Skip to main content

‘๒ ปี ที่จากไป’ กรณีทนายสมชาย..ใต้เงา ‘รัฐบาลทักษิณ’

คอลัมน์/ชุมชน


วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙ ทนายสมชาย นีละไพจิตร จะสาบสูญไปครบ ๒ ปี...


 


แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงและแหลมคม คงทำให้หลายคนหลงลืม หรือกระทั่งมองข้ามวาระอันสำคัญยิ่งนี้ไปเสีย ทั้งที่จะว่าไปแล้ว "กรณีทนายสมชาย" ก็เป็นภาพสะท้อน ‘ความเป็นทักษิณ’ หรือ ‘ความเป็นรัฐบาลทักษิณ’ ได้ไม่น้อยไปกว่ากรณีซุกหุ้น กรณีขายหุ้น กรณีตระบัดสัตย์ ความร้อยเล่ห์กะลาวน หรือความโป้ปดมดเท็จ ตลอดจนความฉ้อฉลที่ซับซ้อน ในหลายต่อหลายเรื่อง และหลายต่อหลายกรณีที่เกี่ยวกับนายกฯ ทักษิณ หรือเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทักษิณ แต่อย่างใดเลย


 


สำหรับผู้สนใจ คงจะจำกันได้ว่าการสูญหายของ ‘ทนายสมชาย’ นั้น เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเนื่องอยู่กับความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายไทย ซึ่งจะมากจะน้อยก็อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ ทั้งในส่วนของข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมือง ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ระดับนโยบาย


 


แน่ละว่าด้านหนึ่งเป็นความบกพร่องของ ‘ระบบและโครงสร้าง’ แต่ขณะเดียวกัน มีใครบ้างที่จะอาจหาญปฏิเสธ ว่านี่มิใช่ความย่อหย่อนและพลาดผิดของบุคคลต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม


 


ถึงบัดนี้ จากข่าวสารและรายละเอียดทางคดี คงเป็นที่ทราบกันไม่น้อย ว่าเพราะทนายสมชาย นีละไพจิตร มุ่งช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมผู้ด้อยโอกาส หรือบุคคลชายขอบ อันอยู่ในฐานะ "ชนกลุ่มน้อย" หรือ "คนส่วนน้อย" ของสังคม ซึ่งถูกคนของรัฐละเมิดสิทธิ และรัฐปฏิเสธความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ทั้งยังซ้ำเติมใส่ร้าย ประทุษร้าย และจับกุมคุมขัง ฯลฯ นั่นเอง ที่เป็นสาเหตุให้ "คนชั่วของรัฐ" จำนวนหนึ่ง ปฏิบัติการในลักษณะ "อุ้มฆ่า-ทำลายศพ" จนไม่สามารถติดตาม หรือค้นหาหลักฐานยืนยันการมีชีวิตอยู่หรือการเสียชีวิตของทนายสมชายได้


 


นี่ย่อมเป็นประจักษ์พยาน หรือปรากฏการณ์บ่งชี้ที่สำคัญอย่างน้อย ๒ ส่วน...


 


กล่าวคือ ด้านหนึ่ง ในกรณีนี้ "รัฐ" โดยนโยบาย โครงสร้าง และบุคลากร ปฏิบัติงานด้วยความผิดพลาดและบกพร่องอย่างร้ายแรงและจงใจ มุ่งทำร้ายและรังแก "คนในรัฐ" ด้วย "อำนาจ" อันปราศจาก "ความเป็นธรรม"


 


ขณะที่อีกด้านหนึ่ง โดยเนื่องกับสถานการณ์ที่ว่ามาข้างต้นนั้น เมื่อมีบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร-เครือข่าย ซึ่ง ‘มิใช่’ หรือ ‘มิได้อยู่ในอำนาจรัฐ’ แต่อาศัยจิตใจรักความเป็นธรรม เห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ หรือเห็นแก่ความถูกต้องดีงาม ได้ตัดสินใจเสียสละด้วยประการต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ (ซึ่ง ‘ควรจะ’ หรือ ‘ต้อง’ เป็นงานของรัฐหรือของคนของรัฐนั่นเอง) แก้ไขปัญหา ก็กลับมาถูกกระทำจาก "คนของรัฐ" ซึ่งเป็น "คนมีสี" หรือ "มีตำแหน่งหน้าที่อำนวยความยุติธรรม" ตลอดจน ‘มีอำนาจรัฐในกำมือ’ นั่นเอง ที่หันปากกระบอกปืน หรือหันคมศาสตราวุธเข้าใส่ อย่างปราศจากหิริโอตตัปปะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โลกบาลธรรม" อันหมายถึงธรรมคุ้มครองโลก คือ ปกครองควบคุมใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม และให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อยสงบสุข ไม่เดือนร้อนสับสนวุ่นวาย (มี ๒ ประการดังที่ยกมาข้างต้น คือ ๑. หิริ ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว และ ๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว)


