Skip to main content

"พุทธไทยๆ" : อยู่ (ร่วมกัน) ก็ไม่ได้…ไปก็ไม่เป็น ??

คอลัมน์/ชุมชน


ในที่สุด " สงกรานต์ ๒๕๔๘" ก็ผ่านไปอีกปี เหมือนกับเทศกาลอื่นๆ ที่หมุนเวียนเข้ามาทักทายผู้คน ด้วยสมมติบัญญัติ และวงรอบของกาลเวลา


ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ " จำเป็น" และ " ไม่จำเป็น" ต้อง " ข้องเกี่ยว" ก็เผชิญชะตากรรมกันไปตามฐานานุรูป เรียกว่า " เสวยวิบากกรรม" ไปตามฐานะและความรับผิดชอบ ตลอดจนสติปัญญาและสามัญสำนึก ทั้งแบบบุคคล, ชุมชน และ/ หรือ.. สังคม


" ภาพ- ข่าว" แปลกใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ออกจะขัดแย้งโดยเนื้อหาสาระ แต่แสดง " อัตลักษณ์" ของ " ตัวกู- ของกู" ได้สอดคล้องกันอยู่ในที ก็คือ…


ภาพ " สงครามสาดน้ำ" ทั้งที่ถนนข้าวสาร และจุดสำคัญของหัวเมืองต่างๆ ซึ่งมีหญิงชาย( ประเภทต่างๆ) " นุ่งน้อยห่มน้อย" ออกมาละเลงแป้งและสาดน้ำเข้าใส่กัน ซึ่งออกจะ " เปิดเผย" ไปกว่าทุกๆ ปี


และ ข่าว " สงครามน้ำลาย" ระหว่าง " ชาวพุทธ" และ " องค์กรพุทธ" ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจน " กึ่งรัฐ- กึ่งเอกชน" เกี่ยวกับประเด็น( ซึ่งสื่อบางแขนงเรียกว่า..) การ " แย่งกันจัดงานวิสาขบูชา" ที่เริ่มมาก่อนสงกรานต์เล็กน้อย ซึ่งผ่านสงกรานต์มาแล้วก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเลิกรา


ที่ว่าขัดแย้งแต่สอดคล้องอย่าง " คล้ายกัน" ก็คือ…


ทั้ง " ภาพ" และ " ข่าว" ที่ว่ามาข้างต้น ต่างแสดง " ตัวตน" ชนิด " หยาบๆ" ของ " คนในข่าว" ออกมาได้อย่าง " โล่งโจ้ง- ล่อนจ้อน" ไปตามๆ กัน


ไม่ว่าจะเป็นชายแท้- ชายเทียม หญิงแท้- หญิงเทียม หรือพระ- เณร- เถร- ชี ก็ไม่เว้น




เรื่องการนุ่งน้อยห่มน้อย ( ที่มิใช่นุ่งเจียมห่มเจียมตามหลักสันโดษในพุทธศาสนา) ขอละไว้ ไม่กล่าวถึงในที่นี้ ด้วยเป็นเรื่อง " โลก- โลกย์" ที่ผู้เกี่ยวข้องจะพึงดำเนินการไปตามที่เหมาะควร


จะรอให้แก้ผ้าเดินกลางถนนจนเต็มบ้านเต็มเมือง เพื่อส่งเสริมของแปลก และสนับสนุนการท่องเที่ยว ก็แล้วแต่มโนธรรมสำนึกของ " ผู้รับผิดชอบ" ทั้งที่เป็นคนแก้, คนดู และคนที่ต้อง " ทนดู"


ในที่นี้จะว่ากันเฉพาะ " ที่มา" หรือ " สาเหตุ" ตลอดจนปัจจัยบางส่วน ของ " สงครามน้ำลาย" และ " อาฟเตอร์ช็อค" หรือ " แรงกระเพื่อม" อันเนื่องมาจาก " วิวาทะ" ในหมู่ชาวพุทธครั้งล่าสุดนี้




คงปฏิเสธไม่ได้ ว่าปัจจุบัน " ชาวพุทธไทย" แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย หรือสายศรัทธา- ความเชื่อ มากมายหลายกลุ่มหลายพวก ทั้งชนิดที่สืบสายย้อนต้นขึ้นไปถึงครูบาอาจารย์ได้หลายชั่วอายุ หรือที่เพิ่งแตกหน่อต่อยอดออกมาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ


บ้างก็มีนักบวชเป็นหมู่เป็นคณะ บ้างก็มีเฉพาะคฤหัสถ์ไร้บรรพชิต บ้างก็เป็นกลุ่มก้อน.. เป็นองค์กรจัดตั้งอย่างใหญ่โต มีทั้งที่ถือกำเนิดในประเทศไทย ( สืบสายจากอินเดียโบราณ) หรือที่นำเข้ามาภายหลัง ทั้งจากซีกโลกตะวันตก และจากประเทศในแถบตะวันออก-- เอเชีย เอง


นี่ว่ากันเฉพาะที่เรียกตัวเองว่าเป็น " ชาวพุทธ" หรือที่มีรูปแบบ- วิธีปฏิบัติ ตลอดจนเนื้อหาคำสอน ที่เนื่องอยู่ ( หรือคล้าย/ เลียนแบบ) กับหลัก " พุทธธรรม" และ " ศาสนพิธี- พิธีกรรม.. แบบพุทธ" ไม่ว่าจะเรียกชื่อใดๆ ก็ตาม


แน่ละ ว่าในครั้งโบราณ หรือย้อนหลังไปก่อนการปฏิรูปพุทธศาสนาไทยครั้งใหญ่ ในสมัย ร. ๔ – ร. ๕ " พุทธ- - แบบไทยๆ" ก็มีความหลากหลายกันไปต่างๆ นานา


ว่ากันว่า แม้ห่มจีวรต่างกันก็ยังนับเป็นต่างนิกายไปเสียง่ายๆ เสียอย่างนั้นแหละ ยิ่งมีวัตรปฏิบัติ มีกัมมัฏฐานต่างกันด้วยแล้ว ก็ยิ่งง่ายต่อการแบ่งสายสลายพวกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย


แต่คงต้องยอมรับด้วยว่า ในขณะนั้น " รัฐ" และ " คณะสงฆ์" เอง ก็ใช่ว่าจะมีการ " รวมศูนย์อำนาจ( และอื่นๆ)" เข้าสู่ " ส่วนกลาง" จนทุกส่วนต้องคิดและทำแบบเดียวกันอย่างเบ็ดเสร็จเช่นในปัจจุบัน ซึ่งต้องมีนิยามของ " รัฐ" และ " รัฐชาติ" และ " คณะสงฆ์แห่งรัฐ" อย่างชัดเจนและตายตัว


กล่าวคือขณะนั้น เมื่อ " อาณาจักร" เป็นภาพทับซ้อนของ " นครรัฐ" ใหญ่น้อย ฝ่าย " ศาสนจักร" หรือฝ่าย " พุทธจักร" หรือจะเรียกว่า " ฝ่ายพุทธ" ก็ยิ่งเป็นส่วนผสมของ " สายความเชื่อ- สายปฏิบัติ" อันซับซ้อนเสียยิ่งกว่า


ประเด็นคงอยู่ที่ว่า การทับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างความแตกต่างและหลากหลาย ทั้งของ " ทางโลก" และ " ทางธรรม" ในขณะนั้น ดูจะเป็นการ " เกื้อกูล" หรือ " ระมัดระวัง" ที่จะมิให้ " ล้ำเส้น" หรือ " แทรกแซง" กันอย่างแจ่มชัดนัก


ในขณะที่ " เจ้า" มีพระเป็น " ราชาคณะ( คณะแห่งพระของราชา)" ฝ่าย " ไพร่" หรือ " พลเมือง" ก็มีกระบวนการ เช่น " ฮดสงฆ์" เพื่อถวายสมณศักดิ์แด่ " พระดีที่น่านับถือ- ศรัทธา" ในระดับชาวบ้านหรือชุมชน เช่นเดียวกับการมี " วัดหลวง" และ " วัดราษฎร์" หรือ " วัดบ้าน" โดยที่ฝ่ายพระและคณะสงฆ์เองก็มิได้ยึดถือว่า " ยศช้าง- ขุนนางพระ" ดังกล่าว เป็นเรื่องสลักสำคัญไปกว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนการปฏิบัติศาสนกิจ " ฉลองศรัทธาญาติโยม" ไปตามจารีต- ประเพณีที่สืบเนื่องกันมา


