Skip to main content

เหล้าตองสีสันข้างถนน (3)

คอลัมน์/ชุมชน

เพื่อนหนุ่มรุ่นน้องคนหนึ่งมาคุยให้ฟังว่า  ต่อไปนี้จะไม่มีเหล้าตองข้างถนนอีกแล้ว เช่นเดียวกับที่ไม่มีบุหรี่ขายแบบแบ่งซอง เพื่อลดการซื้อของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน 


 


บ้างก็เป็นหนึ่งในโครงการกำจัดความยากจน และการจัดระเบียบสังคม แต่บ้างก็ว่าขับไล่คนจนออกไปจากพื้นที่ซึ่งเขายืนอยู่  


 


ฉันก็เลยอยากบันทึกเรื่องราวของร้านเหล้าตองเอาไว้…


 


ศรีสมรวัวย่าง                                                    


 


"ศรีสมรวัวย่าง" ตัวอักษรโตขนาดมองเห็นแต่ไกล มีรูปวัวตัวหนึ่ง  หลานสาวจากบ้านใต้อ่านคำว่า "ศรีสมรวัวย่าง" แล้วหัวเราะอย่างสนุก


 


"คิดดูศรีสมรน่ารักขนาดไหน โอ...ศรีสมร แต่พอต่อท้ายคำว่า วัวย่าง --อารมณ์เปลี่ยนไปเลย" เธอว่า


 


เราไม่ได้หยุดที่ร้านศรีสมรวัวย่างตอนนั้น เพราะรีบไปถ้ำเมืองออน เธออยากไปเที่ยวถ้ำเมืองออน สันกำแพง อยากไปเที่ยวที่มีคนไม่มากนัก และก็ได้ดังใจเพราะเย็นมากแล้ว ไม่มีผู้คนอยู่ที่นั่นเลย เงียบสงบดีเหลือเกิน


 


นอกจากพวกเราแล้วสิ่งมีชีวิตอื่นใดก็ไม่มี พวกเราไม่กล้าเข้าถ้ำ ได้แต่นั่งมองวิวทิวทัศน์ที่งดงาม ยิ่งมืดยิ่งเงียบดูวังเวง


 


กลับไปที่ศรีสมรวัวย่างดีกว่า ยิ่งมืดยิ่งหนาวผู้คนก็มากขึ้น  ศรีสมรไม่ได้ขายวัวย่างอย่างเดียวขายเหล้าตองด้วย


"เขาเรียกวัวหน้อย" ฉันบอกหลานสาว


วัวหน้อยหรือน้อย คือวัวตัวเล็ก ๆ ลูกวัวนั่นแหละ


"อ๋อ…วัวตัวน้อย ๆ น่ารัก ๆ" 


 


วัวหน้อย เอามาทำวัวหัน ที่นี่เขาถือว่าเป็นอาหารสุดยอดเด็ดมาก ไปงานขึ้นบ้านใหม่มาสามครั้งของญาติเพื่อนสามคน มีวัวหันทุกครั้ง ที่นิยมนอกจากอร่อยแล้วดูเหมือนจะง่ายต่อการกินการเสิร์ฟด้วย ย่างวัวหน้อยไว้บนตะแกรง  ใครจะกินก็ไปเชือดเอาเองหรือบางครั้งก็มีหนุ่มที่มีความชำนาญคอยบริการเชือดให้ ดูเท่มาก ท่าเชือดเนื้อ


 


หลานสาวทำตาโตก่อนจะพูดเบา ๆ ว่า


"เดี๋ยวนี้อากินลูกวัวแล้วเหรอ"


ฉันหัวเราะขำเพราะความรู้สึกของคำว่า "กินลูกวัว" กับคำว่า "กิ๋นย่างวัวหน้อย" มันต่างกันมากในความรู้สึก และอารมณ์


 


ก่อนมาอยู่เมืองเหนือ ฉันไม่กินเนื้อวัวเนื้อควาย ทั้งนี้ เพราะฉันอยู่กับเพื่อนที่ไม่กินเนื้อ เพื่อนคนนี้เธอได้กลิ่นก็ไม่ได้ ฉันรู้ว่าเธอต้องทนในขณะที่เรานั่งกินอาหารด้วยกัน เพื่อความสบายใจก็เลยเลิกกินไปเลย


 


เรื่องดื่มเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่


 