 


การที่ "รัฐบาลทักษิณ" มุ่งแก้ปัญหาด้านหนึ่ง ด้วยการกระทำความรุนแรงอันร้ายแรงยิ่งทับซ้อนขึ้นมา ไม่ว่าจะกระทำเองโดยตรง สั่งการให้กระทำ หรือปล่อยปละละเลย ตลอดจนยุยงส่งเสริม หรือกระทั่ง "แกล้งหลับตาเสียข้างหนึ่ง" ทำเป็นไม่รับรู้ ตลอดจนมิได้ใส่ใจจะดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ถึงที่สุด จึงเป็นข้อพิสูจน์ความบกพร่องล้มเหลว การไร้ศักยภาพ ไร้ประสิทธิภาพ และปราศจากความชอบธรรม ที่จะทำหน้าที่ "รัฐบาล" ได้อย่างเพียงพอ หรืออย่างชัดเจนอยู่แล้ว โดยแทบมิพักจะต้องกล่าวถึงความบกพร่องในด้านอื่นให้มากความ


 


และหากกล่าวให้ถึงที่สุด กรณี ทนายสมชาย นีละไพจิตร ก็เป็นเพียง ๑ ใน ๒๑ กรณี ที่มีการเข่นฆ่าและปรากฏเป็นข่าวใหญ่ ของการทำลายล้าง "นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน" ภายใต้ หรือภายในวันเวลา ของการปกครองประเทศ โดยรัฐบาล ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นผู้นำสูงสุดนั่นเอง


 


ดังนั้น เมื่อจะกล่าวถึงการขับไล่รัฐบาล การขับไล่นายกรัฐมนตรี ที่มีประชาชนจำนวนมากพากันส่งเสียงกระหึ่มอยู่ทุกหย่อมหญ้าในขณะนี้ จึงนอกจากจะมีขึ้นเพื่อ "ปฏิรูปทางการเมือง" และ "ทวงคืนสมบัติชาติ" แล้ว อีกด้านหนึ่ง ก็ยังเป็นการทวงถามถึง "ความเป็นธรรมทางสังคม" และตรวจสอบค้นหาผู้ต้องรับผิดชอบไปด้วยพร้อมๆ กัน


 


คนปล้นชาติปล้นแผ่นดินย่อมสมควรที่จะถูกขับไล่ คนที่ส่งเสริมให้มีการเข่นฆ่ารังแกผู้คนในรัฐ และเป็นคนที่ปราศจากคุณธรรม-จริยธรรม ย่อมปราศจากความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่นำพาประเทศชาติ ในฐานะตัวแทนปวงชน หรือในฐานะผู้นำรัฐบาลก็ตาม


 


การปล่อยให้คนชั่วเป็นใหญ่นั้นเป็นบาปร้าย เช่นเดียวกับการดูดายมิได้ขับไล่ศัตรูร้ายของแผ่นดินย่อมเป็นอกุศลกรรมอันลึกซึ้งและโดยตรง เพราะนั่นย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้มารขัดขวางความเจริญแห่งธรรมของคนในรัฐ


 


อันเป็นมหันตภัยของแผ่นดิน และอนาคตของประเทศชาติโดยตรง...


 


ทนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหายไปจนจะครบ ๒ ปีอยู่ในไม่ช้านี้ โดยที่ภรรยาและบุตร ตลอดจนสังคมก็ยังมิได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงใดๆ จากรัฐไทย ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็อาจเป็นด้วยการที่สังคมและประชาคม-ประชาสังคม ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ต่างพากันทอดธุระ มิได้มีปฏิบัติการใดๆ ออกมาให้ปรากฏโดยภาพรวม หรือเป็นรูปธรรมอย่างที่ควรจะเป็น อยู่ด้วยเช่นกัน


 


แต่เชื่อว่าโดยสามัญสำนึก คงไม่มีใคร (นอกจากบรรดาผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัย) ที่จะประสงค์ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น


 


สุดท้ายก็คงได้แต่หวัง ว่าความอ่อนแอพลั้งพลาด และการไร้เอกภาพ ตลอดจนขาดพลัง อันเกิดจากการรวมหมู่ของภาคประชาชนและพันธมิตรอย่างไร้ความเข้มแข้งและชัดเจน ต่อกรณีทนายสมชาย จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ในการขับไล่โจรปล้นแผ่นดิน หรือการฟื้นฟูอธิปไตยของปวงชน


 


หาไม่ เราอาจกลายเป็นเพียงเหยื่อ และมิอาจทำอะไรได้มากไปกว่าการถีบส่งให้ทรราชสะดุดเท้าตนเองล้มลงบนฟูก โดยยังสามารถเสวยสุขได้ตราบสิ้นชีวิต เพิ่มขึ้นอีกรายหนึ่ง


 


เท่านั้นเอง...