Skip to main content

มีใครรู้อะไรเกี่ยวกับเมดิคัลฮับบ้าง


ถามว่ามีใครรู้อะไรเกี่ยวกับเมดิคัลฮับบ้าง


 


คำตอบคือไม่ค่อยมีใครรู้อะไร     อาจจะมีคนรู้แต่คนรู้ไม่ยอมพูด


 


ผมอ่านหนังสือ "การเป็นศูนย์กลางสุขภาพของไทยในเอเชียกับผลกระทบด้านกฎหมายและจริยธรรม" จัดพิมพ์โดย ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบไปหนึ่งรอบ  


 


สรุปได้ว่าไม่ค่อยมีใครรู้อะไรแฮะ


 


หนังสือเล่มนี้เป็นสรุปผลสัมมนาวิชาการเรื่องเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2548 ที่ห้องประชุมจิตติ  ติงศภัทิย์  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์   ซึ่งจัดโดยศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์   ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข    โดยเชิญผู้พิพากษา    นักกฎหมาย  และแพทย์ชั้นผู้ใหญ่หลายท่านมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน


 


ผู้พิพากษา  นักกฎหมายและแพทย์ชั้นผู้ใหญ่หลายท่านนั้นได้กรุณาแนะนำให้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนศึกษาผลกระทบให้ถ่องแท้ก่อนเริ่มดำเนินการ      เพราะทุกท่านคงรู้สึกเหมือนๆกันว่าเรากำลังจะทำสิ่งที่ไม่รู้ 


 


หรือไม่ก็แกล้งไม่รู้


 


ก่อนหน้านี้    ผมสังเกตอยู่ก่อนแล้วว่าเวลามีการพูดเรื่องความพยายามที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชียหรือแห่งโลกนี้    มักไม่ค่อยมีใครอยากพูดในรายละเอียด   หากไล่ตื๊อถามก็มักได้คำตอบว่าไม่ใช่ภารกิจ    ไม่ใช่หน้าที่   หรือไม่เกี่ยวอะไรกับเรา


 


อีกวิธีหนึ่งคือเปลี่ยนเรื่องพูด


 


เท่าที่ผมได้ยินมากี่ทีๆก็มีเพียงว่า ณ ปัจจุบันมีชาวต่างประเทศเดินทางมารักษาตัวในประเทศไทยมากอยู่แล้ว   และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี  สาเหตุเป็นเพราะค่ารักษาพยาบาลของบ้านเราถูกกว่าที่อื่น  แพทย์เราเก่ง และคนไทยใจดี


 


เนี่ยขนาดรัฐยังไม่ได้ส่งเสริม        โรงพยาบาลเอกชนยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นบุญเป็นคุณกับผู้มีรายได้น้อยที่ได้งานถูพื้นโรงพยาบาลเอกชน       หรือเป็นยามรักษาการณ์โรงพยาบาลเอกชนถึงเพียงนี้       หากรัฐส่งเสริมเต็มที่ก็จะเป็นการหารายได้เข้าประเทศมหาศาล     สร้างงานมหาศาล   และกระจายรายได้มหาศาล


 


จึงชัดเจนว่าเป็นอีกกรณีหนึ่งที่เน้นการพัฒนาโดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง


 


ในอีกทางหนึ่ง    เราจะพบว่ามีคำถามเกี่ยวกับเมดิคัลฮับที่ไม่เคยมีใครพยายามตอบมากมายหลายคำถามทีเดียว


 


หนึ่ง   เมื่อเราเปลี่ยนบริการทางการแพทย์หรือ medical service ให้กลายเป็นบริการทางการค้าหรือ trade service  เต็มรูปแบบด้วยการส่งเสริมอย่างเต็มที่จากรัฐบาลแล้ว   จริยธรรมทางการแพทย์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรต่อไป  


 


สอง  ระบบประกันจะมีหน้าตาอย่างไร     บริษัทประกันต่างประเทศจะเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรบ้าง    การให้ความยินยอมก่อนรักษาที่เรียกว่า informed consent จะยังมั่วๆ ซั่วๆ ดำน้ำสามเมตรอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้หรือไม่   หรือว่าต้องได้รับการปรับปรุง  เมื่อปรับปรุงแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร   จะส่งผลกระทบถึงวัฒนธรรมการให้ความยินยอมก่อนการรักษาของแพทย์ไทยนอกเมดิคัลฮับมากน้อยเพียงใด  


 


สาม  เมื่อมีการรักษาผิดพลาด  ระบบฟ้องร้องข้ามชาติและพิจารณาคดีข้ามชาติจะเป็นอย่างไร  เคยมีการศึกษาหรือสัมมนาเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่  


 


ข้อสี่นี่อาการหนักสุด     เมื่อนำเรื่องเมดิคัลฮับเข้าสู่ FTA   การนำเข้าแพทย์ต่างประเทศจะเป็นอย่างไร ที่จริงแล้วมีใครในประเทศไทยทราบรายละเอียดเรื่องนี้ใน FTA บ้าง  และสามารถตอบคำถามนี้ได้หรือไม่


 


ทั้งนี้ ยังไม่นับผลกระทบที่ทำนายกันได้อยู่แล้ว เช่น  การซื้อตัวแพทย์ภาครัฐไปให้บริการชาวต่างประเทศ     หรือการซื้อตัวอาจารย์แพทย์ซึ่งเรียนแพทย์ทางลึกด้วยเงินภาษีของประชาชนแต่นำไปใช้รักษาชาวต่างประเทศ   พูดง่ายๆ คือประชาชนลงทุนให้อาจารย์แพทย์ได้เรียน      เรียนจบแล้วโรงพยาบาลเอกชนคว้าเอาไปเฉยๆ   


 


การแพทย์เป็นบริการที่น่าจะรู้ควรรู้ไม่ควรในตัวเอง   รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ  ซึ่งก็คือความหมายของคำว่า "จริยธรรม"  การแพทย์เป็นบริการที่ไม่ควรเอาการค้านำหน้า   เพราะการค้าสุขภาพไม่ได้ห่างไกลจากการค้าความตายหรือการค้าความเป็นอมตะมากนัก    เมื่อการแพทย์เป็นการค้า   การโฆษณาและการขู่กรรโชกก็จะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้   นั่นย่อมทำให้จริยธรรมของสังคมโดยรวมเสื่อมทรามลงไปอีก


 


ความพยายามที่จะเป็นศูนย์การแพทย์แห่งเอเชียโดยเอาธุรกิจนำหน้าจึงเป็นก้าวใหญ่อีกก้าวหนึ่งของความเสื่อมเสียของจริยธรรมวิชาชีพ