นี่กล่าวได้ว่า ต่างจาก " การบ้าน- การเมือง" และ " การคณะสงฆ์- การพระศาสนา" ในปัจจุบัน ที่หลอมรวมเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ " รัฐ" และ " กฎหมาย" แบบตายตัว- ไร้ความยืดหยุ่น อย่างสิ้นเชิง




เมื่อความหลากหลาย ( แม้เนื้อหาสาระจะต่างจากอดีตก็ตาม) ยังคงอยู่ ภายใต้โครงสร้างที่รวมศูนย์และไร้ความยืดหยุ่น พร้อมๆ ไปกับแนวคิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ตลอดจนกระบวนการผลิตและบริโภคแบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ " หัวมังกุ- ท้ายมังกร" ไปในที่สุด


กล่าวคือ ในขณะที่ " รัฐ" ( ซึ่งผนวกเอาการคณะสงฆ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพ และสร้างความสยบยอมให้เกิดขึ้นแก่ " ศาสนจักร" ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง) ใช้กฎหมายและระเบียบ- กฏเกณฑ์แห่งรัฐ กับประชาชนและคณะสงฆ์ในอาณัติอย่างแข็งกร้าว


แต่เมื่อเผชิญหน้ากับ " ศรัทธา- ความเชื่อ" ซึ่งต่างจากที่ " รัฐ" และ "- - ของรัฐ" เชื่อถือหรือปฏิบัติ ครั้งยังเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ น้อยๆ ก็แทบมิได้เกี่ยวข้อง หรือใส่ใจดูแล มีแต่ปล่อยปละละเลยถือเป็นเรื่องธุระไม่ใช่


ขณะเดียวกัน เมื่อกลุ่ม- คณะบุคคลเหล่านั้นเติบโตกล้าแข็งขึ้น รัฐ( และผู้อยู่ภายใต้บงการเช่นคณะสงฆ์) ก็กลับขลาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับ " ศรัทธา- ความเชื่อ" ของคนหมู่มาก ซึ่งอาจเป็นเหตุบั่นทอนฐานเสียง หรือความมั่นคง และเสถียรภาพของรัฐ ตลอดจนผู้บริหารรัฐในที่สุด


กระทั่งอยู่ในภาวะ " ยักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก" เสมอมา…




ถึงวันนี้ใครจะปฏิเสธได้ว่า " ธรรมกาย" มิได้เติบโตอย่างกว้างขวาง และเข้มแข็ง ( ทั้งทางโภคทรัพย์และกำลังศรัทธา) ตลอดจนหยั่งรากลึกเข้ามาทั้งในแวดวงรัฐและคณะสงฆ์ หรือแม้แต่ในแวดวงพุทธศาสนิกชนเรือนแสนเรือนล้าน


ใช่หรือไม่ว่า ถึงวันนี้ " ธรรมกาย" และองค์กร/ ภาคี ใต้ร่มเงา- ในสังกัด มีโครงการร่วมกับรัฐและเอกชนทุกระดับนับพันนับหมื่นโครงการเข้าไปแล้ว ท่ามกลางความคลุมเครือ และปราศจากบรรทัดฐาน อันจะชี้ชัดได้ ว่าความสมควร- ไม่สมควร ภายใต้ความขัดแย้งและข้อกล่าวหาในอดีต( ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง) จะต้องมีอะไรหรือสิ่งใดเป็นข้อยุติ


" บรรทัดฐาน" อันหมายถึง " แบบแผนสำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ" สำหรับประชาชนในรัฐ หรือศาสนิกชนในศาสนจักร ผู้อยู่ภายใต้การ ปกครอง- ดูแล ของรัฐและคณะสงฆ์ไทย


ในอันที่จะเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมและกิจการของ " ธรรมกาย"… เช่นเดียวกับ " สันติอโศก" อันหมายรวมทั้งเหล่า " สมณะ" และ " สมาชิก" อันเข้มแข็ง ในนามของ " ชาวอโศก" และ " ชุมชนอโศก" ที่แยกย่อยออกไปเป็นกลุ่ม องค์กร และชุมชน ตลอดจนสหกรณ์ บริษัท และพรรคการเมือง ภายใต้ร่มเงา หรือในสังกัด " สันติอโศก" อันมี " พ่อท่านโพธิรักษ์" เป็นเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร


และโดยนัยเดียวกัน ใช่หรือไม่ว่า ถึงวันนี้ " สันติอโศก" มีความเข้มแข็งทั้งทางศรัทธาและโภคทรัพย์ ตลอดจนมี " สาขา" แผ่ขยายออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้นทุกที โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจน " พุทธศาสนิกชน" เรือนแสนเรือนล้าน เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่กับ " สันติอโศก" และ " ชาวอโศก" ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม


นี่ยังไม่นับรวม " อนุตรธรรม" ซึ่งมีสาขากระจายออกไปในหลายจังหวัด ภายใต้การบริหารอันเข้มแข็งของคณะทำงานฆราวาส โดยมีหลักคำสอนซึ่งยากจะบอกได้ว่าเป็น " พุทธ" หรือมิใช่ และหากเป็น จะ " เป็น" แบบไหน หรือ " เป็นได้อย่างไร"


และมิได้นับรวมการ นับถือ- บูชา " กวนอิมโพธิสัตว์" ที่ปัจจุบันประดิษฐานอย่างใหญ่โตโอ่อ่าอยู่ใน " วัด" และ " สำนักปฏิบัติธรรม" จำนวนมาก โดยมีพิธีกรรมต่างๆ ให้ " ชาวพุทธไทย" ปฏิบัติ ทั้งร่วมกินเจ รวมหมู่สวดมนต์ และเข้าทรงผ่าน " ม้าทรง" ตลอดจน " เจ้าสำนัก" ต่างๆ


ว่ากันว่า ถึงวันนี้ถ้าต้องการให้ " ทัวร์" และ " พุทธศาสนิกชนเชื้อสายจีน" เข้าวัดใด วัดนั้นต้องสร้าง " เจ้าแม่กวนอิม" ไว้ในวัด ยิ่งขนาดใหญ่เท่าใดก็ยิ่งดี…


นี่หมายความว่ากระไรเล่า?


จะกล่าวได้หรือไม่ว่า " กลุ่มบุคคล- องค์กร" เหล่านี้มิได้อยู่ในการรับรู้ หรือสังเกตเห็น จากทั้งรัฐและคณะสงฆ์ไทยแต่ประการใดๆ เลย…



ถ้าเห็น " เห็น" แล้วจะปฏิบัติอย่างไร?


ถ้าบอกว่า " ไม่เห็น" เล่า?


มีอะไร " บังตา" เอาไว้กระนั้นหรือ?




ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นมิได้หมายความว่า บุคคล องค์กร หรือกลุ่มความเชื่อเหล่านั้น " มีความผิด" ชนิดต้องจับกุมคุมขัง


แน่นอนละ ว่าจะมากจะน้อย " ธรรมกาย", " สันติอโศก" หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ว่ามาแล้ว ก็สามารถเป็น " ร่มเงา" หรือ " ที่พักผ่อนทางจิตวิญญาณ" ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งว่าอาจสร้าง " ความสงบเย็น" หรือ " ชี้ทางดับทุกข์" ให้กับสมาชิกได้ ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง


และจะว่าไปแล้ว ก็มีวัดและสถานปฏิบัติธรรม " ในสังกัดคณะสงฆ์ไทย" อีกจำนวนไม่น้อย ที่อาจจะ " นอกลู่นอกทาง" หรือ " ผิดธรรม- ผิดวินัย" ไปเสียยิ่งกว่า…


ทั้งนี้ มิพักจะต้องเปรียบเทียบ ถึงคุณภาพและศักยภาพ ระหว่างพระสงฆ์องค์เณรทั่วๆ ไป กับพระภิกษุในสังกัด " ธรรมกาย" หรือ สมณะ แห่ง " สันติอโศก" ที่นับวันจะยิ่งห่างไกลกันยิ่งขึ้นทุกที อันเนื่องมาจากกระบวนการสรรหาและพัฒนา ตลอดจนการปฏิบัติและศรัทธาที่แตกต่างกันนั่นเอง


ประเด็นก็คือ ทำไมจึงต้องให้สังคมต้องวกกลับมาตั้งคำถามเรื่องเหล่านี้กันครั้งแล้วครั้งเล่า หรือซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวไม่มีจุดจบ


ว่า.. ถึงที่สุดแล้วจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร? หรือ.. จะมีบรรทัดฐานอย่างไร?




