสมุดบันทึก เช่นประโยคที่ว่า


 


"หนุ่มแน่นอย่างนายไม่ควรอยู่แต่ในบ้าน ถึงแม้ไม่มีงานทำ อย่างน้อยก็น่าจะออกไปหาเหล้าถูก ๆ กินบ้าง!" 


 


นี่เป็นประโยคที่พี่ชายพูดกับน้องชายที่ตกงาน มันเป็นประโยคตลกร้าย ที่ทำให้นึกถึงชีวิตบ้า ๆ บอ ๆ ของตัวเองสมัยวัยทีน


 


แต่มีอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งจับใจเป็นพิเศษคือ   "ฉันอยากจะขอร้องคุณ อยากให้คุณช่วยเมียฉัน ตอนที่ฉันไม่อยู่ ฉันไม่ให้คุณช่วยเปล่า ๆ หรอก แค่ซื้อตัวหล่อนบ้างเป็นบางคราว จะช่วยเราได้มากกว่าการชุมนุมเดินขบวนนั่นเสียอีก" คนพูดประโยคนี้คือสามีของหญิงขายตัว


 


สถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นคึกคักพาให้ผมนึกถึงประโยคนี้ของตัวละคร และหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาตะหงิด ๆ


 


ครับ การชุมนุมเดินขบวนของคนชั้นกลางเพื่อขับไล่ทักษิณที่เกิดขึ้นตอนนี้ช่วยอะไรคนเล็กคนน้อยไม่ได้มากหรอกครับ หรืออาจกระทั่งไม่มีประโยชน์เลย


 


และสำหรับผมแล้ว ความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยไม่ได้มาจากรัฐบาลหรือไม่ได้มาจากทักษิณเพียงอย่างเดียวหรือทักษิณอาจมีส่วนน้อยมากด้วยซ้ำไป แต่ที่แท้แล้วมันก็มาจากพวกคนชั้นกลางที่เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยนั่นแหละ!


 


คนเล็กคนน้อย  ไม่ได้ต้องการบริโภคนามธรรมว่าด้วยความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยแบบนักวิชาการคนชั้นกลางบางส่วนที่มองการณ์ไกล (นักวิชาการคนชั้นกลางที่ใฝ่ฝันถึงประชาธิปไตยในจินตนาการสำหรับประเทศในจินตนการ ที่ซึ่งผู้คนจะได้มีชีวิตในจินตนาการด้วยกัน!)


 


ผมว่า หญิง/ชายหากิน (หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่ากะหรี่) ที่ท้องสนามหลวงและสวนลุมพินีหรือหน้าโรงแรมสยามหรือตามที่ต่าง ๆ  คงจะปรีดาปราโมทย์มากถ้าบรรดานิสิตนักศึกษาจะช่วยเหลือพวกหล่อน/เขาโดยการซื้อบริการของพวกหล่อน/เขาบ้างเป็นบางคราว (แบบเดียวกับประโยคในเรื่องสั้น) แทนที่จะเอาเงินไปถ่ายสำเนาบัตรประชาชนหลายหมื่นใบเพื่อขับไล่ถอดถอนนายกรัฐมนตรี! หรือเพื่อแสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชน!


 


แปลกนะครับ พวกนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน นักวิชาการ รวมทั้งเอ็นจีโอบางส่วน สามารถรับได้หรือเฉย ๆ หรือกระทั่งไม่สนใจกับการมีคนนอนข้างถนน กับการมีคนเร่ร่อนไร้งานทำแย่งอาหารหมามากิน กับการที่คนมอญที่เมืองกาญจน์ถูกไล่ที่  กับการที่เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ เข้าไปขายของในผับและร้านเหล้าตอนดึก ๆ กับการที่ชาวเขาถูกถอนสัญชาติ กับการฆ่าหมู่มุสลิมในมัสยิดกรือเซะและตากใบ กับการทำสงครามอันไร้ความชอบธรรมของอเมริกาต่ออิรัค กับการฆ่าตัดตอนในการทำสงครามกับยาเสพติด กับความทุกข์ยากเดือดร้อนของมนุษย์มนาที่เห็นอยู่ตำตาและมีอยู่มากมายก่ายกอง


 


แต่กลับรับไม่ได้เมื่อนักการเมืองและพ่อค้าฉ้อโกงกันในบ่อน (ตลาดหลักทรัพย์) อย่างถูกกฏหมาย ราวกับว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รับไม่ได้จนต้องออกมาเดินถือป้าย เคลื่อนไหวไปเถอะครับ ไม่เป็นประโยชน์กับกลุ่มคนที่ผมพูดถึงหรอก (เป็นประโยชน์กับพวกคุณเองนั่นแหละ)


 


……..


