Skip to main content

หัวอกพ่อแม่

คอลัมน์/ชุมชน





วันนี้ (๗ มีนาคม ๒๕๔๙) ผู้เขียนตื่นมาแต่เช้าอีกครั้ง ได้ดูโทรทัศน์ภาคเช้าของสถานีต่างๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินมาดู หลายหนช้ำใจกับคุณภาพรายการโดยเฉพาะที่เค้าเรียกกันว่าเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ฟังหรือเรียกง่ายๆ ว่า "เล่าข่าว" เพราะไม่ได้เป็นการบ่งบอกความสามารถของฝ่ายข่าวของสถานีเลยแต่อย่างใด ข่าวโทรทัศน์ในเมืองไทยแบบฟรีๆ นี้ เป็นข่าวเหมือนๆ กันไปหมด จนไม่มีเอกลักษณ์ ไม่มีความลึก และไม่ดึงดูด เรียกว่าแสดงออกถึงกระบวนการวารสารศาสตร์ที่ด้อยพัฒนา มีแต่การเซ็นเซอร์ชิพ การค้า และการเมืองแฝงอย่างเลวร้ายจนถึงกระดูก เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า bad to the bone


 


หลังรายการข่าวภาคเช้าแบบเล่าข่าวก็จะมีรายการแม่บ้านต่างๆ  อันนี้ไม่ค่อยได้ดู เพราะต้องออกมาตะลอนๆ นอกบ้านเดินสายเยี่ยมญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เลยไม่สามารถกล่าวเรื่องนี้ได้มาก อันนี้โทรทัศน์ไทยนี่ถอดออกมาจากแบบอเมริกา ดีกว่าหน่อยที่ไม่มีรายการทอล์คโชว์ออกมาตบตีกันบนเวทีบนหน้าจอ แบบพวกพ่อเลี้ยงนอนกับลูกเลี้ยง แม่ยายนอนกะลูกเขย  เรียกว่า "ไวท์แทรช" white trash ถ้าเป็นคนผิวขาว ถ้าเป็นคนมืดก็อาจเรียกว่า scum มีคำอื่นๆ ที่เรียกคนพวกนี้โดยพวกที่มีโอกาสมากกว่าในชีวิต ว่าไปแล้วในสังคมอเมริกันกับไทยที่เหมือนกันชัดๆ คือเรื่องความแตกต่างทางชนชั้นตามประสาโลกทุนนิยม คนไม่มีเงินไม่ได้มีค่ามากไปกว่าก้อนดินก้อนหนึ่ง


 


ที่ถูกใจมากสุดในเช้าวันนี้ คือรายการบนช่อง ๕ ที่ รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ หรืออาจารย์แม่ มาตอบคำถามเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กๆ โดยมีพ่อแม่เด็กๆ เหล่านี้โทรศัพท์เข้ามาถามข้อข้องใจ อาจารย์แม่ตอบคำถามได้ดีเยี่ยม ตรงประเด็น


 


ประเด็นแรกที่ผู้เขียนเก็บได้จากอาจารย์แม่ คือ อย่าบังคับเด็กให้เรียน หรือบอกว่าเรียนที่ไหนดี เพราะคนที่เรียนคือเด็ก ไม่ใช่พ่อแม่ ซึ่งอันนี้นี่ตรงใจผู้เขียนที่สุด เนื่องจากตนเองก็ทำงานเรื่องนี้โดยตรง หลายคนเดินมาเรียนที่มหาวิทยาลัยโดยไม่รู้ว่าอะไรดีและเหมาะสมกับตนเอง ขนาดในสหรัฐฯ ยังมีปัญหาเรื่องการแนะแนวเพราะพ่อแม่ก็ไม่ค่อยมีปัญญารู้เรื่องระบบการศึกษาโดยเฉพาะพวกที่มาจากระดับล่าง ส่วนที่มีฐานะดีเข้ามาหน่อยก็จะบงการชีวิตลูก บงการครู บงการทุกอย่าง อันนี้ก็แย่ไปอีกแบบ


 


พ่อแม่ไทยก็ไม่ได้แพ้กัน ยิ่งพ่อแม่ชนชั้นกลางที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนมาสูง จะยิ่งต้องผลักดันลูกมาก บีบบังคับให้ลูกเรียนไอ้โน่นไอ้นี่ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ เป็นหน้าที่พ่อแม่ที่ต้องสรรหาสิ่งที่ตนเองคิดว่าดี แต่ไม่เคยถามลูกเลยว่าลูกสนใจหรือชอบสิ่งที่ตนกำลังเลือกให้หรือไม่


 


