Skip to main content

บนถนนความฝันของชายหนุ่มคะเรนนี

คอลัมน์/ชุมชน

 


คนเรามีถนนชีวิตมากมายหลายสายที่ต้องก้าวเดินผ่านไปบางคนกำลังเดินอยู่บนถนนสายที่ราบเรียบไรอุปสรรคขณะที่บางคนต้องก้าวเดินบนถนนสายที่เต็มไปด้วยขวากหนามคอยทิ่มแทงตลอดเวลาจำต้องดิ้นรนประคับประคองให้ชีวิตก้าวเดินไปจนถึงจุดหมายปลายฝันในที่สุด เช่นเดียวกับ ลีทู (นามสมมุติ) ชายหนุ่มเชื้อสายคะเรนนีคนหนึ่งที่ต้องพาชีวิตก้าวผ่านมาบนถนนที่เต็มไปด้วยอุปสรรคเพื่อสานฝันที่คิดไว้ให้เป็นจริง เขามุ่งหน้าตามเส้นทางลี้ภัยความตายจากพม่าสู่ไทย โดยไม่รู้เลยว่าหนทางข้างหน้าของชีวิตจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง


 


1


นานกว่าหกปีแล้วที่ชายหนุ่มผู้นี้ต้องลี้ภัยจากหมู่บ้านชนบทเล็กๆ อันห่างไกลแห่งหนึ่งในรัฐคะเรนนี ประเทศพม่ามายังประเทศไทย หลังจากต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหงของทหารพม่าที่เข้ามาควบคุมแผ่นดินที่พวกเขาอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เขาบอกเล่าถึงความใฝ่ฝันในวันนั้นว่า "ผมตัดสินใจมาเมืองไทยก็เพราะผมรู้สึกว่าที่ที่ผมอยู่ไม่มีอิสรภาพผมอยากเห็นอิสรภาพในรัคะเรนนี"


 


ลีทู ชายหนุ่มวัย 24 ปี เดินทางมุ่งหน้าสู่ประเทศไทยเพื่อแสวงหาโอกาสเรียนรู้วิชาการต่างๆ สำหรับนำกลับไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนที่อยู่ในรัฐคะเรนนีให้ได้รับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกมากขึ้น และทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคะเรนนีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


 


ในวัยที่เพิ่งเริ่มต้นของการเป็นผู้ใหญ่ ช่วงวัยที่ใครหลายคนกำลังวางแผนเพื่ออนาคตตัวเอง หลายคนเร่งรีบทำงาน เก็บเงินสำหรับสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในวันข้างหน้า ทว่าสำหรับลีทูแล้ว เขาสละทิ้งความคิดเช่นนั้น แต่หันมาครุ่นคิดถึงหนทางที่จะช่วยพัฒนาสังคมของชาวคะเรนนีให้ก้าวหน้าขึ้น


 


ลีทูเกิดและเติบโตที่รัฐคะเรนนี เขาเป็นน้องชายคนสุดท้อง ในบรรดาพี่น้องทั้งหมดสิบคน ตอนเด็กๆ เขาเคยแอบฝันไว้ว่าอยากเป็นนักธุรกิจ แต่เขาก็รู้อยู่ตลอดว่าความฝันที่เขาจะได้เป็นนักธุรกิจอย่างอิสระนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่มีอิสรภาพ ลีทูต้องทนเห็นผู้คนในหมู่บ้านถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่รู้ว่าวันไหนที่ความทุกข์ทรมานนี้จะหมดไปจากรัฐคะเรนนี


 


เป็นที่ทราบกันดีว่าพม่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย แม้ว่าในปัจจุบัน หลาย ๆ ประเทศจะออกมาเรียกร้องและประณามการกระทำของรัฐบาลเผด็จการ แต่สถานการณ์เลวร้ายดังกล่าวก็ยังไม่เคยยุติลง  ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากมายถูกทหารพม่าเกณฑ์ไปทำงานให้กับกองทัพ พวกเขาเหล่านั้นต้องทนกับความทุกข์ยากที่ไม่สามารถจะหลบเลี่ยงได้ ทหารพม่าเกณฑ์พวกเขาไปใช้แรงงานเยี่ยงทาส  ไม่มีสวัสดิการใดๆ ตอบแทนให้ ต้องทำงานตามคำสั่งของทหารพม่าเพียงอย่างเดียว ไม่มีการรับประกันเรื่องความปลอดภัย และผู้คนมากมายต้องจบชีวิตลง


 


