Skip to main content

พลังแห่งการแข็งขืนอย่างอารยะ

คอลัมน์/ชุมชน


 "อำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน"  เป็นบทสรุปอันลือชื่อของเหมาเจ๋อตุง   ความสำเร็จของเขาในการยึดอำนาจรัฐด้วยการทำสงครามกองโจรดูเหมือนจะยืนยันความข้อนี้  แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของความจริง     หากรัฐดำรงอำนาจได้ด้วยอาวุธปืน  เหตุใดรัฐบาลเผด็จการจำนวนมากที่มีกองกำลังอันยิ่งใหญ่จึงพ่ายแพ้ต่อประชาชนที่ต่อต้านโดยปราศจากอาวุธ        การที่รัฐบาลเหล่านั้นโค่นล้มเพราะการลุกฮือของประชาชนที่มีเพียงมือเปล่า แสดงว่าอำนาจรัฐไม่ได้อยู่ที่กระบอกปืนอย่างเดียว  หากยังขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชนด้วย


 


อำนาจอยู่ที่การยอมรับ  ครูหรือผู้จัดการจะมีอำนาจเหนือนักเรียนหรือลูกน้องได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนหรือลูกน้องยอมทำตามคำสั่ง     แต่ถ้านักเรียนหรือลูกน้องไม่ยอมทำตาม  ครูหรือผู้จัดการก็ไม่มีอำนาจต่อคนเหล่านั้น   ไม้เรียวหรือการลงโทษอาจช่วยบีบคั้นให้นักเรียนหรือลูกน้องทำตามคำสั่งของครูและผู้จัดการ  แต่ถ้านักเรียนหรือลูกน้องไม่ยี่หระต่อไม้เรียวหรือการลงโทษ  ครูและผู้จัดการก็ไม่สามารถทำอะไรได้   ยิ่งหากการปฏิเสธนั้นเกิดขึ้นโดยนักเรียนทั้งชั้นหรือลูกน้องทั้งบริษัท  อำนาจของครูและผู้จัดการก็ปลาสนาการไปทันที 


 


รัฐบาลก็เช่นกันดำรงอยู่ได้ก็เพราะการยอมรับของประชาชนเป็นสำคัญ  อาวุธ รวมทั้งคุกและการลงโทษเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยกดดันประชาชนให้ยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาล  แต่ถ้าประชาชนไม่กลัวหรือสยบยอมต่อเครื่องมือเหล่านั้น  อำนาจของรัฐบาลก็สั่นคลอน   ยิ่งการปฏิเสธที่จะเชื่อฟังรัฐบาลนั้นขยายวงจากประชาชนไปยังตำรวจทหารระดับล่างและระดับกลางด้วยแล้ว   แม้ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพรวมทั้งตำรวจจะยังเคียงข้างรัฐบาล  รัฐบาลนั้นก็แทบไม่มีอำนาจเหลืออีกต่อไป


 


ประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ ๒๐ เต็มไปด้วยเรื่องราวของรัฐบาลเผด็จการ (ไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้งหรือไม่) ที่ถูกโค่นล้มโดยประชาชนที่ปราศจากอาวุธ  อาทิ รัฐบาลของนายพลมาติเนซแห่งเอลซัลวาดอร์  ในปี ๑๙๔๕ (พ.ศ.๒๔๘๘)  นักเรียนและนักศึกษาในเมืองหลวงออกจดหมายลูกโซ่เรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ   ไม่นานคนขับรถเมล์ แท็กซี่  พนักงานเทศบาล พนักงานธนาคาร ก็ร่วมประท้วงกับนักศึกษา  ต่อมาแพทย์ก็ประกาศปิดคลีนิก ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน ตามมาด้วยโรงงาน ร้านค้า และศาล  ในที่สุดทหารก็ร่วมประท้วงด้วย  ไม่ถึง ๒ อาทิตย์  นายพลมาติเนซก็สละอำนาจและลี้ภัยไปกัวเตมาลา


 


