Skip to main content

เรื่องจริงในความหลอกลวง ตอน OTOP 4

คอลัมน์/ชุมชน

 


เรื่องที่เขียนมาหลายตอน ผู้เขียนพยายามที่จะไม่ลงรายละเอียดของความขัดแย้งในพื้นที่ ที่เกิดจากการแข่งขันชิงดีชิงเด่นของเพื่อนพ้องน้อง ที่หวังแต่ความร่ำรวย เชื่อเรื่องที่เห็น โดยไม่เฉลียวใจว่าหนทางข้างหน้ามันอาจจะไม่เป็นจริงอย่างที่เห็น 


 


ผู้เขียน เขียนบทความนี้เพื่อบอกข้อเท็จจริงให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ (อย่าเชื่อมากนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก) ส่วนลึกของหัวใจคืออยากจะบอกว่า OTOP ไม่ใช่ทางรอดของชุมชน


 


เพราะการสอนให้ชาวบ้านเข้าใจผิด ว่าต้องผลิตให้ได้มาก ๆ ขายได้มาก ๆ จะได้ร่ำรวยมีเงินมาก ๆ  พูดกันอย่างนี้กรอกหูกันอย่างนี้ทุกวัน ส่งเสริมกันโดยไม่ลืมหูลืมตา โดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง เป็นเป้าหมายที่นำมาล่อ เพื่อให้ชาวบ้านตะกายไปให้ถึง  โดยที่ไม่มีการส่งเสริมความคิด OTOP จึงเป็นนโยบายที่ทำให้ชาวบ้านถูกจับแยกส่วนให้โดดเดี่ยวออกมาจากระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน(เอาเงินนำหน้า ปัญญาเลยไม่เกิด) โดยขาดการมองภาพรวม ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรให้ชาวบ้านเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เอาชีวิต เอาความสุขเป็นเป้าหมาย  OTOP  ไม่ได้อยู่บนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เพราะเศรษฐกิจพอเพียงต้องมีฐานการพึ่งตนเองของครอบครัวของประชาชนเป็นฐานหลัก  และต่อขึ้นไปเป็นฐานการพึ่งพาอาศัยกันของชุมชน


 


ผู้เขียนเองก็เป็นประธานกลุ่มอาชีพของชุมชน (ผลิตปลาหยองและอาหารทะเลแปรรูปหลายชนิด) และอยู่ในจำนวน 18 กลุ่มแรกของการทดลองนโยบาย OTOP เพราะเป็นกลุ่มที่เกิดมาก่อน นโยบายOTOP เพราะฉะนั้นข้อมูลที่นำมาเขียนไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องของความเป็นจริง (จะยอมรับหรือเปล่าไม่รู้)


 


สิ่งที่โดดเด่นของกลุ่มเราคือ เรายืนอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจชุมชนจริงๆ (ไม่ใช่ธุรกิจส่วนตัว) และได้รับคัดเลือกให้เป็น OTOP 5 ดาว ตั้งแต่ปี 2546 (ปีแรกที่มีการให้ดาว) แต่เราก็ไม่เคยหลงระเริงกับชื่อเสียงและคำเยินยอของใคร เรามุ่งมั่นทำเพื่อบ้านเรา (พวกอุดมการณ์เหนือเป้าหมาย) กลุ่มของเรามักไม่เป็นที่รักของหน่วยราชการในพื้นที่ โดยมักถูกกล่าวหาว่าดื้อ แนะนำอะไรก็ไม่ยอมทำ จนถึงขนาดส่งนักวิจัยลงมาวิจัยและแนะนำ ที่สุดผลการวิจัยออกมาว่ากลุ่มของเรามีความเชื่อมั่นในความคิดของตนเองสูง และเป็นกลุ่มที่พัฒนายาก


 


