Skip to main content

ห้องเรียนชีวิต….ไม่มี "หน่วยกิต"และ"ติดรอ"

คอลัมน์/ชุมชน



 



แม้ว่าจะต้องเรียนหนังสือตามตำรา วิชาที่อาจารย์จะต้องเข้าสอนตามปกติ หรือต้องเตรียมตัวเพื่อสอบปลายภาคของเพื่อนนักศึกษาอีกหลายชีวิต แต่เพื่อนมิตรนักศึกษาหลายๆ คนต่างล้วนเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  โดยเฉพาะปรากฏการณ์เรียกร้องให้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งและปฏิรูปการเมืองรอบสองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง



 


เพื่อนๆ นักศึกษาหลายคนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมรณรงค์ในขบวนการครั้งนี้ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเทศกาลการสอบก็ตาม


 


ตามที่ผมเข้าใจก็คือว่าหากนักเรียนหรือนักศึกษามีเวลาเข้าเรียนไม่ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ก็จะได้รับ "มส" หรือ "ไม่มีสิทธิสอบ" และหากไม่ได้ส่งงานที่สำคัญตามที่อาจารย์สั่งไว้ ก็จะได้ "" เพื่อเป็นการเตือนว่าต้องให้ส่งงานเสียก่อนจึงยกเลิก "" และจะได้เกรดตามผลสอบที่คะแนนปรากฏออกมา (แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าโรงเรียนยังใช้กฎนี้อยู่หรือเปล่า)


 


การเรียนในห้องเรียนสถานศึกษา นักเรียน นักศึกษาจะต้องเข้าเรียนและนั่งฟังอาจารย์บรรยายหรือจัดกระบวนการสอน เมื่อมีงานที่อาจารย์สั่งก็ต้องเร่งทำส่งให้ทันเวลาที่กำหนด ขณะที่ปัจจุบันกระแสเรื่องการศึกษาทางเลือกก็ถือเป็นอีกกระแสหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนส่วนต่างๆ ที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาในสถาบัน


 


หัวใจของการศึกษา คือการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะในการดำเนินชีวิตในสังคมและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข พอเพียงและพึ่งตัวเองได้


 


นับตั้งแต่การชุมนุมเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เรื่อยมาจนถึง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ณ ท้องสนามหลวง ถือว่าเป็นช่วงบรรยากาศที่เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้อย่างแข็งขัน


 


ย้อนกลับไปกับคำถามที่ผมได้เอ่ยไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันคิดด้วยกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิด "พื้นที่ทางอุดมการณ์" แก่เยาวชน คนหนุ่มสาวในสถานภาพต่างๆ ซึ่งคำถามนี้ทำให้ตั้งคำถามต่อไปอีกถึงระบบการศึกษาในปัจจุบัน ว่าได้ทำให้เยาวชน คนหนุ่มสาวที่เรียนในสถาบันได้เรียนรู้และซึมซับหรือเรียนรู้หัวใจ อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด


 


อาจกล่าวได้ว่ายิ่งเรียนมากเท่าใด ก็ยิ่งมองไม่เห็นความสัมพันธ์ของตัวเองกับสังคมมากขึ้นเท่านั้น  เพราะหากมองระบบการศึกษาในปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยเอื้อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่เห็นคือระบบการศึกษายังเป็นการแข่งขัน ชิงดี ชิงเด่นและไม่ได้ทำให้เยาวชน คนหนุ่มสาวได้ตั้งคำถามกับชีวิตและสังคมรวมถึงการแสวงหาคำตอบนั้นด้วยตัวเอง แต่ตรงกันข้ามระบบการศึกษาจะมีความรู้เป็นแท่งๆ แบบสำเร็จรูป ที่พร้อมจะยัดใส่หัวของคนหนุ่มสาวที่เรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน


 


ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาในอนาคตพบว่า วิชาที่เกี่ยวข้องหรือตอบสนองต่อกลไกของตลาดทุนนิยมจะเป็นวิชาที่รัฐ/ สถาบันการศึกษาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ บริหารธุรกิจ เป็นต้น แต่วิชาที่เรียนรู้สังคมและตั้งคำถามกับระบบสังคม ความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมกลับได้รับความสำคัญน้อยลง อาทิ วิชาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์


 