ความสำเร็จที่เอลซัลวาดอร์ ทำให้ประชาชนกัวเตมาลาพร้อมใจกันใช้วิธีดื้อแพ่งหรือแข็งขืนอย่างอารยะ (civil disobedience) เช่นเดียวกัน  เนื่องจากทนไม่ได้กับระบอบเผด็จการของนายพลอูบิโก  เริ่มต้นด้วยการนัดหยุดงานของครูเพื่อประท้วงการจับกุมผู้นำครูเพียงเพราะเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่ม ต่อมานักศึกษาก็เดินขบวนเข้าเมืองหลวง ปราศรัยประท้วงรัฐบาล  ทหารเข้าควบคุมการชุมนุม ทำให้เกิดการปะทะกัน ผลตามมาก็คือประชาชนในเมืองหลวงร่วมประท้วงด้วย  ร้านค้า โรงภาพยนตร์ ธนาคาร โรงเรียน คลีนิค และสถานที่ต่าง ๆ ปิดหมด อูบิโกพยายามใช้กฎอัยการศึกบังคับให้พนักงานการขนส่งทำงาน  และยังส่งตำรวจไปขู่เข็ญร้านรวงให้เปิด แต่ไร้ผล  ประชาชนไม่สยบยอมต่ออำนาจของอูบิโกอีกต่อไป   ในที่สุดนายพลอูบิโกก็บินออกนอกประเทศไป


 


ไม่เพียงนายพลในประเทศเล็ก ๆ อย่างเอลซัลวาดอร์และกัวเตมาลาเท่านั้น  แม้กระทั่งพระเจ้าซาร์ในรัสเซียก็เคยสยบยอมต่อประชาชนที่ไร้อาวุธเช่นกัน   ในปี ๑๙๐๕ (พ.ศ.๒๔๘๘) ทหารพระเจ้าซาร์ได้กราดยิงปืนเข้าไปในฝูงชนที่เดินขบวนอย่างสงบจนมีคนตายกว่าร้อยคน  ผลตามมาก็คือการประท้วงของประชาชนทั่วกรุงเซนต์ปีเตอสเบิร์ก  มีการนัดหยุดงานขนานใหญ่จนเซนต์ปีเตอสเบิร์กและมอสโกเป็นอัมพาต  แม้แต่ทหารบกและทหารเรือจำนวนมากก็ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาล  หลายเมืองประกาศแยกตนออกจากการควบคุมของระบอบซาร์  ในที่สุด พระเจ้าซาร์ก็ยอมให้มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


 


รัฐบาลในทุกระบอบอยู่ได้ด้วยการยอมรับจากประชาชน  ไม่เว้นแม้แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบทรราชย์  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีคู่พระทัยของพระปิยมหาราชเคยกล่าวไว้ว่า "อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระราชแสงศาสตรา"   ส่วนทรราชอย่างฮิตเลอร์ก็ยอมรับเช่นกันว่า


 


"ในระยะยาว ระบอบปกครองไม่ได้สมานรวมอยู่ได้ด้วยแรงกดดันทางพละกำลัง แต่คงอยู่ได้ด้วยความเชื่อ (ของประชาชน) ในคุณภาพและสัจจะที่ระบอบปกครองนั้นเป็นตัวแทน  และเป็นปัจจัยหนุนเสริมหรือเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน" 


 


ในเมื่ออำนาจรัฐอยู่ที่การยอมรับของประชาชน นั่นก็หมายความว่าการให้ความยอมรับแก่รัฐบาลเป็นอำนาจอย่างหนึ่งของประชาชน  ตรงนี้แหละคือเหตุผลว่าทำไมการต่อสู้โดยสันติวิธีของประชาชนจึงมีพลัง   การต่อสู้ดังกล่าวมีพลังโดยไม่ต้องอิงอาวุธ เพราะพลังนั้นเกิดขึ้นจากการปฏิเสธที่จะให้ความยอมรับแก่รัฐบาล  ทันทีที่ประชาชนไม่ให้ความยอมรับแก่รัฐบาล โดยการแข็งขืนอย่างอารยะ  รัฐบาลนั้นก็ดำรงอยู่ไม่ได้  หรือถึงจะอยู่ได้ก็ทำงานลำบากอย่างยิ่ง  


 