"ตอนเด็กผมเคยถูกเกณฑ์ไปทำงานให้ทหารพม่า ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อน ทั้งพ่อแม่ พี่ชาย พี่สาว ทุกคนในครอบครัวถูกเกณฑ์ไปทำงานกันหมด ทหารพม่าเข้ามาเกณฑ์คนในหมู่บ้านไปทำงานบ่อยมาก ไม่มีใครคัดค้านได้เลย ชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์ไปจะถูกใช้ให้ทำงานโดยไม่ได้หลับได้นอน ไม่มีรถมารับมาส่งระหว่างหมู่บ้านกับสถานที่ทำงาน หลายคนต้องเดินเท้าไปเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร คนที่มีจักรยานก็โชคดีหน่อย"


 


แม้ว่าชีวิตในวัยเด็กควรจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนาน แต่สำหรับลีทูและเด็กคนอื่นๆ ในรัฐคะเรนนีแล้ว ชีวิตของพวกเขาถูกลิขิตให้พบกับความทุกข์ยากที่ไม่มีใครต้องการโดยที่ไม่มีโอกาสเลือกได้ พวกเขาถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในชีวิตแม้ในดินแดนชี่เป็นบ้านเกิดของตัวเอง ภาพแห่งความโหดร้ายและความรู้สึกในวันนั้นยังวนเวียนอยู่ในความทรงจำของลีทู  ใครที่ไม่ได้เจอด้วยตนเองอาจจะไม่มีโอกาสเข้าใจสิ่งที่ลีทูรู้สึกในขณะนี้ความรู้สึกซึ่งยังฝังอยู่ในเบื้องลึกของหัวใจ


2


"ผมไม่อยากทนให้ทหารพม่ากดขี่ข่มเหงอีกต่อไปแล้ว"
แวบแรกในความคิดนั้นได้จุดประกายความฝันขึ้นมาใหม่ เขาคิดว่าชีวิตเขาไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก เขาควรตัดสินใจเบนเข็มชีวิตออกจากรัฐคะเรนนี และการตัดสินใจในครั้งนี้อาจจะเป็นเส้นทางนำพาเขาไปถึงความฝันที่เฝ้าหวังมาตลอดว่า สักวันหนึ่งอิสรภาพและความสงบ ตลอดจนการพัฒนาจะเกิดขึ้นที่รัฐคะเรนนีของเขา

ลีทูเดินทางสู่ประเทศไทยเพื่อเติมเต็มฝันให้เป็นจริง  แม้บนเส้นทางสานฝันจากรัฐคะเรนนีสู่ประเทศไทยของชายหนุ่มคนนี้จะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่เขาก็ยังคงยืนหยัดและมุ่งมั่น ไม่มีวันไหนเลยที่จะย่อท้อ ก่อนการตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ถนนสายนี้  ลีทูรับรู้เรื่องราวของประเทศไทยจากคนในหมู่บ้านที่เดินทางไปๆมาๆระหว่างรัฐคะเรนนีกับชายแดนประเทศไทย

ในมโนภาพของเขาตอนนั้น ประเทศไทยคือดินแดนที่มีอิสรภาพ มีประชาธิปไตย ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพ ในขณะที่เขาและคนอื่นๆ ในรัฐคะเรนนีไม่เคยมีโอกาสได้ลิ้มรสของอิสรภาพเลยนับตั้งแต่เขาจำความได้


 


"คืนก่อนที่ผมจะมาเมืองไทยนั้น" เสียงของลีทูเงียบหายไปในลำคอก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวต่อไป เขานิ่งอยู่นานเหมือนกับกำลังรื้อฟื้นความทรงจำอะไรบางอย่างที่ผ่านมาของชีวิต 


"...ผมเตรียมเสบียงอาหารที่ใช้กินกลางทางตลอดคืน ในใจผมมีแต่ความหวาดกลัว ผมกลัวที่จะต้องไกลบ้าน กลัวถูกทหารพม่าจับได้ วันรุ่งขึ้นผมเดินเท้าออกจากรัฐคะเรนนีกับเพื่อนอีกห้าคน อาผมเป็นคนนำทางมา อาคุ้นทางดีเพราะเคยเดินทางมาประเทศไทย"


 


กว่าจะเดินทางถึงประเทศไทย ลีทูต้องเจอกับอันตรายที่พร้อมจะคุกคามชีวิตเขาได้ทุกเมื่อ ลีทูกับพวกที่เดินทางมาด้วยกัน ต้องกินนอนอยู่กลางป่าถึงสองสัปดาห์ สิ่งที่เขาหวาดกลัวมากที่สุดก็คือการถูกทหารพม่าจับได้ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่จะมีลมหายใจต่อไปนั้นริบหรี่เต็มที และโชคชะตาก็ไม่ได้เข้าข้างเขามากนัก ลีทูต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เขาหวาดผวามากที่สุดเข้าจริงๆ ลีทูเล่าเหตุการณ์ระทึกขวัญตอนนั้นให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นแฝงด้วยความหวาดกลัวว่า


