Skip to main content

มิติแห่งความคิด

คอลัมน์/ชุมชน






เพราะความจเปนบางประการ ผู้เขยนไดเดินทางมาเมืองไทยแบบกะทนหนเลกนอย ในชวงเดนทางมา กทม.  คนถามถงความเหนที่อการเมองไทย ซึ่งก็ตอบได้ยากเพราะว่าต้องระวังว่าเป็นการตั้งคำถามล่อเป้าหรือไม่ ยอมรับว่าเป็นช่วงที่การเมืองไทยมีความอ่อนไหวมาก  และแพร่ขยายมายังการสื่อสารระดับบุคคล ซึ่งอาจโดน "โคว้ต" ได้  ไม่ว่าคนนั้นจะดังหรือไม่ดังในสังคมไทย


 


ขณะที่พิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้ เป็นตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๒ มีนาคม ซึ่งยังคงมีความไม่ชัดเจนมากกว่าเดิม เป็นเพราะว่ามีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดในอนาคตอันใกล้


 


ผู้เขียนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับในประเทศด้อยพัฒนาในทุกด้าน แต่มองว่า เป็นเรื่องที่บ่งชี้สำนึกทางการเมืองของสังคมไทยที่กำลังพัฒนาไปพร้อมๆ กับด้านอื่น  คนไทยตอนนี้ไม่ได้นอนใจกับการเมืองแบบแต่ก่อน ส่วนคุณภาพในการคิด ในการมอง อาจยังไม่ไกลถึงไหน  เมื่อถึงตอนนี้ผู้เขียนก็ขอออกตัวว่า ไม่ได้เป็นการดูถูกสังคมไทย แต่เป็นการมองแบบความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และสามารถเข้าใจได้อย่างไรในมุมมองทางการสื่อสาร


 


บทความนี้จะกล่าวถึงอีกครั้งกับลักษณะการมองและคิดที่อาจช่วยกระตุกความคิดของคนไทยเสียใหม่ ไม่ใช่ให้มองเพียงด้านเดียว และความต่างทางความคิดไม่ใช่เรื่องลบเสมอไป นอกจากจะมี "แรงจูงใจ" เพื่อประโยชน์ส่วนตนเนื้อๆ  ไม่ได้มีสำนึกแบบที่เรียกว่า "civic mind"


 


เรื่องแรกที่ต้องมองคือ ชุดค่านิยมในสังคมไทย ในมุมมองทางการสื่อสารที่เน้นแนวคิดเรื่อง "สังคม-วัฒนธรรม" ความสำคัญของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าที่เพียงจะมองแค่ว่า กลไกทางเมคคานิคที่มองแค่การส่งสาร-รับสารเท่านั้น  แต่หากมองลงไปว่ากระบวนการสร้างสาร-รับสาร (ตีความสาร) นั้นอยู่ที่บริบททางสังคม  กระบวนการคิดของผู้รับสาร-ส่งสารได้รับอิทธิพลของกรอบทางสังคม-วัฒนธรรม  พูดง่ายๆ ว่ากลไกทางจิตวิทยานั้นไม่ใช่ดูแค่ระบบทางประสาทวิทยาเท่านั้น  แต่มองว่าสังคม-วัฒนธรรมนั้นแหละเป็นตัวกำหนดวิถีทางทางความคิดด้วย


 


ชุดความเชื่อและค่านิยมทางสังคมไทยชุดแรกที่สำคัญและปิดกั้นความเป็นเลิศทางปัญญา ในมุมมองผู้เขียนนั้น คือเรื่องการยอมรับอย่างง่ายดายต่ออำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของแต่ละบุคคลในสังคม   ซึ่งไม่ได้หมายความว่า การไม่ยอมรับนั้นคือการต้องกล้าเถียงคอเป็นเอ็น การลุกขึ้นประจัญหน้า การต่อสู้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน  แต่หมายถึงว่ายังมีความนับถือเคารพกันได้   แต่จะไม่ล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพความเป็นตัวตน แบบปัจเจกของแต่ละคน (แต่เรื่องนี้ก็มีนักวิชาการบางท่านมักมองอย่างเข้าใจผิดว่าการสร้างปัจเจก เป็นเรื่องไม่ดีเพราะเป็นฝรั่งมากไป)


 


ชุดความเชื่อและค่านิยมที่สองก็ต่อเนื่องมาจากชุดแรกคือ เรื่องของระบบอุปถัมภ์ เพราะคนที่มีอำนาจ มีสมุนหรือพรรคพวกมากเนื่องจากสามารถดลบันดาลผลประโยชน์ต่อกัน ต้องระลึกอย่างหนึ่งว่าการที่คนจะมีอำนาจได้จริงต้องได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจจากบุคคลที่อยู่ใต้อำนาจด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นความสัมพันธ์ แบบพึ่งพากันอย่างแนบแน่น นำไปสู่ความเป็น "พวกกู-พวกมึง" อย่างเหนียวแน่นได้ในระดับต่อไป  ซึ่งนำไปสู่การลดแรงจูงใจที่จะตั้งคำถามในกลุ่มของตน แต่มีการมุ่งเน้นความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มและการมีผลประโยชน์ต่อกันอย่างต่อเนื่อง