ข้อมูลดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งสอดคล้องกับการแปรรูปมหาวิทยาลัยของรัฐให้ออกนอกระบบ โดยอาจจะส่งผลให้รัฐอาจลดการอุดหนุนงบเพื่อการศึกษาแก่สถาบันนั้นๆ ทำให้มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบสูงจนนำไปสู่การยกเลิกระดับเพดานการศึกษา  ซึ่งจะคิดแต่เพียงว่าคุ้มไม่คุ้ม ได้กำไรหรือขาดทุน สิ่งเหล่านี้เป็นผลที่ทำให้นักศึกษาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษามากยิ่งขึ้น


 


ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษาบางคนที่เคยกู้ยืมเงินจากรัฐนั้น  ปัจจุบัน รัฐได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบใหม่คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต (ICL) ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าซึ่งนักศึกษาทุกคนต้องกู้เงินจากกองทุนนี้


 


จากข้อมูลที่ได้กล่าวถึงข้างต้น เห็นถึงความสอดคล้องระหว่างการแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกับกองทุน ICL ดูเหมือนว่าเป็นการสร้างกรอบให้นักศึกษาต้องเรียนให้จบและเข้าไปสู่ตลาดแรงงานในระบบทุนนิยม เข้าไปทำมาหากินเพื่อใช้หนี้กองทุน ICL และหากต้องเรียนเพื่อเป้าหมายคือต้องมีงานทำ แข่งขันทำมาหากินและนำไปสู่การแยกตัวเองออกจากสังคมและมีความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น


 


ยิ่งระบบการศึกษาผลิตคนเพื่อเขาสู่กลไกตลาดทุนนิยมมากเท่าไหร่ ความเข้าใจในชีวิตและระบอบประชาธิปไตยกลับลดลงเรื่อยๆ และเพิ่มช่องว่างระหว่างกันมากยิ่งขึ้น


 


แต่อย่างไรก็ตาม  เราเองก็อาจต้องร่วมกันตั้งคำถามกับระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อให้พวกเราได้เรียนรู้ในสิ่งที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ หรือร่วมกันสร้างกระแสความตื่นตัวในการแสดงออกทางการเมือง เรียนรู้การเมืองที่นอกเหนือไปจากความเข้าใจที่ว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะสิ่งที่พบในปัจจุบันได้เห็นรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีปราศรัย รณรงค์ในสถานศึกษาให้นักศึกษาตื่นตัวทางการเมือง รณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อถอดถอดนายกฯ จัดเวทีเสวนาศึกษาผลกระทบของประชาชนจากระบอบทักษิณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ในเชิงบวกที่ทำให้นักศึกษาออกมาทำกิจกรรมและตื่นตัว จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น


 


นอกจากนี้แล้วการชุมนุมของประชาชนตามจุดต่างๆ ในแต่ละจังหวัด แต่ละภาคเรื่อยมาจนถึงท้องสนามหลวง ถือว่าเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่นอกจากเยาวชน คนหนุ่มสาวจะเข้าร่วมเพียงแค่รับฟังการปราศรัย หากแต่การพูดคุย แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านที่มาจากพื้นที่ต่างๆ มาจากปัญหาที่หลากหลายยิ่งทำให้ได้เปิดมุมมองของตนเองและถือเป็น "ห้องเรียนชีวิต" ที่น่าจะใช้โอกาสนี้ค้นหาความหมาย ศึกษาชีวิตของผู้คน ชาวบ้านในแง่มุมต่างๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่เผชิญปัญหาต่างๆ โดยตรง


 


ขณะเดียวกัน แม้ว่า "ห้องเรียนชีวิต" จะไม่มีหน่วยกิต หรือไม่ต้องกังวลเรื่องติด "" แต่อย่างน้อยการเรียนรู้ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเข้าใจและเห็นว่าตัวเยาวชน คนหนุ่มสาวเองสามารถอะไรได้มากกว่าการเรียนในสถาบันเพียงอย่างเดียวที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ที่ใช้ไม่ค่อยได้ในชีวิตจริงๆ


 


ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราอาจต้องตั้งคำถามว่า ห้องเรียนในระบบการศึกษาตามสถาบันทั่วไปได้ทำให้คนเข้าใจชีวิต แสวงหาคำตอบของตัวเองและตั้งคำถามกับสังคมที่ไม่เป็นธรรม ตั้งคำถามกับผู้นำที่ไร้จริยธรรมได้มากน้อยเพียงใด เพราะหากไม่ได้คำตอบก็จำเป็นต้องทบทวนกันถึงระบบการศึกษาอย่างจริงๆ


 


หรือ ต้องร่วมกันสร้าง "ห้องเรียนชีวิต" ให้แพร่ขยายต่อไปในวงกว้าง ด้วยรูปแบบ เนื้อหาที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม