Skip to main content

30 บาทในสถานการณ์10,000ล้าน

 


เป็นที่ประจักษ์ว่ามีการแสวงหาประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


 


นั่นคือกล่าวหาว่าโรงพยาบาลของรัฐไม่มีคุณภาพ    เพราะฉะนั้นไม่ควรขึ้นทะเบียนเป็นโรงพยาบาลในสังกัดระบบหลักประกันฯ


 


ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะปกป้องโรงพยาบาลเอกชนที่กระทำผิดต่อผู้ป่วยซ้ำซากไม่ให้มีการลงโทษ  ไม่ให้มีการเอาผิด


 


เรียกรวมๆ ว่าเตะหมูเข้าปากหมา


 


ผมได้ยินอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวในที่ประชุมแก้ไขความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยว่า ค่าตัวสูงสุดล่าสุดของอาจารย์โรงเรียนแพทย์ที่ถูกโรงพยาบาลเอกชนซื้อตัวไปคือ 8 ล้านบาทต่อเดือน!


 


ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเมดิคัลฮับ  ธุรกิจสุขภาพหมื่นล้าน


 


ปัญหาคือ แพทย์ผู้ดำเนินการเมดิคัลฮับเข้าไปนั่งกันเต็มบอร์ดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ    แม้ว่าตัวสำนักงานหลักประกันฯ เองหรือภาคประชาชนที่นั่งในบอร์ดจะพยายามทัดทานอย่างใดก็ไม่เป็นผล  เพราะวัฒนธรรมการประชุมบ้านเราเข้าทำนองคนรวยเสียงดัง  ปฏิบัติการเลื่อยขาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง


 


กล่าวเฉพาะเรื่องข้อกล่าวหาว่าโรงพยาบาลของรัฐไม่มีคุณภาพเพียงเรื่องเดียวก่อน      ยุทธศาสตร์นี้กระทำกัน 3 ขั้นตอน


 


ขั้นที่ 1 คือแสดงความเห็นใจแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐอย่างออกนอกหน้าว่างานหนักเงินน้อย     ความจริงก็คือแพทย์ภาครัฐงานหนักจริงๆ นั่นแหละครับ   แต่เรื่องเงินน้อยนั้นไม่แน่ หากเทียบกับมาตรฐานของผู้ที่กำลังดำเนินการเมดิคัลฮับหรือแพทย์โรงพยาบาลเอกชนก็น้อยแน่ แต่ถ้าเทียบกับความสุขที่ได้ตรวจผู้ป่วยที่ไม่มีคนตรวจ รับรองได้ว่าไม่น้อย


 


ที่น่าแปลกที่สุดคือเพิ่งเคยเห็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนแสดงความห่วงหาอาทรแพทย์ภาครัฐอย่างซาบซึ้งตรึงใจ  ทั้งๆที่พวกเราทำงานหนักมาสามสิบปีแล้ว


 


ขั้นที่ 2  คือยุแยงตะแคงรั่วให้แพทย์เห็นผู้ป่วยเป็นศัตรู  หลังจากปลอบประโลมแพทย์รุ่นน้องรุ่นลูกจนได้ใจแล้วก็เดินสายเสี้ยมสอนสิ่งที่ผิดกฎหมายให้แก่แพทย์รุ่นน้องรุ่นลูก เช่น อย่าให้เวชระเบียนผู้ป่วยแก่ผู้ป่วย เป็นต้น รวมทั้งเผยแพร่คำสอนที่ผิดจริยธรรมอย่างรุนแรง เช่น นำนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่ามาเล่าซ้ำและปลุกปั่นความบาดหมางระหว่างแพทย์กับประชาชน เป็นต้น


 


ขั้นที่ 3 กระทำในที่ประชุมลับหลังแพทย์ภาครัฐทั้งมวล  นั่นคือระบุว่าจำนวนของแพทย์ภาครัฐไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้มาตรฐาน  เพราะฉะนั้น อย่างไรๆ แพทย์ภาครัฐก็ไม่มีคุณภาพ        ควรเพิกถอนแพทย์ภาครัฐออกจากระบบหลักประกันฯ นั่นเท่ากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องล้มลง


 


ก็จริงอีกนั่นแหละครับที่แพทย์ภาครัฐไม่ได้สัดส่วนกับประชาชนที่มารับบริการ  แต่เหตุการณ์นี้เกิดมาสามสิบปีแล้วเช่นกันโดยไม่มีกระทรวงฯ หรือผู้ใหญ่ที่ไหนคิดช่วยเหลือ   เป็นแพทย์ภาครัฐในพื้นที่ที่อดทนทำงานและสร้างทีมทำงานให้ดีที่สุดเสมอมา


 


การสร้างทีมทำงานที่ดีที่สุดนั่นต่างหากคือ "มาตรฐานและคุณภาพ"  ไม่ใช่ "ตัวเลข" แสดงสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนที่อาจจะถึงและไม่ถึงเกณฑ์  โรงพยาบาลที่มีแพทย์เกินเกณฑ์แล้วรักษาไม่ได้เรื่องมีถมไป แต่โรงพยาบาลชุมชนที่แพทย์ตกเกณฑ์ทำงานได้มาตรฐานก็มีถมไป


 


อันที่จริงก็จริงทั้งหมดที่พวกเมดิคัลฮับว่า  นั่นคือ 1.แพทย์ภาครัฐมีจำนวนน้อย   2.ทำงานหนัก   และ 3.มีปัญหาระหองระแหงกับผู้ป่วย


 


แต่ทั้งหมดนี้ควรแก้ด้วย 1.ความจริงใจที่จะแก้ปัญหา   2.การบริหารจัดการที่ดี   และ 3.ความเมตตากรุณา 


 


ตามลำดับครับ