Skip to main content

สิ่งที่เห็น..และ (น่าจะ) เป็นไป

คอลัมน์/ชุมชน


ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าใด "ฝักฝ่ายทางการเมือง" ก็ยิ่งปรากฏชัด เช่นเดียวกับ "ตัวตน" และ "กิเลส-ตัณหา" หรือกระทั่ง "สันดาน" ของ "นักการเมือง" ที่ส่อสะท้อนจาก พฤติกรรม-การแสดงออก ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันวิญญูชนสามารถพิสูจน์ได้ จาก หน้าฉาก-หลังฉาก และการเทียบเคียงโดยกาลเวลา


ทำนองต้องเหลียวกลับไปมองชัด ๆ ว่าไอ้ที่พล่ามอยู่ในทีวี ในหนังสือพิมพ์ หรือบนเวทีปราศรัย น่ะใช่คนเดิมที่เคยได้ยินได้ฟัง "โทษสมบัติ" กันมาหรือเปล่า?


หรือเวลาเพียงไม่กี่มากน้อย กับกระบวนการทางการตลาด ก็สามารถจับโจรใส่ตะกร้าล้างน้ำได้โดยง่ายดายถึงปานนี้?


เว้นไว้แต่ชนิด "พันธุ์แท้" บางจำพวก ที่เชื่อมั่นใน "ความสำเร็จเลว ๆ" ของตน จนสามารถยืนยันนั่งยันกับทุกคนได้ด้วยความหลงผิด ว่า.. "ผมนี่ล่ะที่เลวจนรับเละมาแล้ว จึงพร้อมจะนำพาพวกท่าน ให้เลวเสมอกันทั้งแผ่นดิน ด้วยการเลือกผมและพรรคของผมอีกครั้ง…" ที่ไม่ต้องใช้เทคนิคสร้างภาพใดๆ ขึ้นมาอีก ด้วยว่าการมอมเมาและโหมประโคมจนครบสี่ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้คนและสังคม "ตาบอดตาใส" กันไปแทบหมดสิ้นเสียเรียบร้อยแล้ว


เรียกว่า "ดำ" และ "เทา" กันเกือบทั้งแผ่นดิน จน "สีขาว" กลายเป็น "รอยด่าง" ไปทันที !!


เพราะเมื่อรัฐและทุนกลายเป็น "ชุมโจร" นักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ย่อมกลายเป็นตัวประหลาดไปโดยปริยาย ที่ไม่ยอมหลบลี้หนีหน้า ก็จำต้องทนถูกว่าด่าประจานให้ได้ ไปวันๆ มิใช่หรือ?



ที่ว่ามาข้างต้นก็คือเรื่อง "กิเลส-ตัณหา-อวิชชา-มิจฉาทิฏฐิ" นั่นเอง…


เพียงแต่เมื่อครอบงำ "ผู้นำ" และ "กลไก-โครงสร้าง" เอาไว้ได้ ก็กลับกลายเป็น "มหันตภัย" ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นไปทันที เช่นเดียวกับ "คลื่น" ในทะเลที่เมื่อมีขนาดเล็ก สูงเพียงแข้งเพียงเข่า ก็ช่วยเพิ่มสีสันบรรยากาศหาดขาวทรายสวยให้งดงามมีชีวิตชีวา พอแปรเปลี่ยนเป็นคลื่นยักษ์ "สึนามิ" จึงกลับกลายเป็น "หายนภัย" ไปได้ในพริบตา


ปัญหาคงอยู่ที่ว่า ความ "หลงผิด-จิตเสื่อม" นั้นเป็น "นามธรรม" และไม่แสดงผลวินาศสันตโรให้เห็นด้วยตาเนื้อจะแจ้งชัดเจนเท่ากับปรากฏการณ์ "รูปธรรม" อย่างราพนาสูรที่เขาหลักหรือที่บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา


เมื่อเหตุเภทภัยยังไม่แสดงอาการชัดๆ บรรดาผู้ทำตัวเป็น "ดร.สมิทธ ธรรมสโรช" เมื่อ ๖ ปีก่อน จึงต้องเดือดร้อนกันเป็นทิวแถว จากบรรดานายทุนใหญ่-น้อย นักการเมือง และข้าราชการผู้รับใช้ "นักเลือกตั้ง-นักธุรกิจการเมือง" ผู้หวาดกลัวการเสีย "ผลประโยชน์ปัจจุบัน" หรืออามิสสินจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการทำนายภัยพิบัติ


ว่า..หลัง "สึนามิแห่งความหลงผิดในยุค CEO" จะมีอะไรเกิดขึ้น และจะมีอะไรติดตามมา…


น่าสงสารก็แต่คนมอร์แกน ชาวประมงขนาดเล็ก และคนรากหญ้าปลายอ้อปลายแขมริมทะเล "อันดามันทางการเมือง" นั้นแล ที่ต้องมาถูกบังตาด้วยวิถีประชานิยม และภาพหลอนแห่งการประชาสัมพันธ์ จนจำต้องตกตายไปตามกัน โดยไม่รู้แม้แต่น้อยว่า "ดร.สมิทธ ธรรมสโรช" ประเภท "ขาประจำ" ทั้งหลาย ได้เคยเตือนอะไรไว้บ้างแล้ว…


เจ้าของรีสอร์ท-โรงแรม นักธุรกิจ-นักลงทุน หลายๆ รายเขายังพอมีประกัน หรือมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนทดแทน ชาวบ้านคนเล็กคนน้อยชายทะเลการเมืองในวันนี้และวันหน้าเล่า หากวันนั้นมาถึงแล้วจะเหลืออะไรไว้ก่อร่างสร้างตัว…



การเมืองหลังวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาฯ เมื่อเหลียวหลังแลหน้า ว่าไปแล้วจะมีอะไรใหม่?


หากนักการเมืองอาชีพและพรรคเก่าพรรคใหม่อยู่ในสภาพที่ "เคยอยู่เคยเป็น" ขณะที่ ภาคประชาชน-ประชาสังคม ตกอยู่ในสภาพ "ลิงติดแห" ยุ่งเหยิงนัวเนียอยู่กับ ปัญหา-ข้อจำกัด และอุปสรรคเดิมๆ พร้อมๆ ไปกับฝ่ายทุนและสมุนรับใช้ ที่พากันงอกงามเติบโตและอิ่มหมีพีมันยิ่งขึ้น ด้วยวิถี "หน้าด้าน-ใจดำ-ศีลธรรมเสื่อม" ราวกับว่าโลกนี้ไม่เคยมี "ธรรมะ" และ "สัจจะ" เสียอย่างนั้น


หรือปรากฏการณ์เหล่านี้หมายความว่า ถึงคราวที่ธรรมะจะต้องล้มตายให้อธรรมงอกงามเติบโตด้วยด้วยสารกระตุ้นกิเลสตัณหาง่ายๆ ชนิดสำเร็จรูป ประเภทเปิดถ้วยเติมน้ำร้อนก็รับประทานได้ ที่อาศัยการแค่การโฆษณาก็ขายดิบขายดี


ก็ใครเล่าจะเชื่อ ว่ายุคนี้ พ.ศ.นี้ "คาถาพระศรีอาริย์" หลอกว่าจะช่วยนั่นให้นี่ แบบนั้นแบบนี้ กระทั่งบอกว่า "จะไม่มีคนจนบนแผ่นดิน" ไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจทุนนิยมบริโภคอย่างไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งล่าสุดถึงกับชวนกันรับหลักการ "พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิลึกพิสดาร พ.ศ…." ชนิดกล้าแบ่งแยกดินแดนเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ ก็ยังทะลึ่งมีคนหลงเชื่อ ชนิดหลับหูหลับตายอมรับ ว่า "ข้าวกับขี้" จะสามารถบริโภคอย่างเอร็ดอร่อยไปด้วยกันได้…


อะไรจะปานนั้น !!!



