Skip to main content

เฮาฮักแม่น้ำของ มหานทีแห่งชีวิตและวัฒนธรรม

คอลัมน์/ชุมชน


ท่านที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา คือ คุณวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม ได้กรุณาให้หนังสือ MEKONG SPRING OF LIFE แก่ดิฉัน เมื่อวันพุธที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๙ ซึ่ง ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ เป็นประธานคณะนักวิชาการ ร่วมกับอีก ๕ ชาติในลุ่มน้ำโขง คือ จีน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จัดพิมพ์ในโอกาสการประชุม GMS (GREATER MEKONG SUBREGION) ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒-๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่คุณหมิง โดยศูนย์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนานาชาติยูนนาน และสำนักพิมพ์ (วิจิตรศิลป์) ของยูนนาน เมื่อได้อ่านและดูภาพแล้วยิ่งเห็นคุณค่าของแม่น้ำโขง เกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้และร่วมอนุรักษ์แม่น้ำโขงยิ่งขึ้น


 


บทนำของหนังสือได้ย้ำว่า แม่น้ำโขงมีกำเนิดจากที่ราบสูงธิเบต เป็นรากฐานของชีวิต ได้ก่อกำเนิดวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นอนาคตที่งดงามของหกชาติที่ร่วมชีวิตในแม่น้ำเดียวกัน ลุ่มน้ำโขงรุ่มรวยด้วยทรัพยากรชีวภาพอันมหาศาล เป็นแหล่งน้ำ แหล่งแร่ธาตุ ป่าไม้ พื้นที่เกษตร ที่อยู่ของสัตว์ต่าง ๆ และปลา เป็นทั้งมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติของภูมิภาค  จึงควรเร่งสร้างโอกาสและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่งดงามของความไว้วางใจและ ความร่วมมือกันของหกชาตินี้ จึงควรร่วมมือกันสร้างยุคใหม่ของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง  โดยทิ้งภาพของความเจ็บปวด เย็นชา และความไม่วางใจกันในอดีตไว้เป็นเบื้องหลัง


 


แม่น้ำโขงยาว ๔,๘๘๐ กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำ ๘๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ระดับความสูงจากต้นน้ำถึงท้ายน้ำที่เวียดนามต่างกันถึง ๕,๑๖๗ เมตร ส่วนต้นน้ำที่อยู่ในจีน เรียกว่าแม่น้ำล้านช้างยาว ๒,๑๖๑ กิโลเมตร ที่อยู่นอกจีนยาว ๒,๗๑๙ กิโลเมตร


 


ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขง มีความหลากหลาย ตั้งแต่ภูเขาสูงกว่า ๕,๐๐๐ เมตร มีหิมะปกคลุมยอดเขาตลอดทั้งปี มีป่าประเภทต่าง ๆ ทั้งป่าดิบเขา ป่าฝน ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน ทะเลทราย มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มากเป็นที่สองของโลก รองจากแม่น้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้


 


พันธุ์สัตว์แห่งลุ่มน้ำโขง ได้แก่ สัตว์ป่า เช่น เสือ ช้าง สัตว์ตระกูลลิง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำในเขมร เป็นที่อยู่สำคัญของนกน้ำนานาชนิด แมลง สัตว์ บางอย่างมีเฉพาะในแม่น้ำโขงและอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ คือ โลมาอิรวดี จรเข้สยาม และปลาบึก รวมทั้งปลาซึ่งมีถึง ๑,๘๐๐ ชนิด เป็นแหล่งที่ให้โปรตีนถึง ๕๕ %


 


ยูนนานได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรของดอกไม้ มีดอกไม้ที่ขึ้นเฉพาะเทือกเขาสูงตั้งแต่ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ เมตร และ ๔,๐๐๐–,๒๐๐ เมตร รวมทั้งเห็ดนานาชนิดที่กินได้


 


พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และระบบเศรษฐกิจ แต่กำลังถูกทำลาย เพราะหลายสาเหตุ ได้แก่ โครงการพัฒนาแม่น้ำ เขื่อน ประชากรเพิ่ม ระบบการจัดการที่แย่ วิธีจับปลาที่ไม่เหมาะสม เกษตรพื้นบ้านเพื่อยังชีพ เป็นต้น


 


แผนเพื่อส่งเสริมให้แหล่งพันธุ์พืชเหล่านี้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นที่พึ่งพาของคนยากจนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนเหล่านี้นอกจากได้ร่วมใช้แม่น้ำ แผ่นดิน ป่าเขาด้วยกันแล้ว ยังร่วมประวัติศาสตร์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ความเป็นเครือญาติ การติดต่อค้าขายกันมาอย่างใกล้ชิดและยาวนาน


 


พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักในลุ่มน้ำโขง เห็นได้ชัดจากสถาปัตย์ของวัดและเจดีย์ ที่มี รูปแบบต่างกัน จากยูนนานตอนใต้ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ภาพวาดบนภูเขา หน้าผา ดนตรี นาฏศิลป์ ภาษาพูด ภาษาเขียน พิธีกรรม ค่านิยม จารีตประเพณี มีวัดพุทธอยู่ทั่วไปเกือบทุก หมู่บ้าน โดยเด็กชายจะบวชก่อนที่จะเริ่มชีวิตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว และมีศาสนาอื่นๆ ได้แก่ ฮินดู คริสต์ อิสลาม และศาสนาของชนชาติพันธุ์ต่างๆ


 


ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของ ๖ ชาติในลุ่มน้ำโขง (GMS) โดยประชุมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ที่กรุงพนมเปญ กำหนดกรอบความร่วมมือ ๘ ด้าน ทุนไม่น้อยกว่า ๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ (๘ หมื่นล้านบาท) ได้แก่ ด้านการคมนาคม (รถไฟ ถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ให้เชื่อมโยงกันทั้งภูมิภาค) พลังงาน การสื่อสาร การท่องเที่ยว ด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้า การลงทุน และการควบคุมยาเสพติด


 


การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น โครงการปรับปรุงแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ จากยูนนานถึงหลวงพระบาง โดยการระเบิดเกาะแก่งอันสำคัญยิ่งต่อระบบ นิเวศของแม่น้ำ  เพื่อให้เรือใหญ่ขนาด ๓๐๐-๕๐๐ ตัน เดินทางได้สะดวกตลอดปี รวมทั้งแผนสร้างเขื่อน ๑๑ แห่ง ในแม่น้ำล้านช้าง รวมทั้งเขื่อนในแม่น้ำสาขาน้ำโขงในประเทศต่างๆ  เช่น เขื่อนปากมูนในไทย  เขื่อนเซนซาน ในเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน  จึงเกิดการรวมกลุ่มคัดค้านอย่างต่อเนื่อง


 


ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงที่อำเภอเชียงของ ซึ่งขึ้นลงฮวบฮาบ กระแสน้ำแรงเชี่ยวกราก คุณภาพน้ำขุ่นข้น ไม่ใสในฤดูแล้ง  ไม่เป็นปกติตามฤดูกาลอย่างที่เคยเป็น เป็นปรากฏ การณ์ที่ได้กระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน  เกษตรกรริมโขง แม่หญิงผู้เก็บไก (สาหร่ายน้ำจืด) และผู้อาศัยริมฝั่งโขง ตลิ่งถูกกัดเซาะจนพื้นที่หายไป บ้านพังเป็นหลัง เสาไฟฟ้าล้ม พื้นที่เกษตรสูญเสีย ต้องถอยร่นไปจนชิดภูเขา


 


การรวมตัวกันโดยกลุ่มรักษ์เชียงของ เป็นแกนประสานงาน ร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์ริมน้ำโขง ด้วยการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ นักวิชาการ เกิดงานวิจัยจาวบ้าน เพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขง ทั้งเรื่องระบบนิเวศ พันธุ์ปลา พันธุ์พืช และภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับแม่น้ำโขง  ร่วมมือกับลูกแม่น้ำโขง ๕ จังหวัดในภาคอีสาน  ที่เคยทำงานวิจัยไทบ้านเรื่องคนหาปลาแห่งแม่น้ำมูนมาก่อน  มีการประชุมสัมมนาเกิดขึ้นนับสิบๆ ครั้ง เพื่อหาทางออกให้กับการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนและสมดุลย์  และเพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าแม่น้ำโขงในมิติทุกด้าน เช่น ในการประชุมสภาประชาชนแม่น้ำโขง การชูประเด็นรักษ์ปลาบึก รักษ์แม่น้ำโขง เพื่อใช้ปลาบึกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำโขงและอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์เป็นตัวชูธง เป็นต้น


 


มหกรรม "เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง" เมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙  ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นงานรณรงค์ครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อสร้าง สำนึก "เฮาฮักแม่น้ำของ" ที่เกิดจากพลังความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ในนามเครือข่าย อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง–ล้านนา คือชุมชน ๙ ชาติพันธุ์ริมฝั่งโขง ชมรม กำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเชียงของ เทศบาลตำบล และ อบต.เวียงเชียงของ องค์กรอนุรักษ์ ต่างๆ นายอำเภอเชียงของ (นายสุเทพ  เตียวตระกูล) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์แม่น้ำโขง ด้วยความเข้าใจอย่างลุ่มลึก และหัวหน้าส่วนราชการทุกฝ่ายของอำเภอเชียงของสำนักงาน พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย (พมจ. คือคุณพนพ สัตโยภาส เป็นเจ้าภาพ อย่างแข็งขัน  โดยศิลปิน นักวิชาการ และสื่อมวลชน มาสนับสนุนอย่างคึกคัก


 


พิธีเปิดอันเป็นมงคลยิ่งเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่วันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พระสงฆ์สองร้อยกว่ารูป เดินรับบิณฑบาตร ซึ่งญาติโยมทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าเตรียมอาหาร ของแห้ง ดอกไม้พื้นบ้าน หลากสีสรร รอใส่บาตรด้วยสีหน้าปลื้มปิติ อิ่มบุญ


 


   


 


เวลา ๘ โมงเช้าขบวนเดินรณรงค์เพื่อแม่น้ำโขงของ ๙ ชาติพันธุ์ถือป้ายที่มีข้อความจับใจ  ๑๔ ป้าย ดังนี้ ๑. เคารพธรรมชาติ ศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ๒.วัฒนธรรมคือความงดงามของมนุษย์ชาติ ๓.ดิน น้ำ ป่า คือชีวิตของผู้คน ๔.เฮาฮักน้ำของ ๕.แก่ง หิน ผา…ปูปลาได้อยู่อาศัย ๖.น้ำของ…แม่แห่งมิตรภาพ ๗.น้ำของ…แม่ของปลาบึก ๘.คนคู่น้ำของ ๙.แม่ผู้หล่อเลี้ยงคนอุษาคเนย์ ๑๐.ป่าชุมชน…ตลาดของคนจน ๑๑.สายน้ำแห่งอารยธรรม ๑๒.ลูกของขุนเขาและแม่น้ำ ๑๓.อิง-ของ  จากพยาวสู่เชียงของ ๑๔.คนสองฝั่ง…ลูกน้ำของ


 


เวลา ๙.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. คณะสงฆ์เจริญพุทธมนต์สืบชะตาแม่น้ำโขง แล้วประชาชน โปรยดอกไม้สักการะแม่น้ำโขง แม่หญิงลุ่มน้ำโขงฟ้อนคารวะแม่น้ำ


 


   


 


ช่วงบ่ายเป็นพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการแล้วมีเวทีเสวนา "ศาสนธรรมกับการอนุรักษ์"  โดยพระครูสุจิณ  วรคุณ เจ้าคณะตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, พระสมคิด  จารณธรรมโม  เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน, พระมหาพีระพงษ์  พลวีโร ผู้จัดการสถาบันโพธิยาลัย วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และดิฉัน โดยคุณประสาร  มฤคพิทักษ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา


 


 


การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านบนเวทีเล็ก และที่สนามหญ้าหน้าเวทีเป็นความภาคภูมิ ใจของชนชาติพันธุ์อย่างยิ่ง ได้แก่ วงสะล้อ ซอ ซึง ค่าว ซอ ขับลื้อ ขับทุ้ม กลองสะบัดชัย ขมุกระทบไม้ ขับเติ้ม ปี่คู่ ฟ้อนสาวไหม เป่าแคนม้ง กลองยาว ฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ และ เต้นจะคึของชาวมูเซอ


 


ลานหมู่บ้านจำลองของชาติพันธุ์ขมุ ลื้อ ม้ง ลาหู่ มีเจ้าของวัฒนธรรมมาทำกิจกรรม ทางวัฒนธรรมอย่างอบอุ่น สาธิตการจักสาน ตีเหล็ก สมุนไพรจากโรงพยาบาลยุพราชเชียงของ เป็นต้น


 


