Skip to main content

เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ : วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงวันที่ ๑๕ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ วุฒิสภา เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศโครเอเซียและบอสเนีย ดิฉันจึงขอลาหน้าที่ ต่อท่านผู้ท่าน ๑ สัปดาห์ โดยคุณจันทราภา นนทวาสี จะรายงานการเตรียมงานใหญ่ คือ "เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ : วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง" วันที่ ๒๔ - ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย



วัตถุประสงค์ของงานคือ เพื่อรณรงค์ให้ข้อมูลเรื่องของดี ของแม่น้ำโขง แสดงสำนึกรักแม่น้ำโขงของลูกแม่น้ำโขงฝั่งไทย ลาว กระตุ้นให้ทุกคนในสังคม เห็นคุณค่าของแม่น้ำโขง ในมิติทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ แทนการมองความร่วมมือ เพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียว ของ ๖ ประเทศ ดังกรอบของ GMS (Greater MEKONG SUBREGION) และ ACMEC (AYAVADEE Chaopraya Mekong Economic Cooperation) เชิญพบกับคุณจันทราภาค่ะ


 


 


กลุ่มชายสูงวัย ๖-๗ คน กำลังสาละวนอยู่ บ้างก็ยืนอยู่บนโต๊ะไม้ประกอบหยาบ ๆ ที่ช่วยต่อตัวให้สูงขึ้นเพื่อใช้หญ้าคามุงเป็นหลังคาบ้าน โดยมีคนคอยส่งไพคาให้เป็นระยะๆ  ขณะที่บ้างกำลังใช้ตอกยึดโครงไม้ บางคนกะเกณฑ์การวางประตู หน้าต่าง


 


"กำลังสร้างบ้านคนเมืองอยู่"  หนึ่งในพ่อเฒ่าตะโกนตอบเมื่อเห็นผู้เขียนจ้องมองด้วยความสนใจ "ด้านหลังที่สร้างเสร็จแล้ว เป็นบ้านของคนลาหู่ ทางด้านโน้นบ้านม้ง ส่วนของคนลาวกับคนลื้อประกอบจากในหมู่บ้าน แล้วถึงจะยกมาตั้งที่นี่" พ่อเฒ่าอธิบายเพิ่มเติม


 


บ้านจำลองของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผุดขึ้นบริเวณสนามของศูนย์พัฒนาข้าราชการครูโรงเรียนบ้านหัวเวียง (โกศัลย์วิทย์) เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่สามารถใช้จำแนกแยกแยะว่า ใครเป็นใครได้


 


ผละจากกลุ่มที่กำลังสร้างบ้านในลานข้างห้องประชุม ชายฉกรรจ์เกือบสิบคนช่วยกันยกไม้ไผ่ทั้งที่ตัดเป็นท่อน ๆ และสับเป็นฟากลงจากรถ ส่วนนี้จะใช้เป็นซุ้มนิทรรศการของหลายหน่วยงาน ทั้งบ้านจำลองและนิทรรศการเป็นส่วนหนึ่งของ ลานความรู้ท้องถิ่น


 


เมื่อเดินกลับมาถึงสำนักงานของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา จะพบกับผู้คนมากมายที่วุ่นวายอยู่กับภาระงานในความรับผิดชอบของตน ฝ่ายศิลป์ กำลังเร่งผลิตฉากสำหรับเป็นเวทีในงานแสดง ฝ่ายพิธีการร่วมกันเช็คจำนวนพระสงฆ์ที่มาร่วมงาน วางแผนตระเตรียมสถานที่และความพร้อมในพิธีตักบาตรและสืบชะตาน้ำโขง ฝ่ายธุรการและประสานงาน ทำหน้าที่ออกจดหมาย ติดตามแขกที่จะมาร่วมงาน เพื่อจัดการเรื่องการเดินทาง ที่พักและอาหาร รวมทั้งเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าว


 


ทุกคนมุ่งมั่นเพื่อความพร้อมเพรียง เพื่อความสมบูรณ์แบบของงาน "เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง" ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์พัฒนาข้าราชการครูโรงเรียนบ้านหัวเวียง (โกศัลย์วิทย์) สนามกีฬาโรงเรียนบ้านหัวเวียง (โกศัลย์วิทย์) และบริเวณท่าเรือน้ำลึก  อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมทำความรู้จักกับแม่น้ำโขง "วิถีแห่งธรรมชาติ" ที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนทั้งสองฝั่ง ก่อเกิด "วิถีวัฒนธรรม" ที่ควรค่าแก่การสืบสานสู่คนรุ่นหลัง ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาและหลักศรัทธาของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์


 


ลุ่มแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเชียงของ-เวียงแก่น ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์เท่าที่สืบค้นได้จากงานวิจัยโครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและชาติพันธุ์ "เชียงของ เวียงแก่น : พัฒนาการของสังคมชายขอบจากอดีตสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" โดยคณะนักวิจัยท้องถิ่นอำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่น มีถึง ๙ กลุ่ม ซึ่งมีความผูกพันอยู่กับแม่น้ำโขงแตกต่างกันไป


 


 


คนยวนหรือคนเมือง และคนลาวที่อยู่ริมแม่น้ำจะหาปลาหลังจากทำไร่ทำนาแล้ว ขณะที่คนม้งและคนเย้า เป็นพ่อค้าบนดงดอย คนอาข่าและคนลาหู่จะทำไร่ หาของป่า ล่าสัตว์ โดยหาไว้เพียงพอกินด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน ส่วนคนขมุ ก็มักจะเป็นแรงงานในเตาบ่มใบยาที่ตั้งอยู่ริมน้ำ


 


หากย้อนกลับไปดูความเป็นมาของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ จะพบว่า   ในเขตเชียงของมีกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะหรือตำมิละอาศัยอยู่ก่อน หลังจากนั้นจึงเป็นยุคของขอมหรือกรอมแห่งสุวรรณโคมคำ ต่อมาจึงมีคนยวนหรือคนเมือง คนลื้อและคนลาว ได้อพยพจากอาณาจักรยูนนานเพราะหนีการรุกรานของมองโกลและจีน มาตั้งหลักแหล่งในเขตพื้นที่ราบของแม่น้ำโขง ในการอพยพของคนลื้อรุ่นที่สามจากประเทศลาว เมื่อประมาณ ๒๐๐ กว่าปี มีกลุ่มคนขมุติดตามมาด้วย ขณะที่คนลาหู่หรือมูเซอ  เดิมอาศัยอยู่บนดอยใกล้เมืองเมิง เมืองพะละป่า ประเทศลาว อพยพหนีภัยสงครามฝรั่งเศสข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองห้วยทราย เมื่อประมาณ พ.. ๒๔๖๓ ส่วนคนม้ง เป็นกลุ่มที่เคยมีอำนาจอยู่ที่ประเทศจีน


 


ต่อมาสมัยราชวงศ์แมนจู จีนได้ปราบปรามม้งจนแตกพ่าย   อพยพลงใต้เขาสู่ไทยทางเทือกดอยหลวงและดอยยาวของอำเภอเชียงแสน   เชียงของและเวียงแก่น  เช่นเดียวกับคนเมี่ยนหรือเย้าในบางพื้นที่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับคนม้ง  ขณะที่คนจีนฮ่อ ซึ่งรัฐบาลไทยเรียกว่า กลุ่มทหารจีนคณะชาติ กองพล ๙๓ ที่แตกพ่ายจากการโจมตีของทหารพม่าและทหารจีนแผ่นดินใหญ่ และอพยพครัวเรือนเข้ามาในประเทศไทย และคนอาข่าอพยพมาจากตอนใต้ของจีน เข้ามาสมทบกันตามสายเครือญาติ


 


ด้วยความที่ผู้คนมีวิถีชีวิตที่หลากหลาย แต่กลมกลืนอยู่กับแม่น้ำโขง กิจกรรมต่างๆ ในงาน "เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง" จึงมุ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ เล่าสู่ภูมิปัญญา ศิลปะท้องถิ่น และศิลปินร่วมสมัย


 


หกโมงเช้า  วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พิธีการเริ่มจากการใส่บาตรอาหารและดอกไม้ ชมขบวนแห่รณรงค์ สืบชะตาแม่น้ำโขง เวทีเสวนาวิชาการ "ศาสนธรรมกับการอนุรักษ์" การแสดงเวทีวัฒนธรรมพื้นบ้านท้องถิ่น  ได้แก่  ฟ้อนสาวไหม,  ขมุกระทบไม้,  กลองยาว  ขับทุ้ม,  แคนม้ง และอื่น ๆ อีกมากมาย ภาคค่ำ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง ละครเงา (กลุ่มพระจันทร์พเนจร) การแสดงดนตรีจากหลายศิลปิน เช่น เอ้ นิติกุล, เทอดนาสี, ตุ้ม เลอฌอ, อ้น ธวัชชัย ชูเหมือน วงดนตรีลูกทุ่งสันทราย และหนังกลางแปลง


 


วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พบกับนิทรรศการลานความรู้ท้องถิ่น เวทีเสวนา "กระแสแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป กระทบอย่างไรกับชาวบ้าน"  ห้องเรียนแม่น้ำโขงเพื่อเยาวชน ภาคกลางคืน ชมการแสดงของศิลปินพื้นบ้าน หนังกลางแปลง ละครเงา และช่วงดึกครื้นเครงกับบทเพลงเพื่อแม่น้ำโขงโดยศิลปินชื่อดัง อาทิ คาราวาน, สีเผือก คนด่านเกวียน, อี๊ด ฟุตบาท, ซูซู, สุดสะแนน ฯลฯ


 


ความยิ่งใหญ่อลังการของการจัดงาน อาศัยเพียงกำลังอันน้อยนิดของผู้จัดงาน ย่อมมิอาจสำเร็จลุล่วงไปได้ "เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง" จึงเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการถักทอพลังการทำงานของเครือข่าย ที่ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจ โดยมีศูนย์รวมใจและจิตวิญญาณเพียงหนึ่งเดียว "แม่น้ำโขง มหานทีที่เป็นตำนานของทุกเผ่าพันธุ์"


           


หมายเหตุ : ขอขอบคุณ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนาเอื้อเฟื้อภาพประกอบ