Skip to main content

ราคายางพาราสูงขึ้นเพราะฝีมือรัฐบาลทักษิณ จริงหรือ?

คอลัมน์/ชุมชน

 



เมื่อกระแส "ยิกทักษิณ"   ได้ขยายตัวไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ   จากคนชั้นกลางในเมือง (เพราะได้รับข้อมูลสารมากหน่อย) สู่ชาวบ้านในชนบท(ที่รับข้อมูลทางทีวีที่รัฐบาลควบคุมเป็นส่วนใหญ่) ทำให้ชาวชนบทหลายคน  โดยเฉพาะในหมู่ชาวสวนยางพาราในภาคใต้ เกิดความรู้สึกว่า


 


"ราคายางพาราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากกิโลกรัมละ ๒๐ กว่าบาทในสมัยรัฐบาลชวน จนปัจจุบันตกประมาณกิโลกรัมละ ๗๗ บาท  นี่เป็นผลงานของรัฐบาลทักษิณมิใช่หรือ? ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนราคายางพาราสูงมากเท่านี้มาก่อน"


 


การจะตอบคำถามว่า ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นผลงานของ พ.ต.ท.ทักษิณจริงหรือไม่นั้น คงต้องวิเคราะห์และมีข้อมูลอื่นมาประกอบด้วย


 


ข้อมูลที่ว่าควรมีอะไรบ้าง  ผมเห็นว่าควรจะมี


 


หนึ่ง ข้อมูลการผลิตและการบริโภคยางพาราของตลาดโลก ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงก่อนรัฐบาลทักษิณ จนถึงปัจจุบัน


 


สอง  ต้องดูราคาน้ำมัน  เพราะยางที่เราใช้อยู่ทั่วโลกประมาณ ๔๒% มาจากยางธรรมชาติที่ชาวสวนปลูก  อีก ๕๘% มาจากยางสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งวัตถุดิบสำคัญคือน้ำมันดิบ


 


สาม  ต้องดูราคาสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ  เพราะถ้าคิดว่าราคายางพาราขึ้นเป็นเพราะฝีมือของ พ.ต.ท. ทักษิณ แล้วทำไมสินค้าตัวอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน  กุ้งกุลาดำ จึงไม่ขึ้นราคาด้วย


 


สี่ ต้องดูสินค้านำเข้าตัวอื่นด้วย ว่าสูงขึ้นเหมือนยางพาราหรือไม่


 


ห้า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ อยากจะเก่งในเรื่องยางพารา ท่านควรจะทำอย่างไร


 


ครานี้ลองมาไล่กันทีละประเด็นครับ ผมจะบอกแหล่งข้อมูลไว้ด้วย หากใครสงสัยก็สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้


 


หนึ่ง การบริโภคยางพารา


จากข้อมูลของกลุ่มศึกษายางพาราสากล (International Rubber Study Group) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ (๑๙๙๖)  จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ (๒๐๐๑) ปริมาณการบริโภคยางพารา (ซึ่งรวมทั้งยางพาราธรรมชาติและยางพาราสังเคราะห์) น้อยกว่าปริมาณการผลิตมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ปริมาณการใช้กลับสูงกว่าการผลิตเป็นครั้งแรก (ดูตาราง)


 


ในปี ๒๕๔๕ ปริมาณการใช้ยางพาราทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ ๓% แต่ในปี ๒๕๔๖ กลับเพิ่มขึ้นถึง ๖%


 


ประเทศที่บริโภคยางพารามากที่สุดในปัจจุบัน คือ จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น  โดยประเทศจีนเพียงประเทศเดียวบริโภคถึง ๒๒% ของโลก คิดเป็นมูลค่าในปี ๒๕๔๘ ประมาณ ๔ แสนล้านบาท    ขณะเดียวกัน สต๊อกยางแผ่นรมควันในตลาดญี่ปุ่นก็ลดจำนวนลงถึง ๑๕-๒๐%


 


ในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๔๘ ประเทศจีนมีการผลิตยางรถยนต์จากยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง ๒๙%  ไม่เคยสูงเช่นนี้มาก่อน


 



 


รัฐบาลทักษิณได้เข้ามาบริหารประเทศครั้งแรกเมื่อต้นปี ๒๕๔๔  (การเลือกตั้ง ๖ มกราคม)  ซึ่งในปีนั้นราคายางพารายังไม่ได้ขึ้น แต่กลับลดลงเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ จากกิโลกรัมละ ๒๔ บาท ตอนต้นปีมาอยู่ที่ ๑๖ บาทตอนปลายปี (ดูกราฟราคายางแผ่นในจังหวัดสงขลา)


 



 


หลายคนอาจแย้งว่า ตอนนั้น พ.ต.ท. ทักษิณ ยังติดคดีซุกหุ้น ยังไม่สามารถดำเนินนโยบายอะไรได้  ก็แล้วแต่ท่านเหล่านั้นจะคิดกันแหละครับ แต่ผมขอเรียนว่า ราคายางพาราเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกันทั่วโลกครับ  ราคาในประเทศอินเดียก็เพิ่มขึ้นเกือบ ๒ เท่าตัว จากปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๖


 


จริงอยู่ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้เคยเสนอแนวทางให้ผู้ผลิตยางพาราธรรมชาติรวมตัวกันเพื่อต่อรองราคา   และเคยประกาศว่า ถ้าราคายางพาราต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๑ ดอลลาร์ รัฐบาลจะรับซื้อเอง


 


ผมคิดว่า นี่คือวิธีการที่เราเรียกว่า "การตลาด" เพราะใครๆ ที่รู้แนวโน้มของข้อมูลการใช้ยางพาราก็สามารถพูดอย่างนี้ได้


 