จริงอยู่ ภายใต้รัฐบาล " คิดใหม่- ทำใหม่" และการปฏิรูปการเมือง- ปฏิรูประบบราชการ บัดนี้เรามีหน่วยงานภาครัฐ ทั้งที่อยู่ในระบบราชการ เช่น กรมการศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือที่เป็นองค์กรมหาชน เช่น ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม( ศูนย์คุณธรรม) เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพระศาสนา หรือการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมมากยิ่งกว่าสมัยใดๆ


แต่ดูเหมือนกับว่าทุกฝ่ายต่างพยายาม " มุ่งไปข้างหน้า" หรือ " สร้างสิ่งใหม่" จนแทบจะละเลย " ปัญหาเก่า" เอาเสียง่ายๆ ไม่ว่าจะลืมจริง แกล้งลืม พลั้งเผลอ หรือตั้งใจลืมก็ตาม


ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นว่า งานใหม่ก็ซ้ำซ้อน เพราะต่างคิดและต่างทำ พอจะร่วมกันเข้า ก็ต้องมานั่งจัดสรรความรับผิดชอบและงบประมาณต่างๆ เพราะเนื้องานเหลื่อมซ้อนกันอยู่ทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย


ขณะที่ปัญหาเก่าก็แก้ไม่ได้ ไม่อยากรับผิดชอบ และพยายามเขี่ยเรื่องร้อนให้พ้นตัว




กรณีความขัดแย้ง " แย่งกันจัดงานวันวิสาขบูชา" ( ที่สื่อเรียก) นั้น จะว่าไปแล้วก็เป็นเพียงปลายเหตุ หรือยอดภูเขาน้ำแข็ง " อีกยอดหนึ่ง" เท่านั้น


กล่าวคือ สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นปรากฏการณ์ระดับผิวเปลือก ที่เอ่อท้น หรือปะทุออกมาจากภายในของแต่ละฝ่ายเสียมากกว่า ภายหลังจากการหมักหมมและบูดเน่าต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน


ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง " กรณีธรรมกาย" หรือ " กรณีสันติอโศก" ก็ตาม… แม้ว่า " กรณีธรรมกาย" จะมีตัวละครเป็นพระสงฆ์ นักวิชาการ เครือข่ายองค์กรชาวพุทธ และสื่อมวลชน กับ " ธรรมกาย" และ " กรณีสันติอโศก" จะมีผู้เกี่ยวข้องเป็นมหาเถรสมาคม ในนามคณะสงฆ์ไทย และรัฐกับ " สันติอโศก"


แต่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อเวลาผ่านมา หรือผ่านไปนานเข้า ทั้งสองกรณี ก็กลับกลายเป็น " ขยะใต้พรม" กล่าวคือ ได้รับการปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้องเพียงกวาดซุกเอาไว้ให้พ้นตา จะเพื่อรอให้กาลเวลาย่อยสลาย หรือจะรอให้ลืมๆ กันไป ก็มิอาจทราบได้


ที่แน่ๆ ก็คือ " ข้อยุติ" ของทั้งสองกรณี ซึ่งเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระและต่างระดับกันนั้น วันนี้กลับไม่ยุติ และกลายมาเป็นปัญหา ทั้งยังสร้างบรรยากาศ " ปฏิปักษ์" หรือความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างและการแบ่ง " ฝักฝ่าย" ขึ้นอีกจนได้


มิหนำซ้ำ ยังมีแง่มุมอันลักลั่น และประหลาดพิศดาร ที่สะท้อนบกพร่องและมาตรฐานต่างระดับ ของระบบราชการ รัฐ และคณะสงฆ์ไทย( โดยมหาเถรสมาคม) ไปด้วยพร้อมๆ กัน


กล่าวคือ เกิดคำถามในหมู่ " ชาวอโศก" และ " ชาวพุทธจำนวนหนึ่ง" ขึ้นอีกครั้ง ต่อการปฏิบัติและท่าทีของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่ง " ไม่เสมอกัน" ระหว่างการบังคับใช้กับ " ชาวอโศก" และที่ใช้กับ " ชาวธรรมกาย"