 


ในความเห็นของผม เรื่องสั้นชุด "หน้ากาก" ไม่ใช่รวมเรื่องสั้นที่ดีมากมายถึงกับที่ต้องแนะนำให้คนนั้น คนนี้ได้อ่าน  แต่ความน่าสนใจประการหนึ่งคงจะอยู่ตรงที่มันเป็นรวมเรื่องสั้นของคนเกาหลีซึ่งหาอ่านไม่ค่อยได้ในแวดวงวรรณกรรมแปลของไทย


 


และที่จริงรวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็แทบไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบรรยากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เพราะรวมเรื่องสั้นชุดนี้พูดถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ (อย่างไร้หน้ากาก) ของคนระดับล่างและปัจเจกชนที่ดิ้นรนไปวัน ๆ  (ซึ่งม็อบไม่สนใจ) แต่อย่างที่บอกคือผมนึกถึงประโยคที่ "แสนจริง" ขึ้นมาในหนังสือแปลเล่มนี้ก็เลยนำมาใช้เพื่อเปิดประเด็นไปสู่เรื่องราวอื่น ๆ


 


ผมรู้สึกประหลาดใจกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา (จะเรียกว่าขบวนการนักศึกษาก็คงจะไม่ถูกต้องเพราะกลุ่มที่ว่านี้มีลักษณะ "เฉพาะกิจ" มากเกินไป ผมค่อนข้างเชื่อว่าบางคนหลังจากประท้วงเสร็จก็อาจจะไปดิ้นหัวโยกหัวคลอนอยู่ที่อาร์ซีเอ. หรือที่ไหนสักแห่ง หรือไม่ก็กลับไปดูรายการตลกทางช่อง 7 สี)


 


ผมคิดว่ากลุ่มนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณน่าจะถูก "ผี"  ของขบวนการนักศึกษาสมัยก่อนหลอกหลอนแล้วเข้าสิง จนตกอยู่ภายใต้วาทกรรมที่ว่านักศึกษาต้องสนใจการเมือง ต้องรักและรับใช้ประชาชนโดยไม่ดูว่าบรรยากาศและเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไปมากแล้ว สมัยก่อนขบวนการนักศึกษาอาจเป็น "ผู้นำกระแส" แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เลย เห็นได้ชัดว่ากลุ่มนักศึกษา "ตามกระแส" อย่างมากและออกมาเคลื่อนไหวทีหลังกลุ่มอื่น    แล้วการเคลื่อนไหวก็ทำได้แย่มาก อาทิ นิสิตนักศึกษา (บางคน) ไปพูดจาประชดเหน็บแนมลูกสาวของทักษิณ !


 


กลุ่มนักศึกษาที่ผมกล่าวถึงไม่แคร์ต่อปัญหาสังคมและวัฒนธรรม แต่กลับฝักใฝ่ปัญหาทางการเมือง?ที่ผูกโยงเข้ากับประเด็นทางศีลธรรม จริยธรรม ,ทักษิณขาดจริยธรรมเพราะไม่เสียภาษีหรือคอรัปชั่นก็ตามแต่ (คงจะเป็นเพราะการเมืองในมิตินี้สามารถตัดสินได้ง่าย) แต่ผมอยากจะบอกว่านักศึกษาหรือใครก็ตามที่สนับสนุนหรือเฉย ๆ ไม่รู้ไม่ชี้ต่อการฆ่าหมู่ชาวมุสลิมมลายูในกรณีกรือเซะและตากใบ แต่กลับเข้าร่วมชุมนุมประท้วงขับไล่นายกฯ ทักษิณ 


 


ในความเห็นของผม ไม่น่าจะเป็นคนที่รักประชาธิปไตยจริง คนที่ยินดีหรือเฉย ๆ กับการที่พลเมืองร่วมประเทศตายในกรณีกรือเซะ ตากใบ และฆ่าตัดตอน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่น่าจะนับได้ว่ามีอุดมการณ์ความคิดแบบประชาธิปไตย


 


กรณีของทักษิณ เป็นเรื่องธรรมดาเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ ในประเทศ สำหรับผม  ทักษิณ จะอยู่หรือไปก็ไม่ใช่ประเด็น 


 


ผมอยากจะเสนอนะว่า ทางที่ดีเอาเงินที่ใช้ในการประท้วงซึ่งหลายครั้งรวมกันก็คงจะหลายล้านบาทไปสร้างโรงนอนให้คนไร้บ้าน สร้างโรงทานให้คนตกงาน  หรือเอาไปให้กะหรี่น่าจะดีกว่าเอาไปทำให้สูญเปล่ากับการเล่นเกมประท้วง


 


ซึ่งสุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าผลประโยชน์จากการนี้จะไปตกอยู่ที่ใคร ประชาธิปัตย์? จำลอง  ศรีเมือง? ประชาชน? 


 


……..


 


ผมว่านะ บางทีม็อบก็เป็นเหมือน "หน้ากาก" อันหนึ่ง  เป็น "หน้ากาก" ที่หลอกว่ารักและรับใช้ประชาชนรักประชาธิปไตย เป็น "หน้ากาก" ที่อำพรางผลประโยชน์ของตัวเองไว้ แต่ลองถอดหน้ากากออกมาสิ คุณจะได้พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง!