Skip to main content

ร่วมกันฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมา

คอลัมน์/ชุมชน

 


ปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๙ หรือเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุได้บรรยายในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๗ ทศวรรษ  หัวข้อที่ท่านเลือกมาแสดงธรรมคือ "โลกวิปริต"  จะว่าไปแล้วนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ท่านเตือนให้เราตระหนักถึงปัญหาความวิปริตของโลก  แต่ในการบรรยายธรรมครั้งนั้น ท่านได้แจกแจงสภาพการณ์และสาเหตุของความวิปริตดังกล่าวไว้อย่างละเอียด  ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ โลกนี้วิปริตเพราะการคลาดเคลื่อนออกจากหลักธรรม จนตกเข้าไปเป็นทาสของวัตถุนิยม  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเรียกร้องให้ชาวพุทธทั้งหลายพยายามเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา เพื่อพาตนให้หลุดพ้นจากอำนาจของวัตถุนิยม ขณะเดียวกันก็ช่วยกันนำศีลธรรมกลับมา เพราะ "ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกจะวินาศ"


 


ในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีที่ท่านพุทธทาสภิกขุมีชาตกาลครบหนึ่งศตวรรษ  หากชาวพุทธจะบำเพ็ญอาจาริยบูชาถวายแด่ท่าน คงไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าการพยายามนำศีลธรรมกลับมายังแผ่นดินไทย  อย่างไรก็ตาม การนำศีลธรรมกลับมานั้นลำพังการเผยแผ่ด้วยการพิมพ์หนังสือหรือเทศนาสั่งสอน ย่อมไม่เพียงพอ แม้จะพิมพ์หนังสือเป็นล้านๆ เล่ม  หรือเทศนาวันละสมเวลาก็ตาม  แต่ถ้าผู้คนไม่อ่านหรือไม่เข้าวัด และที่สำคัญคือมองไม่เห็นแบบอย่างทางศีลธรรมในชีวิตประจำวันแล้วก็ยากที่ศีลธรรมจะกลับมาแม้กระทั่งในใจของผู้คน


 


อุปสรรคสำคัญที่สุดของการนำศีลธรรมกลับมา มิได้อยู่ที่ว่าเรายังเผยแผ่ศีลธรรมไม่มากพอ  แต่น่าจะอยู่ที่ว่าศีลธรรมทุกวันนี้ไม่สามารถตามทันอธรรมหรือความชั่วร้ายได้ต่างหาก  อธรรมในปัจจุบันได้วิวัฒน์พัฒนาตนเองไปไกลมากเปรียบดังเชื้อโรคที่กลายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนภูมิคุ้มกันในร่างกายตามไม่ทัน  กว่าจะรู้ตัวภูมิคุ้มกันก็ถูกทำลายไปแล้ว


 


อธรรมทุกวันนี้มีอุบายมากมายที่ทำให้มันสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว  อุบายอย่างหนึ่งคือ  การอำพรางตัวเองจนผู้คนมองไม่เห็นว่ามันเป็นอธรรมที่ตรงไหน  ซ้ำอาจเห็นว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เช่น การเพิ่มความโลภในรูปการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  การเอาเปรียบผู้อื่นในนามของการทำกำไรสูงสุด  รวมไปถึงการพนันในรูปของการเล่นหุ้นหรือการซื้อหวยเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน เป็นต้น


 


ยิ่งไปกว่านั้น อธรรมยังรู้จักใช้กฎหมายและกลไกต่างๆ ที่สลับซับซ้อน มา "ฟอก" ตัวมันเองจนกลายเป็นสิ่ง "ถูกต้อง"  หรือไม่ผิดศีลธรรม  อาทิ การหนีภาษีโดยใช้วิธีการเล็ดลอดไปตามช่องว่างของกฎหมายต่างๆ  จนนอกจากจะไม่ผิดกฎหมายแล้ว ยังกลายเป็นความชอบธรรมไปด้วยซ้ำ


 


การขายหุ้นเป็นเงิน ๗๓,๐๐๐ ล้านบาทโดยไม่เสียภาษีแม้แต่สลึงเดียวของครอบครัวชินวัตร เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการซิกแซ็กอย่างสลับซับซ้อนจนทำให้สิ่งที่เป็นอธรรมนั้นกลับกลายเป็นความถูกต้องได้  แม้ในชั้นแรกเป็นเพียงความถูกต้องในทางกฎหมาย  แต่ไม่ช้าไม่นานก็จะกลายเป็นความชอบธรรม และที่สุดกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกันโดยไม่รู้สึกละอาย


 


การเสียภาษีเมื่อมีรายได้มหาศาลนั้นไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น  แต่ยังเป็นหน้าที่ทางศีลธรรม เพราะเป็นการตอบแทนประเทศที่มีส่วนช่วยให้บุคคลมีรายได้เพิ่มพูนขึ้น (ลองนึกดูว่าหากประเทศไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เขาจะมีรายได้มหาศาลจากการขายหุ้นได้อย่างไร) ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายรายได้เพื่อช่วยเหลือเจือจุนแก่ผู้ยากไร้  ดังนั้นการเลี่ยงภาษีทั้ง ๆ  ที่มีรายได้มหาศาล  แม้จะทำให้ถูกกฎหมายเพียงใดก็ตาม  จึงไม่อาจเป็นการกระทำที่ถูกจริยธรรมไปได้เลย  ยิ่งการกระทำดังกล่าวมีนายกรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในฐานะผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ผลักดันกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่การกระทำดังกล่าว  จึงนับว่าผิดจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง


 