 


"ระหว่างทาง พวกผมเจอกับทหารพม่ากลุ่มหนึ่ง ตอนนั้นพวกผมต่างก็วิ่งหนีกันอย่างไม่คิดชีวิต ทหารพม่าส่งเสียงเอะอะโวยวายวิ่งตามมาข้างหลังผมโชคดีที่พวกผมอยู่ห่างจากทหารพม่ามาก พวกเขาจึงไล่ตามพวกผมมาไม่ทัน"


 


ในที่สุดลีทูกับพรรคพวกก็รอดพ้นเงื้อมมือของเหล่าทหารพม่ามาได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็คงจะมีผู้ลี้ภัยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้โชคดีเหมือนลีทูกับพรรคพวก เราไม่เคยรู้ว่ามีผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากมายเท่าไหร่ที่ได้สังเวยชีวิตให้กับเผด็จการทหารในป่าตะวันตกอันเป็นเส้นทางอพยพของผู้ลี้ภัยความตายจากพม่าสู่ไทย



3



เมื่อรอยเท้าแรกเหยียบย่ำลงบนผืนแผ่นดินไทย ลีทูรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนกับการเปลี่ยนชีวิตเข้าสู่เส้นทางสายใหม่  ลีทูเริ่มใช้ชีวิตครั้งแรกในประเทศไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เขาคิดว่าเขาคงจะมีโอกาสได้สัมผัสกับอิสระเสรีที่เขาโหยหามาตลอด แต่แล้วเขาก็ต้องพบว่า การที่เขาจะไปไหนมาไหนได้นั้นมันไม่ง่ายเลย สำหรับผู้ลี้ภัยอย่างเขา


ลีทูต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเสี่ยงและระแวงว่าจะถูกตำรวจจับ ลีทูไม่มีบัตร ไม่มีพาสปอร์ต ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะเดินทางมาประเทศไทย เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า การที่จะมีชีวิตอยู่บนถนนที่เต็มไปด้วยสิทธิและเสรีภาพเหมือนกับคนไทยนั้นจะต้องมีหลักฐานเหล่านี้อยู่ในมือ  ลีทูไม่สามารถทำงานที่แม่สอดเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน  จึงต้องหาทางเข้าพักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน


 


เขาใช้ชีวิตในค่ายแห่งนั้นเป็นเวลาสองปี ซึ่งระหว่างนั้นเขาได้มีโอกาสเรียนหนังสืออีกครั้งกับครูชาวคะเรนนี   แม้ลีทูสามารถจะไปไหนมาไหนได้ภายในค่ายโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยเช่นที่เขาเคยเจอ  แต่อิสระเสรีก็มีอย่างจำกัดแค่ในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตรเท่านั้น  ลีทูและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ในค่ายไม่สามารถออกมาภายนอกได้  ที่ค่ายแห่งนี้ ลีทูได้พบเห็นปัญหามากมายของผู้ลี้ภัย บางครั้งเขาก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะมีหนทางใดบ้างที่จะช่วยให้พี่น้องคะเรนนีในค่ายผู้ลี้ภัยหลุดพ้นจากความลำบากที่กำลังประสบอยู่


 


แม้ว่าชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยจะรอดพ้นจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่พวกเขายังต้องประสบกับปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต หลายคนที่อยู่ข้างนอกอาจมองว่าคนที่อยู่ในค่ายนั้นไม่ต้องเดือดร้อนอะไรอีกแล้วเพราะที่อยู่อาศัยก็มีให้ฟรี แถมยังได้รับแจกข้าวปลาอาหารอีก ลีทูเบือนหน้ามองออกไปข้างนอกประหนึ่งว่าเขากำลังมองภาพในอดีตที่เขาเพิ่งก้าวผ่านมาหมาดๆ


 


"ชีวิตในค่ายไม่ได้สุขสบายอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด ถ้าได้เข้ามาเห็นด้วยตัวเองจะรู้และเข้าใจถึงสภาพที่แท้จริง" ลีทูรู้ดีถึงปัญหาที่ผู้ลี้ภัยในค่ายกำลังประสบอยู่ แววตาเขาดูหม่นเศร้าขณะกำลังบอกเล่าความเป็นจริงในค่ายผู้ลี้ภัย


 


