Skip to main content

"บทเพลงคนกู้ชาติ": ภาพของสนธิ-ภาพของปรากฏการณ์

คอลัมน์/ชุมชน



ดนตรี และศิลปะหลายๆ แขนงมักจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าเรื่องราวทางสังคม และการเมืองอยู่บ่อยๆ...ไม่ว่าตัวผู้สร้างงานศิลปะจะตั้งใจสื่อหรือไม่ แต่ "สาร" ก็มักจะโผล่ๆ แพลมๆ ให้เราได้จับสาระกันเสมอๆ


 


ไม่เว้นแม้กระทั่งในเหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยปัจจุบันก็ตามทีเถอะ


 


นักร้อง นักดนตรี ศิลปินทั้งหลายทั้งปวงต่างก็พากันแสดงความเห็นทางสังคม-การเมืองกันอย่างสนุกสนาน ทั้งในมุมของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับ "พี่เหลี่ยม" คนนั้น (ในขณะที่ดารา-นักร้องจากค่ายใหญ่ๆ แถวๆ ลาดพร้าวและอโศกพากันไปให้กำลังใจ "พี่เหลี่ยม" นั้น ศิลปินสายเพื่อชีวิตหลายๆ วง ไปจนถึงวงดนตรี "แนวๆ" อย่างอพาร์ตเมนต์คุณป้าก็ใช้เวทีสนามหลวงเป็นเวทีคอนเสิร์ตไปแล้ว)


 


ยิ่งถ้าคุณได้มีโอกาสไปชุมนุมที่สนามหลวงสักครั้ง คุณจะได้เห็นถึงนวัตกรรมในการแสดงออกทางการเมืองอันหลากหลาย ซึ่งถ้าเทียบกับบรรดา "ป้ายสำเร็จรูป" ที่เหมือนทำมาจากบล็อกเดียวกันทั้งหมดเมื่อวันที่ ๓ มีนาคมที่ผ่านมา หรือตามถนนหนทางต่างๆ (น่าแปลกมากครับ ที่คนทำป้ายพรรค์นี้ไม่รู้ว่าอายอะไรกันนักหนา ถึงไม่ยอมบอกชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองเอาเสียเลย:-P) ก็คงจะพอบอกอะไรได้บางอย่าง...อิอิ


 


ใน "บ้านบรรทัดห้าเส้น" ครั้งนี้ ก็ขอหยิบอัลบั้ม "บทเพลงคนกู้ชาติ" ที่ทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการจัดทำขึ้นมาพูดถึงเสียหน่อยแล้วกันครับ


 


อัลบั้มนี้เป็นการเอาเพลง ๔ เพลง ซึ่งบางเพลงเคยถูกเปิดในรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" และเพลงที่ผู้ชมรายการส่งเข้ามา ซึ่งด้วยความหลากหลายของที่มา ทำให้แนวทางเพลงค่อนข้างกระจัดกระจายพอสมควร


 


แต่ในความแตกต่างของลักษณะเพลง ต่างมีลักษณะร่วมกันในส่วนของเนื้อหา ที่มีเนื้อหาร่วมกันด้วยวลีง่ายๆ และคนอีกหนึ่งคน


 


วลีและคนที่ว่านั้นก็คือ "ท้าาาาาาาาาาาาาากษิณ ออกไป๊!!!" และ คุณสนธิ ลิ้มทองกุลนั่นเอง J


 


เริ่มเพลงแรกด้วย "เทียนแห่งธรรม...ขอเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน" ของคุณเทียรี่ ลาสเวกัส ซึ่งเป็นนามปากกาของคุณเธียรพงศ์ พลอยเพชร ซึ่งเพลงนี้ในระยะหลังๆ คล้ายจะเป็นเพลงประจำการชุมนุมไปซะแล้ว


 


เพลงนี้นำสัญลักษณ์ที่คุณสนธิมักจะใช้ในการจัดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" และการปราศรัยต่างๆ เช่นคำว่า "ยามเฝ้าแผ่นดิน", "เทียน", "พระธรรม" เมื่อนำคำเหล่านี้มาจัดวาง และเรียงร้อยให้เป็นเรื่องราวแล้ว นอกจากจะทำให้เห็นภาพของคนหลายแสนคนที่มาชุมนุม (ตั้งแต่คราวสวนลุมพินี ลานพระรูปฯ ไปสนามหลวง และในตอนที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้...อยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลครับ) แล้ว ยังทำให้เห็นภาพของคุณสนธิซ้อนทับไปด้วย


 


ไม่เชื่อลองอ่านเนื้อเพลงดูครับ


 


"จุดเทียนเล่มน้อย แล้วนำมาร้อยรวมกัน


ประคองให้มั่น หลอมรวมกันให้เป็นดวงใหญ่


สยบพวกมาร เผาผลาญผีเปรตจัญไร


ไล่มันออกไป จากประเทศไทยของเราสักที"


 


หรือ


 


"จะขอเป็นยามรักษาแผ่นดิน


ขอเอาชีวินพิทักษ์ราชัน


ขอเอาพระธรรม นำหน้าเข้าฝ่าประจัน


ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ให้มันรู้ไป..."