อันว่าของหอมของเหม็นมันอยู่ที่จมูกใครจมูกมัน เพราะในขณะที่พวกเพื่อนปฏิเสธกลิ่นเนื้อที่หอม แต่เพื่อนชื่นชอบกลิ่นปลาร้าเป็นพิเศษ  อาหารที่มีทุกมื้อคือส้มตำปลาร้าที่ไม่ใส่อย่างอื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นปูหรือกุ้งแห้ง มีแต่มะละกอ ปลาร้า ไตปลา มะเขือเทศ พริกขี้หนู กระเทียม และปรุงรสด้วยมะขามเปียก มะกอก น้ำตาล น้ำปลา มีไข่ต้มวางเคียงข้าง บางวันก็มีสะตอเป็นผักกินกับส้มตำปลาร้าด้วย  ถ้าเพื่อนบ้านมาพร้อมๆ กันก็จะมีทั้งแจ่วบอง น้ำบูดู สะตอ ชะอม สารพัดของมีกลิ่นรุนแรงทั้งนั้น เพราะมีเพื่อนเป็นคนอีสาน  อาหารอีสานกับอาหารใต้จึงมาเจอกันในครัวเดียว


 


เมื่อมาอยู่เมืองเหนือใหม่ ๆ ฉันพบว่า ผู้คนที่นี่ชอบกินเนื้อ (เขาเรียกเนื้อว่าจิ้น) ทั้งจิ้นหมู จิ้นวัว มีทั้งลาบ ต้มแซบ แกงอ่อมมีเครื่องในด้วย และยังมีประเภทยำ ยำจิ้น จิ้นนึ่ง จิ้นทอด และที่เด็ดสุดคือวัวหน้อยย่าง


 


ครั้งแรกที่มาที่นี่ ได้รับการต้อนรับจากหนุ่มรุ่นพี่ที่แสนดี ซึ่งต่อมาทราบว่าท่านก็ต้อนรับทุกคนอย่างนี้แหละไม่ได้พิเศษอะไรหรือเรียกว่าพิเศษเหมือน ๆ กันก็ว่าได้  ร้านที่ท่านเลี้ยงต้อนรับเป็นร้านอาหารเมือง (อาหารเหนือ) มีแต่จิ้นล้วนๆ ตั้งแต่ลาบจิ้น ต้มแซบ แกงอ่อมเครื่องใน


 


วันนั้น ถ้าใครไม่รู้จักก็จะคิดว่าช่างเป็นคนละเอียดเรียบร้อย จะตักจะกินก็แต่น้อย ค่อยๆ ตักค่อยเคี้ยว สมกับเป็นกุลสตรี (แต่ความจริงแล้วกลืนไม่ลง ไม่คุ้นกับกลิ่นเนื้อและอาหารที่ปรุง)


 


แต่หลังจากที่ตัดสินใจมาอยู่เมืองเหนือ ไม่นานฉันก็ชื่นชอบกลิ่นอาหารพวกนั้นโดยเฉพาะแกงอ่อมน้ำข้น ๆ และวัวหน้อยวัวหันแบบของ "ศรีสมรวัวย่าง" น้ำจิ้มรสเด็ด ได้กลิ่นข่าย่างไฟ ความพิเศษของอาหารเหนือ อยู่ตรงที่ย่างไฟนี่แหละ อะไร ๆ ก็ย่างไฟหมด ไม่ว่าจะเป็นพริกแห้ง พริกสด หอม กระเทียม ข่า ตำไม่ต้องละเอียดนัก เติมน้ำปลา มะนาว แค่นี้ก็อร่อยแล้ว บางร้านใส่ปลาร้าหมกลงไปนิดหน่อยด้วย ปรุงแต่งตามชอบ


 


วันนั้นหลานสาวจากบ้านใต้ก็ได้กินวัวหน้อยเป็นครั้งแรก เธอเคี้ยวไปยิ้มไป เธอคงขำชื่อศรีสมร และขำตัวเองเมื่อพบว่ามันอร่อย กรอบนอกตรงรอยย่างเกรียม ๆ และนุ่มเนื้อด้านใน


                         


หลานสาวคนนี้ เธอมาจากบ้านใต้ เรียนจบมหาวิทยาลัยในภาคใต้ แล้วขอเดินทางท่องเที่ยวก่อนทำงานหาเลี้ยงตัวเอง


 


การเดินทาง จะทำให้เธอได้รู้จักผู้คน  ได้เข้าใจผู้อื่น  ย่อมรับความต่างอย่างเข้าใจ ปัญหาในชีวิตก็จะน้อยลง