เมื่อรัฐบาลโปแลนด์ปราบปรามขบวนการโซลิดาริตี้  ประชาชนก็พร้อมใจกันแข็งขืนต่อรัฐบาลอย่างเงียบๆ  วิคเตอร์ คูเลอสกี้ ผู้นำโซลิดาริตี้ พูดถึงสถานการณ์ในตอนนั้นว่า "ทางการควบคุมได้แต่ร้านเปล่า แต่ไม่อาจควบคุมตลาด  ทางการควบคุมการว่าจ้างคนงานได้ แต่ไม่อาจควบคุมการดำเนินชีวิตของเรา  ทางการควบคุมสื่อมวลชนของรัฐได้ แต่ไม่อาจควบคุมการกระจายเผยแพร่ข้อมูล  ทางการควบคุมโรงพิมพ์ได้ แต่ไม่อาจควบคุมการตีพิมพ์เอกสาร  ทางการควบคุมไปรษณีย์และโทรศัพท์ได้  แต่ไม่อาจควบคุมการสื่อสาร"   ในที่สุดรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ยอมเจรจากับขบวนการโซลิดาริตี้  นำไปสู่การเลือกตั้งเสรีและจุดจบของระบบคอมมิวนิสต์


 


เหตุการณ์ในยูโกสลาเวียเมื่อปี ๖ ปีที่แล้วเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพลังอำนาจของการแข็งขืนโดยประชาชน  มิโลเซวิคเป็นประธานาธิบดีที่มีอำนาจขึ้นมาได้ด้วยการชูธงเชื้อชาตินิยมอย่างเข้มข้น จนก่อให้เกิดการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียและโคโซโว่  แม้สหรัฐและนาโต้จะต่อต้านเขา  แต่ก็ทำอะไรเขาไม่ได้   กำลังทหารและตำรวจคือฐานอำนาจที่มั่นคงของเขา  แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อนักศึกษาประชาชนเริ่มต่อต้านเขา  การประท้วงได้ลุกลามอย่างต่อเนื่องจนทั่วประเทศ  มิโลเซวิคจึงประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดถึง ๑๐ เดือน เพื่อยืนยันว่าประชาชนยังนิยมในตัวเขาอยู่   วันเลือกตั้งถูกกำหนดอย่างกระชั้นเพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายค้านมีเวลาตั้งตัว   อย่างไรก็ตามการร่วมมือของนักศึกษาประชาชนและฝ่ายค้านทำให้มิโลเซวิคพ่ายการเลือกตั้ง 


 


แต่มิโลเซวิคปฏิเสธผลการเลือกตั้ง  และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่   นักศึกษาประชาชนและฝ่ายค้านจึงลุกฮือทั้งประเทศ   จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อคนงานเหมืองถ่านหินนัดหยุดงานประท้วง  มิโลเซวิคส่งทหารไปปราบ แต่ประชาชนถึง ๒.๕ แสนคนพากันชุมนุมขัดขวาง  วันรุ่งขึ้นประชาชนกว่า ๒ แสนคนจากทั่วประเทศเดินทางไปยังเมืองหลวง   รถยนต์ทุกชนิดหลั่งไหลไปยังกรุงเบลเกรด  ทั้งเมืองเป็นอัมพาต มีการปิดล้อมรัฐสภาและสถานีโทรทัศน์ของรัฐ  มิโลเซวิคสั่งให้ตำรวจปราบปราม แต่คราวนี้ตำรวจส่วนใหญ่ปฏิเสธ มิโลเซวิคไม่มีทางเลือกเหลืออยู่  วันถัดมาเขาก็สละอำนาจ   ไม่นานเขาก็ถูกจับและถูกนำตัวขึ้นศาลอาชญากรสงคราม


 


รัฐบาลไม่อาจอยู่ได้ด้วยอำนาจดิบ ๆ หรืออาวุธล้วน ๆ  แต่ต้องอาศัยการยอมรับของประชาชน  และการยอมรับของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองมีความชอบธรรม      การเลือกตั้งทำให้ผู้ปกครองมีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลก็จริง  แต่การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของความชอบธรรม  ความซื่อสัตย์สุจริตและการเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมที่ผู้ปกครองต้องมี  หากไร้ซึ่งสิ่งนี้แล้ว แม้จะมีคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นก็ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศได้  เมื่อถึงตอนนั้นแม้แต่อำนาจดิบ ๆ ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อการแข็งขืนอย่างอารยะของประชาชน


 


นี้คือบทเรียนสำคัญที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรตระหนักอย่างยิ่ง


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์