บทความชิ้นนี้คงไม่มีทางออกอันใดที่เป็นรูปธรรมในระยะสั้น ที่ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของ "ประชาชนเจ้าของสิทธิ์" ได้เท่ากับการชี้ชวนให้แสวงหา และกระตุ้นให้มี อุดมคติ-อุดมการณ์ และวิสัยทัศน์ ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมชนิด "มองไกล-เปิดใจกว้าง" ทอดยาวไปถึงวันข้างหน้า ว่า "เราจะมีอนาคตร่วมกันอย่างไร?" ไว้เป็นที่ตั้ง


เพราะ "อวิชชา-มิจฉาทิฏฐิ" นั้น ก็คล้ายกับหมอกเมฆหม่นมัว ที่ปกคลุมความจริงแท้ของสรรพสิ่ง มีแต่แสงสว่างแห่งปัญญาดอกกระมัง ที่พอจะช่วยส่องนำสรรพสัตว์ให้เห็นเป้าหมายปลายทางในบั้นปลายได้


ปัญหาคงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไร "ปัญญามวลรวม" จึงจะเกิดขึ้น กระทั่งมีพลัง หรือมีแสงสว่างเพียงพอสำหรับการใช้งาน


แทนที่จะกระพริบอยู่ที่นั่นที่นี่ จุดนั้นจุดนี้ ราวหิ่งห้อยในคืนแรม…


กระบวนการที่จะรวมแสงให้กว้าง ให้เข้ม และมีระยะอันเพียงพอ ดูจะเป็นพันธกิจและภารกิจเฉพาะหน้าอันสำคัญมิใช่น้อย ในสถานการณ์อันเร่าร้อนและรุนแรงในปัจจุบัน ตลอดจนในอนาคตอันใกล้ ของผู้ร่วมชะตากรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนใดๆ ก็ตาม


พร้อมๆ กันนั้น ความรู้เท่าทันที่จะใช"สันติวิธี" ในทุกจังหวะก้าว ก็ดูจะจำเป็นไม่น้อยไปกว่ายุทธวิธีอื่นๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว กระแสแห่งความเร่าร้อนและรุนแรง ก็พร้อมจะกระหน่ำซัดและพัดพาเราทั้งหลายไปสู่วังวนเก่าๆ เดิมๆ เช่นที่ผ่านมา


ชนิดกระโดดจากกระทะร้อนๆ ลงเตาไฟไปในที่สุด…



หลังวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ภายใต้ชัยชนะและความปลอดโปร่งโล่งใจ ด้วยไม่มีภาระติดค้างผูกพันเช่นการเลือกตั้งครั้งก่อน ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้ "มอบอำนาจ" และ "สิทธิ" ในการบริหารบ้านเมืองของตน ให้กับบุคคลและคณะบุคคลที่ตนเชื่อและไว้วางใจ คงมีโอกาสได้พบ "ตัวตน" และ "หน้าตา-ท่าที" ของใครบางคน ที่ผิดแผกไปกว่า "นายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๓" ไม่มากก็น้อย


ยิ่งหากมีชัยชนะถล่มทลาย ได้เป็น "รัฐบาลพรรคเดียว" ด้วยแล้ว ที่เคยเห็นถลกแขนเสื้อนั่งขัดสมาธิรับประทานข้าวเหนียวไก่ย่างกับสมัชชาคนจน หรือที่เคยเห็นออกมาตะลอนๆ ไหว้คนนั้นกอดคนนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็เป็นอัน "ทำใจ" ไว้ล่วงหน้าได้ ว่า "มหกรรมละคอนเร่" จบลงแล้ว


…และน่าจะจบลงอย่างสิ้นเชิง !!!