การที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการเลี่ยงภาษีดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้อง  นับเป็นสัญญาณอันตรายที่ชี้ชัดว่า ทุกวันนี้อธรรมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากจนศีลธรรมตามไม่ทันเสียแล้ว  นี้ถือเป็นความล้มเหลวของศีลธรรมในเมืองไทยเลยทีเดียว   สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเราสอนศีลธรรมกันอย่างโบราณไม่สมสมัย  จนผู้คนเข้าใจเพียงว่าศีลธรรมมีแค่ ๕ ข้อเท่านั้น  ในเมื่อการเลี่ยงภาษีไม่จัดว่าผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งใน ๕ ข้อ  ก็เลยไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม  ยิ่งการเลี่ยงภาษีนั้นผ่านกระบวนการที่สลับซับซ้อนจนกลายเป็นถูกกฎหมาย ก็เลยเห็นเป็นการระทำที่ถูกต้องไปเลย โดยไม่เฉลียวใจเลยว่ากฎหมายเหล่านั้นก็ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อฟอกสิ่งที่เป็นอธรรมให้กลายเป็นความถูกต้อง


 


น่าแปลกก็ตรงที่ว่าใครก็ตามที่ซื้อซีดีหรือโปรแกรมที่ไม่ได้รับอนุญาต  เขาจะถูกชี้หน้าทันทีว่าเป็นขโมย  แต่แล้วเมื่อนายทุนไม่ยอมจ่ายภาษีทั้งๆ ที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่ประเทศควรได้รับ  กลับไม่ถือว่าเป็นการขโมย  อะไรทำให้เกิดความแตกต่างได้ขนาดนั้น  คำตอบก็คือ ศีลธรรมทุกวันนี้นายทุนเข้ามามีส่วนกำหนดอย่างสำคัญ  ในเมื่อการซื้อซีดีหรือโปรแกรมที่ไม่ได้รับอนุญาต  ทำให้นายทุนขาดรายได้มหาศาล  เขาจึงกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นการขโมยอย่างหนึ่ง  ในขณะที่การหนีภาษีหรือการกดค่าแรงคนงานในโรงงานนั้นไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียประโยชน์ จึงไม่ถือว่าเป็นการขโมย


 


เห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้ศาสนาตามไม่ทันอำนาจเงิน  เป็นเหตุให้ศีลธรรมไม่สามารถตามอธรรมได้ทัน  หากเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ก็ไม่มีหวังว่าศีลธรรมจะกลับมาได้  ดังนั้น สิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วนคือการพัฒนาระบบศีลธรรมให้เท่าทันอธรรมด้วยการสร้างบรรทัดฐานทางศีลธรรมอย่างสมสมัย  ไม่ว่าจะคอรัปชั่นด้วยวิธีซับซ้อนเพียงใด เช่น คอรัปชั่นแบบบูรณาการหรือคอรัปชั่นเชิงนโยบาย  หรือไม่ว่าจะหนีภาษีด้วยวิธีใด ซุกหุ้นในชื่อคนใช้ โอนหุ้นกลับไปกลับมาหรือเปลี่ยนมือผู้ถือครองกี่ขั้นตอนก็ตาม  แม้จะถูกกฎหมาย (เพราะเขียนโดยเหล่าอธรรม) ก็ยังถือว่าผิดศีลธรรมอยู่ดี ไม่มีวันถูกต้องชอบธรรมไปได้  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่ว่าอธรรมจะซิกแซ็กไปตามซอกเล็กซอกน้อยเพียงใดก็ตาม  แต่เมื่อมันปรากฏต่อสู่สาธารณะ ศีลธรรมหรือศาสนาก็สามารถตามทันและชี้หน้ามันได้ทันทีว่าเป็นสิ่งผิดศีลธรรม


 


การสร้างบรรทัดฐานทางศีลธรรมนั้น มิอาจกำหนดโดยคนใดคนหนึ่ง  หากแต่ต้องอาศัยฉันทามติของสังคม หรืออย่างน้อยก็ต้องช่วยกันผลักดันให้เป็นสำนึกร่วมของคนทั้งสังคม  การเทศนาบนธรรมาสน์หรือสั่งสอนในชั้นเรียนเป็นวิธีการหนึ่ง  แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการสร้างความตื่นตัวให้แก่สังคมทุกครั้งที่มีการทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมขึ้นมา  กรณีซุกหุ้นและไม่จ่ายภาษีของครอบครัวนายกรัฐมนตรีเป็นเหตุการณ์ที่บั่นทอนศีลธรรมของสังคมไทยอย่างร้ายแรง  หากปล่อยให้ผ่านเลยไป ย่อมกลายเป็นบรรทัดฐานที่เลวร้ายของสังคมไทยเป็นอีกนาน  และนั่นหมายถึงชัยชนะของอธรรมพอๆ กับที่เป็นความพ่ายแพ้ของศีลธรรม


 


ด้วยเหตุนี้  การลุกขึ้นมาคัดค้านการกระทำดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพยายามฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมา  นี้คือโอกาสสำหรับการสร้างบรรทัดฐานทางศีลธรรมให้เข้มแข็งและสมสมัย  แต่จะทำเช่นนั้นได้ ข้อสำคัญก็คือการคัดค้านนั้นจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักศีลธรรมด้วย  กล่าวคือ ตั้งมั่นในสัจจะ ไม่โกหกใส่ร้าย หรือใช้กลอุบายทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ  พึงมีขันติธรรมและเมตตาธรรมต่อผู้ที่เห็นต่างไปจากตน  ไม่มองเขาเป็นศัตรู  ไม่ว่าจะเห็นต่างกันเพียงใด  เราก็เป็นเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนมนุษย์ พึงมั่นคงในสันติวิธี  หลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ว่าโดยวาจาและการกระทำ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่พลังทางศีลธรรมจะกลับมาเข้มแข็งและนำสังคมไทยไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง