Skip to main content

คิดถึงอาบอยี ตัวแทนชีวิตงดงามแห่งลุ่มน้ำแม่จัน

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


                                                       


 


 


อาบอยี พ่อเฒ่าอาข่าวัย ๗๖ ปี แห่งหมู่บ้านหล่อโย หมู่ที่ ๑๙ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นขวัญใจของลูกหลานผู้ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ในจังหวัดเชียงราย มานานหลายปี เพราะความที่มีใจเมตตา มีรอยยิ้มบริสุทธิ์แจ่มใส มีภูมิปัญญาในศิลปวัฒนธรรม ของอาข่า จนกลุ่มรุ่งอ้วนได้ขออนุญาต ทำเรื่องราวของชีวิตอาบอยีเป็นสารคดี ชื่อเรื่อง อาบอยีถ้อยกวีในสายลม ได้รับรางวัลชนะเลิศของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์กรมหาชน เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นความภูมิใจที่ชีวิตเล็ก ๆ อันแสนงามของอาบอ ตัวแทนชาติพันธุ์แห่งลุ่มน้ำแม่จัน ได้เผยแพร่ให้คนในสังคมวงกว้างได้เรียนรู้และชื่นชม


 


แต่เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ อาบอยีได้จากโลกใบนี้ไปแล้ว ด้วยโรคมะเร็งในช่องท้อง ซึ่งคุณจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้พาอาบอยีไปตรวจที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงราย เมื่อหลายเดือนก่อน แพทย์แนะนำให้อาบอยีผ่าตัด แต่อาบอยีไม่ยอมรับวิธีการสมัยใหม่ ขอกลับไปอยู่ที่บ้าน ดิฉัน ได้ขอยาจากคุณครูผู้สอนโยคะ ผู้เมตตาจากกรุงเทพ ฯ ปรุงมาให้ กับกำลังใจที่พวกเรา ผู้เคารพ นับถืออาบอยี ผลัดเวียนกันมาเยี่ยม อาบอยีจึงมีชีวิตมาได้อีกระยะหนึ่ง


 


คุณจุฑามาศ ได้พาเยาวชนชมรมคนรักศิลป์ถิ่นภูเขา ซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตอนปลายปีที่ ๔ – ๕ ชาวลีซู อาข่า ลาหู่ จำนวนสิบกว่าคน  มาศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญา จากผู้อาวุโสในหมู่บ้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอาบอยี ซึ่งเป็นผู้เฒ่าที่เป็นแบบอย่าง ของชีวิตที่งดงามของลุ่มน้ำแม่จัน ชมรมคนรักศิลป์ถิ่นภูเขา จึงได้มาเยี่ยมเยียนดูแล และส่งข่าว ให้ผู้ที่เคารพรักอาบอยีได้มาคารวะศพ และร่วมงานฝังศพของอาบอยี ซึ่งลูก ๆ ได้จัดให้ตาม พิธีอาข่าอย่างสมกับคุณความดีที่อาบอยีได้สั่งสมไว้


 


สามสิบสองปีที่ดิฉันได้ใช้ชีวิตเรียนรู้ร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์แห่งลุ่มน้ำแม่จัน ผู้เฒ่าทั้งชาย หญิงแห่งชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ให้ความรัก ความเมตตาแก่ดิฉัน  สามีและลูก ๆ เสมอมา[1] เป็นทั้งครูและญาติผู้ใหญ่ ที่ช่วยหล่อหลอมให้ดิฉันเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก มากขึ้น


 


ชีวิตพ่อเฒ่าแม่เฒ่าเหล่านี้รวมทั้งอาบอยี แสดงถึงความเข้าใจชีวิต ความเข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง คำจำกัดความของความสุขของผู้เฒ่าเหล่านี้ ตามที่ นางสาวทาเอโกะ คุโรกาวา อาสาสมัครชาวญี่ปุ่น ได้ทำสารคดีบันทึกไว้ เรื่อง "หม่าซื้อนือมา" แปลว่าเมล็ดพันธุ์แห่งนิรันดร์กาล (ซึ่งเป็นชื่อถั่วชนิดหนึ่งของอาข่า เป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพ ดินฟ้าอากาศ ปลูกที่ไหนก็ได้กินผล ขึ้นง่าย ออกดอกง่าย ติดฝักง่าย ตายยาก) คุณทาเอโกะ ได้สัมภาษณ์ พ่อเฒ่า แม่เฒ่า ชาวอาข่าหลายคน ให้เล่าว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิด "ความสุข" ในชีวิตของผู้เฒ่า และอะไรคือความหมายของ "ความดี" ในชีวิตของผู้เฒ่าเหล่านั้น


 