"ปัญหาที่สำคัญในค่ายผู้ลี้ภัยคือปัญหาโภชนาการ อาหารที่ผู้ลี้ภัยได้รับแจกมีเพียงข้าวและถั่วแขก หรือที่พวกเขาเรียกกันว่าถั่วกะลาแบเท่านั้น คนในค่ายต้องกินข้าวกับถั่วกะลาแบ ซ้ำกันทุกมื้อ เด็กๆ บางคนขาดสารอาหาร เชื้อเพลิงที่จะใช้ก่อไฟมีไม่เพียงพอ ในค่ายไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับให้ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง บางคนแอบหนีออกไปหาอาหารนอกค่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ทำงานต้องอยู่ในค่ายไปวันๆ มิหนำซ้ำยังต้องนอนสะดุ้งหวาดผวาทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงปืนของทหารพม่าที่ดังขึ้นจากอีกฟากชายแดน ซึ่งห่างจากค่ายออกไปไม่ไกลนัก"


 


4


 


หลังจากใช้ชีวิตสองปีภายใต้อิสรภาพอันจำกัดในค่าย ลีทูตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตตัวเองอีกครั้ง เขาตัดสินใจออกนอกค่ายแล้วมุ่งหน้าตามหาฝันอีกครั้ง เขาต้องการแสวงหาความรู้โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้กับสังคมที่รัฐคะเรนนี และความรู้ภาษาอังกฤษ กับคอมพิวเตอร์สำหรับนำกลับไปสอนต่อให้เด็ก ๆ ที่บ้านเกิด


 


เขารู้สึกว่า ตราบใดที่รัฐบาลพม่ายังมีอคติต่อชนกลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาต่างๆ ที่จะลงมายังพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นไปได้ยาก เขาไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะยังเป็นอยู่เช่นนี้อีกนานแค่ไหน เขาไม่อยากฝากความหวังกับความไม่แน่นอนของรัฐบาลพม่าอีกแล้ว มีสิ่งเดียวตอนนี้ที่เขาหวัง นั่นคือเขาจะต้องนำความรู้เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เขากำลังเรียนรู้กลับไปเผยแพร่ให้กับสังคมที่รัฐคะเรนนีในเร็ววันที่สุด


 


ลีทูเข้ารับการอบรมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนตลอดจนวิชาการพัฒนาสังคมกับสภากลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์แห่งพม่า (NY-FORUM) ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ที่นี่ลีทูได้เจอกับเพื่อนๆ กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่ามากมาย เขามีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ ที่มาจากประเทศเดียวกันและเคยเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ตอนนี้ลีทูกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และกำลังตั้งใจฝึกฝนภาษาอังกฤษตามที่เขาหวังไว้


 


เมื่อถูกถามว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากจะให้เกิดขึ้นมากที่สุดในตอนนี้ ลีทูตอบทันทีว่า  "อยากให้เยาวชนจากประเทศพม่ารวมตัวประชุมหารือกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่า และปัญหาที่ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าต้องประสบอยู่เพื่อจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไข"


 


วันนี้ลีทูกำลังบ่มเพาะความฝันของตัวเองที่ NY-FORUM ร่วมกับคนรุ่นใหม่จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งต่างมีอุดมการณ์คือต้องการเห็นผู้คนในพม่ามีสิทธิเสรีภาพไม่ต้องถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเยาวชนที่เป็นกำลังของชาติได้รับการศึกษาที่ดี


แม้ว่าวันนี้สิ่งที่ลีทูเฝ้าฝันมาตลอดจะยังไม่ปรากฏเป็นภาพความจริงแจ่มชัด แต่เชื่อได้ว่าในอีกไม่ช้าเมื่อเขาได้สั่งสมความรู้เพิ่มเติม เขาก็จะกลับไปปลูกต้นกล้าแห่งความฝันของเขาที่รัฐคะเรนนีให้งอกงาม ดังที่เขาได้มุ่งมั่นมาตลอดในการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม เพื่อพี่น้องคะเรนนี อันเป็นดังปณิธานแน่วแน่ที่เขาจะยึดถือขณะยืนหยัดเดินไปข้างหน้าบนถนนแห่งความฝันสายนี้


 


ผมมาเมืองไทยไม่ใช่เพื่อมาหางานทำให้กับตัวเอง แต่ผมมาเพื่อหาความรู้ มาเปิดหูเปิดตาตัวเอง เพื่อวันหนึ่งผมจะได้กลับไปทำงานเพื่อสังคม เพื่อพี่น้องคะเรนนี?


 


เผยแพร่ครั้งแรกใน สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 28 (1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2549)