จะเรียกว่าเป็นฝีมือ หรือเป็นความโชคดี หรือรู้จักฉวยโอกาส ก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะคิดครับ


 


เพื่อให้เราสามารถเปรียบราคายางพารากับราคาน้ำมัน ผมขอสรุปอย่างคร่าวๆ จากกราฟข้างต้นว่า  จากปี ๒๕๔๕ ราคายางพาราได้เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ ๒๖ บาท เป็น ๖๐ บาท ในปี ๒๕๔๘ และเป็น ๗๕ บาท ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๙


 


รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างจะอิสระจากรัฐบาลได้สรุปว่า"ราคายางพาราที่สูงขึ้นจากความต้องการใช้ของผู้ซื้อในต่างประเทศ เนื่องจากสต็อกยางของผู้ซื้อลดลงและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลทำให้ยางสังเคราะห์ที่มีปิโตรเลียมเป็นส่วนประกอบราคาสูงขึ้นมาก"


 


สอง  ราคาน้ำมัน 


คราวนี้เรามาดูราคาน้ำมันกันบ้าง


อย่าลืมนะครับว่า ราคาน้ำมันไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเปรียบเทียบเหมือนสินค้าตัวอื่นๆ กับรายได้ของเราเท่านั้น  แต่ปริมาณยางที่ทั้งโลกใช้อยู่ถึง ๕๘% มาจากน้ำมัน ดังนั้นราคาน้ำมันกับราคายางจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด


 


กราฟข้างล่างนี้เป็นราคาน้ำมันดิบ (บอกแหล่งที่มาเรียบร้อยแล้ว)  ผมได้เฉลี่ยราคาอย่างคร่าวๆ ให้ตรงกับช่วงเวลาของราคายางพาราในจังหวัดสงขลา พบว่า


 



 


 


ในปี ๒๕๔๕ (๒๐๐๒) ราคาน้ำมันดิบประมาณ  ๒๒ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเป็น  ๕๒  ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี ๒๕๔๘  และเป็น ๖๐ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙


 


นั่นคือ จากปี ๒๕๔๕ ถึง ๒๕๔๘ ในขณะที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ๒.๔ เท่าตัว ราคายางพาราก็เพิ่มขึ้น ๒.๓ เท่า คือเพิ่มน้อยกว่าน้ำมันเล็กน้อย


 


ถ้ารัฐบาลทักษิณอ้างว่า ราคายางพาราเพิ่มขึ้นเพราะฝีมือของเขา  เราก็ช่วยยกยอให้เลอเลิศประเสริฐสุดไปเลยว่า  ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นก็เป็นเพราะฝีมือของทักษิณด้วยนะซิ


 


สาม สินค้าเกษตรตัวอื่น


ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ เก่งจริงตามที่พวกเขาอ้าง หรือตามที่ชาวบ้านบางส่วนเข้าใจ เราก็มาตั้งคำถามง่ายๆ ว่าทำไมราคาปาล์มน้ำมันทั้งทะลายราคาจึงลดลงถึง ๑๖% จากสิงหาคม ๒๕๔๗ เมื่อเทียบกับ สิงหาคม ๒๕๔๘ (จาก กก.ละ ๔.๑๐ บาท เป็น ๓.๔๖ บาท) ทำไมราคาน้ำมันปาล์มเกรด A กิโลกรัมละ ๑๘.๐๑ บาท ลดลง ๑๗%   และทำไมราคากุ้งกุลาดำจึงลดลง ๔%


 


สี่ ต้องดูสินค้านำเข้าตัวอื่นด้วย


เพื่อนที่ทำธุรกิจสายไฟฟ้าบอกผมว่า ในช่วงปลายรัฐบาลชวนราคาทองแดงนำเข้าจากต่างประเทศราคาตันละ  ,๖๐๐ - ๑,๘๐๐ เหรียญสหรัฐ  ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น ๕,๑๐๐  หรือเพิ่มขึ้นเป็น  ๓ เท่าตัว


 


ห้า ถ้า พ.ต.ท. ทักษิณ อยากจะเก่งในเรื่องยางพารา ท่านควรจะทำอย่างไร


ประเทศไทยเราผลิตยางพาราได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก  แต่เรามีการใช้ภายในประเทศเพียง ๘% ของผลผลิตเท่านั้น ที่เหลือ ๙๒% เราส่งขายต่างประเทศในรูปของวัตถุดิบ  เป็นอย่างนี้มานานแล้ว


 


เมื่อปี ๒๕๔๗  รัฐบาลทักษิณได้ประกาศที่หาดใหญ่ว่า จะทำให้สงขลาเป็นเมืองยาง (RubberCity)   วันนั้นมีการถ่ายทอดสด "ทักษิณกรีดยาง" เวลาได้ผ่านไปนานพอสมควรแล้ว   ถามว่าตอนนี้มีอะไรคืบหน้าไปบ้าง ในด้านการเปลี่ยนยางดิบมาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะขายไปอย่างดิบๆ


 


ไหนคุยหนักคุยหนาเป็นพวกไฮเทค  งานวิจัยของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็พอมีบ้าง ทำไมท่านทักษิณไม่นำงานวิจัยเหล่านี้ไปแปรเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนไทย


 


สรุป


จากข้อมูลและเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้ว ผมอยากให้ท่านผู้อ่านโปรดสรุปเอาเองครับ ว่าเรื่องราคายางยางพาราที่สูงขึ้นเป็นเพราะฝีมือของ พ.ต.ท. ทักษิณ หรือว่าเป็นเรื่องของกลไกตลาดโลกกันแน่ การออกมาแอบอ้างว่าเป็นผลงานของตนเองเป็นสิ่งหลอกลวงโลกเหมือนกับอีกหลายๆ เรื่องหรือไม่