คำตอบจากใจและใบหน้าที่ยิ้มแย้มของผู้เฒ่าทั้งหลาย คือ ผู้เฒ่าจะมีความสุข ถ้าลูกหลานเป็นคนดี เชื่อฟังคำสั่งสอน ขยันทำมาหากิน ทำอาชีพสุจริต  การที่ลูกหลานมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ถ้าปีไหนฝนฟ้าอากาศดี ได้ข้าวเต็มยุ้ง ได้ข้าวโพดไว้เลี้ยงสัตว์พอเพียง พืชพันธุ์ต่าง ๆ เจริญงอกงาม พอกินทั้งปี นี่คือความสุข


 


                                          


 


การได้ทำพิธีกรรมตามที่บรรพบุรุษสั่งสอนสืบทอดกันมา ทั้งพิธีเกี่ยวกับครอบครัว พิธีเกี่ยวกับชุมชน พิธีต่อบรรพบุรุษ พิธีคารวะต่อเทพยดาฟ้าดิน เจ้าป่า เจ้าเขา เหล่านี้คือความสุข รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เข้ามาดูแล มีความเคารพ เข้าใจ เมตตาต่อชาวบ้าน ไม่ข่มเหง รังแก ไม่คดโกงชาวบ้าน ก็ยิ่งเป็นสุดยอดแห่งความสุข


 


ผู้เฒ่าชาวดอยและผู้เฒ่าชาวชนบท ผู้ใช้ชีวิตในสังคมเกษตร อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จะเข้าใจว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวงจรของชีวิต เมื่อผู้เฒ่าป่วยไข้ อาการหนัก ก็จะบอกลูกหลานให้ทำโลงศพเตรียมไว้ ท่านจะไปอยู่โลกใหม่แล้ว ดิฉันจำได้ว่าเมื่อสิบปีก่อน แม่เฒ่าชาวลีซู (ภรรยาของผู้ใหญ่บ้านปางสา ซึ่งดิฉันเรียกท่านเป็นภาษาลีซูว่าแม่) บอกว่า "แม่ปวดหัวมาก แม่จะตายแล้ว ไม่อยู่แล้ว" ดิฉันเห็นท่านยังแข็งแรง หน้าตาดี ๆ อยู่ ก็ปลอบใจว่า "อีกไม่กี่วันก็หาย ไม่เป็นไรหรอก" แต่อีกไม่กี่วันต่อมา แม่เฒ่าก็ตายจริง ๆ


 


เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ดิฉันได้ไปเยี่ยมอาพินีผ่า ผู้นำพิธีคนสำคัญที่สุดฝ่ายหญิงของชาวอาข่า บ้านป่าคาสุขใจ (ซึ่งดิฉันเคารพนับถือในภูมิปัญญาและบุคลิกอันสง่างามของท่านอย่างยิ่ง) แม่เฒ่าไม่ได้ใส่หมวกเต็มยศอย่างที่เห็นชินตา เพียงโพกผ้าคลุมศรีษะไว้แทน แม่เฒ่าบอกเป็นภาษาอาข่าว่า "ดีใจที่ครูแดงมาเยี่ยม แม่เฒ่าไม่สบายมาก อีกไม่กี่วันจะตายแล้ว" ดิฉันจึงบอกว่า จะขอถ่ายรูปพ่อเฒ่ากับแม่เฒ่าคู่กัน และถ่ายกับครูแดงด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกให้ลูกหลานไว้ดู ซึ่งวันรุ่งขึ้น แม่เฒ่าก็ลาโลกอย่างสงบ


 


บทบาทต่อครอบครัวและชุมชนของพ่อเฒ่า แม่เฒ่า คือผู้นำแห่งคุณธรรม ผู้ถ่ายทอด ศิลปะ  วัฒนธรรม ความเข้าใจชีวิต ให้แก่ลูกหลาน เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เช่น สามี ภรรยา ทะเลาะกัน เพื่อนบ้านทะเลาะกัน สภาผู้เฒ่าจะทำหน้าที่ไต่สวน ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ให้เกิดความเข้าใจกัน ให้แก้ไขปัญหาได้ โดยทุกฝ่ายยอมรับ  ถ้าจะมีการลงโทษก็เป็นเพียง การปรับไหม เป็นเงินแถบ(เหรียญเงินของอินเดียสมัยโบราณประมาณ ค.ศ. ๑๙๔๐ กว่า ๆ เรื่องราวจึงไม่ต้องถึงตำรวจ ถึงศาล เพราะมีสภาผู้เฒ่าคอยดูแล โดยใช้ประสบการณ์ชีวิต ที่สุกงอมมาแล้ว


 


ผู้เฒ่าส่วนใหญ่มักไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เช่น ไปเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ดูแลให้วัวควาย กินหญ้า กินน้ำ ท่ามกลางธรรมชาติที่บริสุทธิ์


 


งานจักสานคืองานที่พ่อเฒ่าแม่เฒ่าทำได้ถนัด สานกระด้งผัดข้าว ก๋วย(ตะกร้า) ใส่พืชผัก สานเสื่อ และเครื่องใช้ต่าง ๆ


 