 


แต่ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่า การนี้จะลดภาวะการแข่งขันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม แต่กลับก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งภายในแต่ละกลุ่มเองด้วยได้ง่าย  และหากเมื่อมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ เช่น การรุกรานของต่างถิ่น (ขอให้นึกถึงตอนยุคล่าเมืองขึ้นที่ไทยคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ ได้แต่นั่งร้องไห้ตอนที่ต้องแบ่งดินแดนบางส่วนไป ทั้งที่จริงๆ ไทยเองก็ไปยึดเค้ามาเช่นกัน ไม่ใช่ดินแดนที่ชอบธรรมเท่าไรนัก หรือช่วงนี้ที่ต้องต่อสู้กับอิทธิพลจักรวรรดินิยมอเมริกัน ที่ไทยมัวมาแต่ทะเลาะกันเองว่าใครจะรวยกว่าใคร หรือจะใช้กำจัดศัตรูตนเองได้อย่างไร)  การต่อสู้อย่างมีระบบไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีการขัดผลประโยชน์ภายในกลุ่ม นำไปสู่การขาดสำนึกทางการเมืองที่แท้จริง  ขาดสำนึกที่เรียกแต่ต้นว่า "civic mind" ทุกคนต่างทำเพื่อประโยชน์ตนเองมากจนเกินไป


 


จุดนี้ทำให้นิยามของคำว่าการเมืองการปกครองที่เราเอามาจากตะวันตกเพี้ยนๆ ไป และสังคมไทยก็มักชอบกันนักเชียวที่จะบอกว่า "แบบไทยๆ"  ตอกย้ำอีโก้แบบไทยๆ ตามประวัติศาสตร์ฉบับชนชั้นปกครองเสียจริง ที่เน้นหลอกสังคมไทยให้ภูมิใจความเป็นไทยแบบประหลาดๆ


 


จากสองชุดความเชื่อ-ค่านิยมของไทย ทำให้กระบวนการสื่อสารแบบไทยๆ โดกำหนดให้เป็นในลักษณะที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมไทย  นั่นคือตอกย้ำและเสริมสร้างความเป็นไปตามกรอบสังคมนั้นๆ ทำให้ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม ไม่ช่วยให้เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจทางสังคมเท่าไรนัก  ซึ่งทำให้เกิดภาวะที่อ่อนไหวและเปราะบาง ต่ออิทธิพลจากภายนอกที่แรงๆ (เช่น กระบวนการล่าเมืองขึ้น หรือโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน)


 


ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักในการเมืองไทยและสังคมไทย ตราบใดที่โครงสร้างสังคมไทยยังคงตอกย้ำอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งแบบนี้  หลายครั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทยที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการสูญเปล่า  เป็นบทเรียนราคาแพงเกินไปเพราะสังคมไทยไม่มีการเรียนรู้ที่แท้จริง


 


มีสิ่งน่าสนใจอย่างยิ่งเรื่องหนึ่งคือ รัฐบาลชุดรักษาการนี้ได้พยายามมาบอกว่ามีแรงกดดันแบบไม่เป็นธรรม  ไม่เล่นตามกฏระเบียบ ทำให้รัฐบาลต้องยุบสภา  การอ้างความชอบธรรม legitimacy นั้น   ผู้กล่าวต้องมองด้วยว่ากติกาที่ตั้งขึ้นนั้นมาจากไหน เมื่อเวลาใด และใครเป็นคนตั้งขึ้น เรื่องของกติกาถือเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มที่ตั้งกติกานั่นเอง  การที่ใช้วาทะเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมดังกล่าว จึงอาจเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อคนที่มองลึกมากไปกว่าแค่คำว่า  "กติกา"


 


อย่างไรก็ตาม  ถ้าสังคมไทยสามารถ "ปรับเปลี่ยน" ความเชื่อ-ค่านิยมสองชุดที่กล่าวถึงทัศนคติของคนในสังคมไทยอาจมีการยกระดับ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองใดๆ อย่างง่ายดาย  ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงบริบทอื่นๆ ในสังคมด้วย เช่น ละคอนทีวีด้อยคุณภาพหลังข่าว ก่อนข่าว ไม่ว่าไทยทำ จีนทำ เกาหลีทำ ก็จะหมดไป หันมาดูอะไรที่ประเทืองปัญญา และคนทำสื่อเองก็จะได้เลิกพูดได้ด้วยว่าต้องเอาใจตลาด เพราะคนดูฉลาดขึ้น คนทำก็ต้องฉลาดขึ้นด้วย


 


คงมีเรื่องให้เล่าแบบนี้อีกเรื่อยในโอกาสต่อไป