ห้องสมุดแม่น้ำโขง มีนักเรียนน้อยจากโรงเรียนต่าง ๆ มาศึกษาเรียนรู้เป็นกลุ่ม ชมนิทรรศการ ประวัติศาสตร์คนเชียงของ คนลุ่มน้ำโขง งานวิจัยจาวบ้าน และวิถีชีวิต ๑๔ ชุมชน


 


ภาคค่ำที่เวทีใหญ่มีการแสดงดนตรีลูกทุ่งเพื่อแม่น้ำโขง ละครเงาโดยกลุ่มพระจันทร์พเนจร ซึ่งชาวเชียงของหลายพันคนพากันมาชมเต็มสนามของโรงเรียนหัวเวียง


 


เสียดายที่เวทีเสวนาหนัง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของผู้กำกับคุณภาพเยี่ยม ผู้มาร่วมงานด้วยหัวใจ คือ คุณเก้ง จิระ   มะลิกุล ต้องยกเลิกไป ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคของเวทีเล็ก ทำให้ผู้ที่ตั้งใจมาฟัง มาชมตำนานบั้งไฟพญานาคต้องผิดหวัง


 


งานวันที่สอง คือ วันเสาร์ ที่ ๒๕ มีผู้คนมาคับคั่งกว่าวันแรก เพราะเป็นวันหยุด มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มาฟังเสวนา "กระแสแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป กระทบอย่างไรกับชาวบ้าน" โดยพ่อบุญเรือน  จินะราช  ดร.ปรีชา  อุปโยคิน จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 


ผศ.ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์ จากธรรมศาสตร์ คุณมนตรี  จันทรวงศ์ จาก มูลนิธิฟื้นฟูชีวิต และธรรมชาติ ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์มิติ  ยาประสิทธิ์  กลุ่มรักษ์เชียงแสน


 


เวทีใหญ่ภาคกลางคืน ผู้คนมาเนืองแน่นเต็มสนาม มีดนตรีของ อี๊ด  ฟุตบาธ เขียนภาพและระบำแห่งสายน้ำโดยพี่เทพศิริ  สุขโสภา ศิลปินผู้ทรงพลัง วาดภาพประกอบดนตรีเป็นรูป พญานาค ๒ ตัว คุ้มครองพระพุทธรูปแห่งพุทธศาสนา ตรึงคนทั้งสนามให้ตะลึงงัน


 


 


วิดีทัศน์ "แม่น้ำโขง : แม่น้ำแห่งชีวิต" เป็นจุดเด่นของงาน แต่เทคนิคผิดพลาดจากสารคดีสีสวยกลายเป็นภาพขาวดำ ได้ฟังอลังการแห่งเสียงก็ยังคุ้ม


 


ครูป้อนำเยาวชนชมรมคนรักษ์ศิลป์ถิ่นภูเขา มาแสดงวัฒนธรรม ลีซู ลาหู่ อาข่า ได้รับคำชมว่ากระชับ ตรงเวลา แสดงได้ดี


 


วงสุดสะแนน สีเผือกคนด่านเกวียน ผลัดกันเล่น กว่าน้าหงาคาราวาน และซูซู จะได้แสดงก็เลยเวลาไปถึงตีหนึ่งกว่าแล้ว แต่ผู้ชมก็ยืนหยัดอยู่จนงานเลิกเวลาตีสาม


 


อนาคตของลูกแม่น้ำโขง ต้องมุ่งร่วมกันทำให้ความต้องการใช้แม่น้ำโขงในมิติต่างๆ อยู่ใน ภาวะสมดุลย์ ได้แก่ความต้องการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรม การเกษตร ประมงยังชีพ การขนส่งสินค้า การพัฒนาพลังงานไฟฟ้า การเดินทาง การท่องเที่ยว และเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยใช้ศาสนธรรม และวัฒนธรรม รวมใจของทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียว ดังคำพูดของ พระมหาพีระพงษ์ ที่ว่า "พระพุทธองค์บัญญัติว่า คนต้องมีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ถ้าใจเป็น สัมมาทิฏฐิ จะพูดจะทำอะไรก็ถูกต้องดีงาม " " เฮาฮักแม่น้ำของ"จงเป็นจริงทั้ง กาย  วาจา ใจ เทอญ


 


*ขอขอบคุณเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง – ล้านนา และ มูลนิธิพัฒนาชุมชน และเขตภูเขาที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