 


นอกจากความรู้สึกที่ว่าไป ผมรู้สึกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่เพราะเพลงหนึ่งทีเดียว ด้วยทำนองไม่ซับซ้อน และใช้เสียงเปียโนเป็นตัวเล่นทำนอง ทำให้เพลงมีความรู้สึกพลิ้วดีทีเดียว


 


แต่ปัญหาของเพลงนี้สำหรับตัวผม คือการที่มีคำประเภท "ผีเปรต" หรือ "จัญไร" อยู่ในเพลง ซึ่งแม้จะสร้างความรู้สึก "แรง" ให้กับเพลง (ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เหมาะกับเพลงเนื้อหาปลุกเร้าแบบนี้) แต่มันฟังแล้วไม่ค่อยเข้ากับดนตรีสักเท่าไหร่...ผมว่าดนตรีมันไม่ "แข็ง" เท่ากับคำในเพลงครับ


 


ภาพของคุณสนธิจะยิ่งชัดขึ้นในเพลง "สนธิมาแล้ว" ที่ร้อง-แต่งโดยคุณมีศักดิ์ นาครัตน์ ซึ่งด้วยชื่อเพลงก็บอกกันเต็มๆ อยู่แล้วว่าพูดถึงคุณสนธิ มากกว่าที่จะพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมือง


 


"สนธิๆๆๆ มาแล้วครับ


สนธิๆๆๆ มาแล้วครับ


นำเสนอเรื่องราว ข่าวดี ข่าวดัง เบื้องหน้า เบื้องหลัง


ให้ท่านได้ฟังกันสะใจ ฟังแล้วก็สบาย


 


สนธิๆๆๆ มาแล้วครับ


สนธิๆๆๆ มาแล้วครับ


มาเปิดโปง เรื่องโกง เรื่องกิน เรื่องอิฐ เรื่องหิน เรื่องดิน เรื่องทราย


และเรื่องขายทรัพย์สิน ได้ยินแล้วยังไง..."


 


ด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้มีอะไรมากกว่าการพูดถึงตัวคุณสนธิ บวกกับดนตรีกลิ่นละติน และลีลาการร้องรัวๆ เร็วๆ แถมมีลูกเล่นตอดนิดตอดหน่อยตามประสามือเก๋าอย่างคุณมีศักดิ์ ทำให้เพลงนี้เข้าข่าย "ฟังเอามัน" มากกว่าที่จะฟังเอาเนื้อหา...ซึ่งก็นับว่า "มันส์" ไม่เลวทีเดียว


 


ถ้าถามผมว่าผมชอบเพลงไหนใน(มินิ)อัลบั้มนี้ที่สุด ผมต้องบอกว่าเพลงนั้นคือ "๒๕๔๘" ของน้าหงา-สุรชัย จันทิมาธร


 


ที่ผมบอกว่าชอบเพลงนี้ (ซึ่งเป็นเพลงที่เอาไว้เปิดส่งผู้ชมกลับบ้านในรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร") เป็นเพราะว่าเนื้อเพลงที่แต่งโดยน้าหงาของผมนั้น สามารถเล่าเรื่องประเทศไทยด้วยมุมมองของน้าแกอย่างมีชั้นเชิง...ไม่แรงเท่าไหร่ แต่คมชะมัด เหมือนใบมีดคมๆ ที่ตวัดผ่านเนื้อเบาๆ ก็เรียกเลือดได้แล้ว


 


"ย่างก้าวสำคัญ ที่แยกตรงนั้นมันมีเพียงสอง


แยกหนึ่งแสงสีเรืองรอง แยกสองป่าดงพงพฤกษ์พนา


แน่นอนนักเดินทางอย่างเราเข้าใจไม่ช้า


จะเลือกทางป่า คงลำบากไม่อยากจะไป


 


แต่มีปัญหามาให้เราคิดสักนิด สักหน่อย


สามแพร่งที่คอย คอยให้คนตัดสินใจ


สนุกสนานร่าเริงสำราญ หนี้บานตะไท


อีกทั้งจับจ่าย บริโภคเสี่ยงโชคนานา"


 


ในขณะเดียวกัน ในเพลงนี้ก็พูดถึงเหตุผลของน้าหงา (และคงเป็นเหตุผลของคนอีกหลายคน) ที่ตัดสินใจไปธรรมศาสตร์ สวนลุมพินี ลานพระรูปฯ สนามหลวง จนถึงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล


 


"เหลือเพียงทางป่า ที่ว่าไม่รู้ไปสู่แห่งไหน


แต่น่าสนใจ เพราะเป็นทางใหม่ไปสุดแผ่นดิน


แลดูเขียวๆ เลี้ยวลัดกันไป ไม่มีสุดสิ้น


คือที่อยู่กินที่ต้องสร้างทำด้วยน้ำมือเรา..."


 


อีกเพลงในอัลบั้มนี้ ที่ผมไม่ได้พูดถึงก็คือ "๒๕๔๙" ที่เป็นเพลง ๒๕๔๘ ในเวอร์ชั่นแสดงสด ซึ่งมีการเปลี่ยนเนื้อเพลงเล็กน้อย แต่ด้วยความรู้สึกส่วนตัว...ผมว่าเปลี่ยนเนื้อเพลงได้ไม่ "เนียน" สักเท่าไหร่


 


โดยสรุปแล้ว อัลบั้มนี้อาจจะไม่ใช่ภาพทั้งหมดของปรากฏการณ์ "ยิกทักษิณ" (ออกไปในทางให้ภาพของ "ผู้เริ่มสร้างปรากฏการณ์" เสียมากกว่าJ) แต่ในฐานะของการเป็นบทบันทึกอารมณ์-ความรู้สึกของผู้คนในห้วงเวลา พ.ศ. ๒๕๔๘-๔๙ ก็เพียงพอที่จะทำให้อัลบั้มนี้น่าสะสมไม่น้อย


 


หมายเหตุ : สามารถหาฟังเพลงในอัลบั้มนี้ รวมถึงเพลงกู้ชาติเพลงอื่นๆ ได้ที่ http://www.manager.co.th/home/ringtone/index.html ครับ