Skip to main content

การฉวยโอกาสบนความไม่รู้ของพี่น้องชาวบ้าน

คอลัมน์/ชุมชน


การประกาศยุบสภาของนายกทักษิณ ชินวัตร อยู่ในภาวะที่พี่น้องชาวบ้านยังไม่มีโอกาสรู้ข้อมูลจริงอีกหลายเรื่อง


 


มีกรณีชาวบ้านในเชียงใหม่กำลังระส่ำระสายกันว่า หากไม่เลือกนายกฯ จากไทยรักไทยเข้ามาอีก โครงการหลักประกันสุขภาพ (30 บาท) จะถูกยุบไปด้วย ซึ่งเป็นที่วิตกกังวลของชาวบ้านจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องหวยบนดินด้วย ชาวบ้านคนแทงหวยกลัวว่าจะไม่ได้แทงหวยอย่างสบายๆ อีกต่อไป


 


นี่เป็นความไม่รู้เพียงบางส่วนเท่านั้นของชาวบ้าน ว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วนั้นไม่ใช่เป็นคำสัญญาด้วยลมปากเท่านั้น แต่มีการสร้างกลไกต่างๆ มารองรับโดยเฉพาะในการจัดทำเป็นตัวบทกฎหมายรับรองการดำเนินงานนั้น เช่น โครงการ 30 บาท ได้มีการออกกฎหมายมารองรับในชื่อว่า พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ.2545 ดังนั้นแม้จะมีการยุบสภา ทำให้นายกฯ และรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้รักษาการตำแหน่งนั้นๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายต่างๆ จะถูกยุบไปด้วย


 


เช่นนี้แล้ว ชาวบ้านที่จะต้องออกไปเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ก็เป็นการไปเลือกตั้งอย่างไม่อิสระในความรู้ความเข้าใจเท่าไรนัก   และก็ไม่มีกระบวนการใดๆ จะช่วยให้เกิดความกระจ่างในเรื่องเหล่านี้ รวมถึงระยะเวลาที่ให้เตรียมตัวก่อนการเลือกตั้งก็มีน้อยมากคือแค่สามสิบวัน ทำให้การดำเนินการของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะออกปราศรัยหาเสียงเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนก็ทำได้น้อย  ไม่ต้องพูดถึงกลไกอิสระอื่นๆ ที่จะให้มีการให้ข้อมูลกับชาวบ้านอย่างรอบด้าน เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎรได้ 


 


ดังนั้น การเลือกตั้งใหม่ก็คงจะได้ ส.ส.หน้าเดิมๆ เข้ามา และปัญหาหลายเรื่องที่รัฐบาลชุดเดิมดำเนินการอย่างไม่โปร่งใสก็จะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี (เอฟทีเอ)  ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท) อย่างแท้จริง


 


จากการศึกษาข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่ยื่นต่อไทยในการเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 6 ที่เชียงใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับการค้าสินค้าทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยเสียเปรียบทุกประตูเพราะเรายังไม่มีความสามารถผลิตสินค้าที่จะนำไปจดสิทธิบัตรได้ในจำนวนมากพอสำหรับไปตีตลาดสหรัฐอเมริกาได้ เรามีเพียงสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ข้าวหอมมะลิ สินค้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และรถยนต์ปิ๊กอัพที่รอเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น  ในขณะที่สินค้าที่มีสิทธิบัตรจากสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาผูกขาดตลาดบ้านเราอย่างเต็มที่ เช่น ยารักษาโรค ที่บริษัทผลิตยาจะเข้ามาวางตลาดขายบ้านเรา พร้อมกับการจดสิทธิบัตรไว้ด้วย เพื่อให้ได้สิทธิผูกขาดตลาด ผูกขาดราคา และปริมาณการขาย เพียงเจ้าเดียวอย่างยาวนานถึง 20 ปี


 


เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นที่พอใจของสหรัฐอเมริกา ดังข้อเสนอที่ยื่นมาในการเจรจารอบ 6 คือขอให้มีการยืดเวลาออกไปอีก หากไทยดำเนินการเรื่องการออกสิทธิบัตรล่าช้า แถมไม่พอยังเอื้อมมือล้วงลูกไปยังกลไกของรัฐไทยในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ คือมีการยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ต้องไม่เอื้ออำนวยต่อการขึ้นทะเบียนยาของบริษัทยาท้องถิ่นในการวางตลาดยาชื่อสามัญที่มีคุณสมบัติเหมือนยาราคาแพงที่ติดสิทธิบัตร แต่มีราคาถูกกว่าหลายเท่า เพราะต้องการผูกขาดอย่างเต็มที่ 


 


นี่คือเรื่องที่น่ากลัวมาก ที่อาจทำให้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติล้มละลายไปได้  นี่คือเรื่องจริงแท้กว่าการจะไปเลือกหรือไม่เลือกตั้งเพราะกลัวว่าโครงการ 30 บาทจะยุบไปด้วย   หากปล่อยให้มีการผูกขาดราคายาได้ จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเผชิญกับความสั่นคลอนมหาศาล เพราะเงินค่าใช้จ่ายจะไม่เพียงพอในการซื้อยาราคาแพงมารักษาพี่น้องชาวบ้านทุกคน


 


นอกจากนี้ ยังมีการยื่นข้อเสนอว่า ไทยต้องออกสิทธิบัตรเรื่องการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการรักษาโรค นั่นคือหากมีการจดสิทธิบัตรการรักษาโรคใดๆ ด้วยวิธีการนี้ ด้วยยาตัวนี้  แพทย์ไทยไม่สามารถเลียนแบบได้เลย หากจะใช้วิธีการรักษาเดียวกันจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้เจ้าของสิทธิ  ลองคิดดูว่ามันจะทุลักทุเลกันเพียงใด และมันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพปั่นป่วนเพียงใด


 


ยังไม่นับรวมการบีบบังคับให้ไทยต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์สัตว์ใหม่ ที่มาจากการนำพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์พื้นเมืองไปศึกษาต่อยอด ตัดต่อพันธุกรรม แล้วนำมาจดสิทธิบัตร  ซึ่งทำให้เราไม่อาจเป็นเจ้าของพันธุ์พืชดั้งเดิมของเราต่อไปอีกได้


 


ดังนั้น การฉวยโอกาสที่คนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ยังสับสน ย่อมไม่เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่จะทำให้คนมีอิสระทางความรู้ ความเข้าใจ และความคิด  ในการเลือกตัวแทนไปบริหารประเทศ