แต่แปลกที่ทุกวันนี้เราก็ยังอยู่ได้ อาจเป็นเพราะเราไม่เคยมุ่งหวังเรื่องส่งออกหรือร่ำรวย แต่ต้องการเพียงทุกคนอยู่ได้  ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี OTOP ก็ตาม เราจึงยังไม่ใช่ 1 ในซากศพ ถึงแม้จะอ่อนแรง  แต่ก็ยังพอมีกำลังที่อยากจะตะโกนดังๆ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกตัวว่า คุณกำลังทำร้ายทำลายชุมชนของเราอยู่ด้วยเงินภาษีของเราเอง เพราะเอาเข้าจริง คนที่ร่ำรวย


 


คือพ่อค้าคนกลางที่ขายเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต  กลุ่มที่ขายวัสดุก่อสร้างและกลุ่มต่างๆ ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องต่างร่ำรวย ส่งผลให้จีดีพีของประเทศขยายตัว แต่ชุมชนล่มสลาย และคงอีกนานกว่าจะรู้สึกตัว และมีกำลังลุกขึ้นมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง 


 


ก่อนจะจบบทความนี้ ผู้เขียนขอฝากข้อคิดให้ท่านผู้อ่านช่วยทบทวน นั่นคือมีการนำตัวเลขที่เป็นรายได้มาแถลงข่าวด้านเดียว แต่ไม่เคยนำรายจ่ายในการผลักดันนโยบายว่าใช้จ่ายเงินภาษีของพวกเขาไปในการนี้เท่าไร ทั้งเรื่องการจัดงานแต่ละครั้ง  เพราะหากพูดถึงเรื่องธุรกิจที่รัฐพยายามที่จะให้ประชาชนมีความชำนาญในด้านการค้าขาย ก็ต้องมีการคำนวณกำไรและต้นทุน เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าของการลงทุน เพราะหากต้องการให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่ในระบบธุรกิจจริง ชาวบ้านต้องร่วมรับรู้ต้นทุนจริง เพราะวันหนึ่งเขาต้องออกไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงเขาจะได้อยู่รอดปลอดภัย แต่รัฐเลือกที่จะไม่บอก  เพราะหากบอกเรื่องมันจะไปกันใหญ่


 


เท่าที่เห็น ค่าใช้จ่ายในการจัดงานเกี่ยวกับเรื่อง OTOP  แต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณมหาศาล  ทั้งค่าเช่าสถานที่จัดแสดงสินค้า ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งแผ่นพับใบปลิว สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งสื่อทีวี  สื่อวิทยุ และป้ายคัดเอาท์ขนาดใหญ่ ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ค่าติดต่อประสานงาน  และยังมีงบที่แจกหน่วยงานราชการแต่ละจังหวัดแต่ละหน่วยงาน เพื่อเกณฑ์คนในพื้นที่มาดูงาน ใครไปงาน OTOP จะเห็นว่ามีการเกณฑ์คนต่างจังหวัดเข้ามามากมายในแต่ละวัน งบทั้งหมดรวมกันเป็นเท่าไร  หากนำมาเปรียบเทียบกับยอดที่ขายได้ มันคุ้มค่ากันไหม  ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังไม่รวมงบที่อุดหนุนลงไปแต่ละพื้นที่ และยังมีงบที่จ้างสถาบันต่างๆ ลงไปวิจัย ไปพัฒนา ไปออกแบบผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ และงบไปดูงานต่างประเทศ 


 


ทำไปทำมาค่าใช้จ่ายที่มาจากภาษีชาวบ้าน  เมื่อเทียบกับยอดขายที่กลุ่ม OTOP ขายได้จริง  มันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย (ชาวบ้านเขาเรียกขาดทุนตั้งแต่ในมุ้ง)  เพราะค่าใช้จ่ายมันบานเบอะกว่ากันหลายเท่าตัว  เรื่องนี้ผู้เขียนเองก็ตอบไม่ได้ (เขาไม่บอก) ท่านผู้อ่านคงต้องติดตามและค้นหา ว่าเรื่องราวมันจะจบอย่างไร คงอีกไม่นานความจริงจะถูกเปิดเผย


 


พบกันตอนหน้าเรื่อง "มุมที่มอง ตอนอายปู่เย็น"