ส่วนแม่เฒ่าที่อยู่บ้านก็จะช่วยตากพันธุ์พืช เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา พริก เมล็ดทานตะวัน กระเจี๊ยบแดง เลือกคัดส่วนที่ดีไว้ทำพันธุ์ ช่วยลูกหลานเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ปักผ้า ทอผ้า สารพัดที่จะทำประโยชน์ได้


 


พิธีกรรมสำคัญจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เลย ถ้าไม่มีพ่อเฒ่าแม่เฒ่าไปเป็นผู้นำพิธีและไปร่วมเป็นเสาหลัก (ทั้งการตั้งชื่อเรียกขวัญเด็กเกิดใหม่  งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ งานเรียกขวัญผู้ป่วย งานกินข้าวใหม่ งานปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวดมนต์สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์  การร้องเพลงด้วยภาษาโบราณ) ซึ่งคนรุ่นใหม่ยังไม่สามารถสืบทอดได้


 


ผู้เฒ่าอยากให้ลูกหลานได้สืบสานวิถีที่ผู้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสงบสุข  เคารพ กตัญญู แต่โลกเปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน การพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัฒน์ และบริโภคนิยม จู่โจมเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อให้ทุกแห่งมีความทันสมัย ถนน ไฟฟ้า ทีวี วีซีดี คาราโอเกะ จานดาวเทียม โทรศัพท์สาธารณะ มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ รวมทั้งการเมืองที่สับสนวุ่นวาย ใฝ่หาอำนาจ ลาภยศสรรเสริญ ก็แผ่มาถึงหมู่บ้านด้วย


 


ลูกหลานต้องไปเข้าศูนย์เด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ ๒ – ๓ ขวบ โตขึ้นก็ต้องไปโรงเรียน ไม่มีเวลามาอยู่กับพ่อเฒ่าและแม่เฒ่าเหมือนสมัยก่อน เรียนจบหรือไม่จบก็ออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ เชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หาดใหญ่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น พิธีกรรมหลายอย่างต้องเลิกไปเพราะไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอด


 


ความรักอันยิ่งใหญ่ไร้พรมแดน ที่อาบอยีมอบไว้ให้โลก ในงานหยุดสงครามเพื่อสันติภาพแก่อิรัก แก่ชาวโลก ร่วมกับเหล่าศิลปิน เช่น หงา คาราวาน ร่วมกับคณะสมาชิกวุฒิสภา เช่น สว.ไกรศักดิ์  สว.การุณ สว.ประทีป ด้วยบทกวีและบทเพลงของอาข่า ด้วยลายปักผ้าสีสด เปี่ยมด้วยความหมาย ซึ่งศิลปินชาวเชียงรายได้ซึมซบ อย่างภูมิใจ ด้วยพันธุ์พืชพื้นบ้านที่บ้านอื่นๆ เขาไม่เก็บ ไม่ปลูกกันแล้ว แต่อาบอยียังมี ยังปลูกอยู่ และพร้อมแบ่งปัน นี่คือตัวอย่างของชีวิตเล็กๆที่งดงามแห่งลุ่มน้ำจันของอาบอยี  เชอมือกู่


 



 


คุณสยาม  พึ่งอุดม หรือครูใหญ่ ซึ่งเคารพเป็นน้องพี่กับดิฉันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒  (ในโครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา  ศศช. ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน) ได้เขียนบทกวีอาลัยอาบอยีอย่างจับใจ ขอให้วิญญาณของอาบอยีไปสู่สุคติภูมิ  ดังนี้


 


"มิทันเอ่ยคำลา


โอ้อาบอยีเอย


      วิญญาณ เจ้า ร่ายรำ


ออกสู่ โลกกว้าง


  ผันผ่าน ทะเลดอย


โอบกอด ขุนเขา


หมู่บ้าน หล่อโย


อยู่ไกล สุดตา


เจ้า บิน ถลา


ล้อเลียน หมู่เมฆ


ชื่นชม อิ่มเอม


ภพใหญ่ ปรากฎ


สายน้ำ เล็กๆ


ไหลเอื่อย คดเคี้ยว


ดั้น ด้น เสาะหา


แหล่งที่ พักพิง


ใบไม้ เปลี่ยนสี


แก่แล้ว ร่วงโรย


กลับคืน สู่ดิน"


 


 








[1]ผู้อ่านบางท่าน อาจได้เคยอ่านหนังสือ "แม่จันสายน้ำที่ผันเปลี่ยน" ซึ่งเป็นจดหมายที่ดิฉันเขียนถึง "โย่ง" บรรณาธิการผู้เป็นกัลยาณมิตร เล่าเรื่องความผูกพันและการงานในลุ่มน้ำแม่จัน ช่วง พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๒ รวมเวลา ๒๕ ปี แห่งความทรงจำ เป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำแม่จัน ที่คุณอาทร เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์จัดพิมพ์ รวม ๔ ครั้ง โดยพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๘