ผู้เขียนกับแม่ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกันอีกทีเมื่อไม่นานมานี้  แม่บอกว่าตอนนี้แม่เสียใจที่เคยบังคับผู้เขียนตอนเด็กๆ  ผู้เขียนเคยอยากไปเรียนโรงเรียนหลวงอีกแห่งหนึ่ง แต่แม่ไม่ยอมเพราะอยากให้เรียนอีกแห่งที่ใกล้บ้านมากกว่า และเหมือนจะดีกว่าเพราะมีนายกฯ หรือผู้นำประเทศเรียนจบจากที่นี่มาก ซึ่งผู้เขียนไม่ได้สนใจเอาเลย แต่แม่บอกว่าเรียนตรงนี้เลยต้องไปสอบเข้า เรียนไปแล้วก็ไม่ได้มีความสุข เรียนได้ไม่เลว จนกระทั่งปีที่สามเกิดอาการซึมเศร้า น่าเสียดายที่สังคมเมื่อเกือบสามสิบปีก่อนไม่ได้มีความเข้าใจเด็กมากแบบวันนี้ เลยแก้ไขไปตามยถากรรม โชคดีที่โรงเรียนให้โอกาสจบออกมาได้แม้จะไม่สง่างามนัก


 


กลายเป็นปัญหาคาใจผู้เขียนมากว่ายี่สิบปี ถามตนเองในช่วงนั้นว่าทำไมต้องไปยืนตรงนั้น ไม่ได้ทำให้การสร้างตัวตนมีคุณภาพดีแต่อย่างไร ทั้งที่ก็โตมาจนอายุสามสิบขึ้นไปแล้ว เสียใจเจ็บใจ แต่เวลาก็ผ่านมาแล้ว ในใจจึงคิดว่าถ้าช่วยใครได้เรื่องนี้ จะช่วยอย่างเต็มความสามารถ และอยากลบความเป็น "อีลีท" ให้หมดไปในการศึกษาระดับประถมและมัธยม ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้นคงทำได้ยากเพราะว่าแค่สองระดับแรกยังไม่ได้ คงต้องรอให้รุ่นหลังๆ มาแก้ต่อไปในระดับอุดมศึกษา  อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะในสังคมไทยนั้นความเป็น "ศักดินา" มีอยู่มากเหลือเกิน


 


ดังนั้น นักการศึกษาไทยต้องทำงานหนักมากกว่านี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องการศึกษาที่ว่าโรงเรียนไหนดีกว่าที่ไหน โดยทำให้มาตรฐานเท่ากันหรือใกล้เคียงกันมากขึ้น นอกจากนี้ต้องให้การศึกษาพ่อแม่ผู้ปกครองว่าการศึกษาคืออะไร จุดประสงค์คืออะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องสร้างอีโก้พ่อแม่ให้มาคุยกันในเรื่องลูก ถือเป็นเรื่องอุบาทว์และบัดซบอย่างที่สุด เพราะลูกไม่ใช่สัตว์เลี้ยง ลูกมีชีวิตของเค้าเอง พ่อแม่ให้ชีวิตลูกแต่ไม่ใช่เจ้าของชีวิตลูก


 


เรื่องที่สองต่อมาคือ อาจารย์แม่บอกว่าห้ามบอกว่าลูกโง่ อันนี้เป็นกลไกจิตวิทยาที่ห้ามสบปรามาสเด็ก แถมบอกต่อว่าถ้าเด็กมันโง่ พ่อแม่ต้องมาดูตัวเองก่อนว่าตนเองก็โง่ด้วยนั่นแหละ ผู้เขียนขำก๊ากแต่เห็นด้วยอย่างยิ่ง การบอกว่าลูกตนเองโง่นั้นไม่ถือเป็นเรื่องดีแก่ทุกฝ่ายเพราะเป็นกลไกทางจิตวิทยาที่มีผลสำคัญต่อการสร้างตัวตนต่อเด็ก หากคนใกล้ตัวไปบอกตอกย้ำว่าเด็กโง่ เด็กจะกลายเป็นคนไม่เชื่อมั่นในตนเองและพาลโง่ไปจริงๆ  เด็กจะคิดว่าเพราะไหนๆ เค้าว่าเราโง่ เราคงโง่จริงๆ  กลายเป็นการทำร้ายลูกแบบที่ไม่น่าเกิดขึ้น


 


