Skip to main content

กับดักแห่งฝักฝ่าย

คอลัมน์/ชุมชน


ไม่ว่ารักษาการนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จะได้ยิน หรือยอมรับฟังหรือไม่ก็ตาม บัดนี้เสียงตะโกนกระหึ่มก้อง ว่า "ทักษิณ...ออกไป!!" ก็ได้ขยับตัวมาถึง และยึดกุมพื้นที่ใกล้ชิดสำนักงานนายกฯ หรือทำเนียบรัฐบาล ไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากปรับรูปขบวนหลายครั้ง และพัฒนารูปแบบ ตลอดจนวิธีการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง


 


ในขณะที่ผู้บริหารสูงสุดของประเทศกับคณะทำงาน หรือบริวารแวดล้อม พากันถอยร่นไม่เป็นขบวน ถึงกับหลบหลีก หรือเลี่ยง ที่จะใช้สำนักงานบัญชาการประเทศ ออกเร่ร่อนเดินสายราวรัฐบาลพลัดถิ่น หรือที่สื่อบางประเภทเรียกขานว่า "..บริหารบ้านเมืองผ่านโทรศัพท์ ..." (ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้เป็นอุปกรณ์คุ้นเคย หรือเป็นส่วนหนึ่งในอาชีพทำมาหารับประทานของท่านรักษาการนายกฯ มาช้านานแล้ว)


 


การมีผู้คนจำนวนมากพากันมาชุมนุม แล้วร้องตะโกน "ทักษิณ...ออกไป!!!" อยู่รายรอบทำเนียบรัฐบาลนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ และยากจะเกิดขึ้นได้ หากไม่มีอะไรที่ ‘มากพอ’ หรือ ‘เกินทน’ เพราะว่ากันโดยข้อเท็จจริงแล้ว แค่ใครสักคนจะไปตะโกนไล่ใครในเรื่องขัดแย้งส่วนตัว ก็ยังไม่ง่ายนัก


 


การที่คนเรือนหมื่นเรือนแสน พร้อมหน้าพร้อมตาและพร้อมใจมารวมตัวอย่างต่อเนื่องยืดเยื้อ เพื่อตะโกนขับไล่ประมุขฝ่ายบริหาร จึงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญไม่น้อย สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อบิดเบือนข่าว ว่านี่ "...เป็นเรื่องธรรมดาของประชาธิปไตย..." หรือ "ไม่มีอะไรในกอไผ่...แค่คนเสียผลประโยชน์ กับคนไม่ชอบผมมารวมตัวกัน" อย่างที่ใครบางคน (หรือหลายคน) พยายามชี้นำ


 


และอาจเพราะบิดเบือนยาก หรือแก้ข่าวยากนี่เอง กระบวนการ "แก้ปัญหาที่สาเหตุ" จึงกลายเป็นเรื่อง "แก้ตัว" หรือ "แก้ผ้าเอาหน้ารอด" ไปในที่สุด จนทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดและเร่าร้อนขึ้น อย่างไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดเลย


 


เพราะกล่าวอย่างที่สุดแล้ว "ประเด็นที่แท้จริง" มักเป็นเรื่องที่ ‘ฝ่ายถูกกล่าวหา’ ไม่ยอมหยิบยกขึ้นมาพูดคุย จนกว่าจะจวนตัว หรือจำนนต่อหลักฐาน ซึ่งนั่นก็เป็นที่ทราบกันดี ว่ามักจะ "สายเกินไปเสียแล้ว" แทบทุกครั้ง


 


การดันทุรังจัด "ม็อบชนม็อบ" หรือจัด "จำอวดให้กำลังใจ" จึงกลายเป็น "กับดักแห่งฝักฝ่าย" ที่มักเกิดขึ้นเสมอ ทุกครั้งที่ผู้นำประเทศ หรือรัฐบาล ถูกประชาชนในอาณัติขับไล่ หรือไม่ยอมรับ และไม่ไว้วางใจให้บริหารงานแผ่นดินในนามของตน


 


นอกจากนั้นแล้ว ความพยายาม "ช่วงชิงความชอบธรรม" ของผู้มีอำนาจ ก็จะเป็นอีกสาเหตุใหญ่ ที่ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐ และผู้เกี่ยวข้อง (กับฝ่ายถูกขับไล่) พยายามใช้กระบอกเสียงของตน หรือที่อยู่ในการกำกับดูแล (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ออกมาละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ชุมนุมเรียกร้อง ด้วยข้ออ้างว่า การชุมนุมเป็นการ "ใช้กฎหมู่" เป็นการ "ละเมิดกฎหมาย" หรือเป็นการ "สร้างความวุ่นวาย" ตลอดจนเป็นการ "ทำลายเศรษฐกิจ-ทำลายโอกาสในการลงทุน" ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างข่าว หรือสร้างกระแสเพื่อลดความน่าเชื่อถือ หรือเพื่อทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งทั้งสิ้น


 


เพราะจะว่าไปแล้ว "มูลค่าความเสียหาย" ที่จะเกิดขึ้นจากการที่ฝ่าย "ถูกขับไล่" ยังดื้อดึงอยู่ในสถานะเดิม มักสามารถพิสูจน์ได้ในภายหลัง ว่ามากมายเสียยิ่งกว่าผลจากการชุมนุมเสมอ


 


และหากกล่าวอย่างปราศจากอคติ หรือพิจารณาโดยเหตุผลอันชอบด้วยธรรมแล้ว สาเหตุหลักของความเสียหาย ซึ่งฝ่ายถูกขับไล่ชอบที่จะกล่าวอ้าง ก็มักเป็นผลมาจากความ "ดื้อด้าน" ไม่ยอมรับ "มติมหาชน" จนไม่ยอมลงจากเก้าอี้ หรือลงจากตำแหน่งหน้าที่ ของพวกเขา (และเธอ) นั่นเอง


 


ด้วยเหตุนี้ การที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมากล่าวว่า "บ้านเมืองกำลังแตกแยก หรือตกอยู่ในความขัดแย้ง..." และ/หรือ "ต้องรีบแก้ไข-ต้องรีบสร้างความสมานฉันท์..." นั้น หากเขา (หรือเธอ) เชื่อเช่นนั้นอย่าง ‘สุจริตใจ-ไร้เจตนาแฝงเร้น’ ก็ควรที่จะทบทวน ความคิด - ความเห็น ของตนให้มากว่ากำลังตกเป็นเครื่องมือ หรือกำลัง "ติดกับดักแห่งฝักฝ่าย" โดยอ้อม อยู่หรือไม่...


 


เพราะจะว่าไปแล้ว ความพยายามประนีประนอม หากกระทำไปด้วยภยาคติ หรือโมหจริต ชนิดที่ขาดสติปัญญาเป็นเครื่องกำกับ หรือปราศจากโยนิโสมนสิการตามควรแก่กรณีแล้ว นอกจากจะไม่เป็นคุณ ยังจะเป็นโทษแก่บ้านเมือง หรือสร้างวิบากกรรมให้แก่ประเทศชาติและประชาชน (ซึ่งมักถูกอ้างว่าเป็นที่รัก) ได้อย่างมากมายมหาศาล ชนิดที่ผู้กล่าวไม่อาจแบกรับความผิดได้เลย


 


ใครทำอกุศลกรรมไว้กับแผ่นดิน..ไว้กับผู้คนในชาติ เขา (หรือเธอ) หรือหมู่คณะประดานั้น ก็ควรได้รับผลกรรมตามโทษานุโทษ !


 


 "การถอยคนละก้าว" หรือ "การพบกันครึ่งทาง" จะแก้ปัญหาได้อย่างไร ?