สิ่งที่จะติดตามมาในไม่ช้า หลังจากฝุ่นผงของการ "แบ่งเค้กผลประโยชน์" และ "งานเฉลิมฉลองชัยชนะ" ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งโดยตัว "ท่านผู้นำ" และครอบครัว ตลอดจนสมุนบริวาร ก็น่าจะเป็นการจัดกระบวนแถวและแนวทางการบริหารแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ชนิด CEO ไทยๆ (ที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า "เถ้าแก่เจ้าอารมณ์") และการวางรากฐาน เสริมความมั่นคง-อุดช่องว่าง ลดความพลาดผิด ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เมื่อสี่ปีก่อน เพื่อการขยายตัวระดับกว้างและการหยั่งรากระดับลึก ของทุนนิยมบริโภค ชนิดที่จะเพิ่มรายได้ให้นายทุน(ในแวดวงห้อมล้อม)และเพิ่มหนี้สาธารณะแก่ประชาชนไปในเวลาเดียวกัน อย่างไม่ต้องซวดเซ ล้มลุกคลุกคลาน ห่วงหน้าพะวงหลัง ดังบางช่วงของสี่ปีที่แล้วมา


อภิมหาโครงการขนาดใหญ่และขนาดยักษ์ ทั้งที่จะเกิดขึ้นเพื่อถมเม็ดเงินลงไปกระตุ้นตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของ "รัฐบาลใหม่" ก็น่าจะเป็นเรื่องจำเป็น เช่นเดียวกับการหว่านหรือรับปากว่าจะ "หว่านเศษเงิน" ลงไปให้คนทุกข์คนยาก ชนิดพอให้ "ไม่เสียคำพูด" ระหว่างการเลือกตั้ง


นอกเหนือไปจากนั้น ก็น่าจะเป็นการเตรียมทางหนีทีไล่สำหรับการลงจากหลังเสือแบบ "ล้มบนฟูก" เพื่อเกียรติประวัติ และการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตนเองแบบ "เก็บสถิติ" เช่นเดียวกับความพยายามยื้อยุดถือดี ที่จะอยู่ให้ครบเทอม ดังที่ผ่านมา



ที่ว่ามาในหัวข้อก่อนหน้านี้ คือการ "เหลียวหลังแลหน้า" ตามข้อมูลจากสื่อกระแสหลัก แต่ใครเล่าจะรู้ได้ ว่าเอาเข้าจริงจะมีอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และเกิดขึ้นอย่างไร ภายใต้การตัดสินใจของ "ประชาชน"


ก็เพราะมิใช่พลังเงียบของมหาชนดอกหรือ ที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินมาแล้วหลายยุคหลายสมัย มิใช่พลังเงียบของผู้คนจำนวนมากดอกหรือ ที่เปลี่ยนแปลงอนาคตอันรุ่งโรจน์ของทรราช และโจรปล้นชาติ ให้หักเหไปสู่โซ่ตรวนและการจองจำ หรือการลงทัณฑ์อันสาสมตลอดมา


เพราะถึงที่สุดแล้ว "ประชาชน" ต่างหาก ที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง หาใช่จะถูกกำหนดจากเล่ห์ลิ้นและลมลวงของใครหรือกลุ่มใดไม่


และหากจะมองให้ตลอดสายแล้ว "ชัยชนะชั่วครู่" หรือความเหนือกว่า และได้เปรียบอย่างฉ้อฉล ชั่วครั้งชั่วคราว ก็ใช่จะยั่งยืนไปกว่า "ความเป็นธรรม" โดยประการทั้งปวง


หลังจากวันที่ ๖ กุมภาฯ ผู้ชนะที่ปราศจากธรรมานุธรรมปฏิบัติอันเหมาะควรแก่ศาสนธรรม และปราศจากวุฒิภาวะ ตลอดจนมโนธรรมสำนึกอันเหมาสมกับความรับผิดชอบ ก็มีจะแต่หมุดหมายแห่งการผ่านทาง เพื่อพล่าผลาญเวลา และนับวันรอ "การตัดสิน" เท่านั้น


น่าเสียดายก็แต่ "วิวัฒนาการ" ของมนุษยชาตินั่นเอง ที่ต้องมาเสีย "จังหวะและเวลา" ไปกับ "อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิ" อยู่เสมอ


และตลอดมา