ในทางกลับกัน มีพ่อแม่หลายคนที่สดุดีลูกเสียเหลือเกิน เห็นมาหลายครอบครัวแล้ว อันนี้ก็ทำให้ลูกเกิด "ปีมั่น" มีอีโก้ใหญ่โต ไปไหนวงแตกหมด หลายคนที่โชคดีไม่มีปัญหาก็ดีไป หลายคนมีปัญหากลายเป็นคนที่ปรับตัวยากและไม่เป็นที่รัก ยกเว้นพวกที่มีบารมีทางเศรษฐกิจอาจพอมีคนเลียแข้งขาได้มาก ผู้เขียนมีคนใกล้ตัวเป็นแบบนี้หลายคนคงเป็นเพราะพ่อแม่มีอันจะกิน  ลูกๆ ไม่น่ารักแต่จนใจที่บอกกล่าว ถือเป็นเวรกรรมของแต่ละคนก็แล้วกัน


 


ว่าแล้วพาลนึกถึงหนังสือเลี้ยงลูกทั้งหลายแหล่ที่พ่อแม่ชนชั้นกลางนิยมกันนักกันหนา อ่านไปขำไป สังเวชใจว่าพ่อแม่ชนชั้นกลางนี่มันช่างมีกรรมเสียจริงๆ ว่าไปแล้วน่าให้พ่อแม่หัดอ่านหนังสือรู้จักตัวเองก่อนหนังสือเลี้ยงลูก แต่หนังสือพ่อแม่ชนชั้นกลางที่ว่าคงขายไม่ออกเพราะพ่อแม่พวกนี้ชอบอ่านแต่พวก "ฮาวทู" หรือหนังสือคนดังเขียน ไม่งั้นก็พวก "อัลเทเนทีฟ" ตามก้นฝรั่งกระแสหลักที่เขลาต่างๆ หรือไม่ก็พวกอิงศาสนา มีอภินิหารต่างๆ เถิบออกมาก็เป็นพวกศาสนาที่เป็นแบบย้อนกลับต้นตำหรับอะไรแบบนี้  ผู้เขียนเดินตามแผงหนังสือเจอแต่แบบนี้ทั้งนั้น ส่วนหนังสือที่ฝรั่งดีๆ อ่านกันก็ไม่รู้จัก ไม่คิดจะอ่าน แย่กว่านั้นคือชอบอ่านแต่ที่แปลมาแล้ว ซึ่งก็แปลผิดๆ ถูกๆ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะมักอ้างว่าอ่านอังกฤษยาก


 


ทำให้มามองดูว่าที่ไปด่าลูกว่าโง่ พ่อแม่เองน่ะแหละโง่เอง อาจารย์แม่ปล่อยหมัดตรงแรง เพียงแต่ว่าตัวพ่อแม่เองจะใจกว้างพอหรือไม่ที่จะบอกว่าตนเองโง่ และเสียใจหรือไม่ที่มองลูกอย่างไม่ถูกทางในหลายเรื่อง


 


หัวอกพ่อแม่ อาจเป็นหัวอกเหี่ยวๆ ไม่มีคุณภาพ มีศักยภาพต่ำ มีแต่ความมักใหญ่ใฝ่สูง ตนเองทำไม่ได้ก็ผลักไสให้ลูกทำ หลายคนเรียนมาจนจบปริญญาโท ปริญญาเอก หลายคนมีตำแหน่งหน้าที่สูง แต่เป็นพ่อแม่ได้เฮงซวย เพราะไม่พร้อมที่จะเป็น การที่มีตำแหน่งใหญ่โตมีอำนาจในสังคมไม่ได้บอกว่าจะเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพ การเป็นพ่อแม่ที่เฮงซวยไร้คุณภาพทำลายตนเอง ทำลายลูก และทำลายสังคม


 


ผู้เขียนไม่เชื่อว่าหนังสือเลี้ยงลูกที่มีขาย มีให้อ่านในเมืองไทย จะช่วยแก้ไขได้ ทางออกคือต้องเปลี่ยนระบบความคิดในสังคมว่าถ้าหากยังต้องการสร้างให้สังคมสืบทอดแนวความคิดทุกชุดในสังคมแบบที่เป็นๆ มา ตอกย้ำค่านิยมไทยๆ ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่มีวันเจริญ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ การผสมผสานที่ถูกต้องของโครงสร้างเดิมกับโครงสร้างใหม่น่าเป็นทางออกได้ แต่น่าเสียดายที่ "นักวิศวกรรมสังคม" ของไทยก็ไปไม่ถึงดวงดาวกันเสียที อันนี้นักวิชาการไทยเองนั่นแหละต้องออกมาบอกว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร ไม่ใช่สนุกกับความได้เปรียบบางอย่างในสังคม แต่ต้องออกมาสอนสังคม


 


หัวอกพ่อแม่ บทบาทการเป็นพ่อแม่ที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้เอาเลยทีเดียว