ถึงบัดนี้ " รัฐ" ในฐานะของ " อาณาจักร" ซึ่งได้ " ขย้ำกลืน" ฝ่าย " ศาสนจักร" เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตนแล้ว คงต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนออกมาให้ได้ ว่า " จะเอาอย่างไร" กับสภาวการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น " อย่างแท้จริง" ต่อ " พระพุทธศาสนา- - แบบไทยๆ"


ขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ- ปัญญาชน กลุ่ม- องค์กรต่างๆ ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ในฐานะส่วนหนึ่งของ " พุทธบริษัท" ก็จะต้องไม่ละเลย หรือนิ่งดูดาย- ทอดธุระ ปล่อยปละให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไปอีกครั้งหนึ่ง


" รัฐ" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เครื่องมือ งบประมาณ และบุคลากร ตลอดจน " ช่องทาง" และ " โอกาส" ทั้งหมด สร้าง " เอกภาพ" ให้เกิดขึ้นในแวดวงพุทธศาสนาเสียโดยเร็ว และอย่างมีคุณภาพ- ประสิทธิภาพ


" มหาเถรสมาคม" ในฐานะองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุด ย่อมจำเป็นอยู่เองที่จะต้องใช้โอกาสนี้กำหนดบรรทัดฐานแห่งความถูกตรงของ " ธรรมวินัย" และเอื้อให้เป็น " สัมมาทิฏฐิ" ตลอดจนกำหนดแนวทางแห่งการสมานสังวาส หรือนานาสังวาส อันสอดคล้องไปกับปัจจุบันกาล และเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง


ทั้งเพื่อความสมานฉันท์ของชาวพุทธ และเป็นการแสดงบทบาท " องค์กรนำ" อันเข้มแข็ง ชัดเจน และเป็นที่พึ่งพาได้ของ " ชาวพุทธไทย" ทั้งปวง หาไม่ก็ต้องประกาศให้ชัด ว่ามีความประสงค์จะดำรงไว้ หรือแสดงบทบาทใด ต่อสังคมชาวพุทธ ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ แทนที่จะยอมให้รัฐกำหนดนั่นนี่ แล้วค่อยออกมาโต้แย้งเล็กๆ น้อยๆ เป็นคราวๆ ไป อย่างเช่นที่เป็นอยู่หรือเคยเป็นมา


ในส่วนของ " พุทธศาสนิกชน" ทั้งหลาย แทนที่จะวางตนเป็น " ผู้ดู" หรือ " ผู้สังเกตการณ์" ที่พร้อมจะเป็น " ผู้ตาม" หรือ " ผู้ถูกกระทำ" ห้วงเวลานี้ น่าจะเป็นโอกาสของการฝึกตน เพื่อมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาคาราคาซังในสังคมชาวพุทธไทย ตลอดจนยกระดับตนเองเป็น " ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน- - ในทางธรรม" และช่วยกันดับทุกข์


วิศาขบูชา หรือ วิสาขบูชา นั้น คือ การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เนื่องในวัน ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระองค์


ออกจะเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ด้านหนึ่งเรากลับใช้โอกาสนี้ทำ " สงครามน้ำลาย" และสร้างความแตกแยก- แตกต่าง แทนที่จะหันหน้าเข้าหากันในทางที่ถูกที่ควร เพื่อสร้างสมานฉันท์ และเป็นการ " ปฏิบัติบูชา" เพื่อ " บูชา" พระบรมศาสดาด้วยการปฏิบัติ คือ ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน และบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนกระทำสิ่งที่ดีงาม ตามแนวทางที่ทรงชี้แนะเอาไว้


ขณะที่อีกด้าน เรากลับปล่อยปละละเลยให้วิถีแห่ง " อกุศล" ตลอดจน " ความไม่สัปปายะ" งอกงามอยู่ด้วยความ " เละเทะ- เน่าใน" ของสังคมพุทธและชาวพุทธด้วยกันเอง


หรือว่าเอาเข้าจริง " พุทธแบบไทยๆ" ก็ " อยู่ร่วมกันไม่ได้" แถมยัง " ไปไหนไม่เป็น" เสียที